Skip to main content

หลังตัวแทนคนพิการอ่านแถลงการณ์-ยื่นฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่มกับ กทม.กรณีสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอสไม่เสร็จ ล่าสุดศาลสั่งเลื่อนไต่สวนเร็วขึ้นจาก 30 มี.ค.เป็น 17 ก.พ. ด้านคนพิการเดินหน้าหารายชื่อร่วมฟ้องเพิ่ม- เตรียมนำเสนอข้อมูลสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

2 ก.พ.2560 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) แจ้งว่า วานนี้ (1 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษกแจ้งเลื่อนวันไต่สวนคดีสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอส จากวันที่ 30 มี.ค. มาเป็นวันที่ 17 ก.พ. ที่จะถึง ในกรณีทีสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เป็นตัวแทนผู้พิการ 98 คนยื่นฟ้องคดีแพ่ง กทม. เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา (อ่านที่นี่) หลังไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการบีทีเอส โดยจากการสอบถามสนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ ทนายความ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ศาลแพ่งได้ให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่เป็นสาธารณะและอยู่ในความสนใจของประชาชนในตอนนี้ การนัดไต่สวนคำร้องขอเนินคดีแบบกลุ่มซึ่งเดิมกำหนดเป็นวันที่ 30 มี.ค.เป็นระยะที่ยาวเกินไป จึงขยับเวลาเป็นวันดังกล่าว ส่วนเรื่องการไต่สวนและสืบพยานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

โดยเขาเล่าถึงประเด็นสำคัญของการพิจารณาไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มไว้ 3 ประเด็น คือ

1.เรื่องที่ศาลจะวินิจฉัยว่า มีบุคคลเป็นคนพิการ มีกี่คนที่ได้รับความเสียหายจากการไม่สร้างลิฟต์

2.ในจำนวนคนเหล่านั้นได้รับความเสียหายจากการใช้บีทีเอสไม่ได้ ไม่สะดวก เสียหาย เสียเงินและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อวันเท่าไหร่

3.โจทก์และทนายความจะต้องพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการพิทักษ์สิทธิต่างๆ ของสมาชิกคนพิการได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สามารถเป็นผู้นำในการสื่อสารให้สมาชิกคนพิการได้รับข้อมูลข่าวสาร และเดินหน้านำพยานหลักฐานไปเสนอต่อศาล รวมถึงต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ทนายความของตัวโจทก์มีความสามารถในการดำเนินคดีเรื่องความเสียหายของสมาชิกกลุ่มคนพิการได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือตัวโจทก์และทนายความจะต้องมีเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายหากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เบื้องต้นทางโจทก์และทนายความมีหน้าที่ที่ต้องวางเงินค่าใช้จ่ายแก่ศาล เพื่อประกาศโฆษณาที่ทั้งทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม เป็นการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายคดีพิจารณาความแพ่ง ที่แก้ไขใหม่เมื่อปี 2558 เดิมทีหากใครจะฟ้องร้องก็นับเป็นเรื่องเฉพาะตัว เช่น หากนาย ก. โดนรังแก นาย ก.ก็มีสิทธิจะยื่นฟ้องดำเนินคดีคนที่รังแกเขา แต่กฎหมายฉบับนี้ซึ่งแก้ไขใหม่เอื้อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นกลุ่ม จำนวนมาก มีผลกระทบแพร่หลายไปยังบุคคลหลายคน เช่น โรงงานสร้างความเสียหายปล่อยน้ำเสียกระทบต่อประชาชน หากจะให้ประชาชนแต่ละหลังคาเรือนมาฟ้องร้อง ก็เป็นภาระแก่ประชาชน กฎหมายนี้จึงให้สิทธิคนเดียวฟ้องไปก่อน เมื่อศาลไต่สวนว่า ความเสียหายนี่กระทบกระเทือนในวงกว้าง ก็จะเป็นประโยชน์ครอบคลุมแก่คนพิการอื่นๆ ที่เขาไม่ได้มาใช้สิทธิด้วย ซึ่งขณะนี้ ภาคเครือข่ายฯ ได้ดำเนินการล่ารายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อร่วมฟ้องในคดีดังกล่าว (อ่านที่นี่)

เขากล่าว่า ในวันที่ 17 ก.พ.จะนำเสนอข้อมูลสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และคนพิการในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ รวมถึงแสดงให้ศาลเห็นว่า หากเทียบไทยและต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง สิทธิของคนพิการที่นั่นพัฒนาไปถึงไหน และใช้เวลากี่ปี

นอกจากนี้ ยังจะชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น และสิ่งที่ฝ่ายรัฐหรือ กทม.ไม่ได้ใส่ใจ ขวนขวาย ไม่ใช้อำนาจในการดำเนินการนับตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างเข้มข้น หากดูตั้งแต่ปี 2535-2560 แล้ว ก็นับว่าเป็นเวลาการต่อสู้ที่ยาวนานมาก

สนธิพงศ์กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวจากเจ้าหน้าที่ศาล ก็มองอย่างสุจริตว่า การเลื่อนเวลา น่าจะเปนเพราะเขามองเห็นเป็นเรื่องสาธารณะและคำนึงถึงประโยชน์ของคนพิการ และเพื่อทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็ว และมีการพูดคุย เพื่อให้อีกฝ่ายได้หาทางออกที่ดีด้วย