Skip to main content

“สถานที่รับสมัครที่ไป อยู่ที่ว่าการอำเภอสามพราน เป็นอาคาร 3 ชั้น โคตรน่ากลัว  บันไดก็ชันมาก สูงมาก พอดีวันนี้เจ้าหน้าที่เขาลงมารับใบสมัครของพี่ข้างล่าง ก็ยังไม่ได้โดนยกขึ้นไป แต่นัดถัดไปที่จะเข้ามาลงเลือกตั้งก็คงจะโดนยก”

กระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองถือว่าเป็นกระบวนการที่ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงได้รวมถึงการเลือกตั้ง ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งเลือกสว. ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ โดยเฉพาะอำนาจของการเป็นสว.ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มอบอำนาจไว้มากมาย ตั้งแต่แก้กฎหมายยันแต่งตั้งองค์กรอิสระ เป็นธรรมดาที่การเลือกสว.ชุดใหม่ในรอบนี้จะได้รับความสนใจจากคนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายอาชีพรวมถึงคนพิการด้วย

เราตามคนพิการไปดูสถานที่รับสมัครสว. ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ว่าคนพิการเข้าถึงได้มากแค่ไหน สถานที่เลือกเป็นอย่างไร

 

สว. มีไว้ทำไม

นอกจากการมีอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในแก้ไขรัฐธรรมนูญ สว.ยังมีอำนาจในการเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลในองค์กรตรวจสอบอิสระต่าง ๆ เช่น  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และอัยการสูงสุด รวมถึงเลือกนายกรัฐมนตรีในสองสมัยที่ผ่านมา สว.จึงถือเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทย

ก่อนหน้าที่นี้ที่มาของ สว.ชุดก่อน มาจากการเลือกโดยคณะกรรมการ คสช.หรือ คณะรักษาความสงบสุขแห่งชาติ โดย 194 คน มาจากการเลือกกันเองภายใน ก่อนส่งรายชื่อให้ คสช.เลือก 50 คน และอีกกลุ่มคือ สว.โดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เมื่อ สว. ชุดเก่าหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 จึงมีการเปิดรับสมัครใหม่ในช่วงกลางเดือนเดียวกัน ด้วยความน่าสนใจนี้ทำให้หลายคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเลือกที่จะลงมาเป็นผู้เล่น อย่างเช่นคนพิการสองคนที่เราชวนไปตามการสมัคร สว. ในวันนี้ เจอกับอะไรบ้างคนพิการจะเข้าถึงกลไกนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

 

ยกขึ้นไปสมัคร สว.

เราเดินทางลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม คนพิการคนแรกเป็นคนพิการทางร่างกาย นั่งวีลแชร์ เขาตัดสินใจลงสมัครในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง คืออำเภอนครชัยศรี หลังจากวันมารับใบสมัครและกลับไปเตรียมเอกสาร วันนี้เขาเดินทางมายังอำเภอ จุดที่รับสมัครเป็นอาคารยกสูง ทันทีที่เขามาถึง เจ้าหน้าที่ประมาณ 6 คน ก็เดินมาช่วยกันยกคนพิการนั่งวีลแชร์คนนี้ขึ้นอาคารไปอย่างทุลักทุเล เจ้าหน้าที่เล่าว่า คนพิการที่ต้องยกในวันนี้ถือว่าเบากว่าเมื่อวานมาก

หลังจากนั้นเขาก็เข้าพื้นที่ในการสมัคร สว. เรารออยู่ในเขตที่ทางกรรมการการเลือกตั้งได้จัดเอาไว้ มีเอกสารเยอะพอสมควรที่ต้องใช้สำหรับการลงสมัครไม่ว่าจะเป็น แบบฟอร์มใบสมัคร หลักฐานการอยู่ในถิ่นกำเนิดหรือจุดที่ลงสมัคร หนังสือรับรองความเชี่ยวชาญ ความรู้ ประสบการณ์ของเนื้องานที่ตนสมัคร (ถ้าเป็นกลุ่มคนพิการไม่ต้องใช้) และค่าสมัคร 2,500 บาท

รวมถึงการประเมินว่าไม่เป็นบุคคลในลักษณะต้องห้าม อาทิ วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ต้องคำพิพากษาอื่นๆ

หลังจากตรวจเอกสาร และจ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาท ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงครึ่งในการสมัคร บรรยากาศของสถานที่ถือว่ากว้างขวางสมเป็นหอประชุม (ที่ขึ้นยาก) มีผู้ที่สนใจเข้ามาสมัครในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 1-2 คน หลังจากสมัครเสร็จเจ้าหน้าที่ก็รวมตัวกันเพื่อยกคนพิการกลับไปสู่ด้านล่าง

“เข้าไปทีแรกเราก็จะถูกยกขึ้นไปก่อนจากบันไดสี่ห้าขั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเค้าก็เข้ามาดูแลนะ แต่จะไม่จำเป็นต้องใช้คนมากขนาดนั้นถ้ามีทางลาด ไม่ต้องมาเปลืองทรัพยากรกับเราและร่างกายของคนยกจะได้ไม่บอบช้ำด้วย”

 

ต้องไปเลือกตั้งชั้นสาม

คนพิการคนที่ 2 ที่เรามาติดตามการลงสมัคร สว. เป็นผู้หญิงพิการที่มาลงสมัครในพื้นที่อำเภอสามพราน เราเดินทางไปยังสถานที่รับสมัคร และพบว่าตัวอาคารเป็นหอประชุมขนาด 3 ชั้น จุดที่รับสมัครอยู่บริเวณชั้นบนสุดของอาคาร

ทันทีที่มาถึง คนพิการท่านนี้กับครอบครัวก็สงสัยว่าจะขึ้นไปอย่างไร จากการสำรวจสภาพแวดล้อมพบว่าจุดที่จะขึ้นไปจะต้องเดินด้วยบันไดทั้งหมด เนื่องจากอาคารเป็นรูปลักษณ์แบบเก่า ไม่มีลิฟท์โดยสาร จะต้องยกขึ้นไปเพียงอย่างเดียว ตัวบันไดค่อนข้างชันและสูง

หลังจากนั้นคนพิการจึงได้มอบหมายให้คนในครอบครัวเดินขึ้นไปชั้น 3 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ จึงได้ความว่าไม่สามารถยกขึ้นไปได้ และแก้ปัญหาด้วยการให้เจ้าหน้าที่ลงมาเตรียมเอกสารและรับสมัครด้านล่างแทน ก่อนที่จะให้ตัวแทนของคนพิการท่านนี้นำเงินไปจ่ายค่าสมัครที่ด้านบน

อย่างที่เห็นเราจะพบว่า สถานที่ไม่รองรับสำหรับการลงสมัคร สว.ของคนพิการ ทั้งที่จริงๆ แล้วการแบ่งตามกลุ่มอาชีพและอัตลักษณ์ของผู้สมัคร มีกลุ่มอัตลักษณ์หนึ่งอย่างความพิการอยู่ด้วย รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและชาติพันธุ์ด้วย ซึ่งกลุ่มดังกล่าวก็เป็นกลุ่มที่ถูกตั้งคำถามถึงความเยอะและความมั่วอยู่ไม่น้อย ต่างจากกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า เช่น กลุ่มบริหารแผ่นดินและความมั่นคง  กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มการศึกษา กลุ่มทำนาทำไร่  กลุ่มสตรี กลุ่มนักสื่อสารมวลชน กลุ่มประชาสังคมและองค์กรสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

หลังจากเจ้าหน้าที่ลงมารับสมัครเอกสาร จนถึงการตรวจทานข้อมูลต่างๆ และหลังจากจ่ายเงินค่าสมัครเรียบร้อยแล้ว (ให้ตัวแทนไปจ่าย) ก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการรับสมัคร สว.ของเธอ แต่หลังจากนี้ในการเลือกครั้งแรกคือรอบระดับอำเภอ เธอจำเป็นจะต้องขึ้นอาคาร 3 ชั้นเพื่อไปเลือกบริเวณจุดที่กรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานระบุว่าในวันจริงจะต้องเตรียมคนมาเพื่อยกขึ้นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยพยายามจะหาผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและมีความรู้ความเชี่ยวชาญมายก

“สถานที่รับสมัครอยู่ที่ว่าการอำเภอสามพรานบนอาคารชั้น 3 โคตรน่ากลัว  บันไดก็ชันมากสูงมาก พอดีวันนี้เจ้าหน้าที่เขาลงมารับใบสมัครของพี่ข้างล่าง ก็ยังไม่ได้โดนยกขึ้นไป แต่นัดถัดไปที่จะเข้ามาลงเลือกตั้งก็คงจะโดนยก

“พี่รู้สึกแค่หัวไหล่ขึ้นไป หน้าอกลงไปพี่ไม่รู้เรื่อง พี่ทรงตัวไม่ได้ เหมือนตุ๊กตาล้มลุก แล้วเราก็อ้วนด้วย เข้าใจนะว่าคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าเราจะกลัวอะไรกับแค่การยก เรานั่งเฉยๆ บนวีลแชร์แต่คนที่เหนื่อยคือคนที่ยก เขาไม่เข้าใจว่าการที่เราโดนยกตัวก็จะเหวี่ยง ทรงตัวไม่ได้ แล้วคนยก 4 คนมันเป็นไปได้ยากที่จะก้าวขาพร้อมกันเพื่อให้วีลแชร์เราตั้งตรง ถ้าข้างหลังสูงกว่าข้างหน้าเราก็หน้าทิ่ม ถ้าหน้าสูงข้างหลังต่ำเราก็หงายหลัง ถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วตรงนี้ใครจะมารับผิดชอบ  หรือแม้จะไม่ได้ล้ม การยกเหวี่ยงไปมาก็ทำให้เราเกิดอาการเกร็ง อายุเยอะแล้วหัวใจเราก็ไม่ค่อยดี บางทีมันก็รู้สึกใจสั่นนะ ซึ่งบางคนอาจจะไม่เข้าใจ คิดว่ายกอย่างเดียวก็ไม่เป็นไร คนพิการก็ไม่ได้มาเหนื่อย

“อย่างไรก็แล้วแต่มันควรจะมีทางลาด เพราะทางลาดก็ไม่ได้มีไว้เฉพาะให้กับวีลแชร์นะ ผู้สูงอายุก็ได้ใช้

“ปกติการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกแบบท้องถิ่นหรืออะไรพี่เข้าไปหมด บางครั้งมันก็ไม่ค่อยสะดวกหรอก เราก็พยายามจะไปใช้สิทธิ ร้อนเอย ทางขรุขระเอย  สถานที่มันดีเราก็ไปเลือกตั้งได้อย่างมีความสุข

“หลังจากนี้ก็ต้องรอวันที่ 5 กับวันที่ 9 ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่า เราต้องขึ้นชั้น 3 แน่นอน บอกว่าจะมีมืออาชีพ เช่น พวกกู้ภัย  ที่มีความชำนาญในการยก การเคลื่อนย้ายมาช่วย เขาบอกว่าวันนี้ก็เป็นครั้งแรกและวันแรก ที่มีการเลือกตั้งแบบนี้ เขาก็เลยไม่รู้ปัญหา”

กฎหมายระบุเลือกตั้ง สว.ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก และเป็นไปตามเจตนารมย์คนพิการ

เมื่อย้อนกลับไปดูกฎหมายเลือกตั้งเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาเราจะพบว่าใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก สว. เขียนไว้ชัดเจนในหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในการเข้าไปใช้สิทธิ การใช้เครื่องมือเพื่อเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการมีผู้อื่นเข้าไปช่วยเหลือคนพิการในกรณีจำเป็นที่ต้องใช้ผู้ช่วย โดยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนพิการ ไว้ดังนี้

พรป. สว. มาตรา 57 "เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกให้แก่ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือก ให้ผู้อำนวยการการเลือกจัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการเลือกของคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือกไว้ด้วย โดยอาจให้บุคคลอื่นหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกมอบหมายเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือกนั้น"

พรป.สว. มาตรา 38 วรรคสอง "ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้สมัครซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกหรือการลงคะแนนโดยได้รับอนุญาตจากกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกตามมาตรา 57 ด้วย"

ระเบียบเลือกสว. พ.ศ 2567 ข้อ 85 วรรคสอง "กรณีผู้สมัครซึ่งเป็นคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือกและมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือสื่อสาร เพื่อประโยชน์ในการเลือก หรือมีความจำเป็นที่จะให้บุคคลอื่นหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมอบหมาย เข้าไปในสถานที่เลือกเพื่อกระทำการแทนต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอก่อน และให้กรรมการประจำสถานที่เลือกบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวลงในรายงานเหตุการณ์ประจำสถานที่เลือก"