Skip to main content
สว.มีอำนาจหน้าที่อะไร

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์: สว.มีอํานาจสําคัญๆ อยู่ 3 - 4 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือพิจารณาลงมติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอหรือ ส.ส.จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องมีสว.เป็นหนึ่งใน 3 ส่วนที่เห็นด้วยถึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งสว.ชุดต่อไปจะมี 200 คน ดังนั้นต้องมีสว.67 คนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่งั้นแก้ไม่ได้ แต่ว่าสว.ชุดที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นด้วยถึงจำนวนที่จะแก้ได้ ส่วนใหญ่ก็มีไม่เกิน 5 คนเท่านั้นเอง

อํานาจที่สองคือการพิจารณาออกกฎหมาย ซึ่งอํานาจพิจารณาออกกฎหมายเป็นอํานาจที่เล็กกว่าส.ส. ส่วนอำนาจที่สามก็จะเป็นการพิจารณาให้ใครมาดํารงตําแหน่งที่สําคัญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต.หรือประธานศาลปกครองสูงสุด อำนาจพวกนี้ให้สว.เป็นคนพิจารณาว่าใครจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็น ส่วนสุดท้ายแต่ก็ไม่สุดท้ายก็คือการตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบผู้ใช้อํานาจรัฐ ซึ่งสว.ชุดปัจจุบันก็เพิ่งยื่นขอให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ก็เคยเปิดอภิปรายรัฐบาลไป ซึ่งส่วนนี้เป็นอํานาจที่สว.ปัจจุบันไม่ค่อยใช้ เพิ่งจะมาใช้กันตอนหมดอายุแล้ว

เมื่อก่อนสว.มีอํานาจโหวตเลือกหรือไม่เลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ต่อจากนี้ไม่มีแล้ว

การเลือก สว.เป็นการเลือกตั้งหรือไม่

กระบวนการคัดเลือกสว.ไม่เรียกว่าเลือกตั้ง เพราะว่าถ้าเป็นการเลือกตั้งแปลว่าต้องเลือกตั้งโดยประชาชน คุณ ผมและคนทั้งหลายต้องมีสิทธิไปออกเสียงว่าจะให้ใครเป็นสว.หรือไม่ให้เป็น แต่กระบวนการที่กําลังจะเกิดขึ้นนี้ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเลือกด้วย คนมากกว่าครึ่งประเทศไม่มีสิทธิที่จะออกไปเลือก เพราะฉะนั้นจะเรียกเลือกตั้งก็ไม่ได้ แต่ว่าก็ยังมีบทบาทสําคัญนั่นก็คือ บางคนยังเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆได้

ใครบ้างที่มีส่วนร่วมได้

ระบบรอบนี้เรียกสั้นๆ ว่าเลือกกันเองระบบแบ่งกลุ่มและเลือกกันเอง คนที่สมัครเข้าไปจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ 20 กลุ่ม ผู้สมัครก็จะได้ออกเสียงเลือกกันเองในกลุ่ม เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากเป็นก็ต้องสมัครเข้าไปแล้วต้องถูกเลือกโดยคนสมัครคนอื่น ถ้าไม่อยากเป็นแต่อยากเลือกก็ต้องสมัครเพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการ แต่ถ้าไม่สมัครก็คือไม่มีสิทธิอะไรเลย

คนสมัครจะต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐ ไม่เป็นสมาชิคพรรคการเมือง ไม่ถือหุ้นสื่อ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ติดยาเสพติด ทํางานอย่างใดอย่างหนึ่งมา 10 ปีถึงจะลงสมัครในกลุ่มอาชีพนั้นได้

คนพิการเป็น สว.ได้หรือไม่

การออกแบบการเลือกแบบเป็นกลุ่มนั้นการันตีว่าจะได้มีตัวแทนความหลากหลาย โดย 18 จาก 20 กลุ่มเป็นกลุ่มอาชีพ เช่น ข้าราชการ นักกฎหมาย หมอ ครู แต่ว่ามีสองกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มอาชีพแต่เป็นกลุ่มที่สร้างมาเพื่อจะพยายามจะรองรับให้เกิดความหลากหลาย หนึ่งก็คือกลุ่มสตรี ผู้หญิงไม่ว่าประกอบอาชีพอะไรมาหรือไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรเลยก็สามารถสมัครในกลุ่มสตรีได้อีกกลุ่มหนึ่งชื่อกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์และอัตลักษณ์อื่น ซึ่งตรงนี้เค้าก็อ้างว่าจะได้รับประกันว่าคนเหล่านี้จะมีที่นั่งในสว. แต่ประเด็นสำคัญคือกลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ ในกฎหมายไม่ได้เขียนระบุไว้ ตอนหลังกกต.ออกมาอธิบายว่ารวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

การมีกลุ่มความหลากหลายนี้ก็ดี แต่สิ่งสําคัญเลยก็คือกระบวนการเลือกกันเองในกลุ่ม แปลว่าทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์และอัตลักษณ์อื่น ซึ่งไม่รู้มีอัตลักษณ์อะไรอีกบ้างจะต้องมารวมกันและเลือกกันเองให้เหลือ 10 ที่นั่ง อาจจะเป็นผู้สูงอายุ 10 ที่นั่งเลยก็ได้ อาจจะเป็นคนพิการ 10 ที่นั่งเลยก็ได้ หรือชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์อื่น 10 ที่นั่งก็ได้ เพราะการเลือกไม่ได้รับประกันว่าต้องแบ่งกันระหว่างกลุ่ม ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเยอะมาก ผมคิดว่าคนพิการปัญหาน้อยสุดเพราะว่าคนพิการพิสูจน์ได้ง่ายก็คือมีบัตรคนพิการ ต่างกับการพิสูจน์ว่าใครเป็นชาติพันธุ์เพราะไม่เคยมีบัตรชาติพันธุ์หรือไม่เคยมีระบบในการพิสูจน์ว่าใครเป็นชาติที่พันธุ์หรือใครไม่เป็นชาติพันธุ์ เช่น ผมเนี่ยเกิดกรุงเทพฯโตกรุงเทพฯ เป็นคนกรุงเทพฯ แต่พ่อแม่ผมมีเชื้อสายจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเป็นคนชาติพันธุ์จีนไหม หรือคนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาลายูมุสลิมเป็นชาติพันธุ์ได้รึเปล่า หรือถ้าคุณเป็นปกาเกาะยอจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน คุณเป็นชาติพันธุ์ใช่ไหม หรืออย่างกลุ่มอัตลักษณ์จะนิยามอย่างไร เมื่อวันนี้ผมบอกว่าผมชอบผู้ชาย หรือบางคนที่ไม่แสดงออกตามเพศกําเนิดมีนอนไบนารี่ มีเพศแม่มด สิ่งเหล่านี้เราจะพิสูจน์ยังไง กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปแม้จะดูง่ายจากอายุ แต่จะเป็นกลุ่มที่ดูยากมาก เพราะในทางปฏิบัติ สนามสว.ก็คือคนที่สูงอายุ อาจจะเป็นข้าราชการเกษียณ คุณครูเกษียณ อาจจะมีหลายคนที่เป็นเพื่อนกันจากหลายกลุ่มอาชีพที่หลากเลือกันเอง ก็จำต้องมารวมกันที่กลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้เพื่อนสามารถเลือกเราได้ กลุ่มนี้จึงน่าจะเป็นกลุ่มที่คนสมัครเยอะ มีโอกาสว่าสุดท้ายคนพิการอาจจะไม่ได้เลย

แล้วคนพิการเข้าถึงกระบวนการเลือกได้แค่ไหน

ตอนเขียนใบสมัครผมคิดว่าให้คนอื่นช่วยได้ และไม่เห์นเอกสารที่อยู่ในรูปแบบเบรลล์ ส่วนในคูหา กกต.ออกระเบียบว่า ถ้าจําเป็นสามารถมีผู้ช่วยได้ แต่ความยากก็คือ ระบบการเลือกเราจะไม่ได้รู้ว่าได้เลือกใคร ไม่รู้ว่าในกลุ่มมีใครสมัครบ้าง และได้มีโอกาสโหวตใครบ้าง กกต.จะแจกเอกสารให้สามวันก่อนวันเลือก คือวันเลือกระดับอําเภอ 9 มิถุนายน กกต.จะแจกเอกสารให้วันที่ 6 มิถุนายน ที่ประกอบไปด้วยประวัติ 5 บรรทัดของผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันที่เราสามารถเลือกได้ คนตาบอดก็คงต้องให้คนช่วยอ่าน ความยากกว่านั้นก็คือว่าถ้าได้รับการคัดเลือกขั้นต้นในกลุ่มตัวเอง คุณจะต้องจับสลากเพื่อแบ่งสายแล้วก็ไปเลือกไขว้กับกลุ่มอื่นโดยไม่รู้มาก่อนว่าเราจะได้เลือกกลุ่มไหน เช่น ถ้าเราสมัครกลุ่มคนพิการเราอาจจะได้เลือกนักกฎหมาย ชาวนา หรือนักวิทยาศาสตร์ พอจับสลากเสร็จแล้วกกต.ก็จะเอาประวัติ 5 บรรทัดของกลุ่มที่เราจับสลากได้ในสายเดียวกันมาให้อ่านแล้วก็ตัดสินใจ ไม่ได้คุยกัน ไม่มีโอกาสแนะนําตัว ไม่มีโอกาสทําความรู้จักและฟังนโยบาย ขั้นตอนนี้ขนาดตาดี หูดียังยากที่จะจําเลขทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้น

ผมไม่ค่อยห่วงกลุ่มคนพิการเพราะ กกต.น่าจะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกเอาไว้ในกลุ่มนี้ แต่คนพิการที่ลงในกลุ่มอื่นๆ ผมก็ไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไร หรือการจ้ดผู้ช่วยอย่างไร

คนหูหนวกพาล่ามภาษามือเข้าไปได้ไหม

เขาไม่ได้เขียนว่าคนหูหนวกหรือคนตาบอดเอาผู้ช่วยเข้าไปได้มั้ย แต่เขียนว่า กรณีที่ไม่สามารถลงคะแนนได้ด้วยตัวเองสามารถให้บุคคลอื่นหรือผู้ที่กกต.มอบหมาย ลงคะแนนตามเจตนารมณ์ได้ เขียนแค่นี้ ผมจึงตีความว่า หูหนวกนะน่าจะเอาผู้ช่วยเข้าไปไม่ได้ หากต้องการผู้ช่วยให้ร้องขอคนของกกต. แต่ผมจะมองกกต.ในแง่ดีนะว่าเรื่องนี้เค้าจะยืดหยุ่น คือความพิการมันมีหลายแบบ ดังนั้นหากต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษแล้วร้องขอ ผมคิดว่าเค้าจะยืดหยุ่นที่จะให้ความช่วยเหลือซึ่งเป็นเหตุผลกับความพิการ

ผมจะขอย้ำเรื่องกติกาในการเลือก คือผู้สมัครหนึ่งคนจะเลือกในกลุ่มตัวเองได้สองเสียง สองเสียงนี้จะเลือกตัวเองก็ได้หนึ่งเสียง แล้วเลือกคนอื่นอีกเสียง หรือเลือกคนอื่นสองเสียงก็ได้ แต่ไม่สามารถเลือกตัวเองสองเบอร์ได้ จะเป็นบัตรเสีย เวลาเขียนไม่ใช่กากบาท แต่ว่าต้องเขียนเลขของคนที่เราอยากจะเลือก ซึ่งถ้าเป็นคนตาบอดก็คงต้องทําการบ้านไปก่อนว่าตัวเลขที่เราอยากจะเลือกคือเลขอะไร หากเขียนเองไม่ได้ก็อาจต้องให้คนอื่นเขียนให้ หากไม่มั่นใจว่าจะเองได้ หรืออาจจะออกนอกช่องก็แนะนำให้ขอผู้ช่วยเลยดีกว่า ยกเว้นว่าเรารู้สึกว่าการเลือกเป็นความลับมาก ไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ เพราะการเลือกครั้งนี้ต้องเขียนเลข ออกนอกช่องไม่ได้ ทำสัญลักษณ์อะไรเพิ่มเติมไม่ได้

แค่มีรอยอะไรนิดหน่อยก็กลายเป็นบัตรเสีย โดยกกต.อ้างว่าวิธีการนี้ป้องกันคนทำสัญลักษณ์บางอย่างหากมีการซื้อเสียง

ผมมองว่า การขอผู้ช่วยไม่จำเป็นต้องขอก่อน เพราะไม่ได้เขียนอยู่ในระเบียบ ก็คือไปวันนั้นแล้วก็ไปบอกเขาว่าต้องการอะไรยังไง อะไรที่กฎหมายไม่ได้เขียนแปลว่าทําได้ จะทําอะไรก็ทําไปเลย อย่างคนถามว่า รูปถ่ายที่ติดใบสมัครเอาสีหรือขาวดํา ในเมื่อเขาไม่ได้สั่ง ย่อมทําอะไรก็ได้ ขาวดําก็ได้ สีก็ได้ เอาพื้นหลังสีอะไรก็ได้ ยิ้มได้

ผมคิดว่าการเลือก สว.จะสถานการณ์คล้ายกับเลือก สส. อาจจะมีปัญหาเรื่องสถานที่ เพราะตอนนี้ กกต.เองยังไม่ประกาศว่าจะเลือกที่ไหน

ไทม์ไลน์ของการเลือกครั้งนี้เป็นอย่างไร

เรื่องแรกคือคนจะถูกยึดมือถือ หากเป็นคนพิการที่ต้องใช้อุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกก็อาจจะต้องแจ้งเขา

หลังจากรับสมัครแล้วภายใน 5 วัน จะประกาศว่าใครผ่านบ้าง 9 มิถุนายนเลือกระดับอําเภอ 16 มิถุนายนเลือกระดับจังหวัด 26 มิถุนายนเลือกระดับประเทศที่อิมแพคอารีน่าเมืองทองธานี

ในขั้นแรกไม่ว่าในกลุ่มนั้นจะสมัครกี่คน ก็จะมีคนละสองโหวต เพื่อให้ได้ 5 อันดับแรก ถ้าคะแนนเสมอกันให้จับสลาก และจับอีกรอบเพื่อแบ่งสาย เสร็จแล้วเราก็จะต้องไปโหวตให้กับกลุ่มอื่น โดยไม่ได้มีโอกาสทําความรู้จักกันก่อน มีอแค่เอกสาร 5 บรรทัด หลังจากนั้นก็โหวตแล้วก็เอาคนที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน เข้ารอบถัดไป

ระยะถัดไปจังหวัด ก็ทําเหมือนกันคือเลือกกันเองก่อนเอา 5 คน แล้วไปจับสลากแบ่งสายเลือกไขว้เพื่อเอา 2 คนของแต่ละจังหวัดเข้ารอบประเทศ ในรอบประเทศรู้แล้วว่าจะมีจํานวนเท่าไหร่ก็คือมาจากจังหวัดละสองคนรวมแล้วแต่ละกลุ่มจะมี 154 คน และจะเลือกกันเองในกลุ่มก่อนโดยทุกคนมี 10 โหวต เอา 40 อันดับแรกที่สูงที่สุดไปจับสลากแบ่งสายแล้วก็เลือกไขว้โดยโหวตกลุ่มอื่นได้กลุ่มละ 5 โหวต รวม 20 โหวต แล้วเอาคนที่ได้คะแนนสูงสุด 10 คนของแต่ละกลุ่มเป็นสว.

หากมีการเลือกปฏิบัติจะร้องเรียนได้ที่ไหน

ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติงานหรือคําวินิจฉัยหน้างานของเจ้าหน้าที่ ก็มีแบบฟอร์มร้องเรียนอยู่ ต้องเขียนตรงนั้น

แล้วก็ยื่นตรงนั้น หากมีปัญหาอะไรก็ควรร้องเรียน เจ้าหน้าที่ควรจะปฏิบัติและให้สิทธิกัยคนพิการ

นอกจากการลงคะแนนแล้วอีกส่วนที่กังวลคือ สื่อหรือสิ่งประชาสัมพันธ์สําหรับคนพิการโดยเฉพาะมีหรือไม่ เช่น คนหูหนวกรู้ไหมว่าเลือกยังไง สิ่งเหล่านี้ก็ควรตั้งคำถามว่าอยู่ตรงไหน ถ้าแบบพูดกันแบบเป็นมนุษย์ บางอย่างก็ควรต้องอํานวยความสะดวกซึ่งกันและกัน แม้มีระเบียบ ฉะนั้นคนพิการควรต้องเตรียมผู้ช่วยไปเลย เอาล่ามไปเลย

ในการเลือกครั้งนี้คนนอกจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องที่เลือกเลย ดังนั้นการสังเกตการณ์ก็จะต้องพึ่งพาผู้สมัครว่ามันมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ถ้ามีก็ต่อสู้ แล้วก็รายงานกัน ผมทําไม่ได้ ไม่มีใครทําได้

ทำไมการเลือกรอบนี้จึงสำคัญ

เพราะเราไม่อยากได้ใครจะได้ที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงอะไรกับประชาชน อาจจะดวงดีฟลุ๊คจับฉลากแล้วได้เข้ามา แต่เราต้องการให้สว.เป็นคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง มีจุดยืนแน่วแน่ว่าเมื่ออยู่ในอํานาจต้องทําหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลตรวจสอบสส.อะไรที่เป็นประเด็นที่ควรแก้ไขในบ้านเมืองเช่น รัฐธรรมนูญก็ต้องโหวตให้และถูกซื้อไม่ได้ ฉะนั้นโอกาสเดียวที่จะได้คนแบบนี้ก็คือต้องให้คนไปสมัครเยอะๆ แล้วก็ช่วยกันเลือกคนที่มีอุดมการณ์เข้าไป ถ้ามีเสียงจัดตั้งมา เช่น มีคนอยากเป็นสว.มากแล้วก็ซื้อเสียงให้คนอื่นมาเลือกตัวเองอีก 20 คน เราก็ต้องอาศัยคนที่มีจิตใจเป็นอิสระเป็นธรรมอีกซัก 21 คนเพื่อไปโหวตเป็นอย่างอื่น ให้เสียงจัดตั้งนั้นแพ้ไป เราไม่ได้เห็นด้วยกับระบบและไม่แน่ใจว่าประเทศนี้จําเป็นต้องมีสว.มากน้อยขนาดไหน แต่ว่าถ้าไม่ทําอะไรเลยเราก็จะได้สว.ตามสั่งเหมือนเดิม แล้วก็อยู่ในอํานาจอีก 5 ปี แล้วก็ทําให้ประเทศเหมือนเดิมต่อไปอีกซัก 10 ปี ถ้าเรามีโอกาสเข้าไปเยอะๆช่วยกันไปโหวตก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงสว.ได้แล้วก็จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ แล้วก็เปลี่ยนแปลงประเทศได้