Skip to main content

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล, Thisable.me, บุญรอดบริวเวอรี่ และดิคอมมูเน่ จัดงานเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง 3.0 เรื่องการมีงานทำของคนพิการ คุยกับรณภัฎ วงศ์ภา(ออม) ชมพูนุช บุษราคัม(เจินเจิน) อนุรักษ์ ปฐมลิขิตกาญจน์(นิว) ดำเนินรายการโดยอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

รูปผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 5 คน เริ่มจากทางด้านซ้ายมือเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว(รณภัฎ วงศ์ภา) ต่อมาเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว (ชมพูนุช บุษราคัม) ถัดมาเป็นผู้พิการทางการมองเห็น ( อนุรักษ์ ปฐมลิขิตกาญจน์) ดำเนินรายการโดยอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

คนพิการทำงานไปทำไม

รณภัฎ: ผมก็ได้ยินคำถามนี้บ่อยมากจะทำงานไปทำไม อยู่บ้านก็ดีอยู่แล้ว เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง อยากใช้ชีวิตเหมือนคนไม่พิการ เราอยากมีงานทำแต่หางานทำยาก สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราอยากมีงานทำและมีรายได้เพราะไม่อยากเป็นภาระครอบครัวและช่วยครอบครัวได้ วันๆ เราต้องรอให้พ่อแม่ออกไปทำงานหาเงินมาดูแลเรา ถ้าพ่อแม่ตายแล้วเราจะอยู่อย่างไร เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่า เราต้องมีงานทำ

ชมพูนุช: คุณแม่กับคุณยายเลี้ยงมา เราไม่อยากให้ภาระและความรับผิดชอบทุกอย่างตกที่ครอบครัวอย่างเดียว เราไม่ได้มองว่าตัวเองไร้ความสามารถเพราะเรียนหนังสือมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต ตอนเรียนพ่อแม่ก็หาเงินมาส่งเราเรียน ถึงเวลาเอาความรู้ความสามารถไปใช้หนี้พ่อแม่ส่วนหนึ่ง และเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการอะไรสักอย่างมากๆ ถ้าทำอะไรสักอย่างแล้วได้ให้อะไรกับคนอื่น รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่า ต้องทำงาน

มีคำถามว่า ทำไมคนพิการต้องมาทำงาน แล้วถามกลับว่า ทำไมเราต้องอยู่เป็นภาระคนอื่นด้วย เราใช้วีลแชร์ไฟฟ้าแล้วดูเองตัวเองได้ ทำไมต้องอยู่บ้าน เคยมีเคสหนึ่งมาถามว่า พิการจะออกจากบ้านทำไม มันลำบากคนอื่น แล้วทำไมต้องอยู่กับบ้านเมื่อเราออกนอกบ้านได้ เวลาได้ยินคำถามแบบนี้เหมือนแมลงหวี่แมลงวันสร้างความรำคาญ คุณต้องมองก่อนว่า เราแค่ต่างกันเฉยๆ คุณอาจจะผมยาวเราผมสั้น คุณอาจจะยิ้มสวยเรายิ้มไม่สวย คุณเดินได้เราเดินไม่ได้ มนุษย์เหมือนกันต่างกันแค่รูปลักษณ์ภายนอกแล้วทำไมมาตัดสินคนอื่นว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้

ต่อให้เราไปทำงานอยู่ในวงการธุรกิจ คนที่ได้ประโยชน์คือ ลูกค้าเรา ลูกค้าได้ของดี ของโอเค ของที่ไปเติมความต้องการของเขาให้เต็ม ไม่ว่าจะรูปแบบการทำงานมิติไหน การทำรูปแบบประจำ การเป็นอาสา ทุกอย่างคือ การคืนคุณค่าให้กับสังคมเหมือนกัน

อนุรักษ์: ผมอาจจะไม่ได้มีปัญหาเท่ากับรณภัฎและชมพูนุชที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหว ออกจากบ้านลำบาก ผมมองว่าความพิการทางการมองเห็นมีความลำบากเชิงสภาพจิตใจมาก ก่อนที่เราจะตัดสินใจทุกๆ ก้าวของชีวิตจะถูกชี้นำว่า อย่าทำ เช่น ตอนนั้นผมตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็โดนชี้นำว่า เรียนปริญญาตรีไปทำไม ไปนวดกับขายล็อตเตอรี่ดีกว่า ผมก็ไม่เชื่อ ไปสอบแล้วติด เรียนจบจะไปทำงาน เพื่อนได้งานหมดแล้วเราต้องได้งานบ้าง

หลังเรียนจบสมัครงานอย่างไร

อนุรักษ์: ผมไปสมัครงานที่แรกเขาไม่รับ แต่ไม่พูดออกมา แต่ยื่นใบสมัครมาให้บอกว่า กรอกเองได้ไหม เราก็ไม่ได้กรอก บอกว่าเขียนไม่ได้ เขาก็บอกว่า ตำแหน่งเราเขียนว่าผู้พิการทางการมองเห็นแต่เราอยากได้มองเห็นเยอะๆ ตอนนั้นหว่านที่ JOBTOPGUN เรียกไปสัมภาษณ์ที่ชลบุรีตำแหน่งอะไรไม่รู้ ให้เราไปอยู่ในโรงงานช่วยงานฝ่ายผลิต มีเงินเดือน ใช้วุฒิการศึกปริญญาตรี 9,000 บาท แต่มันไกลมากเลยไม่เอาดีกว่า จากคนที่มีความมั่นใจเต็มร้อยก็น้อยลงไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่า สิ่งที่เขาพูดกันไว้มันจริง ว่า ไม่ควรจะเรียนสูง เราเอาปริญญาบัตร เอาทุกอย่างไม่ว่าจะ CV ภาพไปทำกิจกรรมต่างๆ แต่ไม่มีใครมองเราสักคน

ชมพูนุช: เรียกประสบการณ์ทำงานค่อนข้างโลดโผน  ไม่แน่ใจว่าคนอื่นเจอเหมือนกันหรือเปล่า ตั้งแต่จบมาไม่ได้ทำงาน ว่างงานเกือบครึ่งปีได้ แต่ระหว่างนั้นก็มีการสมัครงานตลอดเหมือนที่อนุรักษ์พูด JobDB JOBTOPGUN เป็นแอพพลิเคชั่น สมัครไปมีคนโทรมาบอกว่า เราไม่สามารถรับคุณได้เพราะตึกไม่ซัพพอร์ต บางทีก็ถามว่าใช้ไม้เท้าได้ไหม เราบอกว่าใช้ไม่ได้ก็เลยไม่ได้งาน จนกระทั่งเริ่มถอดใจเลยไปเดินงาน Job Fair ลองยื่นๆ ขำๆ แล้วได้ เป็นองค์กรค่อนข้างใหญ่ทำเกี่ยวกับ Area Exhibition ค่อนข้างดีเลย หลังจากที่สมัครเกือบ 80 ที่ได้มั้ง 

เราจบวิทยาศาสตร์แต่ไมเนอร์เป็นบริหารและรู้สึกว่า เราไม่ได้อยากไปสายวิทยาศาสตร์ อยากไปบริหารบุคคล หลายที่ให้เหตุผลที่ไม่รับเราว่า ตึกเขา UD ไม่ซัพพอร์ต ไม่มีห้องน้ำคนพิการ ตึกต้องมีลิฟต์ ที่แรกทำงานได้สักพักนึงก็ออกมาแล้วได้งานบริษัทสิงค์โปร์ พอย้ายสายจาก HR มาเป็นมาร์เก็ตติ้งทำได้อยู่สักพัก บริษัทปิดตัวแล้วออก ตอนนั้นว่างงาน 4-6 เดือนซึ่งหนักหนาสาหัสเพราะเราเพิ่งทำงานแรกๆ เงินเดือนไม่ได้เยอะ แล้วไม่ได้มีเงินเก็บเยอะขนาดนั้นเลยกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด หางาน สมัครตามจ็อบแอพพลิเคชั่นต่างๆ แล้วไม่ได้ จนกระทั่งมีอาจารย์ที่ใจดีท่านนึงให้รุ่นพี่แนะนำบริษัท Starup ให้เราทำอยู่ 2 ปี หลังจากนั้นย้ายไปอยู่บริษัทรีเทล 7 เดือน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สุขภาพจิตเราไม่ดีด้วย เราเลยเลือกออกจากงานมาพัก แต่ระหว่างนั้นก็หางานเพราะรู้ว่าเราว่างงานนานไม่ได้หรอก ครอบครัวไม่ได้มีเงินมาก ไม่ได้ล้มบนฟูก

ร้อยละ 80 ที่เราสัมภาษณ์งาน เราได้ แต่เพราะเราอยู่ไกลบ้าง เรื่องตึกไม่มีลิฟต์มีแต่บันไดเพราะเป็นตึกเก่า ไม่มีห้องน้ำ มีเหตุผลประหลาดๆ อย่างเห็นเราเป็นคนพิการไม่รู้จะดูแลเราอย่างไร ค่อนข้างหลายเหตุผลและแต่ละช่วงเหตุผลไม่เหมือนกันด้วย

รณภัฎ: หลังจากพิการนอนอยู่บ้านประมาณ 2 ปี ช่วงนั้นไม่รู้เลยว่าจะทำงานอะไรได้ จนมีพี่ๆ กลุ่มหนึ่งเข้ามาหาเรา ชวนเราออกมาข้างนอก เริ่มเข้าสู่สังคมคนพิการแล้วได้มารู้จักกับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล ทำงานสังคม ไปหาคนพิการตามบ้าน พูดคุยกับคนพิการ ตอนนั้นที่พี่ๆ พาเราไปเรารู้สึกว้าว เพราะเราพิการภายหลัง พอมาเห็นชีวิตคนพิการเป็นอีกโลกที่เราได้ก้าวสู่คนพิการ

ตอนนั้นเราโชคดีที่ไม่ได้ไปหาเงินเหมือนชมพูนุชและอนุรักษ์ งานแรกที่ทำแล้วได้เงินเป็นงานที่มาหาเราเอง ตอนนั้นการจ้างงานมาตรา 35 และ 33 ที่กำลังฮิตแล้วมีหน่วยงานหนึ่งเป็นมูลนิธิหน่วยกลางคอยเชื่อมต่อดีลกับบริษัทให้คนพิการ หาบริษัทนี้ดีลกับองค์กรคนพิการ ทางศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑลได้มาตรา 35 มาทำ ถูกภายใต้องค์กรที่ผู้ดำเนินรายการเล่าให้ฟังตอนแรก เป็นจ้างเหมาหลายปี ปีละ 100,000 กว่าบาท วันหนึ่งได้เงิน 300 กว่าบาท เดือนหนึ่งได้เงิน 9,000 กว่าบาท องค์กรเรามีหน้าที่ลงพื้นที่ไปหาคนพิการหรือทำงานเกี่ยวกับ Social Movement กระบวนการเรียนรู้ความพิการ เราอาจจะมีรายละเอียดของเพื่อนที่ถูกจ้างงานแต่ไม่ได้รับเงินเท่าเรา เช่น ให้เดือนละ 5,000 บาทโดยไม่ต้องทำอะไรเลย นอนอยู่บ้านอย่างเดียว ตอนนั้นเราไม่รู้กฎหมายก็ไม่กล้าฟ้องร้องเพราะกลัวพี่คนพิการถูกจับ เรารู้สึกไม่โอเค ตามกฎหมายเขาต้องได้กฎหมายเดือนละ 9,000 บาท แต่เขาได้เดือนละ 5,000 บาท บางคนได้แค่ 3,000 ก็เอา เรารู้สึกไม่โอเคกับคนที่จัดหากินเงินตรงนี้เยอะมาก คนเหล่านี้หาเงินกับคนพิการเยอะมาก

คิดว่าการจ้างงานตามมาตรา 33 หรือ 35 เป็นธรรมไหม

อนุรักษ์: ที่แรกผมได้เงินไม่เกิน 12,000 บาท ตามมาตรา 33 ตอนนั้นรัฐบาลบังคับให้เป็น 15,000 บาท ที่ต่อไปเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งก็ให้ 13,500 บาท กับอีกที่หนึ่งจ้างงานเพื่อสังคมกับมูลนิธิเดียวกับรณภัฎ

ที่แรกดีมาก เขามีองค์กรหนึ่งช่วยสนับสนุนอยู่แล้ว ในเมื่อคุณมาจากองค์กรนั้นแล้วส่งกลับไปทำงานที่นั้นตามศักยภาพที่มี เรามีความสุขได้เงินเดือน 12,000 บาทก็ไม่เป็นไร แต่บางวันก็ต้องกลับดึก บางวันต้องช่วยเขาขายของ บางทีเสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปทำงาน แต่ไม่ได้มีผลประโยชน์เหมือนที่องค์กรเอกชน เลยขอไปเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานใหม่ๆ ดู เราไปที่ห้างแห่งหนึ่งที่รับเรา เรายื่นไปตำแหน่งโอเปอเรเตอร์มาตรา 33 เหมือนกันแต่เราอยู่กับเขาไม่ได้ 

คนพิการและคนไม่พิการไม่เข้าใจกันเรื่องเวลางาน เราได้พักก่อนเขาได้พักหลัง เรารู้สึกทะแม่งแปลกๆ บางทีได้พักหลังให้มาพักก่อน เวลาทำงานโต๊ะจะหันหน้าเข้าหากัน มีโทรศัพท์ตั้งอยู่ตรงกลาง สลับกันรับสาย แตวันสุดท้ายที่ผมตัดสินใจออกเขาให้ผมรับแล้วตัวเองเล่นโทรศัพท์ นอกจากนี้ก็มีบทสอบแปลกๆ เป็นการกดดันเรา เราได้องค์กรเดียวกับรณภัฎ  แต่ไม่มีสัญญาจ้างแต่คิดงานเป็นรายชิ้น  ถ้าเป็นคนพิการด้วยกันคนละ 100 บาท สมมติโทรติด คุยได้ บันทึกข้อมูลลง 100 บาท จากเงินเดือนที่แน่นอนเริ่มไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนเกณฑ์ นึกว่าสักพักเราจะได้บรรจุ วันนั้นเรียกประชุมด่วนแล้วบอกว่าจะเปลี่ยนงาน คนตาบอดที่ทำงานกับโทรศัพท์ 5 คนต้องออกหมดเลย

ขอเสริมจากอรรถพลว่ามาตรา 35 ไม่ได้ถูกผลิตให้มาจ้างคน ถ้าดูดีๆ แล้วเป็นการเลี่ยงบาลีด้วย มันเป็นการจ้างเหมาบริการ บริษัทหนึ่งไม่มีทางลาดแล้วบอกว่า ใช้งบประมาณไม่เกินนี้ สามารถไปลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่เราเพิ่มบาลีว่าจะจ้างเหมาบริการไม่ได้ถูกยอมรับโดยกฎหมายด้วย ผมมองว่าประกันสังคมในมาตรา 33 เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมที่สุดแล้ว

ชมพูนุช: ปัจจุบันบริษัทที่ทำพนักงานคนพิการก็ไม่ถึง 100 คน มันเป็นชุดความคิดของแต่ละบริษัทมากกว่า เราไม่เคยทำมาตรา 33 เลย แต่เกือบได้แตะมาตรา 35 ด้วย บริษัทที่ไปสมัครตอนนั้นเป็นบริษัทผูกขาดในประเทศไทย สัมภาษณ์แล้วผ่านแต่เขาโทรกลับเขามาว่าจะส่งไปอยู่ต่างจังหวัดด้วยเงิน 9,000 บาท แต่ตอนนั้นมั่นหน้ามากว่า จบปริญญาตรี ต้องได้เงินเท่าเด็กปริญญาตรีเท่านั้น ถ้าบริษัทมายื่นข้อเสนออะไรแบบนี้ให้ ต่อให้ไม่มีเงินก็ไม่เอา เราอาจจะไม่ได้รู้กฎหมายเท่าไรว่ามาตรา 33 และ มาตรา 35 มีความเหมือนความต่างกันยังไง ส่วนการลดหย่อนก็ไม่ค่อยรู้จะเป็นเรื่องของ HR ไปจัดการ บางทีขอบัตรคนพิการเราก็คิดว่าเขาเอาไปลดหย่อน แต่ก็มีหลายๆ ที่ไม่ได้ขอเอกสารไปลดหย่อนก็ได้ เนื่องจากไม่ได้ข้อเอกสาร เพราะเราตั้งเป้าว่า จะทำงานตามความสามารถและเงินเดือนสมควรมาตลอด มาตรา 33 เป็นมาตราที่จ้างงานคนทั่วไป ใช้ประกันสังคมเหมือนกัน ก็จะมีช่วงที่ต้องเลือกว่าจะใช้สิทธิคนพิการหรือการรักษาประกันสังคม แต่เราเลือกสิทธิการรักษาประกันสังคม

ประสบการณ์การทำงานกับเพื่อนร่วมงาน

ชมพูนุช: ด้วยชุดความคิดที่ไม่ใช่แค่ที่ทำงานแต่เป็นชุดความคิดทั้งประเทศนี้ ความเข้าใจคนพิการยังน้อยมาก ไม่แปลกเลยที่เขารู้สึกรับมือไม่ได้ แต่บริษัทที่ไปทำงานทุกๆ ที่เขาโอเคกับการที่มีเราอยู่ เราใช้วีลแชร์ แล้วเขาต้องอยู่กับเรายังไง ต้องช่วยเหลือยังไง แต่มันก็มีทั้งคนที่เข้าใจเราและไม่เข้าใจเรา เราก็อยู่กับคนที่เข้าใจเรา เราก็ไปเที่ยว กินเหล้า ไปปาร์ตี้ ไปจังหวัด แต่ที่มีปัญหาคือ ช่วงก่อนรับเราเข้าทำงาน เป็นปัญหาสำหรับเรามากกว่า

เมื่อต้นปีที่แล้วเราลาออกจากบริษัทรีเทลออกมารักษาตัวเอง พอรู้สึกว่า ตัวเองโอเคแล้วกลับไปสมัครงานมาร์เก็ตติ้ง แต่ส่วนใหญ่เขาจะมีเงื่อนไขว่า ต้องออกไปหาลูกค้า ต้องดูดีและเดินทางง่ายเพื่อคุยกับคนนั้นคนนี้ ลงพื้นที่ไปทำรีเสิร์ช เราไปสัมภาษณ์ตำแหน่งมาร์เก็ตติ้งบริษัทสื่อแห่งหนึ่งสีเขียว ตอนนั้นเราสัมภาษณ์กับเขาทางออนไลน์เขาเลยไม่รู้เรานั่งวีลแขร์ จนกระทั่งวันที่ไปเซ็นต์สัญญา เราไปถึงผิดหวังนิดนึงเพราะเขาทำข่าวแต่บริษัทเขาไม่มีอะไรซัพพอร์ตคนพิการเลย

จังหวะแรกที่เขาเจอหน้าแล้วถามเราว่ามาทำอะไร มาเซ็นต์สัญญา เขาทำหน้าสตั๊น แล้วหายไปคุยอะไรกันไม่รู้และเอกสารเราไม่ครบด้วย เขาบอกให้กลับมาอีกรอบหนึ่ง แต่บ่ายวันเดียวกันต้องไปเปิดบัญชีสำหรับโอนเงินเดือนเข้าธนาคารสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นตึกเก่า ไม่ลิฟต์เป็นบันไดสูง คุณแม่เดินขึ้นไปคุยให้เจ้าหน้าที่ลงมา คำแรกที่เขาถามคือ บริษัทรู้หรือยังว่าเป็นอย่างนี้ เขาโอเคหรือที่รับ เรารู้สึกแปลกๆ ว่าบริษัทกับธนาคารคุยกันเหรอว่า มีคนแบบฉันจะไม่รับ ใจหนึ่งเสียใจมาก ตอนได้งานนี้เราก็เอาเงินเก็บทั้งหมดที่มีไปจ่ายค่าคอนโด

ตอนนั้นทุกอย่างถาโถมเขามา สุขภาพจิตก็แย่ เราก็ไม่ได้ทำงานทีนี่ วันถัดมาเขาโทรมาว่า เราประชุมกับบอร์ดด้านบนแล้วไม่สะดวกรับเพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวย แล้วยังมาเจอคำพูดแบบนี้อีก การกระทำไม่ดีต่อใจเราเลย ใน CV เน้นย้ำให้เห็นเลยว่า เรานั่งวีลแชร์ แล้วให้ตัวนั้นเป็นตัวตัดสิน ยินดีที่จะรับเรา เรายินดีที่จะไปทำงานกับเขา แลกกัน ถ้าเห็น CV ว่านั่งวีลแชร์แล้วไม่โอเค ให้จบตั้งแต่การเห็นเรซูเม่ ไม่ต้องมานั่งคุยกันให้เสียเวลา ต้องมาเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งจิตใจกัน เพราะการสมัครงานของเราส่วนใหญ่ผ่านเว็บจ็อบ แอพพลิเคชั่นจ็อบ

อนุรักษ์: ย้อนไปประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559 ผมสมัครงานที่หนึ่งเป็นบริษัทสื่อเหมือนกัน แถวถนนวิภาวดี เป็นรูปนก หลังยื่นเอกสารส่งออนไลน์ไปแล้วโทรหาว่าได้รับเอกสารหรือยัง เขาบอกว่าให้ลองคุยกับหัวหน้า HR สัมภาษณ์เบื้องต้น ก็เป็นไปด้วยดี ทำสื่อเรื่อง AD (Audio Discription) แล้วนัดไปสัมภาษณ์กับผอ. ผอ. สำนัก เลขา หัวหน้า HR เขาก็ถามว่า เรามองไม่เห็นเหรอ เรามีความร่วมมือกับองค์กรคนพิการอยู่แล้ว สนใจจะมาตรวจสอบบท AD ไหม เขาถามเรื่องเงินเดือน แล้วเขาก็บอกว่าจะมีเจ้าหน้าที่โทรมาบอก

ช่วงนั้นตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม เราไม่มีงานทำเพราะยังรอที่ ​AD แม้กระทั่งงานที่ผมอยากทำที่สุดอย่างจัดตั้งคนพิการ ผมไม่กล้าทำเลย  โทรไปหาก็ไม่มีคำตอบ หัวหน้าฝ่าย HR โทรมาพูดเสียงตะกุกตะกักจริงๆ ยังไม่มีนโยบายรับแล้วรอทางบริษัทสื่ออยู่เหมือนกัน เรารู้สึกโกรธ เพราะเขาเป็นองค์กรสื่อที่ทำงานเรื่องคนพิการเยอะมาก มีอะไรหลายอย่างที่เขาพยายามโปรโมทตัวเองเข้าถึงคนพิการ แต่แค่บอกเราตรงๆ ว่า เปลี่ยนโครงสร้างยังสนใจงานที่นี่อยู่ไหม เดี๋ยวลองมาคุยกันว่าทำส่วนไหนได้บ้าง

รณภัฎ: เราทำงานมาตรา 35 ที่ทำงานมี 5 คน เราเป็นโหนดควบคุมการทำรายงานทั้งหมดเพื่อส่งให้ทีมกลาง เป็นรายงานประจำเดือนติ๊กว่าทำอะไรบ้างแต่ละวัน ลักษณ์การให้ติ๊กเนื้องานไม่ตรงกับของเรา ช่วงนั้นพยายามจะจับมาตรา 35 รวมกับ รพสต.หรือ อบต. เป็นงานบริการทั่วไป

อีกอย่างที่เราเชื่อเลยคือ คนพิการออกมาข้างนอกไม่ได้ทุกวัน บางคนออกมาได้แค่ 3-4 วัน บางคนนั่งแปดโมงเช้าเลิกสี่โมงเย็น มันเป็นไปได้ยาก บางคนมีข้อจำกัดนั่งวีลแชร์ได้ไม่นาน

คิดเห็นยังไงกับความคิด ‘การจ้างงานคนพิการไม่คุ้มค่า’

ชมพูนุช: ปลายทางที่ต้องการอะไร ถ้าต้องการความสามารถที่มีอยู่ในสมองไม่เกี่ยวกับว่าเรามองไม่เห็น เดินไม่ได้ แล้วการจ้างงานคนพิการมไม่คุ้มค่ายังไง เราก็ไม่เข้าใจคนอื่นเหมือนกันว่าเราเดินไม่ได้แต่เราใช้วีลแชร์ได้ไง สมมติต้องทำมาร์เก็ตติ้งรีเสิร์ทเราก็ทำได้ ถ้าเราบอกว่าไปได้คือไปได้ ไม่ต้องคิดแทนเรา มันจะมีคนที่ชอบคิดแทนเราว่า ไม่ได้ไปลำบาก โอ้ย! ชีวิตเราใช้มามากกว่าที่คนอื่นๆ เห็นอีก มันโลดโผน มันไปได้มากกว่านี้อีก

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเกิดจากการคิดแทนทั้งหมด บริษัทที่เราทำไม่ได้เคยมาตัดสินว่าเราไปได้หรือไป ไม่ได้ วันนี้ต้องลงหน้างานสะดวกไหม เขาจะใช้ความเข้าใจคุยกับเรา แต่เรารู้สึกว่าเป็นชุดความคิดที่ดีมาก เหมือนกับเราเป็นแฟนกันก็ต้องคุยกัน เธอเป็นยังไง เธอโอเคหรือเปล่า แล้วเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่หลายๆ ที่ชอบคิดว่าสิ่งที่คิดถูกหมดซึ่งมันไม่ใช่ ปลายทางเขาอยากจะได้เราไปในฐานะอะไร ถ้าในฐานะคนทำงานแล้วยินดีให้เราเข้าทำงานในความสามารถเรา เขาก็ต้องเข้าใจและมองทะลุมากกว่าสิ่งที่เราเป็น คุ้มค่าไหมหรือไม่คุ้มค่าขึ้นอยู่กับชุดความคิดบริษัทนั้นๆ เราเอาความสามารถมาแลกแต่บางอย่างเราไม่สะดวกเท่า แค่แสดงน้ำใจมันโอเคมากๆ เราอาจะไปไม่ได้แต่เรารู้สึกใจอยากไป  ไม่ว่าจะพิการทางด้านไหนใจพวกเราสู้เกินไปร้อย เราใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กจนโตผ่านอะไรหลายๆ อย่างมามากๆ เรื่องแค่นี้

อนุรักษ์: เงินเดือนผมเหมือนกราฟเลย 15,000 ของเราหลายคนมองว่าดีแต่เงินเดือนไม่เคยปรับขึ้นมา 7 ปี ถ้าลาโดนหักเงินอีก การได้เงิน 15,000 แล้วไปไหนไม่ได้เป็นสิ่งที่อึดอัด ผมยอมเงินเดือน 12,000 บาท มีประกันสังคม มีนั้นมีนี้มันดีกว่า องค์กรผมเปิดให้สอบพนักงาน ผมสอบไม่ได้เพราะเปิดรับสมัครเฉพาะคนไม่พิการ ต้องรอตอนไหนกว่าจะเปิด ผมเคยคิดในใจว่า คงไม่มีหวังโตไปกว่านี้ เงินเดือน 15,000 บาทตลอดชีวิต รับได้ก็รับ รับไม่ได้ก็ไปที่อื่น คนไม่พิการถูกจ้างแบบนี้ แต่เขามีทางเลือกว่าจะออกไปทำอะไรก็ได้ แต่เราเป็นคนพิการแล้วออกไป ความมั่นคงอยู่ไหน ลูกเมียเราจะอยู่ยังไง พ่อแม่เราอีก

รณภัฎ: ผมไม่อยากขายหวยแต่อยากล้างจานวันละ 300 บาทมีที่ไหนรับ คนพิการหลายประเภทไม่ได้อยากขายลอตเตอรี่แต่งานอย่างอื่น เขามองเรื่องราคาที่ต้องจ่ายและคุณภาพที่ต้องตามมามากกว่า ถ้าจ้างแรงงานต่างด้าวอาจจะคุ้มกว่า ถ้าเราได้ทำงานพวกนี้เราจะมีความภาคภูมิใจมาก

ภาพฝันการมีงานทำของคนพิการ

อนุรักษ์: เว็บไซต์ที่จัดหางานทำของคนพิการเปิดรับพนักงานฝ่ายผลิต พนักงานสวน ซึ่งผมมองว่าเป็นแบบนี้ต่อไป  ภาพฝันจะเป็นเหมือนคนตาบอดเลือนรางที่จะมัวๆ ไม่ใช่ แต่ถ้าจะให้ชัดก็ต้องมานั่งทบทวนกฎหมาย ตัดมาตรา 35 ออกไหม เหลือแต่มาตรา 33 เวลาเราร่างกฎหมายจะมองแต่นิติรัฐ แต่เราลืมมองภาคประชาสังคม คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส เข้าไม่ถึงความต้องการของตลาดแรงงาน ถ้าไม่มีการฝึกอบรม ฝากทำให้กฎหมายเท่ากันหน่อย องค์กรคนพิการช่วยทำอะไรให้ดูจริงจังกว่านี้และไปให้ถึงจุดสุดท้าย การจ้างงานคนพิการเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งส่งเสริมอาชีพให้คนพิการมีอาชีพเป็นของตัวเองเป็นรูปธรรม จะทำให้คนพิการอยู่ด้วยตัวเอง เป็นเรื่องที่ดีกว่าไหม งานในระบบก็มี คนพิการต้องหารายได้เสริมในการทำงาน อันนี้ข้อเสนอนึงที่ต้องกลับมาคุยกันระหว่างรัฐ นิติรัฐ นโยบาย คนพิการ และองค์กรคนพิการจะทำอย่างไรในอนาคต

หากจะแก้มาตรา 35 ทางไหนก็มีต่อต้าน เราคงมาตรา 35 ไว้ก็จริงแต่คนที่ไม่ได้รับผลประโยชน​์จากมาตรา 35 เรื่องอัตราแก้ไขเงินเดือน ทำอย่างไรเงินเดือนไม่ขึ้น เพราะมาตรา 35 ไม่ได้เขียนว่าจ้างเหมาบริการเงินเดือนจะขึ้นทุกปี คุณจะจ้าง 3 ปี 5 ปี ขึ้นอยู่กับนายจ้างหรือเกณฑ์เงินเดือนขึ้นต่ำถูกปรับหรือไม่ปรับ ถ้าเราตัดมาตรา 35 (1) ออกแต่ยังเหลือมาตราอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้คนพิการมีรายได้ประจำ ลงทุนล็อตเตอรี่ ลงทุนร้านนวด ลงทุนในงานต่างๆ ที่ใช้มาตรา 33 มาตรา 35 ส่วนที่ไม่ได้เป็นการจ้างงานมันจะดีกว่าไหม

รณภัฎ: อะไรที่เราได้รับสิทธิประโยชน์แล้วได้ครอบคลุม คุณสามารถทำให้คนพิการมีงานทำได้แล้วทั่วหน้าจริงๆ มันจะดีมาก ความฝันที่เราฝันไว้คือ การทำงานกับชุมชนเป็นเรื่องดีกว่า ชุมชนเป็นอะไรที่เข้มแข็งที่สุด ถ้าเรามีแคตลาล็อก สมมติถ้าคนพิการคนนี้อยากมีรายได้จากการเลี้ยงไก่และขายไข่เขาจะส่งให้ใครได้บ้าง ชุมชน อบต.เข้ามาสนับสนุนในสิ่งนี้ บางคนที่อยากทำงานเอกสารดีลกับบริษัทเอกชนให้เขาสิ ทำงานจากระดับล่างขึ้นบนเพราะทำงานจากระดับบนลงล่างไม่มั่นคง สั่งอย่างเดียว มีเงื่อนไข กลุ่มล่างๆ ทำอะไรไม่ได้เลย ถามมาตรา 33 มาตรา 35 คนพิการกี่คน แทบจะไม่ถึงล้านคน แทบไม่ถึงพันคนด้วย แล้วฝากไปถึงหน่วยงานของรัฐที่จ้างงานคนพิการ ถ้าจ้างงานแล้วคุณควรระบุว่า เหมาจ้าง ถ้าเขาหยุดงานรายวันไม่ควรไปหักเงินเขา มีน้องคนหนึ่งที่รู้จักกันทำงานมาตรา 35  ในโรงพยาบาลให้น้องเซ็นต์รับเงินเป็นรายวัน ถ้าไม่มาทำงานถูกตัดเงินไป ผมเห็นบริษัทเอาเปรียบคนพิการเยอะโดยที่ไม่อยากจ่ายเงินให้เต็มแต่บริษัทตัวเองลดหย่อนภาษีได้เต็มที เราต้องยืนยันสิทธิสัญญาตอนที่เซ็นต์ว่า คุณต้องจ้างเราเหมารายเดือน เพราะข้าราชการเวลาหยุดยังไม่หักเงินเดือนเลย

ชมพูนุช: เราอาจจะต่างจากทั้ง 2 คนเพราะทำงานประจำที่องค์กรเอกชน อยากฝาก 3 มิติ มิติแรก Diversity หลายๆ ครั้งองค์กรใหญ่ๆ ในประเทศไทยรับคนพิการ ให้โอกาสคนพิการทำงาน เราสมัครงานกับบริษัทเหล่านั้นไปไม่เคยได้โอกาสการไปทำงานกับเขาเลย สิ่งที่เขาให้โอกาสคือ การเป็นบาริต้า ทำงานเอกสาร เป็น Call Center ในฐานะที่เรียนจบปริญญาตรีหรือมีความสามารถมากกว่านั้นเป็นข้อจำกัดในการองค์กรสนับสนุนให้คนพิการทำงานก็จริง ทุกคนไม่ว่าคนพิการไม่พิการมีฝันหมด เราเป็นคนพิการไม่ควรถูกดับฝันด้วยสิ่งที่เราเป็น

เราทำงานกับบริษัทไทยและต่างประเทศด้วย สิ่งที่เห็น 1 ข้อในบริษัทไทยเลยคือ ไม่ค่อยเปิดรับคนพิการเข้าไปทำงาน หลายๆ บริษัทอย่างเช่น อะโกด้า ติ๊กต๊อก เขาจะเขียนเน้นไว้เลยว่า ‘ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน บริษัทเราต้อนรับ Diversity มากๆ’ แล้วเขาให้ติ๊กว่า เราเป็นอะไร เราเคยสัมภาษณ์งานกับทางอะโกด้าเมื่อหลายปีที่แล้ว เขารู้ด้วยว่า เรานั่งวีลแชร์ เขาบอกว่าไม่ได้เรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็น ถ้าความสามารถเราทำให้อะโกด้าโตได้ ตำแหน่งการขายคนจะมองว่า คนที่เดินได้จะทำได้เท่านั้น บางคนเตี้ยอ้วนเจอ Beauty Standard แล้วคนแบบนี้เป็นเซลล์ไม่ได้

แล้วถูกย้อนกลับไปที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเลยว่า เรายังมองคนต่างกันเหมือนดอกไม้ 3 ดอกก็มีความสวยงานแบบของตัวเอง แต่คนจะมองว่า ถ้าคุณไม่ได้เป็นดอกไม้เหมือนเรา คุณก็ไม่ใช่พวกเดียวกับเราแล้ว จะตายก็ปล่อยไป เราไม่โทษใครสักใครคนที่มีชุดความคิดกับคนพิการมองแตกต่างออกไปหรือยังคิดไม่มีความสามารถขนาดนั้น เพราะเราโทษว่า คนที่มีอำนาจที่จะจัดการเขายังไม่เข้าใจเราเลยด้วยซ้ำ

องค์กรดูแลคนพิการแถวๆ ดินแดง เขาเป็นหน่วยงานดูแลคนพิการจริงแต่เขาไม่เคยเข้าใจคนพิการเลยด้วยซ้ำ แล้วเขาจะเอาน้ำหน้าไปสื่อสารหรือสื่อสารให้คนในประเทศรู้ว่า คนพิการก็คือคนพิการก็คนเหมือนกัน อย่าไปบูลลี่ อย่าไปมองเขาต่างกัน ต้องปรับชุดความคิดของคนในประเทศก่อน เวลาอยู่ต่างประเทศหรือประเทศไทย เราเปรียบเทียบได้เลยคนฝั่งยุโรปเข้ามาถามว่า มีอะไรให้ช่วยไหม ต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือเปล่า มีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่น่ารักแบบนี้ แต่ก็มีหลายๆ กลุ่มไม่ได้อยากช่วยหรอกแต่เราคิดไม่รู้วิธีการจะทำยังไง ช่วยเหลือยังไง พูดยังไง เราคิดว่าเป็นกุญแจสำคัญในการตัดสินคนแต่ละกลุ่มต่างกัน เราได้ยินเรื่องแบ่งแยกระหว่างคนผิวสีกับคนผิวขาว ประเทศไทยมีแบ่งแยกคนกลุ่มนี้เป็นอย่างนี้ คนกลุ่มนี้เป็นแบบนี้ ถ้าเธอไม่เหมือนฉัน เราไม่เหมือนกัน เวลาสร้างตึกก็ไม่ได้นึกถึงคนที่ต่าง เวลาจะจ้างงานก็จ้างคนปกติ คนปกติมีร้อยละเก้าสิบ จะไปจ้างงานคนพิการ พอเป็นแบบนี้โอกาสการทำงานของคนพิการน้อยลงและให้คนพิการเป็นบาริต้ส ไปเป็นคนสวน  ไปอยากเป็น Call Center  ไปนั่งขายล็อตเตอร​์รี่ เป็นการจำกัดความฝันเราด้วย

แล้วจะมีคนกลุ่มนึงที่บอกว่า ทำไมเราต้องมาจ่ายภาษีแล้วมาดูแลพวกเรา เพราะสังคมไม่ได้เปิดโอกาสให้เรามีสิทธิแบบนั้นไง อาจเป็นคนดูแลตัวเองได้ไม่เต็มร้อย เราเป็นคนพิการไม่กี่เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำที่นั่งทำงาน สามารถดูแลตัวเองได้ แต่คนที่ประสบปัญหากว่าเรามีเยอะมากๆ เป็นกลุ่มคนที่ต้องการความเข้าใจและความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ถามว่าภาพฝันของเราคือ การอย่าไปริดรอนสิทธิของคนอื่น ให้โอกาสกันมากขึ้น