Skip to main content

ชวนขุดคุ้ยร่องรอยความบาดเจ็บจากแผลกดทับที่เพื่อนคนพิการเจอทุกแผลก็เริ่มจากแผลถลอกเล็กๆ ลุกลาม กัดกินและเกิดขึ้นเป็นวงโพรงใต้ผิวหนัง จนกระทั่งแผลเหล่านั้นเผยตัวออกมาและเราเรียกมันว่า แผลกดทับ  แผลกดทับหรือ Pressure Sore เป็นแผลชนิดที่คนทั่วไป

ทุกแผลก็เริ่มจากแผลถลอกเล็กๆ ลุกลาม กัดกินและเกิดขึ้นเป็นวงโพรงใต้ผิวหนัง จนกระทั่งแผลเหล่านั้นเผยตัวออกมาและเราเรียกมันว่า แผลกดทับ

แผลกดทับหรือ Pressure Sore เป็นแผลชนิดที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก เพราะโดยปกติแล้วเมื่อเราเป็นแผล ทำแผล ใส่ยา ดูแลความสะอาด ไม่นานแผลก็หาย แม้อาจจะทิ้งรอยแผลไว้บ้าง แต่สุดท้ายแผลก็จะแห้งสนิทหายดี แต่แผลกดทับนั้นตรงกันข้าม เมื่อมีรอยถลอกเล็กๆ ที่ถูกทับซ้ำ บางทีก็อับชื้น บางครั้งก็อยู่ในบริเวณที่โดนฉี่หรืออึ แผลเล็กๆ ก็ยิ่งลุกลามรุนแรง บางคนต้องตัดอวัยวะทิ้ง หรือบางคนก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อ

ในงานชิ้นนี้จะชวนผู้อ่านมารู้จักกับแผลกดทับที่เกิดขึ้นกับเพื่อนคนพิการ ทำไมแผลกดทับจึงรุนแรงจนเป็นสิ่งที่เพื่อนคนพิการโดยเฉพาะคนพิการบาดเจ็บไขสันหลังแทบทุกคนต้องเจอแล้วขวัญผวา แผลกดทับเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรทำให้เมื่อมีแผลแล้วส่วนใหญ่ลุกลามใหญ่โตจนแทบเป็นคำพูดติดปากว่า ‘ใหญ่ขนาดเอากำปั้นเข้าไปได้’

รู้จักวันแรกแห่งความพิการ

แม้จุดร่วมหนึ่งของเรื่องนี้คือแผลกดทับ แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เราเดินทางลงภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากความคุ้นเคยในการทำงาน แม้เราจะพอรู้บ้างว่าเพื่อนคนพิการไขสันหลังบาดเจ็บในกรุงเทพฯ ก็เผชิญกับแผลกดทับกันไม่น้อย และหลายคนก็เจอกับปัญหาเรื้อรังของแผลกดทับ แต่บริบทของคนพิการในภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฏร์ธานีจะแตกต่างออกไปอย่างไร

สุราษฎร์ธานี

ณัฐพร เป็นชาวสวนกระบองเพชรหลังจากเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน ตัวเขากระเด้งชนกับหลังคารถ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด

“เราคิดว่าไม่ได้เป็นอะไร จึงเปิดประตูจะออกไปแต่ก็ร่วงเลย คนข้างๆ ที่นั่งมาด้วยกันก็เปิดประตูไม่ได้ดูหน้าดูหลังจึงถูกรถมาเฉี่ยวซ้ำจนเสียชีวิต เราเองตื่นอีกทีที่โรงพยาบาล โดนดึงคอเพราะคอหัก ขานี่ไม่รู้สึกแล้ว”

เช่นเดียวกับสิทธิชัย ที่ทํางานเป็นจิตอาสาอยู่ที่มูลนิธิกู้ภัยในตัวเมืองสุราษฎร์ เขาก็พิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเข้าปีที่ 21 แล้ว ปัจจุบันเขาไว้ผมยาวและใช้วีลแชร์ที่มีหัวลากในการเดินทางไปไหนมาไหน

“ตอนนั้นถนนเป็นโค้งหักศอก ผมสวนกับรถกระบะที่เปิดไฟสูง ตามันมืดก็เลยล้มลงจนมอเตอร์ไซคค์ทับหลัง และสลบไม่รู้สึกตัว พอเพื่อนเรียกได้สักพักหนึ่งก็รู้สึกตัวแต่ลุกไม่ได้ ขาไม่มีแรง เขาเลยจับผมยกซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านทางลูกรัง ขาด้านขวาที่ไม่รู้สึกแล้วก็ห้อยตกพื้นลากบนทางลูกรังกว่าจะไปถึงบ้านเพื่อนก็เหลือแต่กระดูก แต่เราไม่รู้ตัวเลยเพราะชาไปแล้ว”

ประสบการณ์ของณัฐพรและสิทธิชัย นั้นคล้ายกับพิไลวรรณที่พวกเขาต่างตื่นมาและพบว่าขานั่นสูญเสียความรู้สึกไปแล้ว พิไลวรรณเป็นสมาชิกของมูลนิธิเมาไม่ขับของธนาคารไทยพาณิชย์ วันหนึ่งเธอขี่มอเตอร์ไซค์ไปทํางานปกติแต่มีรถสิบล้อพุ่งมาชนจากอีกฝั่ง

“เราพยายามจะลุกแต่ลุกไม่ได้เพราะรถทับจนสลบไปมาตื่นทีที่โรงพยาบาล มีสายอะไรต่ออะไรไม่รู้เต็มไปหมด เรายกขาซ้ายไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าเป็นอะไร จนหมอมาบอกว่าอาจจะเดินไม่ได้ตลอดชีวิตเพราะเส้นเอ็นร้อยหวายฉีก แม้เขาต่อเข้าหากันแล้ว แต่ขาก็สั้นยาวไม่เท่ากัน เวลาจะยกก็ต้องใช้มือช่วยตลอด” 

นครศรีธรรมราช

ไกรศร เป็นประธานศูนย์ IL หรือศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ นครศรีธรรมราช ตัวเขาเองทำงานรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ เขาพิการตอนเรียนอยู่ปี 3 และค่ำคืนนั้นก็เปลี่ยนชีวิตและนำมาสู่ชีวิตอีกแบบหนึ่งที่พ่วงมากับแผลกดทับขนาดใหญ่เท่ากำปั้น

“คืนหนึ่งผมดื่มเหล้ากับเพื่อน แล้วก็เมาขับรถกลับบ้าน ขับไปชนจนสลบ มาฟื้นอีกครั้งที่โรงพยาบาลมหาราช พอตื่นขึ้นมาก็ตกใจว่าทำไมท่อนล่างไม่มีความรู้สึก ก็ผงกหัวขึ้นมาดูยังเห็นขาครบ แต่หมอบอกว่าต่อจากนี้จะไม่สามารถลุกขึ้นนั่งได้เพราะไขสันหลังขาด แต่เราไม่เข้าใจว่าขาดคืออะไร จนกลับมาอยู่บ้านเกือบ 2 เดือนก็ยังนั่งไม่ได้ ต้องนอนตลอดเวลา”

ไกรศรอยู่แบบนั้นเป็นเวลาปีกว่าโดยไม่ได้ฟื้นฟู เขามีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า บุคลิกเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนสุขุม สุภาพ เรียบร้อย ไม่ต้องพึ่งพาใครก็กลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา จนทำให้จากความอยากทำโน่นทำนี่กลายเป็นความไม่พอใจเมื่อทำไม่ได้แม้แต่ลุกขึ้นนั่ง

เช่นเดียวกับสมชาย หนุ่มวัยรุ่นที่พิการด้วยอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขากลายเป็นคนที่อยู่แต่บ้านทั้งที่เมื่อก่อนก็ไปเรียนและรับจ้างทำงานทั่วไป แม้ช่วงแรกที่พิการยังมีความหวังว่าจะกลับมาเดินได้ แต่หนึ่งปีผ่านไปเขาก็เริ่มยอมรับว่าตัวเองจะไม่หาย และต้องให้คนอื่นทำให้ทุกอย่าง และแทบไม่ต่างจากจักรพงศ์ นักศึกษาปีสอง เทอมหนึ่ง ที่โดนยิงและปัจจุบันมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้านที่นครศรีธรรมราช

“ตอนโดนยิงผมล้มลงไป พยายามพลิกตัวให้ลุกขึ้นนั่งได้ แต่ขาขยับไม่ได้ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะพิการ คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก 3-4 ชั่วโมงต่อมาก็มีคนมาเจอผมและถูกส่งไปโรงพยาบาล อยู่โรงพยาบาล 3 เดือนต้องผ่าตัดผ่านหน้าอกไปถึงกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ต้องเจาะลมในปอด มันทรมานมากตอนที่หายใจไม่ได้” 

แตกต่างจากเรื่องราวของอุทัยวรรณ ที่เธออาศัยอยู่ในบ้านสวน ที่ที่ทุกคนจะต้องปีนขึ้นไปเก็บผลไม้เป็น แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อ 27 ปีก่อน เธอผลัดตกต้นมังคุดในขณะที่ลูกเล็กร้องเรียกเธออยู่ใต้ต้นไม้

“แถวนี้เป็นบ้านสวน คนก็ต้องปีนไปเก็บ แล้วก็มีคนตกทุกปี เราตกลงมาก้นกระแทก กระดูกสันหลังไปทับเส้นประสาททําให้ท่อนล่างไม่มีความรู้สึก ช่วงแรกๆ ที่หมอบอกว่าอาจจะเดินไม่ได้ ต้องพิการตลอดชีวิต ครอบครัวก็ไม่อยากให้ฟังเพราะกลัวหมดกำลังใจ ผ่าตัดก็ไม่น่าหาย เลยไม่ผ่าเพราะว่าภายนอกเราไม่มีแผลอะไรเลย คิดว่าอยู่ๆ ไปเดี๋ยวก็หายดี หลังออกจากโรงพยาบาลก็ไปหาหมอแผนบ้าน บีบนวดน้ำมัน แต่ก็เดินไม่ได้ ขาไม่รู้สึกเลย”

แต่สำหรับชาคริต เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง คนที่มาช่วยเขาคิดว่าเขาตายแล้วเพราะหัวแตก มีเลือดเต็มหน้า จึงจับมือจับขาแล้วก็ยกใส่ท้ายรถกระบะ อีกทีก็ไปรู้ว่าถูกเย็บหัวที่โรงพยาบาล หลังพักฟื้นอยู่ 20 วันเขาถึงได้รู้ว่าตัวเองกระดูกสันหลังหักสองข้อ 11 กับ 10 เคลื่อนที่ไปคนละทาง จนเส้นประสาทขาดและทําให้ไม่มีแรงขาทั้งสองข้าง

“ช่วงแรกๆ ไม่ได้คิดอะไรเพราะมีเพื่อนเยอะ เพื่อนก็มาอยู่ด้วย แต่พอกลับบ้านเราก็นอนอย่างเดียว ไม่ได้ไปไหนเลย นานๆ ทีเพื่อนจะมาพาไปเที่ยว แต่ผมก็ไม่อยากไปเพราะกลัวเป็นภาระ พอคิดย้อนกลับไปภาพของอนาคตที่วางไว้มันหายหมดเลย เราเคยคิดว่าอายุเท่าไหร่จะทำอะไร จะเรียน จะทำงาน จะมีครอบครัว แต่ก็พังหมดเพราะอุบัติเหตุ จนพี่ดิว (ไกรศร) ไปเยี่ยมที่บ้าน แต่ผมก็ไม่ลงมาหรอกเพราะเราไม่อยากเจอใคร จนแกไปครั้งที่สอง เห็นแกขับรถได้ ยังใช้มือทำทุกอย่างได้ก็เลยลองเปิดใจ” 

การเปิดใจให้ความพิการไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อร่างกายเปลี่ยนไปในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยอมรับหรือปรับตัว คนพิการหมาดๆ หลายคนเผชิญกับภาวะทางจิตใจ อารมณ์และความรู้สึกเป็นภาระ และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถกลับมาสู่สังคมได้อีก ไกรศรนอนอยู่แบบนั้นมาปีกว่าโดยไม่ได้ฟื้นฟูอะไรเลย เขาเปลี่ยนไปทุกอย่างทั้งร่างกาย จิตใจและสังคม

“ผมออกจากบ้านแค่ไปหาหมอ ตอนนั้นมีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนสุขุม สุภาพ เรียบร้อย แต่ก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เพราะจากคนทำอะไรเองได้ วันหนึ่งทำไม่ได้แม้แต่ลุกขึ้นนั่ง ได้แต่กินข้าว นอน ฟังเพลง ผมลองไรท์แผ่นเพลงขาย มีลูกค้ามาเอาที่บ้าน เขาจะโทรมาสั่งว่าเอาเพลงอะไร ตอนนั้นเริ่มมีเงินแต่ก็ยังไม่รู้ว่าต้องดูแลตัวเองยังไง เข้าห้องน้ำ ลงจากเตียง หรือไปไหนมาไหนก็ยังทำไม่เป็นและไม่กล้าออกข้างนอกเพราะกลัวสังคมรังเกียจ

“จนวันหนึ่งเจอกับพี่โอ สันติ รุ่งนาสวน (ตอนนั้นเป็นประธานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ พุทธมณทล) ผ่านโทรศัพท์ก็รู้สึกสนใจและไม่คิดว่าแกจะลงมาที่นครฯ พอเห็นพี่โอวันแรกแนวคิดเปลี่ยนทุกอย่าง พี่โอขับรถด้วยมือที่อ่อนแรงกว่าผม แกมาอยู่หนึ่งอาทิตย์ก็ให้ผมพาเที่ยวทุกวัน ไปบ้านเพื่อนคนพิการคนอื่นด้วย ตั้งแต่ออกมาวันนั้นก็เลยทำให้กล้าออกจากบ้านจนทุกวันนี้ 

“หลังจากนั้นผมก็เริ่มฝึก ตั้งแต่ลุกมานั่งวีลแชร์ ขึ้นเตียง ลงเตียง เข้าห้องน้ำ ฝึกไม่นานเพราะจริงๆ เราทำได้แต่ไม่รู้เทคนิคและไม่มีต้นแบบ ไม่เคยเห็นว่าคนพิการทำอะไรได้บ้าง สิ่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่ผม แต่ครอบครัวก็เปลี่ยน จากที่เป็นภาระของแม่ แม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแล ก็กลับมามีชีวิตของตัวเอง เรารู้สึกว่าชีวิตของแม่มีความสุขขึ้นด้วยหลังจากเรากลับไปใช้ชีวิต”

เช่นเดียวกับจักรพงศ์ ที่ช่วงแรกๆ หลังความพิการเขาเองก็มีหวังว่าจะหายดี แต่เมื่อไม่เป็นดั่งหวัง การจะกลับมามีชีวิตเหมือนเดิมอีกครั้งมันก็ยากเสียเหลือเกิน

“ตอนหมอบอกเดินไม่ได้ ผมร้องไห้ไปหนึ่งครั้งเพราะไม่คาดคิดว่าจะเดินไม่ได้ ตอนแรกคิดว่าเป็นชั่วคราว ถ้ารักษาไปนานๆ อาจจะดีขึ้น พอไม่ชั่วคราวก็พูดอะไรไม่ถูก หยุดคิดไม่ได้ว่าถ้าออกมาจากโรงพยาบาลชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะทํายังไงถ้าเดินไม่ได้ ถ้าเดินไม่ได้มาตั้งแต่แรกก็คงไม่ได้คิดอะไรมาก แต่มาเดินไม่ได้ตอนนี้ก็คิดหลายอย่างเลย เพราะทำอะไรก็ช้าไปหมด ถ้าออกไปข้างนอกก็กลัวจะไม่มีห้องน้ำ 

“ผมเพิ่งได้ออกไปนอกบ้านเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ช่วงแรกไม่ค่อยไปไหนมีแค่โรงพยาบาลหรือบ้านญาติ ส่วนมากจะให้เพื่อนมาที่บ้านเพราะง่ายกว่าและกลัวว่าถ้าเราไปปวดท้องอึบ้านเขาจะเข้าห้องน้ำไม่ได้ เวลาไปบ้านใครก็จะต้องถามก่อนว่าห้องน้ำเป็นยังไง ถ้าเข้าไม่ได้เราจะไม่ไป ช่วงนั้นเกิดความหงุดหงิดที่ทําอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อก่อนเราอยากทําอะไรก็ทําได้เลย แต่ตอนนี้ต้องรอคนอื่นทำให้ บางทีเราอยากได้แล้วแต่เขายังไม่ว่างผมก็หงุดหงิด ช่วงหลังเราก็ต้องเริ่มปรับตัว อยากได้อะไรก็ต้องพยายามฝึกทําเอง”

ไม่ต่างอะไรกับพิไลวรรณ ที่หลังจากเกิดอุบัติเหตุเธอก็รักษาตัวสักพักแล้วกลับไปอยู่บ้าน แม้ทุกคนจะพยามยามหาวิธีรักษา แต่เธอท้อเพราะจากคนที่เคยทำงานและไปไหนมาไหนได้เอง ตอนนี้จะทำอะไรทีก็ต้องให้พ่อแม่ช่วย เธอเลยคิดที่จะกินยาตายมาสองครั้ง แต่แม่เข้ามาช่วยทัน และนั่นก็เป็นเรื่องราวที่นำมาสู่อุบัติเหตุครั้งที่สอง

“วันหนึ่งเราเจอคนพิการที่ใช้รถหัวลากขับวีลแชร์โดยไม่ต้องนั่งรถเก๋ง ก็เกิดความรู้สึกว่าเรายังทำอะไรได้ตั้งเยอะ ยังแข็งแรงกว่าคนที่ติดเตียง ยังมองเห็น ก็เลยพยายามหางานทำ แต่ปรากฎว่าไม่มีใครรับเข้าทำงานเลย บางที่เราเสียเงินค่ารถไปเพราะเขาบอกว่ารับคนพิการ แต่พอไปถึงก็บอกว่าไม่รับ ที่กรมแรงงานแนะนําเราก็ไปแต่ไม่เคยได้สักที่ จึงตัดสินใจออกจากสุราษฎร์ด้วยเงิน 200 บาทนั่งรถไปกรุงเทพฯ หางานที่โรงงาน ตอนแรกเขาก็จะไม่รับเพราะกลัวเป็นภาระกับเพื่อนร่วมงาน จนสุดท้ายก็ได้ทำงานตรวจคุณภาพถุงมือนาน 4 ปีครึ่ง 

ช่วงหนึ่งเรากลับบ้านแล้วก็เกิดอุบัติเหตุรอบสอง เราเห็นแล้วว่าเขามาเร็ว จึงไปจอดหลบอยู่ที่ไหล่ทาง แต่เขาก็พุ่งเข้ามาหา เสียงดังโครม ตัวเราลอยขึ้น ตกลงมานั่งท่าชันเข่า และขาสองข้างก็ยกไม่ขึ้นเลย หมอที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้ทําอะไรให้ เขาบอกว่าขาตึง ให้ยืดบ่อยๆ แต่เรายืดไม่ได้ สุดท้ายได้มอร์ฟีนมาสองขวด กระทั่งไม่หายจึงไปอีกโรงพยาบาลและได้รู้ว่ากระดูกสันหลังร้าวและสะโพกเคลื่อน ให้นอนเฉยๆ 3 เดือนจนเดินไม่เป็น เราเลยตัดสินใจลุก จับขาตัวเองยืดแล้วกด ทำซ้้ำๆ จนขาค่อยๆ ยืด”

ณัฐพรเองก็เช่นกัน ตั้งแต่เขาพิการ เขาก็ต้องนอนตลอดและแทบไม่ได้ออกไปไหน หนำซ้ำเมียก็ยังพาลูกหายออกไปจากชีวิต

“ตอนพิการเมียผมกำลังท้องได้ 9 เดือน สองปีต่อมาครอบครัวกลายเป็นแตกแยก เมียก็หนีไปกับลูก เรารู้สึกว่า เราต้องกลับมาดีกว่าเดิมให้ได้ ช่วยเหลือตัวเอง ดูแลครอบครัว แม้ตอนนี้ลูกเรียนจบทำงานแล้วแต่เราก็ไม่ค่อยสนิทกัน ไม่ได้รู้สึกผูกพันธ์ เป็นเวลากว่า 8 ปีเลยที่ผมไม่เคยออกจากบ้าน ไม่มีวีลแชร์ก็นั่งหน้าบ้าน จนเจออาจารย์ท่านหนึ่งชวนเราไปเป็นอาสาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าของเทศบาล เราก็บอกว่าไม่มีคนพาไป แกก็มารับ มาส่งทุกวัน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่ได้ออกจากบ้าน ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย จากตรงนี้ที่เคยเป็นป่าก็กลายเป็นตึกเราไม่รู้เลยว่า 8 ปีที่ผ่านมาข้างนอกเจริญยังไง หลังจากออกมาครั้งแรกผมก็กล้าออกจากบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ

“ช่วงอยู่โรงพยาบาลได้สักพักเราก็เป็นแผลกดทับเพราะนอนเยอะ ไม่ค่อยได้พลิกตัว ตอนออกจากโรงพยาบาลก็มีแผลตรงก้นกบลึกเท่ากำปั้น เกิดขึ้นเพราะเราต้องถัดตัวกับพื้นเพื่อไปอาบน้ำ แรกๆ ก็ถลอกเลือดออก สักพักก็เริ่มลึก โรงพยาบาลก็ให้ยา ฉีดยาฆ่าเชื้อต่างๆ แต่ก็ไม่หายและแย่ลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายเราก็ขอออกจากโรงพยาบาลมาตายที่บ้าน แม่จึงเอาไปรักษาที่วัด ขนาดหลวงพ่อยังบอกเลยว่าให้ทำใจว่าคงอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ตอนนี้ก็อยู่มา 20 กว่าปีแล้ว”

จุดเริ่มต้นของแผลกดทับ ที่ขัดขวางการฟื้นฟูความพิการ

ในขณะที่ณัฐพรเจอกับการเกิดขึ้นของแผลกดทับยาวนานตั้งแต่ช่วงเริ่มพิการ จนวันนี้ก็ 28 ปีแล้ว เชื่อไหมว่า ในขณะเดียวกันเพื่อนคนพิการคนอื่นๆ ก็เผชิญกับเรื่องราวที่ใกล้เคียงกัน

พิไลวรรณเล่าว่า เริ่มแรกแผลกดทับของเธอเริ่มจากรอยถลอกเล็กๆ เหมือนกับผิวหนังถูเสื้อผ้า เมื่อเป็นต่อเนื่องรอยถลอกก็เริ่มเปื่อยและแตกออกจนเลือดไหล โชคดีที่เธอเคยเป็นผู้ช่วยคนพิการที่เคยทำแผลกดทับมาก่อนจึงดูแลตัวเองได้ แต่นั่นก็ทำให้เธอรู้ว่าแผลกดทับนั้นน่ากลัวขนาดไหน

“ตอนแรกที่ทำให้แผลเขายังไม่ใหญ่ แต่ด้านในมันกัดกินเข้าไปเรื่อยๆ ยิ่งถ้านั่งนานก็ยิ่งหนัก สุดท้ายแผลใหญ่จนใส่กำปั้นเข้าไปได้เลย วิธีการทำแผลก็จะต้องใช้ผ้าก๊อซอันใหญ่ ม้วนกว้านแผลให้เนื้อส่วนที่ตายสีขาวลอกออกให้หมด แล้วใช้น้ำเกลือบีบเข้าไปล้างแล้วซับเพื่อขับน้ำเหลืองออกมาและใช้เบตาดีนทารอบแผลพร้อมอุดปิดผ้าก็อซ

“แผลของตัวเราเองไม่ใหญ่แต่ก็ใช้ชีวิตยากขึ้นมาก เวลากลางคืนมันเจ็บจริงๆ จนเลือดไหล ต้องดูแลตัวเองมากขึิ้น แผลเรานั้นยุบเข้าไปตามบริเวณที่นั่งกดกับพื้น ทุกวันนี้ยังไม่ได้หาย ก็ต้องดูแลตัวเอง กินของดีๆ ไม่กินของสแลง ถ้านั่งนานๆ ก็ต้องมีเบาะนั่ง แต่ถ้าเริ่มมีเหงื่อหรืออับชื้นก็ควรต้องนอนพัก ตะแคงตัวให้แผลสัมผัสพื้นน้อยที่สุด เปิดพัดลมจ่อเพื่อให้แผลแห้ง ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้เราก็เรียนรู้เองจากการช่วยเพื่อนคนพิการคนอื่น โรงพยาบาลไม่ได้สอน”

สิ่งที่เพื่อนคนพิการหลายคนพูดตรงกันคือ พวกเขาเริ่มมีแผลกดทับตั้งแต่อยู่ที่โรงพยาบาล ปัญหาสำคัญสองสามอย่าง ก็คือแม้จะมีข้อควรปฏิบัติต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันแผลกดทับ เช่นการเปลี่ยนแพมเพิร์สทุก 3 ชั่วโมง การพลิกตัวคนไข้ทุก 2 ชั่วโมง หรือการนอนบนที่นอนลม แต่อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติจริงแล้วเป็นไปได้จริงยากมาก

นักกายภาพบำบัดในชุมชนจากโรงพยาบาลมหาราชระบุว่า แผลกดทับนั้นเกิดขึ้นจากบริบทของนครศรีธรรมราชที่มีคนไข้นอนติดเตียงซึ่งมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันค่อยข้างน้อย หลายครั้งครอบครัวไม่อยากให้คนป่วยทําอะไร เพราะเชื่อว่านอนเฉยๆ ดีกว่า หรือหากยิ่งลุกมาทำอะไรเยอะๆ ก็ยิ่งเป็นภาระในการดูแล จะลุกไปไหนเดี๋ยวเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้สถานะทางเศรษฐกิจก็เกี่ยวข้อง ถ้าคนมีฐานะต่ำจนถึงปานกลางก็มีแนวโน้มจะเป็นแผลกดทับเยอะกว่า และคนที่มีแผลกดทับจะเป็นคนที่มีความพิการครึ่งท่อนล่างมากกว่าคนที่พิการครึ่งซีก ถึงแม้เดินไม่ได้เหมือนกัน แต่พิการครึ่งซีกยังขยับตัวหรือพลิกตัวง่ายกว่า 

“แผลกดทับเกิดทั้งในบ้านและโรงพยาบาล ช่วงหลังพบในโรงพยาบาลน้อยลงเนื่องจากมีแผนการดูแลเรื่องแผลกดทับมากขึ้น นอกจากนี้ส่วนใหญ่แล้วหมอจะไม่ให้นอนโรงพยาบาลนานๆ เนื่องจากกังวลเรื่องการติดเชื้อ และมีจำนวนเตียงที่จำกัดที่ต้องให้กับคนที่จําเป็น จึงทำให้ถ้านอนโรงพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลและพยาบาลอาจดูแลไม่ทั่วถึง หลายครั้งจึงฝากคนป่วยไว้กับญาติเพื่อให้ช่วยพลิกตัว แต่พอเอาเข้าจริงแล้วญาติก็อาจไม่ได้ปฏิบัติอย่างเคร่ดครัดนัก

“ข้อจํากัดคือการดูแลตัวเองที่บ้านที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ดูแลและทีมสุขภาพที่อยู่ในชุมชน ซึ่งโดยส่วนมากสถานพยาบาลมีหลายหน้างานจึงอาจละเลยเรื่องนี้ ไม่นึกว่าจะเกิดแผล เพราะงานหลักเขาไม่ได้ดูแลแผลผู้ป่วยแต่คืองานคัดกรองผู้ป่วย นอกจากนี้ตัวคนพิการเองก็อาจขาดความเข้าใจ โดยเฉพาะคนพิการบาดเจ็บไขสันหลังที่ไม่รู้เจ็บ ไม่รู้สึกเมื่อย เขาก็ไม่รู้จะพลิกตัวทำไมเพราะไม่ได้เจ็บ สามารถนอนนานๆ ได้ จนเจออีกทีแผลเป็นโพรงอยู่ข้างในแล้ว คนไข้ส่วนมากมาโรงพยาบาลตอนไข้ขึ้นซึ่งก็คือติดเชื้อแล้ว บางทีมีแผลเล็กๆ แต่ปล่อยไว้นาน เช่น อับชื้นอยู่ในแพมเพิร์สทั้งวันก็ทำให้แผลลุกลาม ยิ่งถ้ามีปัสสาวะ อุจจาระอยู่ด้วยแล้วเข้าไปในแผลก็ยิ่งไปกันใหญ่”

ความไม่รู้นี้เองที่ทำให้ชาคริตผู้ซึ่งออกไปใช้ชีวิตได้แผลกดทับมาโดยไม่รู้ตัว เขาเริ่มตั้งหลักตัวเองได้ มีงานทำและชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนโลกนี้กำลังเป็นโลกใบใหม่ที่มีชีวิตเพื่อรอไปเที่ยวกับเพื่อน

“ตอนนั้นผมไม่คิดเรื่องแผลกดทับเลย มองว่าถ้าเป็นแผลเดี๋ยวก็คงหาย แต่ปรากฎว่าแผลที่หลังใหญ่ขึ้น จนต้องผ่าตัดและนอนอยู่กับที่ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ต้องใส่สายสวนปัสสาวะจนเกิดการเสียดสีเป็นตุ่มเล็กๆ และเกิดแผลใหม่ แม่ก็ทําแผลให้ทุกเช้าเย็น แผลที่เป็นมันหายยากมาก เคยติดเชื้อเนื่องจากต้องนั่งประชุมนานจนกลายเป็นแผลเรื้อรังและต้องกลับมานอนเยอะกว่านั่ง เพื่อนบางคนแผลใหญ่มาก ตอนเห็นแผลเพื่อนผมนอนไม่หลับเลย บางคนไม่กล้าออกจากบ้านเพราะกลัวแผลจะเลือดออก กลัวจะทำแผลไม่ได้ บางคนนั่งนาน อับชื้น ร้อนจนทำให้เกิดหลายแผลใกล้ๆ กันแต่ด้านในเป็นรูต่อกันเป็นแผลใหญ่”

เช่นเดียวกับอุทัยวรรณ ที่หลังจากเกิดอุบัติเหตุประมาณ 7 เดือน เธอก็เริ่มเป็นแผลกดทับเพราะไม่รู้จักเบาะลม และไม่ใช่วีลแชร์เพราะหวังว่าจะเดินได้ เขาเอาวีลแชร์มาให้ก็ไม่นั่งใช้วิธีกระเถิบตัวกับพื้น

“วันหนึ่งหมอจากโรงพยาบาลมหาราชมาเยี่ยมพร้อมเบาะลม ถึงได้ลองนั่ง คิดว่าถ้าดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นก็คงไม่เป็นแผลเยอะ ตั้งแต่พิการมาแทบจะเป็นแผลกดทับตลอดเลย พออันหนึ่งหายก็เป็นที่อื่นต่อ มีติดเชื้อบ้าง พอเป็นจุดนี้แล้วน้ำเหลืองแตกออกก็กลายเป็นรูใหม่ วิธีรักษาคือต้องผ่าตัดศัลยกรรม เพราะหากปล่อยให้ติดเชื้อก็จะทรมานมาก แผลจะบวมแข็ง แดง นั่งทับไม่ได้เลยเพราะปวด ต้องนอนคว่ำอย่างเดียว นอกจากนี้ก็จะมีไข้ ห่มผ้าหลายผืนก็ไม่หายหนาวเพราะเย็นจากข้างใน ต้องไปหาหมอเพื่อฉีดยาเข้าเส้น

“ตลอดเวลาที่พิการแผลแทบไม่เคยหายเลย หากเรานอนพลิกตัวไปมาแผลก็ไม่น่าเกิด แต่เพราะชีวิตประจำวันที่ยังต้องออกมาใช้ชีวิตก็ทำให้เกิดการเสียดสี กดทับบริเวณต่างๆ เราจึงต้องเรียนรู้การดูแลตัวเอง รู้จักเปลี่ยนแพมเพิร์สบ่อยๆ อย่าให้แผลเปียก นั่งนานๆ ก็ต้องยกก้นบ้าง”

ประสบการณ์ของเพื่อนคนพิการนั้นตรงกับที่แพทย์หัวหน้าเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลมหาราชกล่าวคือ เมื่อมีแผลกดทับการฟื้นฟูจะยากขึ้นอีก ประเด็นที่กังวลก็คือ พอมีแผลติดเชื้ออาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้สูงอายุบางคนก็เสียชีวิตเพราะเรื่องนี้

“มีน้องคนหนึ่งเป็นแผลกินเข้าสะโพก แล้วก็ต้องโดนตัดสะโพก เพราะเอาไม่อยู่แล้ว การตัดสะโพกก็ลดความสามารถที่จะฟื้นฟูของคนไข้ไปอีก หรือบางทีตอนรักษาแผลก็ต้องนอนคว่ำเฉยๆ ไม่มีกิจกรรมอื่น พัฒนาการก็ถอยลง ส่วนมากแผลกดทับจะเริ่มจากแผลถลอกก่อน แล้วก็ลึกลงไปเรื่อยๆ ถึงกล้ามเนื้อเลยก็มี หากดูแนวโน้มว่าแผลไม่ดีขึ้นก็ต้องปรึกษาหมอผ่าตัดเพื่อเอากล้ามเนื้อส่วนอื่นมาแปะ บางคนแผลดีขึ้นแล้วแต่ก็ยังเป็นโพรง ก็ต้องทําแผลเรื่อยๆ แม้ไม่หายขาดแต่ถ้าไม่ได้สร้างปัญหาและไม่ติดเชื้อก็โอเค”

เมื่อการเป็นแผลกดทับทำให้ความสามารถที่จะฟื้นฟูหรือใช้ชีวิตนั้นน้อยลง คนพิการหลายคนที่หลังพิการก็ต้องพึ่งพิงอยู่แล้ว ยิ่งต้องพึ่งพิงหรือเป็นภาระของคนรอบข้างไปกันใหญ่ เหมือนที่นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลมหาราชระบุว่า แผลกดทับทำให้การฟื้นฟูนั้นยากขึ้น เช่น คนไข้อาจจะนั่งนานไม่ได้หรือว่าถ้านั่งแล้วต้องขยับตัวบ่อยๆ เพราะเจ็บแผลที่ก้นหรือสะโพกจนทำให้ไม่สามารถฝึกได้ตามโปรแกรม ถ้าเป็นเรื้อยังยาวนานก็จะต้องรักษาแผลให้หายก่อนผ่านการค้นหาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นจากที่บ้าน โภชนาการ การดูแลรักษาแผล หรือโรคแทรกซ้อนอย่างเบาหวานหรือไม่ บางคนก็เข้าใจผิดว่าพอได้ที่นอนลมก็ไม่จําเป็นต้องพลิกตัว ทั้งที่จริงแล้วก็ยังต้องพลิก ที่นอนลมเป็นเพียงตัวช่วยแต่หากไม่พลิกนานๆ ก็ยังคงเกิดความร้อนและแผลได้อยู่

ในกรณีของไกรศร ซึ่งทำงานกับเพื่อนคนพิการหลายคน เขาพบว่าคนพิการบางคนฟื้นฟูจนดีขึ้นแต่ก็มาจบลงเมื่อเป็นแผลกดทับ บางคนเป็นแผลกดทับจนท้อและตัดสินใจเลิกฟื้นฟู ตัวเขาเองก็เป็นแผลกดทับ หาย แล้วก็เป็นใหม่ บางรอบใหญ่ขนาดสามารถกำหมัดแล้วยัดเข้าไปได้ ซึ่งถือว่าใหญ่มากเมื่อกับตัวผอมๆ ของเขา

“แผลอยู่บริเวณก้นกบแต่เราไม่รู้สึก นอนทับก็ไม่เจ็บ มารู้ว่าเป็นเพราะมือไปโดน แต่เผลอแป๊บเดียวก็ขนาดใหญ่ขึ้นมาก ตอนนั้นไม่รู้ว่าต้องจัดการยังไงจึงไปหาหมอ หมอก็สอนวิธีการล้างแผลแต่ก็เป็นนานถึง 10 ปี หลังจากเป็นรอบแรกก็ดูแลตัวเองด้วยการเปลี่ยนท่านอนบ่อยๆ นอนตะแคงบ้าง หงายบ้าง ทำให้แผลเดิมหายสนิทแต่ก็มีแผลอื่นขึ้นมาใหม่

“ช่วงที่มีแผลกดทับใช้ชีวิตลำบากขึ้นมาก กังวลไปหมดไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ ทำแผล เราจะนั่งนานก็ไม่ได้ ต้องหาเวลานอนพัก ถ้าอยู่ข้างนอกก็ต้องทำแผลในรถยนต์ซึ่งบางทีก็ไม่สะอาด โชคดีที่ยังไม่เคยติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล แม้รู้ว่าต้องขยับตัวบ่อยๆ แต่ข้อเสียของเราก็คือนั่งแล้วไม่ค่อยยกตัวเอง บางทีพอยกแล้วกระดูกไม่ลงล็อค ก็ปวดทับเส้นประสาทจนนั่งไม่ไหวเลยทำให้ไม่อยากขยับ แต่พอไม่ขยับก็เป็นแผลอีก นอกจากแผลจะรุนแรงทางกายภาพแล้วยังส่งผลต่อสภาพจิตใจด้วย อย่างทำให้กลายเป็นคนวิตกกังวล กลัวว่าเลือดจะไหล น้ำเหลืองจะไหล หรือจะติดเชื้อ คนพิการบางคนมีงานหรือเรียนอยู่แต่พอเป็นแผลก็ต้องทิ้งไปหมดเลย”

คำพูดของไกรศรเห็นได้ชัดในเคสของจักรพงศ์ เขาพิการขณะเรียนปีสอง แม้จะฟื้นฟูความพิการได้แต่สิ่งที่ไม่เคยหายไปเลยคือแผลกดทับ ที่รั้งเขาเอาไว้ที่บ้าน ช่วงแรกๆหลังจากกลับจากโรงพยาบาล เขาต้องให้แม่ช่วยทำทุกอย่างอยู่หลายปี จะเข้าห้องน้ำก็เข้าไม่ได้เพราะบ้านยังไม่ได้ปรับให้อํานวยความสะดวก อะไรๆ ก็วางไว้ต่ำเกินกว่าที่คนนั่งวีลแชร์จะเอื้อมถึง ผ่านไป 2 ปีก็เริ่มปรับพื้นห้องน้ำ แม้แรกๆ จะรู้สึกเป็นภาระบ้าง แต่ที่บ้านก็ช่วยเหลือทุกอย่างจนไม่ได้รู้สึกกดดัน ระหว่างนั้นก็เกิดแผลกดทับใหม่อยู่เรื่อยๆ กระทั่งติดเชื้อและต้องคว้านเนื้อออก

“อาการของแผลกดทับที่ติดเชื้อสังเกตง่ายๆ คือตอนเย็นจะมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ถึงแม้อากาศจะร้อนแต่ความรู้สึกเราหนาวมาก อีกอย่างคือสังเกตแผลคือ เวลาเรานั่งถ้าไม่ติดเชื้อแผลจะไม่ส่งกลิ่น แต่บางทีตอนเราขยับตัวมีกลิ่นออกมาเหมือนกลิ่นเน่า หากเป็นแบบนี้เชื้อจะลุกลามเร็วมาก ใช้เวลาแค่ประมาณ 3 วัน แผลก็กินลึก 

จนต้องรักษาด้วยการคว้านเนื้อสีดําหรือม่วงออกไปจนเห็นเป็นเนื้อสีแดงเท่านั้นเพราะหากเหลือเนื้อตาย เนื้อตายก็จะลามจนอาจต้องตัดทิ้งทั้งหมด เช่น หากเป็นแผลกว้าง 2 เซนติเมตร ก็จะตัดกว้าง 3 เซนติเมตร เพื่อกันการลุกลาม

“หลังจากครั้งที่นอนโรงพยาบาลหลายวันแล้วกลับมาบ้าน ผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมจนแผลฉีกขาดและไม่ยอมหาย จากวันนั้นก็ 4 ปีแล้วที่มีแผลที่สะโพกย้อยด้านซ้าย คิดว่าแผลนี้เกิดจากความไม่สะอาด ช่วงนั้นต้องนั่งปลูกต้นไม้นานๆ บางทีก็มีน้ำกระเด็นเปียกโดยไม่รู้ตัว นั่งกดทับนานๆ ก็อาจจะทําให้เกิดแผลและการมีแผลกดทับก็กระทบชีวิตประจำวันมากกว่าไม่มีแผลหลายเท่าเพราะต้องระวังเยอะ นั่งเยอะก็ไม่ได้ ต้องนอนบ่อยๆ เปลี่ยนท่าไปมา ไม่อย่างนั้นแผลก็จะมีเลือด แต่เลือดไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเพราะสิ่งที่น่ากลัวคือบางครั้งเราใส่แพมเพิร์ส แล้วมีอุจจาระออกมา หากเราไม่ได้เปลี่ยนทันทีอุจจาระก็จะเข้าไปในแผล สุดท้ายก็ติดเชื้ออีก บางทีนั่งนานๆ แล้วร้อนหรือนอนหงาย 2-3 ชั่วโมงแผลก็กว้างขึ้นแล้วจากความร้อนแต่เราไม่รู้เพราะไม่มีความรู้สึกเจ็บ จะรู้สึกซ่าเหมือนคนเป็นเหน็บชา ครั้นจะผ่าตัดรักษาโดยการเอาเนื้อส่วนอื่นมาแปะก็ยากอีกเพราะผมเป็นคนผอม แผลก็เลยไม่ยอมหายสักที 

“ถ้าคนไม่เคยเห็นแผลกดทับก็อาจจะนึกไม่ออกว่าหน้าตาเป็นยังไง แผลของผมไม่ใหญ่ มองจากข้างนอกแล้วก็ดูไม่ลึก แต่จริงๆ แล้วแผลปริแตกที่เห็นลึกเข้าไปถึง 6 เซนติเมตร ข้างในก็เป็นแผลแดงสด ซึ่งถือว่าเป็นสีที่ดี ทุกๆ วันจะทำแผล 3 ครั้ง ถ้าแม่ไม่ว่างทำก็จะทำเองโดยใช้กระจกส่อง ซึ่งอาจจะไม่สะอาดเท่ามีคนทำให้ ช่วงหนึ่งผมเคยได้ยามาทา เขาบอกว่า 2-3 เดือนจะดีขึ้น ผมเองก็เหมือนจะดีขึ้นแต่ใช้ไปๆมาๆ แผลก็แย่ลงเหมือนดื้อยา จนผมต้องเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ จากแผลเล็กก็กลายเป็นแผลใหญ่ รักษามาใกล้จะหายพอติดเชื้อก็เกมส์เลย แผลใหญ่กว่าเดิมเพราะลามถึงกระดูก เคยทำแผลแล้วได้เศษกระดูกออกมาเลย”

ไม่ได้เจ็บแค่ร่างกาย แต่จิตใจก็เจ็บไม่แพ้กัน

บาดแผลในร่างกายที่เกิดจากแผลกดทับเมื่อถึงระยะหนึ่งเราก็คงสังเกตได้ แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในจิตใจกลับยากที่จะสังเกต ดังเช่นที่อุทัยวรรณเจอครั้งที่เธอเป็นแผลหนักๆ เธอกลัว เครียดและรู้สึกว่าแผลจะไม่มีวันหาย กว่า 6 เดือนที่ต้องนอนโรงพยาบาลแบบไม่รู้ว่าต้องนอนไปถึงเมื่อไหร่ ทำให้เธอรู้สึกกดดัน และยิ่งเมื่อเธอไม่สามารถทำอะไรได้ การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ก็หมดไปด้วย แม้อยากกินขนมจีนก็ต้องกินข้าว อยากกินก๋วยเตี๋ยวก็ต้องกินข้าวเพราะไม่มีใครไปซื้อให้ คล้ายกับเรื่องราวของจักรพงศ์ ที่ตัวเขาตอนนี้กังวลที่จะต้องออกจากบ้านเพราะหากออกไปนานๆ ก็กลัวว่าแผลจะปริหรือเปื้อนอยู่ตลอดเวลา

ไม่ต่างอะไรกับสมชาย เพราะแผลกดทับได้สร้างบาดแผลในใจชิ้นใหญ่เพราะแผลนี้ทำให้เขาไม่ได้ออกไปไหน เพราะหากออกไปข้างนอกก็ดูและความสะอาดและทำแผลยาก 

“บางทีเป็นเดือนเลยที่ไม่ได้ออกไปไหน ในช่วงที่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอด ผมโมโหร้าย หงุดหงิดทุกอย่าง ทำเสียงดัง จนเป็นโรคเครียดโดยไม่รู้ตัวและกลายเป็นโรคซึมเศร้า แม้ตอนนี้จะดีขึ้นแล้วแต่ก็มีบางครั้งยังอารมณ์ร้าย เพราะทำอะไรได้ไม่เร็วเหมือนเมื่อก่อน บางครั้งคนที่ต้องช่วยก็บ่นว่าเหนื่อยไม่อยากทำ ผมก็คิดในใจว่าผมไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ ปัจจุบันก็ต้องกินยาไม่ให้ขาดและรู้สึกดีขึ้น เพราะถ้าเป็นแต่ก่อนสมองจะปั่นป่วน ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่”

สวัสดิการดูแลแผลที่ยังกระท่อนกระแท่น

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจากการลงพื้นที่ คือความเข้าไปถึงของระบบสวัสดิการ ทั้งสวัสดิการทางการแพทย์ การฟื้นฟู และสวัสดิการด้านอุปกรณ์ แม้จะมีนโยบายเรื่องการดูแลแผลกดทับ แต่ในบางพื้นที่นโยบายเหล่านั้นก็ใช้ไม่ได้จริงเนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณและบุคลากร นักกายภาพบำบัดชุมชนได้สะท้อนว่า ตามความคิดเห็นของเขา เขาอยากให้คนไข้อยู่ในชุมชนมากกว่าโรงพยาบาล เพราะสะอาดกว่า 

แต่หากกลับไปบ้านแล้วต้องประเมินว่า ใครจะดูแลล้างแผลให้และต้องประสานกับสถานพยาบาลใกล้บ้านว่าคนไข้คนนี้มีปัญหาเรื่องแผล จำเป็นต้องเข้าไปดูบ่อยๆ อย่างไรก็ดีเขามองว่าการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลนั้นจําเป็นและเป็นระบบที่มีอยู่แล้วเพียงแต่ขาดการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพราะการส่งต่อจะลดช่องว่างในการทำให้คนไข้ไม่ต้องเสียเวลาเข้ามาโรงพยาบาลและลดการแอดมิทซ้ำจากการติดเชื้อ 

“แม้ระบบอาสาอย่าง อสม.มีคนอยู่แล้ว แต่การปฎิบัติยังไปไม่ถึงเพราะขึ้นอยู่กับภาระงานของแต่ละพื้นที่ ถ้าตามหลักการบอกว่าทุก 2 ชั่วโมงต้องพลิกตัว ก็คงเป็นไปไม่ได้ในโรงพยาบาล เนื่องจากพยาบาลก็มีหน้างานเต็มไปหมด ส่วนที่บ้านยิ่งแล้วใหญ่เพราะครอบครัวก็ต้องออกไปทำงาน บางบ้านไปตัดยางแต่เช้ากว่าจะกลับมาก็กลางวัน ผู้ช่วยคนพิการ (PA) ที่ตอนนี้เข้าไปตามบ้านก็เป็นเพียงอาสาที่มาด้วยจิตอาสา ไม่มีเงินสนับสนุน แล้วระบบอาสาไม่เหมาะกับงานคนพิการยังไง? คำตอบเรื่องนี้ผมคิดว่า ความมีจิตสาธารณะแต่ละคนไม่เท่ากัน พอถึงจุดหนึ่งหลายคนก็คิดว่า ทําไมเค้าต้องเหนื่อยขนาดนี้แล้วก็เลิกทำไป ไม้ได้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะงานคนพิการที่ต้องการผู้ช่วยทุกวัน ไม่ใช่ 3 วันอาบน้ำทีหรือกินข้าวที 

ฉะนั้นผู้ช่วยคนพิการจึงควรมีรายได้พออยู่ได้ เขาต้องมีทักษะล้างแผล บริหารจัดการกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว สิ่งที่เขาทำค่อนข้างหนักเหมือนกัน ดูขนาดแม่เราถ้าต้องช่วยทุกวันยังเหนื่อย ยังบ่นเลย แต่จิตอาสาไม่ใช่แม่จึงทําให้ทุกวันไม่ได้หรอก เท่าที่เคยเห็นวิถีคนในชุมชนแข็งแรงกว่าในกรุงเทพฯ เยอะมาก บางที่มีคนพิการนอนคนเดียวในบ้าน เพื่อนบ้านก็ช่วยเป็นครั้งเป็นคราว พาไปหาหมอได้ แต่เรื่องยากๆ อย่างล้างแผลก็ทําทุกวันไม่ไหว ดูเป็นไปได้ยาก”

สอดคล้องกับไกรศร เขาระบุว่า คนพิการภาคใต้ยังเข้าไม่ถึงและไม่รู้สิทธิ บริบทของนครฯ นั้นแตกต่างจากในกรุงเทพฯ ที่มีสมาคมและผู้นำคนพิการเป็นคนกระจายข่าวสาร ยิ่งในนครฯ เองมีคนพิการขึ้นทะเบียนกว่า 40,000 กว่าคน จึงดูแลกันไม่ทั่วถึง ในบางโรงพยาบาลอุปกรณ์ทำแผลต่างๆ ที่จำเป็นกับคนพิการก็ยังเบิกไม่ได้ จึงทำให้คนพิการมีค่าอุปกรณ์ทําแผลแต่ละเดือนเยอะมาก เฉลี่ยแล้วประมาณเดือนละ 3,000 บาท

“ผ้าก็อซถุงหนึ่งก็เป็นร้อยแล้ว ได้เงินคนพิการเดือนละ 800 บาทยังไงก็ไม่พอ อุปกรณ์อย่างเบาะลมหรือวีลแชร์ก็จําเป็น แต่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนพิการ บางทีกว่าจะเบิกได้คนพิการก็เสียชีวิตไปแล้ว หรือบางครั้งได้มาก็ไม่เหมาะกับความพิการเพราะได้มาเป็นแบบเดียวกันหมดทุกคน ระหว่างนี้เราเลยต้องเอาของมือสองที่ยังสภาพดีมาซ่อมให้ใช้ไปก่อน นอกจากนี้เรามีปัญหาเรื่องผู้ช่วยคนพิการที่คนพิการเองเข้าไม่ถึง แม้จะมีผู้ช่วยระดับจังหวัดแต่ก็ใช้งานจริงไม่ได้ สิ่งที่มีคืออาสาที่ไม่ได้ลงมาดูแลกิจวัตรประจําวันแต่ทำแค่ไปเยี่ยม ไปถามว่าจะเอาอะไรมั้ย เดี๋ยวไปซื้อของให้ 

“พอไม่มีผู้ช่วย คนพิการที่เป็นแผลกดทับที่ต้องล้างแผลและไม่มีคนที่บ้านคอยช่วยก็ลำบาก คนพิการที่การรักษาจบแล้วต้องกลับบ้านก็เลยวนเวียนอยู่โรงพยาบาลเพราะแผลติดเชื้อ ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรขึ้นอยู่กับต้นทุนชีวิต เช่น ถ้าครอบครัวไหนญาติดูแลดีก็ไม่มีปัญหา เพราะปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรายบุคคล 

เราทุกคนมีโอกาสเป็นคนพิการตัวคนเดียวหรือเป็นคนพิการที่ไม่ได้มีคนดูแล การช่วยเหลือจากรัฐจึงควรเกิดขึ้น ต้องมีระบบผู้ช่วยลงมาดูแลคนพิการจริงๆ โดยเฉพาะคนที่ขาดโอกาส เช่น ไม่มีคนในครอบครัวหรือคนพิการที่อยู่ตัวคนเดียวและหากรู้ว่าเป็นคนพิการก็ควรให้อุปกรณ์กลับบ้านในวันที่ออกจากโรงพยาบาลเพราะคนพิการทั่วไปไม่มีปัญญาซื้อหรอกอุปกรณ์แพงๆ แบบนี้ เพื่อให้เกิดการป้องกันแผลกดทับตั้งแต่ตอนที่ออกจากโรงพยาบาลและสอนการดูแลตัวเองด้วย”

สิ่งที่เพื่อนคนพิการเจอนั้นยืนยันคำพูดของนักกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลมหาราชที่ว่า ปัจจุบันมีรายการอุปกรณ์ที่สามารถเบิกได้ตามสิทธิของคนไข้ หากอยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟูได้ก็จะได้รับอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้กลับมายืนหรือเดินได้ หรือว่าอย่างน้อยป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับหรือกล้ามเนื้อหดเกร็งจนทําให้อวัยวะผิดรูปได้ แม้บางครั้งผู้ดูแลรู้ว่าการพาคนไข้มาเพื่อรับอุปกรณ์นั้นเป็นผลดี แต่บางคนอาจจะเข้าไม่ถึงข้อมูลหรือไม่สามารถเดินทางเพื่อมารับอุปกรณ์ได้เพราะขาดทุนทรัพย์หรือเดินทางยากลําบากมากจนต้องเช่ารถ เหมารถ ยืมรถมา เท่ากับว่าแม้มีอุปกรณ์ แต่สุดท้ายก็มีอุปสรรคที่อาจจะยังทําให้เข้าไม่ถึงอยู่ดี

“ตอนนี้มีการประสานส่งต่อไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่บางอุปกรณ์ที่ต้องมีการวัดตัว ถ้าคนไข้มาไม่ได้ ก็จะทำไม่ได้เพราะตามปกติแล้วอุปกรณ์ควรมีความเฉพาะเหมาะสมกับคนไข้ แต่ด้วยการจัดซื้อของโรงพยาบาลที่สามารถจัดซื้อได้แค่วีลแชร์มาตรฐาน จึงมีแบบที่เหมือนๆ กัน ไม่เช่นนั้นจะถูกจัดอยู่ในโครงการอุปกรณ์มูลค่าสูงที่สนับสนุนจากสถาบันสิรินธรซึ่งคนไข้ต้องผ่านการประเมินโดยหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทำให้ยังมีปัญหาในเรื่องการจัดหา คุณภาพอุปกรณ์และขาดการบำรุงรักษา” 

ปัจจัยเหล่านี้เอาจึงทำให้จักรพงศ์และอุทัยวรรณ เหนื่อยหน่ายมากกับสิทธิที่ใช้ไม่ได้จริง และการสูญเสียเงินแต่ละเดือนไปกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ

“คนพิการหลายคนเป็นแผลหนักขนาดนี้ก็เพราะไม่มีตัวช่วย ไม่มีเบาะดีๆ นั่ง อาจเพราะไม่มีเงินหรือไม่มีความรู้ว่าต้องใช้ของแบบไหน คิดว่าเบาะแบบไหนก็เหมือนกัน อีกทั้งเบาะลมก็ราคาเป็นหมื่น จึงไม่ใช่คนพิการทุกคนจะซื้อได้ หนำซ้ำซื้อมาใช้แป๊ปเดียวก็รั่วซ่อมไม้ได้ วีลแชร์ที่แจกก็ดูแล้วไม่ได้มาตรฐาน บางคันก็เป็นของเก่าเก็บ กว่าจะถึงเราก็เสื่อมแล้ว” อุทัยวรรณเล่า

“เป็นแผลกดทับต้องมีอุปกรณ์เพิ่มหลายอย่างทั้งวีลแชร์ เบาะลมที่ 3 ปีเบิกได้ครั้งหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงของเหล่านี้นั่งได้ไม่นานก็เสีย หากเบาะลมอยู่ไม่ถึง 3 ปีก็ต้องซื้อใหม่เอง ล้อด้านหน้าของวีลแชร์ก็คู่ละ 500 บาท ราคาวีลแชร์คันหนึ่งก็ 30,000 บาท เท่ากับมอเตอร์ไซค์ พิการอย่างเดียวไม่ได้ต้องรวยด้วยถึงจะมีอุปกรณ์ดีๆ ใช้ เลยมองว่าสวัสดิการที่เขาให้นั้นไม่พอ เวลาเจ็บป่วยจ่ายจริงไป 2-3 พันบาท แต่ได้เบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท จะใช้อะไรได้บ้าง ให้กินข้าวทุกวันยังซื้อกับข้าวไม่ได้เลย อย่างมากก็คงได้น้ำปลาอีกสักขวดเพราะผมไม่มีรายได้อื่น นอกจากนี้ผมยังต้องใช้ชุดทำแผลและแพมเพิร์สเยอะถึงวันละ 3-4 ชิ้น โชคดีที่ผมยังไปขอเบิกที่โรงพยาบาลท่าศาลาได้ ของใช้ของคนพิการนี่แพงทุกอย่าง” จักรพงศ์เล่า

สถานการณ์ที่จักรพงศ์เจอแทบไม่ต่างอะไรกับพิไลวรรณ ที่ต้องการสวัสดิการในการเบิกอุปกรณ์ที่เพียงพอต่อการใช้งาน เช่น ผ้าก็อซ น้ำเกลือ ผ้าพันแผลต่างๆ ปัญหาที่เธอเจอคือแผลนั้นต้องเช็ดทุกวัน แต่การเบิกอุปกรณ์จะให้เพียงพอต่อการใช้สองวันเท่านั้น จึงต้องเดินทางไปเอาบ่อยจนเสียทั้งเงินและเวลา

“เวลาไปเบิกของ เจ้าหน้าที่บางคนก็พูดจาไม่ดี คล้ายกับว่าเราไปขอทานหรือไม่ก็เกี่ยงกันทำงาน บางหน่วยงานก็ทำเอาหน้า โดยให้ของนิดหน่อยแล้วก็ถ่ายรูป นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบและไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย”

ฝันที่อยากให้การดูแลแผลกดทับไปถึง

เมื่อถามถึงสวัสดิการหรือนโยบายที่อยากเห็นเกี่ยวกับแผลกดทับบางคนตอบว่าอยากให้มียารักษาดีๆ ที่สามารถเบิกได้ผ่านบัญชียาหลัก บางคนบอกว่า อยากให้มีศูนย์การรักษาแผลกดทับเฉพาะทางที่บุคลากรมีความเข้าใจ แต่เชื่อไหมว่าเกือบทุกคนตอบว่า อยากมีงานทำ นั่นเป็นเพราะเมื่อมีแผลกดทับ แผลนั้นได้ทำให้โอกาสทุกอย่างให้ชีวิตหายไปจนหมดสิ้น คนมีงานก็ต้องออกจากงานและไม่สามารถหางานที่เอื้อต่อวิถีชีวิตใหม่ที่มีร่วมกับแผลกดทับได้ สุดท้ายแล้วถ้าคนพิการมีงาน คนพิการก็มีเงิน และมีอำนาจในการตัดสินใจ จับจ่ายใช้สอยหรือแม้แต่จ้างผู้ช่วยคนพิการ (ที่แท้จริงแล้วเป็นสวัสดิการ) ก็ยังได้

จักรพงศ์สะท้อนต่อเรื่องการทำงานว่า แถวบ้านเขานั้นมีหน่วยงานมาหาคนพิการไปทำงานเยอะ แต่ส่วนมากต้องมีวุฒิปริญญาตรี รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐก็ต้องการวุฒิเช่นกัน เขาเองไม่มีทางเลือกแม้อยากไปเรียนต่อ แต่ก็ไม่มีรถแถมแผลกดทับยังไม่หายก็นั่งนานๆ ไม่ได้

“พอเป็นแผลกดทับก็คงกังวลหากต้องไปทำงาน ผมจะบอกหัวหน้ายังไงว่านั่งนานไม่ได้เดี๋ยวแผลจะปริ เค้าคงคิดว่าคนนี้ขี้เกียจเพราะเขาไม่ได้เป็นและไม่ได้มีความเข้าใจคนที่เป็นแผลกดทับ 

“หากบอกภาครัฐได้ ก็อยากจะฝากเรื่องงานที่ทำที่บ้านได้ ควรมีหน่วยงานมาสํารวจว่าคนไหนทำงานได้แค่ไหน สำหรับผมการมีงานสําคัญมาก มากกว่าความช่วยเหลืออย่างอื่นหรือแจกเบี้ยความพิการ หากแจกเบี้ยก็ได้เดือนละ 800 บาท แต่ถ้ามีงานก็ได้พอกินพอใช้ ผมมองว่าเป็นคนพิการทำงานได้หลายอย่าง อย่างที่ทำกันเยอะๆ ก็คือขายลอตเตอรี่ หรืองานอื่นๆ ที่คนเขาทำกัน เราก็ทำได้ ขอแค่ไม่ต้องเดินทางบ่อยๆ”

เช่นเดียวกับชาคริต ที่มองว่า 800 บาทต่อเดือนนั้นไม่พอ และคนพิการเองก็อยากมีงานที่หลากหลาย

“เบี้ยเลี้ยงคนพิการก็เดือนละ 800 บาท มันไม่พอ ผมว่าควรเป็นเดือนละ 3,000 บาท ยังจะช่วยเราได้หลายอย่าง นอกจากนี้อยากให้รัฐสนับสนุนอาชีพด้วยแม้ผมเข้าใจว่ามีการสนับสนุนโควต้าหวย แต่ทุกคนไม่ได้อยากขายหวย จึงอยากให้มองให้หลากหลาย อย่าจำกัดคนพิการ”

ด้านแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเองก็ได้ให้ความเห็นว่า ตอนนี้โรงพยาบาลมหาราชก็พยายามผลักดันให้ที่นี่เป็นหน่วยย่อยของศูนย์สิรินธรที่ทำงานได้ครบทุกระยะ ตั้งแต่ระยะฉุกเฉินและระยะฟื้นฟู ซึ่งมีความพร้อมเพราะเป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางด้วย และมีพยาบาลฟื้นฟูซึ่งต่างจากพยาบาลทั่วไปตรงที่มีความเข้าใจผู้ป่วยที่เป็นคนพิการ สามารถประเมินในส่วนของภาวะที่เกิดกับผู้ป่วยได้ เช่น ผู้ป่วยมีสายปัสสาวะแล้วติดเชื้อ พยาบาลฟื้นฟูจะต้องฝึกทักษะเพิ่มเติมในการฟื้นฟูและต้องเข้าใจนักกายภาพ ต้องรู้บทบาทกันและกัน หรือแม้แต่เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการใช้ชีวิต พยาบาลฟื้นฟูก็ควรมีความรู้ด้วย

“ในสังคมผู้สูงอายุ คนจะมีแนวโน้มเป็นแผลกดทับมากขึ้นและเพิ่มประชากรผู้ป่วยติดเตียง หากผู้ดูแลให้ความสําคัญก็มีโอกาสเกิดแผลกดทับน้อยลงมากหรือบางคนไม่เคยเป็นเลย หมอจึงอยากให้เกิดการรณรงค์เป็นปีแห่งแผลกดทับ (Pressure Sore) ให้เห็นเป็นภาพสะท้อนระบบว่าโรคนี้ก็เหมือนกับอีกหลายโรคที่ป้องกันได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยรวม และต้องให้หลักการป้องกันกลายเป็นเป็นที่รับรู้ในสังคมตั้งแต่ในระดับชุมชน เพื่อให้คนสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งนโยบายของภาครัฐเป็นอันดับแรก”

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ