Skip to main content

ผ่านไป 7 วันที่ ศูนย์บริการล่ามภาษามือทางอินเทอร์เน็ตฯ (TTRS) เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนจาก กสทช. เราชวนคนหูหนวกหลากหลายวัยและอาชีพมาคุยกันถึงความสำคัญของศูนย์บริการล่ามภาษามือและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ทั้งในหลากหลายมิติทั้งเรื่องของอาชีพ สุขภาพ และชีวิตประจำวัน ที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ thisable.me ชวนคนหูหนวก สะท้อนส่วนหนึ่งของความเดือดร้อนที่ต้องเผชิญเมื่อไม่มีศูนย์บริการร่างภาษามือทางอินเตอร์เน็ต

นับดาว นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ที่เคยใช้บริการของ TTRS ก็รู้สึกว่าสะดวกในการสื่อสาร ตอนที่จะคุยกับคนหูดีแล้วก็รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิทธิของเรา ในกรณีที่คนหูดีติดต่อเข้ามาหาเราเหมือนกัน ทำให้คนหูหนวกสื่อสารกันได้ดีมากยิ่งขึ้น

แต่พอมาเห็นข่าวว่าศูนย์บริการภาษามือทางอินเตอร์เน็ตต้องปิด ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยปิดและให้บริการมาตลอด 24 ชั่วโมง เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคมากเลย คนหูดีจะโทรมาหาเราติดต่อก็ไม่ได้ เขาไลน์มาถามว่า มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำไมถึงโทรไม่ได้ก็ค่อนข้างติดขัดมาก รู้สึกว่า สิทธิหายไป ส่วนในเรื่องของการทำงานถ้าเรามีล่าม พอ TTRS รู้สึกว่าเสียเวลามาก จะคุยกับใครก็ต้องใช้เวลามากขึ้น

เราเองทำงานในกองประกวด Miss Deaf ของคนหูหนวก ได้มีโอกาสใช้บริการของ TTRS ตลอดในการสื่อสารและทำงานร่วมกับคนหูดีในการประกวดของคนหูหนวก หลายงานที่กำลังทำอยู่วันนี้ก็ต้องหยุด และคิดว่าคนหูหนวกอีกหลายคนก็เดือดร้อนเหมือนกัน

อย่าว่าแต่ปิดบริการ 7 วัน แค่วันเดียวเราก็กระทบหนักแล้ว สถานที่ราชการก็ไม่สามารถติดต่อได้เลยเพราะเขามีกฎระเบียบว่าห้ามติดต่อทางไลน์ ถ้าไม่คุยกับศูนย์บริการก็ติดต่อไม่ได้ เราก็ต้องไปหาคนหูดีให้ช่วย ซึ่งองค์กรของเราก็มีคนหูหนวกเป็นปัญหามากๆ หรือบางทีเราไปติดต่อแล้วเขาบอกให้เรารอไปก่อน

เราหวังให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน อยากให้ศูนย์กลับมาเปิดบริการไวๆ เพื่อให้คนหูหนวกมีสิทธิเท่าเทียมในการสื่อสารในทุกเรื่องไม่ว่าจะเกี่ยวกับการทำงานหรือการใช้ชีวิต

เรื่องเกี่ยวกับสิทธิด้านการสื่อสารของคนหูหนวกมันสำคัญมาก เราอยากรู้ว่าทำไมรัฐถึงดำเนินการช้า สิ่งเหล่านี้สำคัญกับการดำเนินชีวิตของคนหูหนวก สิทธิมันหายไปจนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำ อยากให้เขาเห็นความสำคัญของคนหูหนวกบ้าง

สายัณห์ ไรเดอร์

ไรเดอร์หูหนวกได้รับผลกระทบจากการปิดศูนย์บริการค่อนข้างมาก เพราะเราติดต่อประสานงานกับลูกค้าไม่ได้ หรือเราพิมพ์ข้อความไป ถ้าเขาไม่ได้อ่าน เขาก็ไม่เข้าใจ ซึ่งเราก็ต้องขอให้คนหูดีช่วยสื่อสารว่า อยู่ตรงไหน หรือต้องเอาของไปให้ตรงไหน หรือเวลาถามทางก็เป็นเรื่องลำบากเราต้องถามหลายๆ ครั้งเพื่อความมั่นใจ

อยากให้ศูนย์บริการกลับมาเปิดอย่างเร่งด่วน เพราะสำคัญกับหน้าที่การงานของคนหูหนวกโดยเฉพาะคนที่ขับรับส่งอาหาร หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องลำบากที่เราจะขอความช่วยเหลือ จะหาใครมาช่วยก็ไม่มีเพราะก่อนหน้านี้เคยมี TTRS อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเปิดตลอดไป

สำหรับไรเดอร์ยังกระทบเรื่องรายได้ เมื่อก่อนสามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมงเพราะศูนย์บริการเขาเปิดตลอดเวลา มีรายได้มาจุนเจือตัวเองและเลี้ยงครอบครัวได้ พอเขาปิดให้บริการไปเลย ก็ทำให้ขาดรายได้ทันที อยากให้เขากลับมาเปิด 24 ชั่วโมงเหมือนเดิม

วันนี้คนหูหนวกไรเดอร์ประสบปัญหาทุกคนจากการปิดศูนย์บริการล่ามภาษามือ อย่างเวลาไปส่งอาหารแล้วลูกค้าโทรกลับมาเราก็รับไม่ได้ พยายามแชทคุย ก็มีปัญหาทางภาษา คนหูหนวกเขียนไทยไม่เก่ง เพราะคนหูหนวกใช้ภาษามือเป็นภาษาหลักในการใช้ชีวิต บางทีข้อความก็ไม่เข้าใจ ซึ่งตรงนี้ก็มี TTRS มาช่วยในการสื่อสารแต่ละครั้ง

ปัญหาวันนี้เต็ม 10 เราก็ให้ 10 เลย เพราะมันเป็นเรื่องที่คนหูหนวกต้องเจอแล้วแย่จริงๆ ทุกอาชีพของคนหูหนวกก็ต้องพึ่งพาบริการนี้ หรือในชีวิตประจำวันก็ต้องใช้ พอไม่มีก็ลำบาก ไม่สบายจะทำอย่างไร ในโรงพยาบาลก็ไม่มีใครใช้ภาษามือ มีโอกาสสื่อสารคลาดเคลื่อน ไม่มีใครช่วยคุยช่วยแปล ปัจจุบันพอมี TTRS ก็ดีขึ้นมาก ทำให้อธิบายได้เข้าใจกันมากขึ้น

อยากขอความเห็นใจไปยัง กสทช. ให้ศูนย์บริการได้กลับมาเปิดตลอด 24 ชั่วโมงและตลอดไป เพราะคนหูหนวกใช้กันมาก อยากให้ช่วยเหลือ โปรดมีน้ำใจและให้การสนับสนุนคนหูหนวกด้วย

ปริดล ประกอบเกียรติ นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งปทุมธานี

7 วันของการปิดบริการของศูนย์นั้นเป็นปัญหากับคนหูหนวกอย่างมาก การติดต่อกันระหว่างสังคมคนหูดีและสังคมคนหูหนวกเป็นเรื่องยากมาก เราต้องคอยบอกคนหูดีที่เคยคุยกันว่าช่วงนี้ศูนย์บริการปิด คนหูหนวกหลายคนเป็นผู้สูงอายุจะติดต่อสื่อสารผ่านการเขียนหรือพิมพ์ข้อความเขาก็ทำไม่ได้

ชมรมคนหูหนวกปทุมธานีก็ทำงานยากขึ้น เพราะคนมาติดต่อสื่อสารไม่สามารถเข้าใจได้ สมาชิกเล่าให้ฟังว่าการติดต่อเรื่องธุรกรรมธนาคารไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการชำระเงินหรือการติดต่อสื่อสารในเรื่องของการเงิน ก็เป็นอุปสรรคอย่างมาก จะขอผัดผ่อนหรือเลื่อนก็ไม่ได้เพราะติดที่ศูนย์บริการปิดคุยไม่รู้เรื่อง เกิดความล่าช้าในการสื่อสาร ต่างจากเมื่อก่อนที่มีศูนย์บริการก็สามารถคุยได้

การติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานราชการก็ลำบาก บางทีจะต้องคุยเรื่องโครงการสนับสนุนเรื่องสิทธิของคนพิการ ทั้งเขาจะติดต่อมาและเราจะติดต่อไปก็ลำบาก จะคุยทีหนึ่งก็ต้องขอให้คนหูดีช่วยประสาน บางทีข้อมูลก็ตกหล่นทำให้เกิดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เกิดความไม่เข้าใจ การสื่อสารผ่านล่ามภาษามือจึงมีความจำเป็นมากๆ

เพื่อนคนหูหนวกสงสัยว่าทำไมสิทธิของคนหูหนวกจึงสะดุดทั้งที่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะกสทช. ไม่ให้การสนับสนุนจึงทำให้เกิดความลำบากของคนหูหนวก มันเป็นสิทธิคนหูหนวกต้องได้เพราะอย่างคนพิการประเภทอื่น เขาก็มีงบประมาณสนับสนุนด้านสิทธิของตัวเองเหมือนกัน เช่น คนตาบอดที่มีเบรลล์บล็อก คนพิการทางร่างกายก็มีวีลแชร์ เพราะฉะนั้นคนหูหนวกก็จำเป็นต้องใช้ล่ามภาษามือ เขาควรจะมองว่าเป็นความจำเป็นที่เราต้องใช้จึงควรสนับสนุน

ล่าสุดมีคนหูหนวกที่เขาไปติดต่อเรื่องประกันสังคม ไปที่ศูนย์แล้วก็ไปพยายามเขียนซึ่งเจ้าหน้าที่ประกันสังคมก็ไม่เข้าใจ เพราะคนหูหนวกภาษาไทยไม่เก่ง สุดท้ายก็คุยไม่รู้เรื่อง หรืออย่างผมที่มีเพื่อนเป็นคนตาบอดก็ไม่สามารถคุยได้ จะเขียนคุยเค้าก็ไม่เห็น เขาพูดเราก็ไม่ได้ยิน ที่ผ่านมาเราใช้ TTRS ติดต่อกับเพื่อน แต่วันนี้ไม่มี

ในสถานการณ์อันตรายและฉุกเฉินก็เป็นเรื่องยากลำบาก ถ้าไม่มี TTRS เวลาปวดท้องตอนกลางคืน หรืออยู่คนเดียวในบ้าน หรือเป็นคนหูหนวกคนเดียวในบ้านจะทำอย่างไร จะไปให้เพื่อนบ้านช่วยก็ไม่ได้เพราะเขาก็ใช้ภาษามือไม่เป็น แต่ถ้ามี TTRS เราสามารถสื่อสารกับใครก็ได้บอกวัตถุประสงค์ของเราให้ได้ตรงตามความต้องการของเรา คุยกับโรงพยาบาลก็เข้าใจได้เลยว่าเป็นอะไร แต่ตอนนี้ไม่มี TTRS จะเป็นอะไรก็ต้องกังวล เกิดอุบัติเหตุจะโทรหารถฉุกเฉินหรือโทรหาตำรวจ จะทำยังไง มันสำคัญกับชีวิตคนหูหนวก

ผมอยากฝากรัฐบาลให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณของศูนย์บริการให้เกิดการเปิดบริการอีกครั้งและอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ให้คนหูหนวกได้เข้าถึงและได้รับบริการการสื่อสารร่วมกับสังคมได้เทียบเท่ากับคนปกติ ผมก็เป็นคนหูหนวกคนหนึ่งที่อยากจะขอร้องและอยากให้เข้าใจว่าคนพิการก็มีอุปสรรคในการสื่อสารและอยากให้ช่วยในส่วนนี้

จ็อบ ล่ามภาษามือ TTRS

งานของเราคือเจ้าหน้าที่ล่ามภาษามือ มีหน้าที่ในการแปลบริการภาษาให้กับคนหูหนวก งานแต่ละวันก็จะมีหลากหลายมาก แต่หลักๆ ก็คือคนหูหนวกก็เหมือนกับคนหูดี เพียงแต่ภาษาแรกเราคือ ภาษาพูด ภาษาแรกของคนหูหนวกก็คือ ภาษามือ จึงไม่แปลกใจที่ทำไมถึงจำเป็นต้องใช้บริการล่ามภาษามือจากศูนย์บริการของเรา

เราเจอทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของเขาเลย การศึกษา การสมัครงาน แจ้งความ พบแพทย์ พูดคุยกับครอบครัว แม้กระทั่งหูหนวกที่อยู่ในระดับอนุบาลก็ยังโทรเรียกให้พ่อแม่มารับผ่านบริการ TTRS เราให้บริการได้ทุกเรื่องแค่ไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมายก็พอ

อย่างที่เราเห็นชัดๆ ก็จะเป็นไรเดอร์หูหนวกที่ใช้บริการเพื่อติดต่อกับลูกค้า แต่คนก็สงสัยว่าในแอปพลิเคชันเหล่านั้นก็มีช่องแชทสำหรับการคุยกับไรเดอร์อยู่ไม่ใช่เหรอ ทำไมถึงไม่ยอมใช้ ซึ่งเราต้องเข้าใจว่า ไวยากรณ์ภาษาระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดีมีความแตกต่างกัน ถ้ามีล่ามภาษามือมาช่วยตรงนี้ก็จะช่วยย่นระยะเวลาในการสื่อสารได้ สะดวก เห็นภาพมากขึ้นว่า ตอนนี้ไรเดอร์อยู่ตรงไหน

บริการของเราช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดี หรือเรื่องภายในครอบครัว มีกรณีหนึ่งที่คนหูหนวกโทรมาหาแม่ ด้วยความที่ปกติบ้านนี้จะสื่อสารด้วยการพิมพ์หรือการเขียนเป็นหลัก หรือใช้ภาษามือธรรมชาติของเขา พอเราโทรไป เขาตกใจเสียงเรา ถามว่าเราเป็นใคร พอเราแนะนำว่าตัวเองเป็นล่ามภาษามือให้กับลูกสาวของเขา ตอนนี้เราคุยกันผ่านกล้องวิดีโอคอล คุณแม่เขาก็ร้องไห้ เพราะเขารู้สึกเหมือนได้ยินเสียงของลูกเป็นครั้งแรก เหมือนเราเป็นเสียงให้กับลูกเขา เขารู้สึกใกล้กับลูกมากขึ้น แม้ว่าเขาจะอยู่ด้วยกันก็จริงแต่เรื่องบางอย่างต้องอาศัยการพูดคุย พอเขาได้คุยกันก็ประทับใจ และดีใจที่มีบริการตรงนี้

เราเข้าใจว่า 7 วันที่ปิดกระทบชีวิตกับคนหูหนวกมากๆ สำหรับล่าม ถามว่ากระทบไหม เราว่าก็ไม่ได้มากเท่าคนหูหนวก เราเองยังสามารถเปลี่ยนไปให้บริการในส่วนอื่นได้ แต่ในใจของเราก็อยากกลับไปให้บริการกับคนหูหนวกทางนี้เหมือนเดิม เพราะพวกเราอยู่ตรงนี้กันมานาน เพราะเราเข้าใจว่าการดำเนินชีวิตของพวกเขานั้นสำคัญ เราซึ่งเป็นคนถือดียังมีทางเลือกแต่คนหูหนวกไม่มี

เราทำงานเหมือนเป็นเสียงให้กับเขา ถ้าไม่มีล่ามชีวิตของคุณก็ลำบากเหมือนกัน เหมือนเป็นการลิดรอนสิทธิไปเลย ถ้ามีแต่การเขียนอย่างเดียวมันก็ลำบากและช้า การเราเข้ามาก็ช่วยให้งานของเขาไวมากขึ้น จึงอยากจะขอวิงวอนทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางคนอาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่กลุ่มเล็กมีจำนวนเป็น 100,000 คน ใช้บริการ แล้วที่ผ่านมาเราก็บริการทุกวันไม่เคยมีวันหยุดเลย

โอภาส คนหูหนวกนครปฐม

สำหรับผมแต่งงานครอบครัวมีลูกแล้ว เวลาคุยกับลูกชายถ้าใช้การเขียนก็อาจจะยังไม่ชัดเจน ก็จะใช้บริการล่ามภาษามือในการพูดคุยและสื่อสารกับลูก กินข้าวหรือยัง ชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง หรือมีอุปสรรคอะไร ล่ามก็จะคอยแปลให้ ก็จะช่วยให้สิ่งที่คุยชัดเจนมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น

เมื่อก่อนเวลาลูกไปทำงานแล้วเกิดอะไรขึ้นผมก็ไม่รู้เลย เขาเกิดอุบัติเหตุผมก็ไม่รู้ แต่พอมีบริการผมสามารถคุยกับลูกได้มากขึ้น หรือเกิดอะไรขึ้นก็สื่อสารกันได้ทันท่วงที ถ้าต้องไปโรงพยาบาลแล้วต้องติดต่อใคร ไปตึกไหน ผมก็ไม่กังวล

อีกส่วนหนึ่งที่ใช้บ่อยก็คือเวลาไปติดต่อสถานที่ราชการอย่างไปกรมที่ดิน ล่ามจะช่วยเราสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ การสนทนาที่มีรายละเอียดหรือมีความยากล่ามก็จะช่วยเราในส่วนนี้ เช่น เรื่องของการไปโรงพยาบาลเวลาหมอนัด ผมก็จะเอาเบอร์ของ TTRS ให้กับคุณหมอ เวลาคุณหมอจะมานัดก็จะโทรคุยนัดผ่านบริการนี้ แล้วล่ามก็จะติดต่อผมโดยอัตโนมัติเลย ผมก็จะสามารถไปหาหมอและตรวจโรคได้อย่างตรงประเด็น

คนหูหนวกบางคนที่ทำธุรกิจค้าขายก็จำเป็นจะต้องใช้เพราะจะได้สื่อสารกับลูกค้า ถ้าไม่มีก็ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร แม้กระทั่งหิวข้าวจะสั่งเดลิเวอรี่ สั่งอาหารมากินก็ต้องผ่านบริการออนไลน์แบบนี้ ไปในสถานที่ก็จำเป็นจะต้องใช้ ไม่อย่างนั้นคนหูหนวกก็จะมีความกังวลมาก

บางทีไม่สบายต้องการติดต่อกับคุณหมอ ถ้ามีล่ามภาษามือก็สามารถติดต่อได้ชัดเจน อย่างบางคนที่อยู่ตามชนบทหรือสถานที่ในต่างจังหวัดจะสื่อสารกับคนอื่นทางไกลก็จะใช้บริการล่ามทางอินเตอร์เน็ตเพราะฉะนั้น TTRS ก็เป็นบริการที่จำเป็นสำหรับคนหูหนวก

ไม่ว่าจะปิดกี่วันก็กระทบเราหนักมาก ช่วงนี้ใครมีนัดก็ติดต่อผมไม่ได้ หรือเวลาจะไปหาญาติของผมซึ่งเป็นคนหูดีก็ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรดี หรือถ้าจะต้องติดต่อเรื่องงาน ผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องติดต่อยังไง เพราะจะติดต่อด้วยตัวเองก็ลำบาก

พอศูนย์ปิดไป คนหูหนวกก็ต้องสู้ดิ้นรนด้วยตัวเอง แต่ก็ยังลำบากอยู่มาก อยากให้ข้อเรียกร้องตรงนี้ไปถึงนายก ถึงรัฐบาลและคนที่ช่วยเราได้ อยากให้ช่วยสนับสนุน TTRS ให้หน่อย กราบอ้อนวอนกสทช. ให้มาสนับสนุนงบประมาณ ผมรู้ว่าเรื่องของงบประมาณไม่แน่นอนและมีเรื่องของอุปสรรคปัญหา ผมก็ลำบากใจ แต่อยากให้ช่วย ปรึกษาหารือ ช่วยทำให้ศูนย์บริการอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมันช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ดีขึ้นได้จริงๆ ทำให้คนหูหนวกได้ประกอบอาชีพ ได้คุยกับพ่อแม่หรือคนในครอบครัว รวมถึงชีวิตประจำวันก็สำคัญเช่นเดียวกัน

สุนิตย์ ปักเย็บเสื้อผ้า

เรามีอาชีพปักเย็บเสื้อผ้ารับงานมาทำที่บ้าน เวลามีลูกค้ามาติดต่อถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะใช้บริการล่ามภาษามือออนไลน์ คอยติดต่อให้ว่าลูกค้าต้องการอะไร มีออเดอร์เท่าไหร่ แต่พอปัจจุบันศูนย์ปิดให้บริการเราก็ต้องทำงานด้วยความลำบาก อย่างที่สองเวลาโทรสั่งของออนไลน์ หรือรับพัสดุต่างๆ ก่อนเจ้าหน้าที่เขาจะมาถึงเขาก็จะโทรมาก่อน กลายเป็นว่าพอเราไม่สามารถรับโทรศัพท์ได้ พัสดุก็ไม่มาส่งที่บ้าน ก็รู้สึกว่ามีปัญหาและมีผลกระทบตรงนี้ หรือการติดต่อคนในครอบครัวพ่อแม่ญาติพี่น้อง โรงพยาบาลหรือตำรวจ พอไม่มีล่ามภาษามือก็กระทบตรงนี้เป็นอย่างมาก
.
หรือบางครั้งไปโรงพยาบาล ถ้าไม่มีล่ามภาษามือการสื่อสารก็จะคลาดเคลื่อน ก็อาจจะทำให้วินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน ถ้ามีบริการล่ามภาษามือออนไลน์ เราก็สามารถนั่งข้างคุณหมอได้เลย เพียงแค่ตั้งโทรศัพท์มือถือก็มีล่ามคอยแปลให้
.
หลังจากที่ตนเองทราบว่าศูนย์บริการจะปิดให้บริการ 7 วัน ก็ตกใจ เพราะไม่อยากให้ศูนย์ปิดขนหูหนวกจำเป็นต้องใช้ ไม่อยากให้คนหูหนวกอีกหลายคนต้องเดือดร้อน ไม่อยากให้ใครมาด้อยค่าหรือมองคนหูหนวกด้วยสายตาที่ไม่ดี ถ้าอยากให้คนเท่าเทียมกันก็ต้องมีบริการที่ทำให้คุณหูหนวกสามารถคุยกับคนอื่นได้ ตอนนี้ก็มีคนหูหนวกที่พูดเหมือนกันบางคนไปทำงานก็ลำบาก คนหูหนวกบางคนก็ไปทำงานไม่ได้เนื่องจากคุยกับเพื่อนที่ทำงานไม่ได้ ได้รับผลกระทบพอสมควร
.
พี่ใช้บ่อยที่สุดก็คือคุยกับคนในครอบครัว อย่างเราเวลาคุยสารทุกข์สุขดิบกับแม่ก็ต้องคุยผ่านบริการล่ามออนไลน์นี่แหละ แม่เขาก็จะสอบถามชีวิตประจำวันของเราว่าวันนี้ไปไหน กลับบ้านกี่โมง เราเองก็ใช้บริการนี้โทรหาแม่ว่าจะไปไหน จะไปทำอะไรแล้วกลับกี่โมง ก็ต้องทราบข่าวให้แม่ทราบจะได้สบายใจ มันกระทบชีวิตประจำวัน ก็รู้สึกใจหายเพราะไม่รู้จะติดต่อยังไง
.
คนถามว่าทำไมบริการนี้ควรสามารถใช้ได้ 24 ชั่วโมง ก็ต้องบอกว่าความจำเป็นของคนหูหนวกก็เหมือนคนหูดีบางครั้งเกิดเหตุร้ายแรงก็จำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับคนอื่นให้ได้ สมมุติถ้าบ้านเกิดเหตุไฟไหม้ ในช่วงของยามวิกาล ก็ใช้บริการโทรหานักดับเพลิง หรือบางทีนอนอยู่แล้วมีขโมยขึ้นบ้าน ถ้ามีบริการ 24 ชั่วโมงเราก็สามารถโทรเรียกตำรวจได้เลย
.
อย่างบางครั้งเรื่องสำคัญอย่างการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการติดต่อราชการก็สำคัญ อย่างเรื่องที่ดินตอนแบ่งมรดก ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่แล้วต้องคอยจัดการเรื่องที่ดินและการเงิน ก็จำเป็นจะต้องใช้บริการผ่านร่างภาษามือ ในการไปติดต่อกับกรมที่ดิน และพูดคุยตกลงกันว่าที่ดินที่นี้เป็นของใคร และจะมีการแบ่งกันอย่างไร จะมีการจัดตั้งผู้จัดการมรดกไหม หลายครอบครัวคนหูหนวกก็กังวลเรื่องมรดกเพราะว่ากลัวจะถูกพี่น้องแย่งเอาไปหมด
.
จะขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ TTRS ให้นายกลงนามเพื่อออกคำสั่งไปยัง กสทช เพื่อช่วยอนุมัติงบประมาณตรงนี้ให้กับ. TTRS หรือไม่ก็บัญญัติไปเลยว่าให้มีการต่องบประมาณโดยอัตโนมัติ หรือทำทุก 5 ปี บริการของคนหูหนวกก็จะได้รับโดยที่ไม่ต้องสะดุด เพราะถ้าอนาคตเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกก็จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของคนหูหนวก เราก็จะเดือดร้อน