Skip to main content

เวลาเราเห็นข่าวผู้กระทำผิด ถูกดำเนินคดี และถูกส่งเข้าเรือนจำ หลายคนอาจดีใจที่อาชญากรคนหนึ่งถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ คนดีถูกปกป้องจากคนเลวได้ สังคมปลอดภัยภายใต้การมีอยู่ของกฎหมายและเรือนจำ ดังเช่นวลีแบบ “เอามันไปติดคุก แบบนี้ต้องประหาร” และอีกหลากหลายคำพูดในฐานะความเห็นของบุคคลทั่วไป เรากำลังพูดถึง กระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) ซึ่งถูกใช้ในระบบความยุติธรรมไทยมายาวนาน ใครทำผิดก็ถูกตัดสินโทษและจำคุกหรือประหารชีวิตอัตราโทษร้ายแรง 

ด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ทำให้ นักโทษล้นคุก หลายคนออกไปกระทำความผิดซ้ำ และถูกส่งตัวกลับมาอยู่ที่เดิม หลายคนติดคุกวนเวียนเป็นวัฎจักร กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) จึงถูกเสนอขึ้นเพื่อพยายามแก้ไขวังวนของการเกิดอาชญากร และหยุดระบบการกระทำผิดซ้ำ

ตามที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พูดถึงเป้าหมายของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ว่าเป็นการทำให้คู่กรณีสามารถปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ผู้กระทำผิดสำนึกผิด และยินยอมในการเข้ารับการช่วยเหลือฟื้นฟูพฤติกรรม พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผ่านคนกลางที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการทำหน้าที่เป็น facilitator ระหว่างคู่กรณี วิธีการเช่นนี้ยังเป็นวิธีการที่ช่วยบรรเทาความแตกแยกได้ในหน่วยสังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัว โรงเรียน หมู่บ้าน และชุมชน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากย้อนพาไปรู้จักกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับจอห์น มกจ๊ก ในปี 2547 วันที่โจ้ มกจ๊ก สามีถูกวัยรุ่นอายุ 17 ปี ปาก้อนหินใส่รถตู้จนเสียชีวิต ทำให้จอห์นต้องสูญเสียสามีไปในวันนั้น และชีวิตต้องเปลี่ยนไปจากการไร้ผู้นำครอบครอบครัว หากแต่แค่นั้นไม่พอ เธอยังสูญเสียลูกสาวอีก จนเวลาผ่านไปหลายปีก็มีข่าวว่าจอห์นประกาศให้อภัยเด็กที่ทำร้ายสามีของเธอ ปรากฏภาพสวมกอดกับเด็ก จนเกิดคำถามว่ากระบวนการแบบไหนทำให้เธอให้อภัยต่อผู้ที่ทำให้เธอชีวิตเปลี่ยนไปขนาดนี้ 

เราย้อนเวลาไป 20 ปีก่อน วันที่ชีวิตเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล รวมถึงย้อนไปในวันที่เธอเริ่มเล่นตลก วันที่เจอโจ้ วันที่สร้างครอบครัว รวมถึงวันที่มีลูก เพื่อทำความรู้จักพวกเขาทั้งครอบครัว จนถึงวันที่เธอตัดสินใจให้อภัยคู่กรณี อะไรทำให้เธอคิดและรู้สึกอยากให้อภัย นอกจากนี้เรายังได้คุยกับป้ามล หรือทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะผู้ผลักดันเรื่องราวที่เกิดขึ้น เราชวนป้ามลตั้งคำถามหลากหลาย เราให้อภัยคนที่ทำผิดได้ไหม เกิดกระบวนการอะไรบ้าง และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้เป็นอย่างไร มีสิ่งที่มีทั้งคำตอบและไม่มีคำตอบในบทสัมภาษณ์นี้ ที่เราอยากชวนผู้อ่านสัมผัสไปพร้อมกับเรา

จุดเริ่มต้นของจอห์น

จอห์น : เราเป็นคนหนองคาย เรียนจบป. 6 พออ่านออกเขียนได้ ตอนนั้นไปเที่ยวที่ชลบุรีแล้วก็แวะมากรุงเทพฯ อยากรู้ว่าคาเฟ่มันเป็นยังไง พอดีตอนนั้นไปนั่งกินข้าวอยู่หน้าพระราม 9 คนในคณะพี่เหลือเฟือ (มกจ๊ก) มาเห็นก็เลยชวนเราไปแนะนำตัวและไปนั่งดูเขาเล่นจนจบ วันแรกที่เจอแกก็รับเข้าไปอยู่ในคณะแล้วควักตังค์ให้ 500 บาทไปซื้อข้าวกิน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการมาเล่นตลก 

ช่วงแรกๆ เข้าไปเป็นคนแคระถือป้ายตอนเขาต่อยมวย ทำเป็นยก 1 ยก 2 โดยมีคนแคระอีก 2 คนต่อยมวยกัน จากนั้นก็ได้เล่นมาตลอด เราไม่ค่อยได้พูดหรอก แค่เขาเห็นสังขารร่างกายของเราเขาก็ตลกแล้ว เป็นคนแคระไม่ค่อยได้มีโอกาสพูด เขาให้ทำอะไรก็ทำ 

สมัยก่อนเล่นตามคาเฟ่ก็ได้ที่ละ 150 บาท วันธรรมดาก็มีประมาณ 2 ที่ วันเสาร์ - อาทิตย์ก็อาจมี 3-5 ที่ ถ้าไปเล่นงานนอกหัวหน้าก็ให้ค่าตัวคนละ 1,000 บาท อันนี้เป็นเรทเฉพาะคนแคระ คนอื่นเขาก็ให้ตามเรทปกติ แต่งานนอกก็ไม่ได้มีทุกวัน จะมีนานๆ ที เงิน 1,000 บาทก็ถือว่าเยอะนะสมัยก่อนทอง 1 สลึง อยู่ที่ประมาณ 1,400 บาท

 

พบรักที่คณะเหลือเฟือ

โจ้เขาอยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยวงนักร้องลูกทุ่ง เฉลิมพล มาลาคำ ตอนหลังพี่เหลือเฟือ ก็ชวนโจ้มาอยู่ในคณะด้วยกัน เลยได้เจอกันและมีโอกาสเล่นตลกด้วยกัน เขาเป็นตลกที่ฉลาดและก็สามารถร้องเพลงได้ด้วย ในบรรดาตลกคนแคระทั้งหลายก็จะมีโจ้คนเดียวที่สามารถร้องเพลงลูกทุ่งได้ด้วย 

ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ ครั้งแรกเราไม่เคยคิดเรื่องการมีครอบครัว เราเป็นคนห้าวๆ แบบนี้ โจ้เขามาแอบชอบเราแต่เราไม่รู้ มีอะไรเขาก็ซื้อมาให้เรากินแต่เราก็เฉยๆ แต่พอเพื่อนในคณะเริ่มแซวนานๆ เข้า ก็เริ่มรู้สึกแปลกๆ เลยเรียกโจ้มาคุยว่าตกลงเป็นอย่างไร เขาก็ปฏิเสธ แต่หลังจากนั้นโจ้ก็ซึมๆ หงอยไปเลย เล่นตลกก็ไม่ฮา ตอนหลังพี่เหลือเฟือบอกว่าโจ้มันชอบเรา เราก็บอกว่าจะบ้าเหรอเป็นคนแคระด้วยกันมาเอากันเองอายเขา จอห์นไม่อยากมีครอบครัว

จนเวลาผ่านไปหลายเดือนเราก็เริ่มเห็นใจโจ้ ก็เลยได้มีโอกาสคบกัน ตอนนั้นถึงขั้นเป็นข่าวเลย วันนั้นเราบอกว่าขอทดสอบเขาด้วยการให้เขาเก็บเงินว่าจะสามารถเก็บออมได้ไหมซึ่งเขาก็ทำได้จริงๆ ให้ลดบุหรี่เขาก็ลดได้ ลดจนเลิกได้เลย เมื่อเราเห็นว่าเขาทำได้เราก็โอเคแต่งงานด้วย พี่เหลือเฟือเป็นคนบอกให้เราจัดงาน พี่หม่ำก็มาเป็นผู้ใหญ่ในวันสู่ขอ เรายังจำได้ว่าแกพูดติดตลกว่าตัวเองก็ไม่ได้แต่งงานเหมือนกันหนีตามกับเมียมา วันนั้น เพื่อนๆ พี่ๆ ตลกก็มาช่วยกัน 

เราก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้เป็นคนที่มีครอบครัว ตอนแต่งงานก็ได้ลงหนังสือพิมพ์ออกทีวีทุกช่อง เขาน่าจะไม่เคยเห็นคนแคระแต่งงานกัน สมัยก่อนคงมองเป็นเรื่องแปลก แต่เราก็เฉยๆ มองเป็นเรื่องปกติ ร่างกายเราก็เหมือนคนอื่นทุกอย่างแค่ส่วนสูงเราไม่สูงเฉยๆ แขนไม่ยาว ขาไม่ยาว ความคิดความอ่านความรู้สึกเราก็เหมือนกับทุกคน ตอนตั้งครรภ์ก็ปกติ 

หลังจากแต่งงานก็มาเช่าห้องอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นก็มีลูกด้วยกัน บางคนก็มีคำถามว่าคนแคระมีลูกเป็นอย่างไร แต่คลอดลูกเราผ่าออก แต่ก็เป็นเรื่องปกติไม่มีอะไร ที่คลอดพร้อมกันบางคนต้องไปอยู่ตู้อบ แต่น้องเจนนี่แข็งแรงไม่ต้องไปอบ น้ำหนักเยอะด้วย 2 โล 6 ขีด เป็นเด็กแข็งแรง ตอนนั้นลูกสาวของพี่หม่ำ น้องเอ็ม มาเยี่ยมที่โรงพยาบาลแล้วก็เลยตั้งชื่อเล่นให้ว่าน้องเจนนี่ หลังคลอดลืมตามาก็เห็นซ้อใหญ่ (พี่มดแฟนพี่หม่ำ) มาเยี่ยมแล้ว ส่วนชื่อจริงเราเป็นคนตั้งให้ว่าศุภวรรณ 

หลังผ่าคลอดเราอยู่โรงพยาบาลถึงวันสุดท้าย ตอนเก็บของ เราก็พบว่า ซ้อมดซื้อของใช้เด็กมาให้เต็มตู้ฝากของของเราเลย ไม่ว่าจะเป็นแพมเพิส แป้ง เสื้อผ้าเด็ก น้องเจนนี่ใช้อยู่ปีครึ่งยังไม่หมดเลย 

ชายที่ชื่อโจ้ 

กลับมาที่เรื่องโจ้  โจ้เป็นคนที่ใจดีคุยเก่ง หลังจากมีครอบครัวเราก็แบ่งหน้าที่กัน จอห์นเป็นคนดูแลที่บ้าน ส่วนโจ้จะเป็นคนหาเงิน เขากลับมาจากทำงานแล้วก็เป็นคนดูแลเขา เราก็หาข้าวหาปลาให้เขากิน เพราะบางวันเขาก็กลับจากเล่นตลกดึก 

เขาเป็นคนที่ชอบคุย คุยเก่ง ได้คุยแล้วก็คุยไม่หยุด บางทีเราก็รำคาญ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่มีอะไรหรอก เขาก็จะเล่าให้เราฟังตลอดว่ามีนัดอะไรกับใครที่ไหนอย่างไร หรือให้เราช่วยปลุกเพราะจะไปซ้อมเล่นตลกตอนไหน ตอนอยู่ด้วยกันมีความสุขนะ ตอนที่เสียเขาไปเราก็เลยเครียดหนักและคิดหนักว่าจะอยู่อย่างไร เรากลัวและไม่รู้ว่าจะตอบลูกอย่างไรเมื่อเขาถามหาพ่อตัวเอง 

วันที่เสียโจ้

เขาบอกเราว่าจะหายไป 2-3 วันคือไปเดินสายเล่นเวทีไทย ไปแถวเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง วันเกิดเหตุเรากำลังจะนอน ก็ปิดโทรศัพท์เพราะลูกได้ยินเสียงแล้วเขาจะร้องไห้ ไม่อยากให้เสียงโทรศัพท์รบกวนลูก พอดีตื่นเช้ามากำลังจะไปซื้อนมให้ลูก กำลังออกจากบ้านเจอคนในคณะเดินเข้ามาหาในบ้าน เราก็คิดว่าเขามาด้วยธุระอื่น พอมาถึงเขาก็บอกให้เราใจเย็นๆ โจ้มันโดนวัยรุ่นเขวี้ยงหินใส่รถตู้ โจ้มันเสียแล้ว ตอนได้ยินครั้งแรกก็ไม่เชื่อ แต่พอพี่เหลือเฟือเดินเข้ามาเล่าซ้ำอีกครั้ง เราก็ทรุดลงไปเลย 

ตอนนั้นรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น เพราะเหมือนกับเราเพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว มีความสุขตามอัตภาพ พอโจ้ไปแล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร ทั้งลูกและภาระก็ยังรออยู่ หมดงานศพเราก็เพิ่งมีสติกลับมานั่งคิด เลยตัดสินใจจะทำหมูแดดเดียวขาย เราคิดในใจตอนนั้นว่าจะต้องเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ให้ลูกให้ได้ ตอนนั้นพี่เหลือเขาก็มาช่วยดูแล พาเราไปเที่ยวนู่นเที่ยวนี่เพราะกลัวเราจะเบื่อ 

รสชาติของชีวิต

เราเริ่มมาขายหมูแดดเดียว แต่พอทำไม่นานก็เจอรอบ 2 อีกคือเสียลูก 2 ปีกว่าหลังจากที่เราเสียโจ้  ตอนนั้นเราเป็นบ้าไปเลยพักนึง ไม่มีสติใครพาไปไหนก็ไป ก็มีเล่นพนันบ้างแต่ไม่ถึงขั้นกับเข้าบ่อน เราเล่นกับพวกแม่ค้าช่วงบ่ายตอนที่ไม่มีลูกค้า เล่นกันสนุกสนาน มีคนอื่นมาเห็นแล้วเขาเอาไปพูดต่อว่าเราติดการพนัน กลายเป็นข่าวว่าเราเละเทะ แต่พอตั้งสติได้เลยทำน้ำพริกตัวนี้ขึ้นมา ตอนนั้นมีคนเคยถามว่า ผัวตายลูกตายทำไมไม่ฆ่าตัวตายตามไปเลย เราต้องเอากลับมาคิดว่าเขาให้กำลังใจหรือเขาซ้ำเติมกูกันแน่ เลยรู้สึกว่าเราต้องเอาชนะความคิดของคนพวกนี้ให้ได้ 

เราเลยได้ความคิดว่าถ้าใครอยากรู้ความเจ็บปวดของจอห์นก็ต้องมากินน้ำพริกของจอห์น จะได้รู้ว่าความเจ็บปวดมันเป็นอย่างไร ลึกๆ เราอยากให้คนที่ดูถูกเรามาเจอสถานการณ์แบบเราเขาจะได้รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร 

ช่วงแรกๆ เราก็คิดว่าเรื่องนี้คงเป็นเรื่องของกรรมเวร ชาติที่แล้วเราคงไปทำอะไรเขาไว้ ชาตินี้เขาเลยมาเอาคืน คิดอีกแง่นึงรู้สึกว่าคงหมดเวรหมดกรรมของเขา (โจ้และเจนนี่) แล้ว มีแต่เราที่ยังต้องใช้กรรมใช้เวรให้หมด ชาติหน้ามีจริงเราคงได้กลับมาเป็นเนื้อคู่กันอีกมาอยู่เป็นครอบครัวด้วยกันอีก แต่ถ้ามันไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร

ความแค้นและกรรมเก่า

แรกๆ หลังคนที่ปาหินโดนจับเราไม่มองหน้าเขาเลย ขึ้นศาลก็ไม่เคยมองหน้าเขา เห็นแค่รูปร่างว่าเขาเป็นคนตัวใหญ่เท่านั้น จนหลายปีผ่านมาหลังเจนนี่เสียก็รู้สึกได้ว่าเออถ้าเราให้อภัยเขาได้คงดี ถ้าเราลดความแค้นให้น้อยลงชีวิตของเราก็ดีขึ้น เพราะโจ้ก็ตายไปแล้วเจนนี่ก็ไม่อยู่แล้ว เราเอาอะไรกลับมาไม่ได้ 

ตอนนั้นอยากให้อภัยเขาก็เลยโทรหาป้ามล บอกป้ามลว่าเราอยากเจอ คนที่ทำร้ายโจ้ จอห์นอยากให้อภัย เผื่อชีวิตของจอห์นดีขึ้น 

ตอนที่มีเรื่องถามว่าในใจแค้นไหมก็แค้น อยากให้เขาโดนเหมือนที่เราโดน อยากให้เขารู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก ก็มีคิดว่าเป็นเพราะชาติที่แล้วเราเคยไปทำกับเขาหรือเปล่า ชาตินี้เขาเลยมาเอาคืน ถ้าเราให้อภัยเขาในชาตินี้มันก็คงจบในชาตินี้ หยุดกงเกวียนกงกรรม ไม่ต้องจองล้างจองผลาญอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด จอห์นอยากให้มันหมดในชาตินี้ อย่าให้เจอแบบนี้อีกในชาติหน้า 

หลังจากมีเรื่องราวป้ามลก็เป็นคนที่เข้ามาดูแลเราตลอด เราขาดตกบกพร่องอะไรป้ามลก็คอยสอบถามและช่วยเหลือตลอด เข้ามาช่วงแรกๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร บอกแค่ว่าเป็นคนที่มาจากบ้านกาญจนา บ้านเดียวกับคนที่ทำร้ายโจ้ไปอยู่ โดยมีป้ามลเป็นคนดูแลเหมือนเป็นครูใหญ่ของบ้าน ป้ามลก็ดูแลเราจนถึงทุกวันนี้ ไปหาหมอก็ได้บ้านกาญจนานี่แหละช่วย

หลังจากที่เราบอกอยากให้อภัยแล้วป้าก็เลยจัดพิธีขอขมาให้ วันงานเขาก็ถือพวงมาลัยมากราบเรา เราก็กอดแล้วก็ตบหลังเขาเบาๆ บอกเขาว่ามีลูกบอกลูกมีหลานบอกหลานว่าอย่าทำแบบนี้ ทำแล้วคนข้างหลังเขาก็เดือดร้อน ถ้าเป็นครอบครัวของตัวเองจะรู้สึกอย่างไร มีอะไรก็ต้องคิดก่อนทำ เพราะสิ่งที่คุณทำมันทำให้พี่ลำบากมาก เขาก็พยักหน้าร้องไห้แล้วเราก็กอดกัน 

ก่อนหน้านี้เรารู้สึกเหมือนเท้าติดอยู่ในโคลน เพราะเหมือนเราเอาความทุกข์มาฝังไว้กับตัวเองหมด ความแค้นอยู่กับเราหมด เราจมอยู่กับมันและขึ้นมาไม่ได้ เรากังวลอยู่กับเรื่องนี้หากินอะไรก็ไม่ขึ้น พอเราให้อภัยเขาแล้วก็เหมือนขึ้นมาได้มันก็โล่งไปหมด มีแต่ความสบายใจ 

ให้อภัยคนไม่ง่าย

ถ้าใจเราไม่บริสุทธิ์ยังไงก็ให้อภัยไม่ได้ พูดว่าให้อภัยแต่ในใจยังมีความแค้นก็ไม่ได้ เราอยากให้อภัยต่อหน้าเขาพูดกันให้รู้เรื่องไปเลย ต้องรู้สึกให้อภัยจริงๆ ไม่ใช่พูดแต่ปาก ใจยังแค้น  ต้องพูดต้องระบายให้หมดต้องให้อภัยเขาจริงๆ นะ ไม่รู้จะแค้นต่อไปทำไม สุดท้ายคนตายก็ไม่ฟื้น มัวแต่จมปลักอยู่กับอดีต ชีวิตเราและน้องเขาก็ไม่ได้ไปไหน 

เราไม่รู้ว่าคนอื่นที่มองเข้ามาคิดอย่างไร แต่เราให้อภัยไปแล้วเราก็สบายใจ เรารักเขาเหมือนพี่น้อง มีคนพูดเหมือนกันว่าทำไมไปให้อภัยเขาแบบนั้น เราก็อธิบายไปแบบที่เรารู้สึกนี่แหละ แต่เขาเชื่อไหมอีกเรื่องนึง เราก็ไม่มานั่งสนใจ แค่รู้สึกว่าคนข้างบนมองลงมาเขาก็น่าจะดีใจเหมือนกัน จอห์นคิดว่าถ้าโจ้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็คงทำแบบที่จอห์นทำนี่แหละ เพราะเราก็มีนิสัยที่คล้ายๆ กัน ถ้าเรามัวแต่โกรธแค้นกันยังไงมันก็ไม่จบ เราอภัยให้เขาแล้วถ้าเขายังไปสร้างปัญหาอีกก็แล้วแต่เขา แต่เราสบายใจแล้วเราโล่งแล้วพอแล้ว 

ทุกวันนี้เราก็ยังกลับมาที่บ้านกาญจนาทุกปี ป้าเขาให้มาเราก็มา เราก็กลับมาเล่าเรื่องของตัวเองให้น้องๆ ที่นี่ฟัง ว่าสิ่งที่ทำมันมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร ถ้าออกไปแล้วก็อย่ากลับไปทำอีก บางเรื่องมันก็ไม่มีทางแก้ไข แล้วคนข้างหลังเดือดร้อนไหม ดูพี่เป็นตัวอย่างพี่สูญเสียทุกอย่างและก็ไม่เหลือใครเลย กว่าจะออกมาได้ก็แย่ ทำผิดครั้งแรกมีคนให้อภัยได้แต่ถ้ายังทำผิดอีกคนที่อยากให้อภัยก็มีน้อยลง เราก็บอกความคิดความรู้สึกเราแบบนี้

โรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้

ป้ามล หรือทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในเรื่องราวทั้งหมด ทั้งด้านของผู้สูญเสียซึ่งเจ็บปวด และด้านผู้กระทำผิดซึ่งสับสนและหลงทาง จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้หันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน ป้ามลยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำง่าย แต่ทำได้เพราะทั้งผู้กระทำและผู้สูญเสียมีความเป็นมนุษย์ภายใต้ความอ่อนแอหรือความเข้มแข็ง

ป้ามล : จุดเริ่มต้นคือคนที่ทำร้ายสามีจอห์นเป็นเยาวชนปาหินใส่รถตู้จนมีคนเสียชีวิตและถูกจับ จากน้ันก็มาติดอยู่ในสถานควบคุมของเยาวชนเพราะวันที่เขาก่อคดีเขาอายุ 17 ปี เรารู้ว่าเขาคือเด็กในข่าว บ้านกาญจนามีเด็กจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าวทีวี พอเข้ามาถึงบ้านกาญจนา เราดูข้อมูลจากแฟ้มของเขา รวมถึงเรื่องราวที่อยู่ในพื้นที่ข่าวพร้อมกับได้เห็นตัวจริงของเขา

บางมิติการทำงานเราแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่ม  กลุ่มแรกคือเด็กก่อคดีที่อยู่ในพื้นที่ข่าวกับกลุ่มสองเด็กก่อคดีแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ข่าว บาดแผลของเขา ความลึกตื้นไม่เท่ากัน เพราะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ข่าวในระยะยาว เรื่องของเขาไม่หลุดหายไปเลยจากตรงนั้น ต่อให้เขาจะอายุสักเท่าไรก็ตาม แต่เด็กที่ไม่เป็นข่าว ระยะยาวเรื่องราวจะหายไป การคุกคามจากอดีตไม่หนัก ไม่รุนแรงอันนี้เป็นสมมติฐานของป้า

สิทธิที่จะถูกลืม

เมื่อเราทำงานกับเขาทั้งสองกลุ่มทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า เราจะควบคุมตัวเขาตามคำพิพากษาของศาลก็พอใช่ไหม เราไม่ต้องทำอะไรแล้วใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่ เพราะเด็กขึ้นหน้า 1แผลลึกกว่า เพราะ ความทรงจำของเขารวมทั้งความทรงจำของสังคมที่มีต่อเขามันอยู่นาน แต่ในปีนั้นป้ายังไม่รู้จักคำว่าสิทธิ์ที่จะถูกลืม ป้ามารู้จักคำนี้ตอนที่ทำเรื่องเด็ก ผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศ 

เรารู้สึกได้ว่าต่อให้พาเขาไปสู่กระบวนการยุติธรรม จนสามารถเอาคนที่กระทำต่อเธอมาลงโทษได้ตามกฎหมาย และกฎหมายก็ดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้น แต่ปรากฏว่าเยียวยาได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะเรื่องราวของเธอที่อยู่บนพื้นที่ข่าวซึ่งเป็นเรื่องของการถูกละเมิดทางเพศ ไม่เคยหายไป เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ข่าวของเธอหายไปหรือไม่ตามมาคุกคามเธอในระยะยาว ทำให้เรารู้จักคำว่า “สิทธิที่จะถูกลืม” หมายถึงเรื่องราวของเธอจะถูกลบออกไปด้วยอำนาจของกฎหมายซึ่งตอนนี้ยังเป็นแค่เป็นไอเดีย 

ย้อนกลับไปที่เด็กบ้านกาญจนา ที่ป้าพูดเมื่อกี้เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงที่เป็นเหยื่อการถูกละเมิดทางเพศ แต่เด็กบ้านกาญจนาเป็นผู้กระทำต่อคนอื่น เราก็พบว่าไม่ว่าเขาจะเป็นเหยื่อในกลุ่มไหน เด็กผู้หญิงที่ถูกละเมิดหรือเด็กบ้านกาญจนาซึ่งเป็นผู้กระทำต่อคนอื่น จริงๆ เขาก็มีความเหมือนกันโดยเฉพาะ ในมิติที่เรียกว่าเป็นผลผลิตของสังคม รากเหง้าของปัญหามาจากที่เดียวกัน แต่เขาออกมาเป็นผลผลิตหรือแสดงผลที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นพอป้าได้มีโอกาสทำงานกับเด็กผู้ชายซึ่งอยู่ในพื้นที่ข่าวป้าพบว่าแค่เราเข้าใจถึงความเจ็บปวดของเขาอย่างเดียวไม่พอ ก็พยายามดูแลเขาอย่างดีที่สุด บาดเจ็บที่ไหนรักษาที่นั่นให้ดีที่สุด เจ็บที่ใจก็รักษาที่ใจ แต่ก็ยังไม่พออยู่ดี 

เราก็เลยมองหาเครื่องมือที่จะทำให้เขาได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมและเราก็นึกถึงผู้เสียหายของเขา ซึ่งก็ต้องบาดเจ็บเหมือนกัน ไม่ว่าจะบาดเจ็บ เพราะคนที่เป็นคู่ชีวิตตายหรือ คนที่เป็นลูกหลานตายหรือตัวเองบาดเจ็บแต่รอดชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เดียวดาย ก็เป็นเรื่องที่หดหู่ทั้งสิ้น จากจุดนั้นก็เลยทำให้เราตามหาจอห์น  ในฐานะผู้เสียหายในคดีที่เด็กบ้านกาญจนา ปาหินใส่รถตู้จนทำให้สามีเขาเสียชีวิต 

คุยกับจอห์น

ครั้งแรกที่พบจอห์น เขาไม่ตอบรับหรอก แต่เราก็เตรียมใจอยู่แล้ว เพราะว่าเราไปในฐานะคนดูแลคนที่ทำให้สามีเขาเสียชีวิต เขาไม่ตอบรับอยู่แล้วอันนี้เราไม่ได้โลกสวย เราเตรียมใจไว้แล้ว 

ใช่ ! พอไปเจอจอห์นจริงๆ เขาไม่อยากคุยด้วย ไม่เป็นมิตร เราก็เข้าใจ ตอนนั้นเขาทำน้ำพริกขาย ห้องที่ทำน้ำพริกเป็นห้องเล็กๆ ซึ่งเราเห็นสภาพแล้วเราก็รู้สึกได้ว่าดูไม่น่าทำของขายได้ ไม่ว่าความสะอาดหรือว่าอุปกรณ์ในการทำ เราก็ลองเสนอทางเลือกให้กับเขา ซึ่งตอนนั้นก็จำได้ว่าเราเปลี่ยนเครื่องปั่นน้ำพริก จากเครื่องปั่นอันเล็กๆ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อทำให้ได้ในปริมาณที่เยอะขึ้น แล้วก็ปรับพื้นที่บ้านให้ดูสะอาดเหมาะสมกับการที่จะทำอาหารการกิน ซึ่งระหว่างที่ไปป้าก็มีเด็กบ้านกาญจนาไปด้วย  แต่ไม่ใช่คนที่ปาหิน ไม่ใช่คู่กรณีของเขาโดยตรงเพราะไม่ใช่จังหวะที่ควรทำ แค่ทำให้เขามีโอกาสได้เห็นเด็กๆ ซึ่งในเชิงสัญลักษณ์ก็คือพวกเดียวกัน แต่ไม่ใช่คนที่ทำร้ายสามีของจอห์น หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในแต่ละครั้งที่เราเข้าไป 

เราเข้าไปดูแลเรื่องที่อยู่ ความสะอาด สุขอนามัยการทำน้ำพริกของเขา เกือบปี จากนั้นเขาแจ้งมาโดยการส่งข้อความมาบอกว่าป้า “หนูอยากให้อภัยเด็กคนนั้น หนูไม่รู้จะทำอย่างไร ป้าจัดการได้ไหมหรือป้ามีวิธีอย่างไร”  จริงๆ ที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยพูดว่าเขาต้องให้อภัยเด็กบ้านกาญจนา แต่พยายามทำให้เขาเห็นว่าเด็กๆ ที่ก่ออาชญากรรม มีบาดแผลมีเรื่องราวในชีวิต มีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการใช้ชีวิตที่เหมาะสมของเขา แต่ไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจงไปที่คู่กรณีของเขา แค่พาเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกันกับคู่กรณีที่อยู่ในบ้านกาญจนไปช่วยเขา ทำนู่นทำนี่นิดๆ หน่อยๆ และทุกคนก็สุภาพเป็นมิตร

ณ ตรงนี้เราพบว่าเวลาเยียวยาบาดแผลในใจได้ระดับนึง และการเข้าไปอย่างเป็นมิตรด้วย ก็คงผสมกันหลายอย่าง ป้าก็ไม่แน่ใจว่าอะไรคือปัจจัยชี้ขาด ที่ทำให้จอห์นตัดสินใจบอกกับป้าว่า อยากให้อภัยเด็กคนนั้น 

หลังจากจอห์นส่งข้อความมาทางโทรศัพท์ ป้าก็กลับไปคุยกับคู่กรณีว่าถึงวันที่พี่จอห์น คลายความโกรธคลายความทุกข์มาถึงแล้วตอนนี้เราจะทำยังไง ซึ่งตอนนั้นผู้กระทำได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว แต่ว่าเพิ่งปล่อยไปไม่นาน แต่ยังติดต่อ การ Follow  up ตามปกติ 

ในความไม่แน่ใจ ป้าคิดว่าความสุขงอม ของจอห์นน่าจะมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นก็คือการที่เราเข้าไปในชีวิตของเขาอย่างเป็นมิตร เขาไม่มีญาติ ไม่มีพี่น้อง ถึงแม้คนที่มาช่วยเหลือเขาแบบอีเว้นท์เวลาเขาออกไปให้สัมภาษณ์ในทีวี ก็จะมีการช่วยเหลือ โครมครามมาทีนึง แต่เดี๋ยวก็จะหายไปไม่ใช่เรื่องของการมาให้เวลาในการพูดคุย ซึ่งเขารู้สึกและสัมผัสสิ่งนี้จากบ้านกาญจนาอยู่พอสมควร คนกระทำก็อยู่ที่บ้านกาญจนาด้วย เหมือนเขาได้เชื่อมโยงและค่อยๆ  เห็นภาพชัดขึ้น 

และจากการฟังที่จอห์นเขาให้สัมภาษณ์รายการคนค้นฅนส่วนหนึ่งอาจมาจากความ เป็นคนพุทธความเชื่อเรื่องศาสนาก็มีส่วน ถึงที่สุดเขาก็เลยคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดเป็นการให้อภัยหรือเปล่า เราก็จะบอกว่าก็ดีทั้งสองฝ่าย  คือป้าก็ต้องระวังตัวเองเหมือนกันที่จะไม่เอาเปรียบความรู้สึกเขา

จนกว่าจะสุขงอม

จริงๆ แล้วก็มีหลายกรณีของเด็กบ้านกาญจนา ที่เป็นผู้กระทำในคดีความผิดต่อชีวิตอย่างเช่น กรณีดาราคนหนึ่ง ที่น้องชายถูกยิงเสียชีวิต และคนยิงก็อยู่บ้านกาญจนา หลังจากศาลพิพากษา  ต่อมาเราได้คุยผ่านทางภรรยาของดารา เรื่องการพบกันเพื่อให้คนที่ฆ่าน้องชายได้ขอโทษ  ได้แสดงความรับผิดชอบทางความรู้สึกในฐานะมนุษย์ ซึ่งตอนนั้นดาราคนดังกล่าวยังไม่พร้อม พอเขาไม่พร้อมเราต้องหยุดทันที

เราไม่มีเหตุผล ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำให้ผู้สูญเสียรู้สึกอึดอัดใจกับการที่จะต้องมาให้อภัย เหมือนเรากดดันให้เขาต้องให้อภัย เราไม่ควรทำ เราต้องถอยและรอจังหวะ มีคนหลายคนเคยมาบอกเราว่ารู้จักกับดาราคนนั้นและอาสาจะเป็นคนช่วยคุยให้ซึ่งเราก็แบ่งรับแบ่งสู้ ยกเว้นเขาสนิทกับดาราคนนั้นมากๆ แต่จริงๆ เราไม่ควรทำแบบนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องรอสุกงอม และขึ้นอยู่กับจังหวะด้วย เป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะล้ำเส้น ถ้าเราเปิดประเด็นแล้วเขายังไม่แฮปปี้เราต้องไม่เร้า 

อาจารย์บรูซ แกสตัน

สำหรับกรณีของจอห์นเราใช้เวลา 1 ปีนะโดยประมาณ  เราไปที่บ้านจอห์น ดูแลจอห์น จนถึงวันที่สุกงอมแล้วเขาก็บอกเราว่า อยากให้อภัยเด็กคนนั้นแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งถ้าตัดภาพไปอีกภาพนึงก็คือเมื่อกี้ภาพครอบครัว ดาราที่น้องชายถูกยิงที่ไม่พร้อมให้อภัย ในขณะที่มีอีกกรณีหนึ่งก็คืออาจารย์บรูซ แกสตัน  ซึ่งเป็นศิลปินวงฟองน้ำ ที่กลุ่มวัยรุ่นปล้นอาจารย์บรูซ แกสตัน  ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS  พระโขนง  พวกเขาเรียกตัวเองว่าแก๊งค์เสือ วันที่เขาปล้นอาจารย์มีทั้งหมด 7 - 8 คน หลายคนอายุเกิน 18 ก็เข้าเรือนจำ มี 1 คน อายุ 17 ปี อยู่บ้านกาญจนา 

เด็กที่เป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ป้าพยายามที่จะทำให้บาดแผลของเขาเล็กลง ด้วยการที่เขาได้เผชิญหน้ากับเหยื่อของเขาและเหยื่อของเขาเป็นผู้ให้อภัยเขา อันนี้เป็นหลักการของป้า 

เมื่อเด็ก 1 คนในแก๊งเสือ มาอยู่บ้านกาญจนาเราก็ได้ไปเจรจากับอาจารย์บรูซ แกสตันเพื่อที่จะพาเด็กคนนี้ไปขอโทษอาจารย์ที่บ้าน ตอนที่เราไปเจออาจารย์ ปรากฏว่าไม่ต้องเจรจาเลย อาจารย์ตอบทันทีว่าผมตัดสินใจได้เลย ผมเข้าใจจะให้ผมทำอะไรบอกมาเลยผมยินดี คือไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย

สิ่งที่เราทำไม่ได้ใช้กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้อง และเราก็ไม่เคยเข้าไปพูดว่าเขาก็ถูกตัดสินแล้ว ศาลก็พิพากษาแล้ว เขาถูกลงโทษตามคำพิพากษาแล้ว  อาจารย์ให้อภัยเขาเถอะ  เราก็ไม่ได้พูดแบบนี้ เราก็แค่สื่อสารความรู้สึกว่า  ผู้กระทำรู้สึกผิด อยากจะขอโทษในวันที่เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้องทั้งกฎหมาย ทั้งความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจารย์บรูซ แกสตัน ยินดีเมื่อทราบเจตนาของเราและให้กำหนดวันขอขมามาเลย และขอไปบ้านกาญจนาด้วยตัวเองด้วยนะ ในที่สุด พิธีขอขมาระหว่างอาจารย์บรูซ แกสตันกับเจ้าไข่คู่กรณีก็เกิดขึ้นต่อหน้าเยาวชนบ้านกาญจนานับร้อยในค่ำคืนนั้น (ช่องไทยพีบีเอสมาทำข่าว)

ป้าคิดว่ากรณีอาจารย์บรูซ แกสตัน มีความต่างกับกรณีอื่นๆ อยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความใจกว้างของอาจารย์โดยเฉพาะการไม่มีข้อสงสัยใดๆ ต่อผู้กระทำเลยแม้แต่น้อยและมิใช่เหตุที่ถึงขั้นสูญเสียตลอดไปเช่นการสูญเสียชีวิต  แต่กรณีของจอห์นเขาสูญเสียคู่ชีวิตซึ่งทำให้เขาหมดสิ้นทุกอย่าง ความคับแค้นใจของเขาจึงเยอะมาก ตอนที่ป้าไปพบจอห์นครั้งแรก เขาเล่าอารมณ์ของตัวเองที่โกรธ เขาบอกว่าทุกครั้งที่ไปศาล แล้วเห็นเด็กคนนี้ เขาคิดในใจว่าอยากจะเอาหินไปปาใส่ เพราะรู้สึกโกรธแค้นมากๆ 

เริ่มจากกฏหมาย?

เวลาเราทำงานกับเด็กบ้านกาญจนา ในฐานะที่เป็นพื้นที่ๆ ใช้กฎหมายควบคุมทุกย่างก้าวเรากลับไม่ใช้กฎหมายหรือใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น  แต่จริงๆ ก็แทบจะไม่จำเป็นหรือ ไม่ใช้การลงโทษ  ไม่ใช้อำนาจนิยม ซึ่งเท่ากับเปิดพื้นที่ให้ Soft  Power  ไหลเข้ามาแบบหลายเฉดสีหลายมิติจนทำให้เกิดนวัตกรรมหรือพอเราทิ้งสิ่งหนึ่งไปก็มีสิ่งใหม่ไหลเข้ามาแทน 

จริงๆ ป้าไม่ได้มีวิชาการอะไร แต่ป้ารู้สึกได้ว่า เวลาที่เด็กๆ เขาได้ขอโทษป้า ขณะที่เขาอยู่บ้านกาญจนาซึ่งเป็นสถานควบคุมที่ให้โอกาส แต่บางคนยังแสดงด้านมืดออกมา การได้ขอโทษป้า ขอโทษเจ้าหน้าที่ การเขียนไดอารี่ก่อนนอน  การเขียนจดหมายถึงป้าว่าผมรู้สึกผิดครับ ขอโทษเจ้าหน้าที่ในวันที่เขาพูดไม่ดี หยาบคายอย่างรุนแรง เราก็เห็นว่าหลังจากที่เขาได้เปล่งวาจารับผิด - ขอโทษ เราเห็นการสบตาของเขากับเรามั่นคงขึ้น เขาไม่ต้องหลบไปจากสายตาของเรา 

เหมือนกับการได้ขอโทษ การได้พูดว่าตัวเองผิด ทำให้เขาไม่ผลักตัวเองออกไปจากสังคมเล็กๆ ในบ้านกาญจนา  ถ้าเขาได้ทำในสัดส่วนที่สมเหตุสมผล เช่นกับเหยื่อหรือผู้เสียหายการกลับคืนสู่สังคมของเขาก็คงสมาร์ทกว่า เพียงแต่เราไม่สามารถทำแบบนี้ได้ทุกกรณี เพราะว่าเด็กบ้านกาญจนาที่มาด้วยคดีทำร้ายผู้อื่นจนถึงขั้นเสียชีวิตก็เยอะ บางคนขึ้นหน้าหนึ่ง ดังนั้นเราก็ต้องมานั่งดูอีกว่าในความเยอะนั้นอะไรที่เราทำได้และอะไรที่เรา ไปไม่ถึงและเราจะออกแบบทดแทนอย่างไร 

ในข้อจำกัดนั้นพบว่าสิ่งที่เราควรทำที่สุดก็คือ คนที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งทั้งหลาย เหมือนเลือกปฏิบัตินะ แต่ก็มีหลักการของการเลือกปฏิบัติว่าคนที่อยู่หน้าหนึ่งเรื่องของเขาจะไม่หาย ไปจากพื้นที่ข่าว ดังนั้นถ้าเราทดแทนด้วยการที่ทำให้ผู้เสียหายเป็นผู้ให้อภัย และเขาได้ถูกโอบกอดโดยผู้เสียหาย อย่างเช่นอาจารย์บรูซ แกสตัน  ได้โอบกอดเยาวชนที่ทำร้ายในพิธีขอขมาและ ไข่ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่าเมื่ออาจารย์บรูซ กอดเขา  เขารู้สึกโล่งเลย ตัวเบา เหมือนกับมีพลังอะไรบางอย่างและพลังใจกลับมาอีกครั้งนึง  เมื่ออาจารย์บรูซมาบ้านกาญจนาในครั้งที่ 2 แล้วพูดว่า ไข่เป็นเหมือนลูกอีกคนนึงของผมคำนี้ยิ่งโคตรมีพลัง เพราะเท่ากับยอมรับผู้กระทำอย่างหมดจด ซึ่งไม่ใช่ดีกับไข่ผู้กระทำต่ออาจารย์เท่านั้น  แต่ยังดีกับเด็กทุกๆ คนที่อยู่ในวงกิจกรรมในวันนั้นด้วย 

จากประสบการณ์ป้าสัมผัสได้ว่าการให้อภัยของผู้เสียหายต่อผู้กระทำนั้นยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ป้าก็เรียนรู้จากทุกๆ เคสที่ลงมือทำไม่ได้รู้แบบอ่านตำรา  แต่เรียนรู้ในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ในทุกๆ เหตุการณ์ ซึ่งทำให้เรายิ่งรู้สึกว่า เราต้องไปต่อ เช่น วันนั้นถ้าไข่ไม่ได้รับการให้อภัยจากอาจารย์บรูซ แกสตัน ไข่ก็อาจกลับไปอยู่แก๊งค์เสือเหมือนเดิมก็ได้ 

เข้าใจคนผ่านบาดแผล

ป้าเริ่มต้นทำพิธีกรรมขอขมาจากการที่ได้ทำงานกับเด็กคนที่เป็นผู้กระทำมาอย่างใกล้ชิด แล้วก็เห็นพัฒนาการทางบวกของเขา ไม่ได้เห็นแค่ความดิบเถื่อนถ่อยของเขาในแต่ละวันที่เราอยู่กับเขา เราเห็นทั้งด้านดีด้านอ่อนแอ ด้านที่สะท้อนวิธีคิดที่ไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะวันที่เขาก่อเหตุจนกระทั่งถึงวันที่เขาค่อยๆ เติบโตผ่านการทำงานของเรา ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรามั่นใจ

เวลาที่ป้าพาเด็กบ้านกาญจนาออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ผู้คนมักจะถามว่าไม่กลัวเด็กพวกนี้หนีเหรอ ป้าเข้าใจคนที่ถามนะ เพราะไม่ได้เห็นเด็กเหล่านี้ทุกวัน เขารู้แต่ว่าเด็กพวกนี้เคยก่อคดี ถูกจับและเข้าคุก ถ้าคุณเห็นเพียงแค่นั้นคำถามนั้นก็ไม่ผิด  แต่ถ้าคุณได้เห็นเท่ากับที่ป้าเห็น คุณก็จะไม่ถาม สิ่งที่ป้าเห็นก็คือความเป็นเด็กหนุ่มธรรมดา อ่อนไหว อ่อนโยน กลัว หิวความรัก โหยหาการยอมรับ เขาคือเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่อยากหาทางลงจากหลังเสือ  

เวลาป้าจะคุยกับเด็กๆ ที่ขึ้นหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง เราจะเห็นความรู้สึกผิดของเขา  เมื่อเราถามว่า อยากพบคนที่ทำร้ายไหม เขาบอกว่าถ้าพบแล้วเขาจะโกรธผมไหม เราก็บอกว่าคงโกรธบ้าง แต่ว่าคงไม่ถึงขั้นทำร้ายหรือเอาคืน ถ้าเราได้มีโอกาสได้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง เขาอาจเปลี่ยนท่าทีก็ได้และ จะดีกว่าไหมถ้าเราไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปแล้วก็กลายเป็นเรื่องที่เรารู้สึกผิดจนเราไม่สามารถให้อภัยตัวเราเองได้ 

ก่อนที่เราจะไปพบกับผู้เสียหายแต่ละคนเราต้องคุยกับผู้กระทำให้จบก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ เราตัดสินใจเองหมด ถ้าเขารู้สึกว่าเขาไม่เอา เขาไม่เห็นประโยชน์ เขาไม่มีความจำเป็นต้องขอโทษเพราะว่าไอ้ผู้เสียหายพวกนี้ ก็เป็นคนไม่ดี ทำร้ายคนในครอบครัวเขา ๆ ต้องปกป้อง  ถ้ามีเรื่องราวแบบนี้หรือแบบใดก็ตามที่สะท้อนความโกรธ  ความแค้น  ความไม่รู้สึกผิดออกมา เราก็ต้องทำงานความคิดกับเขาจนถึงจุดที่สมเหตุสมผล แต่โดยทั่วไปไม่มีหรอก 

อย่างกรณีของน้องชายดาราที่ถูกยิง เสียชีวิต พอผู้กระทำที่อยู่กับเรารู้ว่าพี่ดาราไม่พร้อมให้อภัย รู้ว่าบ้านกาญจนา  รู้ว่าป้าพยายามจะหาช่องทางอยู่นะ วันนึงพอเขาจะปล่อยจากบ้านกาญจนา  หลังจากอยู่กับเรา 3 ปีกว่าตามคำพิพากษา เขาบอกว่า “ป้าไม่ต้องพยายามหรอกครับ พอแล้ว ผมเข้าใจแล้ว ผมรู้ว่าเขาให้อภัยผมไม่ได้และผมก็ไม่โกรธเขาด้วยเพราะว่าผมผิดจริง ๆ ครับ” 

ผู้กระทำคนนี้พอเขาออกจากบ้านกาญจนา เขาบวชกว่า 3 ปี วันสู่เหย้าเขามาในสถานะพระ เรายังแอบถามผู้ปกครองเลยว่าขอร้องให้บวชหรือเขาบวชเอง เพราะผ่านไปกว่า 3 ปีแล้ว พ่อแม่บอกว่าเขาบวชเอง เขาตั้งใจจะบวช เพราะต้องการรับผิดชอบทางความรู้สึก  หลังจากรับผิดชอบทางกฎหมายไปแล้ว นั่นหมายความว่ากระบวนการทำงานต้องทำให้เด็กเห็นห่วงโซ่ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของตัวเอง ด้านพี่ดาราที่เป็นผู้เสียหายที่ไม่พร้อมให้อภัย ป้าคิดว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากระยะเวลาที่ผ่านไป เขาเคยมาถ่ายหนังที่บ้านกาญจนา มาถ่ายรูปกับน้องๆ และเจ้าหน้าที่ที่นี่อย่างเป็นมิตร แม้ปลายทางการขอโทษจะยังไม่เกิดก็ตาม ป้าก็หวังว่าวันนึงจะได้เห็น  ป้าเชื่อมั่นนะว่าวันนั้นจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำให้เด็กเห็นอีกว่า นอกจากพ่อแม่ไม่ทอดทิ้งเขาในวันที่คนโกรธเขา เกลียดชัง เขา แต่พ่อแม่ก็มีปัจจัยผลักไล่ส่งลูกด้วยนะ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่ปัจจัยดึงดูดก็เร้าเขา แต่เด็กบ้านกาญจนาก็ถูกพาไกลไปถึงขั้นที่เห็นว่านโยบายสาธารณะในประเทศที่ไม่มีวิสัยทัศน์  ไม่เอื้อต่อความเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่นและความเปราะบางของเยาวชน

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในผู้ใหญ่

ถ้าเราทำงานกับผู้กระทำอย่างใกล้ชิดในทุกๆ คน ป้าคิดว่าถึงที่สุดเราก็เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเขาไม่ว่าคดีรุนแรงขนาดไหนก็ตาม แต่นั่นหมายความว่าเราจะต้องทำงานความคิดบนเนื้อหาที่ถูกออกแบบด้วย ซึ่งถ้าพื้นที่ใดก็ตามเปิดโอกาสให้กระบวนการและเนื้อหาดังกล่าวเดินทางอย่างสม่ำเสมอมีประสิทธิภาพ ถึงที่สุด ผู้กระทำจะเกิดความคิดใหม่ ๆ และรู้สึกด้วยตัวเองว่า เขามีส่วนอย่างมาก ๆ  ต่อความสูญเสียและความเสียหายนั้น

ใช่ ! เป็นไปได้ที่ผู้กระทำในบ้านกาญจนาเวลาเข้ามาแรก ๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเขาทำร้ายคนอื่น แต่ทำเพราะอยากปกป้องคนในครอบครัว อย่างเยาวชนคนหนึ่งตอนนี้เป็นศิลปิน เขาทำร้ายตาเลี้ยงจนเสียชีวิตโดยมีคนในครอบครัวช่วยกัน ส่วนคุณยายมาเห็นตอนตาเลี้ยงเสียชีวิตแล้ว และทุกคนในครอบครัวถูกจับหมด ตอนเขาถูกจับเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ เขาเคยเปิดเผยความรู้สึกว่าเขาไม่รู้สึกผิด เพราะว่าเขาทำเพื่อปกป้องยายที่ถูกตาเลี้ยงทำร้าย รวมถึงพยายามละเมิดทางเพศแม่ของเขา ซึ่งเขาเคยไปแจ้งความแต่ตำรวจก็แค่มายืนหน้าประตูบ้าน แล้วก็บอกให้พวกเราใจเย็นอดทน เขาบอกว่าเขาทำทุกอย่างที่ควรจะทำหมดแล้ว  แต่ในที่สุดไม่มีใครมาแก้ปัญหาให้เขาได้ เขาจึงต้องทำแบบนั้น  ในวันนั้นหลังฆ่าตาเลี้ยงทุกคนช่วยเอาศพจากนนทบุรีไปทิ้งถึงพิษณุโลก ถามว่าเขารู้สึกผิดไหมตอนนั้นเขาบอกว่าไม่รู้สึกผิด มันเป็นสัญชาตญาณดิบ ณ ตอนนั้น แต่เมื่อถามว่าเขามารู้สึกผิดเมื่อไหร่  เขาบอกว่ามารู้สึกผิด เมื่อผ่านการทำกระบวนการเพื่อเปลี่ยน mindset ในชื่อวิชาชีวิตที่บ้านกาญจนา 

เมื่อถามเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้เขาไม่รู้สึกผิด คำตอบของเขาก็คือความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสถานที่ๆ ควบคุมตัวนั่นแหละ และการมาด้วยคดีฆ่าคือเจ๋ง มีคนเกรง  ไม่กล้าแหยม ซึ่งทุกคนต้องรักษาฟอร์มนั้นไว้ เพราะทั้งปลอดภัย  ทั้งข่มคนอื่นได้ แต่พอมาบ้านกาญจนาที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน และมีการทำงานทางความคิด วันหนึ่งเขาเป็นคนพูดเองตอนที่ไปบรรยายร่วมกับป้าให้กับอัยการฟังว่า เป้าหมายผมคือปกป้องยาย ปกป้องแม่ ปกป้องคนในครอบครัวจากการใช้ความรุนแรงของตาเลี้ยง แต่วิธีการของผมผิดทั้งหมดเลย 

เขาต้องเห็น Life line ด้วยตัวเองแต่ไม่ได้แปลว่าเขาตรัสรู้โดยที่เราให้เขานั่งทางใน แต่ต้องมีกระบวนการ  input เปลี่ยน mindset เปลี่ยนมุมมอง ซึ่งถ้าเราใช้กระบวนการและเนื้อหาเพื่อเปลี่ยน mindset โดยไม่มีวัฒนธรรมอำนาจนิยม  มนุษย์น่าจะมีพลังใจพาตัวเองไปถึงเป้าหมายได้

ป้าคิดว่าผู้ต้องขังที่มีอายุมากกว่าวัยรุ่นบ้านกาญจนา ความเข้าใจต่อเรื่องเหล่านี้น่าจะเร็วกว่าด้วยซ้ำไป เพราะคนที่เป็นนักโทษผู้ใหญ่ห่วงโซ่ชีวิตของเขาชัดเจนกว่าเด็กบ้านกาญจนา ซึ่งยังเป็นวัยรุ่นอยู่ สังเกตจากเยาวชนบ้านกาญจนาที่อายุ 22 - 24 ปี ทำงานง่ายกว่ากลุ่มอายุ 16 - 18 ปี แต่ยืนยันว่าทุกคนเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องมีการทำงานทางความคิดด้วย ไม่ใช่เอาเขาไปขังเอาไว้ตามวันเวลาที่ศาลสั่ง แต่ว่าไม่ได้มีกระบวนการเชื่อมโยงตัวเขากับสรรพสิ่งซึ่งสิ่งที่บ้านกาญจนาทำบ่อยๆ ก็คือการเห็นห่วงโซ่ความเสียหายในทุกๆ กรณี

การทำให้เด็กเห็นห่วงโซ่ความเสียหายจะทำให้เขาเข้าใจชัดขึ้น ว่าการกระทำของเขามีผลต่อชีวิตใครกี่คน ไม่ใช่คนเดียวที่เขาฆ่า พ่อแม่ของเหยื่อ คนในชีวิตเหยื่อ เหมือนกับเขานั่นแหละเป็นโดมิโนตัวหนึ่งในครอบครัวเมื่อเขาล้มพ่อแม่ของเขาก็ล้มด้วย น้องชายเขาก็ล้มด้วยพี่สาวเขาก็ล้มด้วย คนที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยที่เป็นพี่เขาก็เดือดร้อน เพราะว่าค่าใช้จ่าย มาลงที่เขาหมด เราก็จะวิเคราะห์เรื่องพวกนี้กันอย่างสม่ำเสมอผ่านทางกาณีศึกษาที่หลากหลาย จะได้ไม่เบื่อ 

โรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้

สมมุติว่าถ้าวันนี้มีข่าวการปล้น  การใช้ความรุนแรงโดยวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ผู้เสพข่าวส่วนใหญ่จะเกรี้ยวกราดใส่ คนในข่าว เช่น เอาไปฆ่าเลย ให้มันติดคุกตลอดชีวิตเลย เรามักคิดว่าการใช้ความรุนแรงโต้ตอบแบบตาต่อตา  ฟันต่อฟัน มันน่าจะตอบโจทย์ได้ แต่ความจริงไม่ใช่เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้แพ้ยังเดินเครื่อง การจับวัยรุ่นที่ก่อคดีเข้าคุก  แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้แพ้ก็ยังทำงานตลอดเวลาไม่เคยหยุดเลย ทั้งกลางวัน กลางคืน ทั้งเดือน ทั้งปี ดังนั้นผู้แพ้คนใหม่ก็จะถูกส่งเข้ามาในสังคมตลอดเวลา ใช่คนผิดต้องไม่ลอยนวล  กฎหมายต้องยุติธรรม แต่ขณะเดียวกันหน้าที่ของเราคือการทำให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ ทำงานช้าลงหรือหยุดทำงานบ้าง ไม่ใช่ทำงานตลอดเวลาไม่เคยหยุดหย่อน การถ่มถุย  ด้อยค่า  เกรี้ยวกราด คนที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้ ไม่ได้ตอบโจทย์ ขณะเดียวกันคนผิดต้องไม่ลอยนวล 

ป้าคิดว่าคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม อาจเห็นกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาชัดเจน แต่ไม่พอโดยเฉพาะ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งต้องอยู่บนฐานของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ถ้าเห็นไม่ลึกซึ้งพอ มันสมานฉันท์ไม่ได้ ก็คล้ายๆ กับที่คนรู้สึกทึ่งรู้สึกอึ้งกับการให้อภัยของใหญ่  เยาวชนบ้านกาญจนา ต่อเล็กเยาวชนบ้านกาญจนาอีกคนที่ฆ่าพ่อของใหญ่ หรือการให้อภัยของจอห์นต่อศักดิ์ วัยรุ่นที่ปาหินใส่รถตู้จนสามีจอห์นเสียชีวิต  หรือการให้อภัยวัยรุ่นแก๊งเสือในบ้านกาญจนา โดยอาจารย์บรูซ  แก๊สตัน  ซึ่งการเดินทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสเกลเล็กๆ ของบ้าน กาญจนา คือการใช้ Soft power ใช้ความปลอดภัย การทำให้ด้านมืดเล็กลงและ Empower ให้ด้านสว่างแข็งแรง ด้วยการเปลี่ยน Mindset  เมื่อด้านในของผู้กระทำอ่อนโยน  เห็นคุณค่าชีวิตอื่น การเชื่อมโยงกับผู้เสียหายก็ถูกสนับสนุนอย่างเชื่อมั่น อย่างศรัทธา อย่างมีpassion ซึ่งป้าคิดว่าบ้านกาญจนามีสิ่งนี้ เพียงแต่สเกลของเรายังเล็กมาก 

อันนี้ไม่ได้พูดแบบเอาเปรียบ แต่การที่เราอยู่กับความโกรธ ความไม่ชอบ ความเกลียดชังก็เป็นยาพิษที่อยู่ในใจเราเหมือนกันใช่ไหม เหมือนที่จอห์นเคยบอกว่าหลังจากที่ให้อภัยแล้ว การก้าวขาที่เคยหนักเหมือนกับติดโคลนตมก็เบาขึ้น ไม่ติดขัด เหมือนกับทุกอย่างเบาลง การพูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะไปบอกผู้เสียหายทุกคนว่า คุณต้องให้อภัยนะเพราะการให้อภัยคุณจะรู้สึกดีนะ เราก็พูดไม่ได้ใช่ไหม ในฐานะคนทำงานกับผู้กระทำ แต่ป้าเชื่อว่าสักวันหนึ่งพี่ชายดาราก็อาจมาถึงวันที่ให้อภัยอดีตเด็กบ้านกาญจนาที่ฆ่าน้องชายเขาได้

การฆ่ากันไม่ควรจะเกิดขึ้น นั่นคือหลักการสำคัญ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วถ้าสามารถพาผู้ขัดแย้งมาถึงจุดที่ได้ให้อภัย ได้ขอโทษถึงที่สุดก็ดีทั้งสองฝ่าย คนที่สูญเสียที่อยู่กับความเกลียดชัง  ความโกรธความแค้นก็จะคลายลงทำให้การเดินทางของเขาเบาขึ้น ไม่ต้องแบกอะไร แต่ก็ต้องเป็นความสุขงอมด้วยไม่ใช่การบังคับให้เกิดการให้อภัย

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ พอไปให้น้ำหนักกับ  process ทางกฎหมายเกินไป มันขาดฟิลลิ่ง ขาดความเป็นมนุษย์ ตอนที่ผู้กระทำขอขมาพี่จอห์น ตอนนั้นเขาก็พ้นโทษไปแล้วด้วยนะ ระหว่างที่เขารออยู่ในห้องก่อนพิธีจะเริ่ม เขาตื่นเต้นมากเขาปรึกษาว่าผมจะพูดอย่างไรกับพี่จอห์นดีครับ ระหว่างนั้นเขาเขียนข้อความขอขมา แล้วก็ถือกระดาษใบนั้นคุกเข่าต่อหน้าพี่จอห์นแล้วก็อ่านคำขอขมา  จากนั้นพี่จอห์นก็กอดเขาแล้วรับคำขอขมาพร้อมกับพูดว่าไปใช้ชีวิตดีๆ นะพี่ให้อภัยเราแล้ว

เรื่องของจอห์นกับศักดิ์ ไม่ได้มีการไปพบกับใครเลยในทางกฎหมาย ไม่ได้มีการนั่งล้อมวงกันเพื่อพูดคุยไม่มีอัยการหรือตำรวจ เป็นอำนาจในการตัดสินใจระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำบนความเป็นมนุษย์ที่สุกงอม 

ความรู้สึกของจอห์นที่บอกกับป้าว่าเขาอยากให้อภัยผู้กระทำผ่านการดูแลใจที่ยาวนาน ความตื่นเต้นดีใจของศักดิ์ในค่ำคืนที่จอห์นให้อภัย และต้องเผชิญหน้ากับพี่จอห์น อีกครั้ง หลังจากที่ทำสามีของจอห์นเสียชีวิต ทุกอย่างเป็นเรื่องของคน 2 คนซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้ง โดยมีเราเป็นคนอำนวยเพื่อให้พลังด้านดีของทั้งสองฝ่ายออกมา โดยเฉพาะผู้กระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา ลึกๆ อยากให้ทุกคนเห็นว่าเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ชั่วร้ายขนาดนั้น 

ทำไมป้าถึงเชื่อในความเป็นมนุษย์ 

ถ้าทุกคนมีทุนที่ดี ที่มากพอและมีทางเลือกเขาคงไม่อยากที่จะพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ถูกคนทั้งบ้านทั้งเมืองเกลียดชังพาตัวเองไปอยู่ในจุดอับที่สุด ป้าว่าการที่เราทำให้มนุษย์ไม่มีทางเลือก เป็นปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยทางสังคมที่ไม่ได้กระทบต่อทุกคนหรอกแต่กระทบต่อคนที่ด้อยที่สุด  เปราะบางที่สุด ดังนั้นเวลาเราเห็นปรากฏการณ์นี้ มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่มันเป็นปัจจัยร่วมของหลายๆ อย่าง โดยปัจเจกที่มีทุนน้อย ทางเลือกน้อย ด้อยที่สุด เปราะบางที่สุดเป็นผู้แสดงผล 

ดังนั้นเวลาเราอยากลงโทษ  อยากเกลียดคนเหล่านี้ ป้าคิดว่าการปล่อยให้เขารับผลตามกฎหมาย การถูกลงโทษตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ขณะเดียวกันเราต้องส่งเสียงให้เห็นว่ามีปัจจัยร่วม อีกหลายตัวที่จะต้องถูกให้น้ำหนักให้ความสำคัญ ถ้าเราต้องการจะแก้ปัญหาระยะยาวเราต้องถามต่อไปว่าเราปล่อยให้เด็กๆ เติบโตในสังคมแบบไหน ระบบนิเวศน์แบบไหน ถ้าเราตั้งคำถามไปถึงตรงนั้น จะเห็นตัวละครที่จะต้องรับผิดชอบประเทศนี้เพิ่มขึ้น 

มีเด็กบ้านกาญจนาคนหนึ่งมาด้วยคดีปล้นเซเว่นอีเลฟเว่น 16 จุด  ในคืนเดียว ถ้าเราตั้งคำถามว่ามึงต้องเหี้ยขนาดไหนวะ ถึงได้ปล้นเซเว่นตั้ง 16 แห่งในคืนเดียวกัน คำถามแบบนั้นจะนำไปสู่ปฏิบัติกับเด็กคนนั้นในอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราเปลี่ยนการตั้งคำถามว่าเขาเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน ในชุมชนในสังคมแบบไหน เขาถึงจ่ายแพงเพื่อต้องการการยอมรับจากเพื่อนๆ เพราะหลังจากเขาปล้นเซเว่น 16 จุดก่อนที่จะถูกจับ  กลุ่มเพื่อน 5-6 คน ได้ให้ฉายาเขาแทนชื่อว่า 16 ปล้น สำหรับเขามีความหมายมาก จากคนที่ไม่เคยมีตัวตนเลย โคตรกระจอก หลังจากปล้นเซเว่นคืนเดียว 16 จุดก็ ได้ฉายา 16 ปล้นมา เขาเกิดแล้วทางอัตลักษณ์ เขารู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็ม 

คำถามก็คือว่าไม่ใช่มันเหี้ยเพราะปล้นเซเว่น 16 จุดแต่ทำไมต้องจ่ายแพงเพื่อให้ตัวเองถูกยอมรับขนาดนั้น อะไรทำให้เด็กคนหนึ่งอยากได้การยอมรับในเชิงความรู้สึก มีเด็กอีกคนในบ้านกาญจนาเคยเขียนในไดอารี่ก่อนนอนว่า ผมลั่นไกครั้งแรกเหยื่อผมไม่ตาย แต่ป้าเชื่อไหมว่าทุกคนยอมรับในความใจกล้าของผม การลั่นไกครั้งที่ 2 จึงต้องมีคนตาย เพราะผมไม่อยากให้คนที่ปลื้มผมผิดหวัง จะสรุปว่าตรรกะเหี้ยมากก็ได้ แต่สรุปแค่นั้นสังคมจะมีอนาคตมั้ย 

แน่นอนถ้าเราหยุดแค่ปัจเจกก็คือเราด่าไอ้คนที่ก่อเหตุให้มันยับไปเลยแต่เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลยเพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้แพ้จะเดินเครื่องต่อไป แต่ถ้าเราตั้งคำถามใหม่ว่าทำไมเราปล่อยให้ลูกหลานลงทุนตามหาตัวตนด้วยราคาที่แพงมาก เราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า รัฐหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า เราถึงทำ ให้เด็กๆ เกิดความคิดที่ผิดพลาดแบบนี้ นี่คือตรรกะของผู้แพ้โดยเฉพาะเลยนะ  ป้าเรียกสังคมและนโยบายสาธารณะที่ไม่มีวิสัยทัศน์ว่าจำเลยร่วมหรือจำเลยเงา 

ในทุกเหตุการณ์มีจำเลย 2 คนซ้อนกันอยู่ จำเลยที่ 1 ก็คือเด็กผู้สร้างปรากฏการณ์นั้น แต่จำเลยเงาจริงๆ ก็คือนโยบายสาธารณะที่ ไม่มีวิสัยทัศน์ของรัฐ ที่สนับสนุนให้ โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้แพ้ทำงานอย่างไม่หยุด ไม่พัก อันนี้เป็นจำเลยร่วมที่ต้องพูดอย่างจริงจัง 

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ thisable.me