Skip to main content

การนอนให้ครบ 7-8 ชั่วโมงตามคำแนะนำจากวารสารเรื่อง Prevalence of Healthy Sleep Duration among Adults — United States, 2014 รายสัปดาห์ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) อาจเป็นเรื่องง่ายที่คนไม่พิการทำได้ แต่สำหรับคนพิการ การนอนให้เพียงพอกลับเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะคนพิการทางการเคลื่อนไหวที่มีสาเหตุจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ซึ่งพบว่า อาการนอนหลับๆ ตื่นๆ จนทำให้นอนหลับไม่เพียงพอมีความสัมพันธ์กับเตียงนอน

Thisable.me ชวนพี-ภาณุวัฒน์ ผลาเลิศ ลูกจ้างเหมาบริการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งพิการบาดเจ็บไขสันหลัง มาคุยกันว่า ที่นอนมีความสำคัญอย่างไรกับการนอนของคนพิการทางการเคลื่อนไหว

มีภาพที่นอนหมอสีขาวเป็นและเขียนชื่อหัวข้อบทสัมภาษณ์ไว้ตรงกลาง

ที่นอนแรกที่ได้หลังเกิดความพิการ

ภาณุวัฒน์: ตอนที่อยู่โรงพยาบาล ผมเป็นแผลกดทับบริเวณก้นกบ ดังนั้น ที่นอนแรกหลังพิการคือ ที่นอนลมของโรงพยาบาล ภายในจะมีลูกลมคอยขยับตลอด กล้ามเนื้อตรงไหนที่ถูกกดทับนานๆ ก็จะยุบลงไป ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ หลังกลับจากโรงพยาบาล จึงเปลี่ยนเป็นฟูกที่นอนคลุมด้วยหนังเทียมซึ่งช่วยป้องกันปัสสาวะ อุจาระเลอะได้ดีกว่าผ้า แต่เวลานอนจะรู้สึกร้อนกว่าจึงเปลี่ยนเป็นที่นอนสปริง ตอนนอนช่วงแรกรู้สึกว่าสบาย แต่พอใช้ไปประมาณ 1 ปี ฟองน้ำเริ่มยุบ เวลานอนรู้สึกเหมือนนอนทับสปริง ถ้าขยับตัวบ่อยๆ ก็จะมีแรงสั่นไปถึงอีกคนหนึ่งด้วย ถ้าคนหนึ่งนอนไม่หลับ ก็จะพาอีกคนนอนไม่หลับไปด้วย 

ความสัมพันธ์ระหว่างที่นอน การนอนหลับ และความพิการ

ช่วงแรกที่ผมเข้าโรงพยาบาลและเป็นแผลกดทับ หมอให้นอนคว่ำ ทำให้ผมหายใจไม่ค่อยออกเพราะนอนทับหน้าอกตัวเอง และการนอนค่อนข้างยากพอสมควร เพราะผมนอนตลอดเวลา หลับๆ ตื่นๆ ช่วงกลางวันบ้าง พอเป็นช่วงกลางคืน เป็นเวลาที่เราต้องนอนก็ไม่ง่วง นอนอีกทีก็ดึกเลย และยังมีอาการหนาวสั่นจากการเป็นแผลกดทับซึ่งเป็นอุปสรรคในการนอนหลับอีกด้วย

จนถึงตอนนี้การนอนหลับของผมก็จะหลับๆ ตื่นๆ พอผมตื่นขึ้นมา แล้วจะหลับอีกก็จะหลับยากขึ้น นอกจากนี้งานและช่วงเวลาของการทำงานทำให้เราพักผ่อนไม่เพียงพอ ถ้านอนบนที่นอนทำให้รู้สึกไม่สบาย ยิ่งทำให้เหลือเวลานอนที่น้อยลงไปอีก ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้มีศักยภาพในการทำงานหรือออกไปใช้ชีวิตลดลง 

ภาพคุณพี-ภาณุวัฒน์ ผลาเลิศ หันหน้าและตัวทางด้านซ้าย กำลังถือไมค์พูดเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่องอยู่พี-ภาณุวัฒน์ ผลาเลิศ

ผมพิการจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้ม แล้วตัวผมไถลไป หลังกระแทกที่ฟุตปาธโดนไขสันหลังช่วงกลางหลัง ส่งผลให้ไม่มีความรู้สึกตั้งแต่ใต้ราวนมลงไป และไม่สามารถใช้แรงกล้ามเนื้อช่วงเอว ช่วงลำตัวเพื่อยืดตัวให้ตรงได้เหมือนคนทั่วไป จึงปวดหลัง ต้องอาศัยการนั่งพิงพนักของรถเข็นหรือเก้าอี้ มีปัญหาเรื่องปวดหลังค่อนข้างเยอะ เพราะไม่สามารถใช้แรงกล้ามเนื้อช่วงเอว ช่วงลำตัวยืดตัวให้ตรงได้เหมือนคนทั่วไป ต้องอาศัยการนั่งพิงพนักของรถเข็นหรือว่าเก้าอี้ ผมอยากได้ที่นอนที่นุ่มๆ แต่พอไปปรึกษาพนักงานขายที่นอน เขาแนะนำที่นอนแน่นนุ่มที่อาจจะไม่นุ่มเหมือนที่นอนสปริง แต่มีความแน่น เวลานอนแล้วจะไม่ปวดหลัง พอได้ที่นอนตัวนี้มา ผมรู้สึกว่านอนหลับมากขึ้น ไม่ปวดหลัง ดีกว่าที่นอนที่เราเคยนอนมา พอนอนที่อื่น เช่น บ้านที่ต่างจังหวัดหรือโรงแรม ก็จะรู้สึกว่า นอนที่ไหนยังไงก็นอนไม่สบายเท่ากับที่ห้องหรอก พอเวลาไปนอนที่อื่นจะก็คิดถึงที่นอนที่ห้องมากกว่า 

ส่วนอาการขาเกร็ง สั่น เจ็บจี๊ดๆ ที่นอนไม่สามารถลดอาการเหล่านี้ได้ แต่ผมสังเกตว่า ช่วงที่พักผ่อนน้อยผมจะมีอาการพวกนั้นค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ผมเคยเผลอนอนแช่นานๆ เป็น 10 ชั่วโมง ไม่ได้ขยับตัว แต่ไม่มีรอยช้ำเป็นวงสีแดงๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังจะเริ่มการที่จะเป็นแผลกดทับ 

ตอนหาข้อมูลเรื่องเตียง ผมเจอวิดีโอหนึ่งบอกว่า เราควรให้ความสำคัญกับการนอนให้มาก ที่นอนค่อนข้างมีผลกับชีวิตเรา ถ้าหากเรานอนแล้วไม่สบายจนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายเราแย่ ผมตัดสินใจซื้อที่นอนที่ราคาที่แพงหน่อย ตั้งแต่นอนมา 4-5 ปี ก็คุ้มกับราคากับที่เราจ่ายไป

ทำไมไม่เลือกใช้ที่นอนลมเหมือนคนอื่น

ผมนอนที่นอนอยู่โรงพยาบาลปีหนึ่ง เวลาจะทำกิจกรรมต่างๆ บนที่นอน เช่น การนั่ง เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะเวลานอนหรือนั่งอยู่บนลูกโป่งที่ใส่น้ำ ซึ่งจะสั่นๆ คลอนๆ ตลอด เพราะว่าคนพิการทรงตัวลำบากอยู่แล้ว พื้นไม่แน่นจึงทำให้ตัวเราทรงตัวไม่อยู่ 

ตอนแรกผมก็มีความเข้าใจว่าที่นอนลมจะช่วยป้องกันแผลกดทับ แต่ไม่ได้การันตีว่าที่นอนลมป้องกันไม่ให้เกิด หากนอนไม่ขยับตัว ไม่พลิกตัว นอนแช่นานๆ ไม่ว่าจะเป็นที่นอนลมหรือที่นอนธรรมดาก็อาจจะเกิดแผลกดทับ แต่ที่ผมเลือกที่นอนปกติเพราะว่าเวลาที่ไปนอนที่อื่นจะไม่มีเตียงลม เลยฝึกนอนที่นอนปกติดู และพยายามเปลี่ยนท่าบ่อย ขยับตัว ไม่ให้อยู่ท่าเดิมนานๆ 

ตอนที่ผมเพิ่งกลับไปอยู่บ้านไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องเตียงลม ซึ่งเป็นปัจจัยค่อนข้างสำคัญกับคนพิการที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ขยับตัวได้ยาก เตียงลมจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดในแผลกดทับ รัฐไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องเงินค่าที่นอน แต่ควรจัดซื้อให้กับคนพิการให้ได้ตามสิทธิ เพราะจะได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อปลีก

ความแข็งและความกว้างของที่นอนมีผลต่อการนอนหลับ

ตอนแรกผมนอนหงายมาตลอด พอได้ไปฝึกกายภาพบำบัด หมอและพยาบาลให้ลองนอนคว่ำดูซึ่งจะช่วยลดอาการแผลกดทับ แม้ตอนนี้นอนคว่ำจนชินแต่หากพื้นที่นอนแข็งเกินไปก็เสี่ยงต่อการเป็นแผลกดทับเพราะผิวหนังบริเวณหน้าอก หัวไหล่ หรือช่วงคอนั้นกดทับกับพื้นผิวที่นอน 

ความกว้างของเตียงขึ้นอยู่กับการฝึกเหวี่ยงตัว หากเป็นคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย พลิกตัวได้ลำบาก หมอจะเลือกที่นอนที่มีขนาดกว้างสัก 5 ฟุต แต่ตอนที่ผมนอนคนเดียว ผมใช้ที่นอนขนาด 3.5 ฟุต เพราะตอนฝึกพลิกตัวผมใช้พื้นที่น้อย เกาะขอบเตียงนิดหนึ่งแล้วพลิกมาได้เลย ตอนนี้นอน 2 คนเปลี่ยนเป็นเตียง 5 ฟุต เพราะต้องเหลือพื้นที่ไว้ เนื่องจากขนาดห้องมีจำกัด ต้องใช้วางโต๊ะทำงานหรือโต๊ะกินข้าว และใช้รถเข็นกันทั้งคู่อีกด้วย 

ที่นอนในฝัน 

ที่นอนในฝันของผมเป็นที่นอนปรับระดับได้ ถึงแม้ที่นอนปัจจุบันดีมากแล้วแต่ช่วงที่ต้องทำงานเสริม ผมต้องเอาหมอนมาวางซ้อนกันเพื่อให้หัวเราสูงขึ้น ซึ่งทำงานไม่ถนัดเท่าไหร่ จึงคิดว่าถ้าเป็นที่นอนปรับระดับได้ไม่ว่าจะเป็นช่วงหัวหรือช่วงขาก็จะทำให้ได้ท่าทำงานที่ถูกหลัก 

สิทธิการนอนหลับอย่างมีคุณภาพของคนพิการ 

ผมว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องดูแลประชากรตั้งแต่เกิดจนตาย การเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องมีการดูแล เพราะเราคือประชากรคนหนึ่ง เราอาจจะไม่ได้เสียภาษีโดยตรงแต่ทุกอย่างที่ซื้อ ก็มีภาษีที่บวกไปอยู่แล้วโดยปริยาย ในประเทศที่เจริญแล้ว เรื่องที่นอนไม่จำเป็นต้องร้องขอ รัฐเป็นคนจัดสรรให้ตั้งแต่เกิดความพิการว่าต้องการอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้นอนหลับพักผ่อนเต็มอิ่มถึงแม้ว่าเขาเป็นคนพิการ ผมเชื่อว่าถ้ามีอุปกรณ์ส่งเสริมต่อสุขภาพร่างกายของเขา ก็จะทำให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ที่นอนลม คือ อุปกรณ์ที่ช่วยกระจายแรงกดระหว่างผู้ป่วยกับเตียง ซึ่งระบบการทำงานเป็นแบบปั๊มลมไฟฟ้าโดยการสลับยุบพองอย่างต่อเนื่องของที่นอน เพื่อไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นไม่ถูกกดทับเป็นเวลานาน ช่วยลดการเกิดแผลกดทับและลดความรุนแรงในการเกิดแผลกดทับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง


อ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=hE6xw-RSoNQ&t=58s

 

แผลกดทับ คือ การบาดเจ็บของผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออันเกิดจากแรงกดทับ

ที่ผิวหนังเป็นเวลานาน เกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น ท้ายทอย สะบัก ศอก

สะโพก กระดูกก้นกบ ส้นเท้า เป็นต้น ซึ่งทําให้เนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยง

บริเวณที่ถูกกดจนเกิดเนื้อตายเป็นแผลทําให้ผิวหนังถูกทําลายลึกลงไป

ถึงกล้ามเนื้อและกระดูก มักพบในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว

 

แผลกดทับมีหลายระดับ แบ่ง 3 ระดับ 

1.ระดับที่ผิวหนังยังไม่ฉีกขาด เห็นเป็นรอยแดงหรือคล้ำ ระดับที่มี

การสูญเสียผิวหนังบางส่วน ผิวหนังพองเป็นตุ่มน้ำใส 

2.ระดับที่สูญเสียผิวหนังทั้งหมดแผลจะมีลักษณะเป็นโพรงลึกชั้นผิวหนัง

ถูกทำลาย 

3.ระดับที่ร้ายแรงที่สุดโดยผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายอย่างรุนแรง

ที่เรียกว่าเนื้อเยื่อตาย 

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับ เช่น ผู้ป่วยนอนติดเตียงตลอดเวลา

ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย หากผู้ดูแลผู้ป่วยสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมี

แนวโน้มที่จะเกิดแผลกดทับ ควรขยับร่างกายปรับเปลี่ยนท่าทาง

เพื่อลดแรงกดทับตรงบริเวณที่จะเกิดแผลกดทับ ทุก 2 ชั่วโมง ในกรณีที่

อาการไม่ดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง ควรพบแพทย์ทันที

อ้างอิง https://web.facebook.com/643148052494633/posts/13703094

53111819/?locale=th_TH