Skip to main content

เมื่อปีที่แล้วเราอาจเห็นว่า อาเล็ก ธีรเดช ไปออกรายการ The Standard Pop แล้วพิธีกรถามว่า ‘หนึ่งอย่างหรือหนึ่งเรื่องที่เป็นความเข้าใจผิดกับตัวเราคืออะไร’ คำตอบอาเล็กคือ มือเปียกแล้วหยิ่ง หลังจากคลิปปฏิเสธจับมือแฟนคลับเพราะมือเปียกของเขามีคนดูเป็น 10 ล้าน  หลายคอมเมนท์บอกว่า มือเปียกก็จับมือได้ มือเปียกทำไมไม่เช็ด ฯลฯ 

คำว่า ‘มือเปียก’ ในคลิปอาเล็ก เป็นจุดเริ่มต้นให้เราค้นหาผู้ป่วยที่เหงื่อออกมือมากกว่าปกติ จนเผชิญอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันและกลายเป็น ภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติ

Thisable.me ชวนวรภัทร กฤษดาวาณิชย์ หนึ่งในผู้ประสบภัยเหงื่อ มาคุยว่าภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติคืออะไร  อุปสรรคในการใช้ชีวิตตอนที่เหงื่อไหล ร้กแร้ และเท้าเปียกไหลเป็นหยดน้ำติ๋งๆ ที่ต้องเจ

ภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติคืออะไร

วรภัทร: ภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติ (Hyperthydrosis) คือเหงื่อออกมากกว่าคนทั่วไป 3 จุดด้วยกัน หนึ่ง-บริเวณฝ่ามือ สอง-บริเวณรักแร้ สาม-บริเวณเท้า เหงื่อออกไม่ปกติคือการที่เหงื่อออกโดยไม่สัมพันธ์กับสภาพอากาศหรือกิจกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งอยู่ในห้องที่เปิดแอร์ 22 องศาเหงื่อก็ออก ไม่ได้มีอาการตื่นเต้น เหงื่อก็ออก จะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละคน โรคนี้มีสาเหตุมาจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการหลั่งเหงื่อทำงานผิดปกติ เลยมีเหงื่อออกบริเวณที่มีรูขุมขนเยอะ ของเราเหงื่อออกทั้ง 3 จุดเลย แต่ว่าบางคนอาจจะออกแค่มือ บางคนมือและเท้า บางคนก็ออกรักแร้อย่างเดียว 

ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ช่วงที่รู้สึกเหงื่อออกผิดปกติคือตอน ป.5 กำลังเขียนหนังสืออยู่แล้วเหงื่อไหลออกมาเป็นหยดน้ำ จนสมุด หนังสือเปียกหมดเลย ตอนนั้นยังไม่ได้รักษาเพราะเป็นๆ หายๆ จนช่วงมัธยมและมหาวิทยาลัยมีอาการต่อเนื่อง ตอนนั้นไม่รู้วิธีรักษา ไม่รู้จะทำยังไง เลยต้องพกกระดาษทิชชู่กับผ้าเช็ดหน้าผืนเล็กๆ ไปโรงเรียนตลอดเวลาเพื่อรองมือเวลาเขียน ไม่อย่างนั้นกระดาษจะเปียกยุ่ย ตอนนั้นถ้าทำอะไรแล้วต้องใช้มือจะรู้สึกไม่มั่นใจเลย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของโรงเรียนแล้วให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยการจับมือ เพื่อนให้หยิบของให้ หรือจับราวขนส่งสาธารณะก็ไม่กล้าจับ เพราะจะทำให้ของเหล่านั้นเปียกแล้วบางอย่างก็เกิดคราบด้วย

การทำอะไรสักอย่างที่ต้องยืนยันอัตลักษณ์บุคคลที่เป็นลายนิ้วมือก็ส่งผลกระทบมาก เช่น ตอนนั้นเราไปต่างประเทศแล้วเข้า Auto Gate ไม่ได้เพราะเครื่องสแกนนิ้วมืออ่านไม่ได้ ตอนที่ไปทำใบขับขี่ก็สแกนนิ้วมือไม่ได้เพราะมือเปียก พยายามเช็ดมือตลอดเวลาแต่มือมันชุ่มเหงื่อ ตอนที่ไอโฟนยังใช้นิ้วมือสแกนเพื่อปลดล็อกก็สแกนไม่เคยติด เวลาไปเข้าคลาสเลคเชอร์  ใส่เสื้อเชิ้ตและเสื้อด้านในก็มีคราบเหงื่อเป็นวง ถ้าเป็นเสื้อเชิ้ตสีดำยิ่งเห็นชัด บางทีซักไม่ออกก็ต้องทิ้ง ช่วงไหนที่เหงื่อเยอะมากๆ เราจะใส่เสื้อโปโล แล้วเข้าห้องน้ำเอากระดาษเปียกเช็ดเหงื่อไม่ให้หมักหมมและเหม็น ขนาดใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นก็ยังไม่มั่นใจจนกังวลเวลาต้องเจอคนอื่น

ตอนสมัยมัธยมเหงื่อออกที่เท้า เราต้องถอดรองเท้าระบายอากาศ แต่ถ้าวันไหนใส่รองเท้าผ้าใบ จะไม่ค่อยระบายอากาศ พอถอดรองเท้าก็มีกลิ่นเหม็นอับ ขึ้นเป็นผื่นแดง ตอนไปหาหมอเขาแนะนำให้เปลี่ยนเป็นรองเท้าที่ระบายอากาศดีกว่านี้ แต่เราไม่รู้จะเปลี่ยนไปใส่รองเท้าประเภทไหน ใส่รองเท้าแตะก็ลื่นล้ม จึงต้องพยายามทำให้เท้าแห้งด้วยการใช้สเปรย์

คนรอบข้างไม่เข้าใจว่าเหงื่อออกเยอะเป็นโรค แต่เข้าใจว่าเป็นอาการของโรคอื่น

คนรอบตัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นโรค พ่อแม่คิดว่าอาการเหงื่อออกเป็นอาการของโรคหัวใจ เขาก็บอกให้ไปตรวจว่าเป็นหรือเปล่า ตอนนั้นเราฉีดไฟเซอร์แล้ว มีผลการศึกษาพบว่าวัยรุ่นผู้ชายที่ฉีดวัคซีน mRNA มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีอาการประกอบ 2 อย่าง ได้แก่ เหงื่อออกและเจ็บหัวใจ ก็ยิ่งกลัวไปใหญ่ เราไปหาหมอทั่วไป หมอบอกว่าเรามีระบบเผาผลาญมากกว่าปกติ เหงื่อเลยออกเยอะแต่เรามองว่าไม่ใช่ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยไปหาหมออีกครั้ง เป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว เขาก็ซักประวัติ ก็ยิ่งสงสัยเพราะคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและไทรอยด์แต่ผลก็ออกมาว่า ปกติ

ปกติเวลาป่วยที่ไหนจะรักษาบริเวณนั้น ถ้ามีอาการที่ไส้ติ่งก็ผ่าตัดบริเวณท้อง แต่เหงื่อออกที่มือไม่ได้ผ่าตัดมือ ไปผ่าตัดเส้นประสาทที่อยู่ในทรวงอกที่ทำงานผิดปกติ โดยการตัดเส้นประสาทนี้  ส่วนการรักษาเหงื่อออกที่เท้านั้นซับซ้อนเพราะเส้นประสาทอยู่บริเวณหลัง กว่าจะส่องกล้องไปถึงหลังจะต้องผ่าท้อง หลบลำไส้ เพื่อไปยังเส้นประสาทหลัง แล้วติดคลิปหนีบเส้นประสาทไว้ ไม่ให้ส่งสัญญาณไปที่เท้า

ขั้นแรกคือทายา ต่อมาคือกินยา

หลังจากรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติผ่านการทายา เราเสิร์ชกูเกิ้ลหาวิธีการรักษาภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติ จนเจอกลุ่มแชร์ประสบการณ์กลุ่มผู้ป่วยโรคเหงื่อออกมือ, รักแร้และเท้า เลยกดเข้าร่วมกลุ่ม เข้าไปหาข้อมูลอยู่สักพัก เห็นว่ามีคนที่เป็นเหมือนเราเยอะเหมือนกันแต่รักษาให้หายได้ เราเลยติดต่ออาจารย์ศิระ เลาหทัย ให้ตรวจประเมินอาการอาจารย์อาจารย์ก็ถามว่าผ่าตัดรักษามือกับรักแร้ไปก่อน ส่วนอาการที่เท้าค่อยมาลุ้นเอา โอกาสเหงื่อที่เท้าจะหาย 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอาการที่เท้ายังไม่ดีขึ้นค่อยมาผ่าตัดอีกรอบหนึ่ง ตอนแรกเราตัดใจไม่ผ่าที่เท้า จนได้คุยและได้อ่านโพสต์แชร์ประสบการณ์การผ่าตัดที่มือและรักแร้ แต่เท้าก็ยังเหงื่อออกอยู่ เลยคิดว่าทำให้จบไปเลย ที่โรงพยาบาลวชิระพยาบาลซึ่งเป็นที่เดียวที่ผ่าตัดได้ทั้ง 3 จุด

ก่อนผ่าตัด วันผ่าตัด หลังผ่าตัด

หลังจากที่หมอโทรมานัดวันผ่าตัดแล้ว พยาบาลก็โทรมาบอกว่าให้เตรียมแต่เสื้อผ้า ของอย่างอื่นไม่ต้องเอามา เราไปโรงพยาบาลก่อนผ่าตัดหนึ่งวันเพื่อมาตรวจให้มั่นใจว่าเหงื่อที่ออกไม่ได้เป็นอาการร่วมของโรคหัวใจ มีการตรวจว่าหัวใจเราเต้นผิดปกติไหมด้วยคลื่นไฟฟ้า เอ็กซ์เรย์ปอดเพื่อดูว่าปอดแข็งแรงหรือเปล่า แล้วเจาะเลือดดูไทรอยด์ และต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนผ่าตัด 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักระหว่างทำการผ่าตัด

ก่อนผ่าตัดวิสัญญีแพทย์เข้ามาอธิบายกระบวนการดมยาและตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนผ่าตัดว่า ภายในปากมีอุปกรณ์อะไรอยู่ไหม เช่น ฟันปลอม หากมี ต้องถอดออกก่อนเพราะว่าขณะผ่าตัดต้องใส่ท่อช่วยหายใจ มีหมอเฉพาะทางทรวงอกมาอธิบายวิธีการผ่าตัด การรักษาของเราเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นแผลนิดเดียว ไม่ได้เป็นแผลใหญ่เหมือนที่คนในกลุ่มแชร์

หลังเข้าห้องผ่าตัดไปแป๊บเดียว ตื่นมาอีกทีก็ผ่าตัดเสร็จแล้ว ความรู้สึกแรกหลังผ่าตัดคือเจ็บมาก ขยับตัวไม่ได้เลยเพราะเจ็บหน้าอก เวลาหายใจก็เจ็บ ตอนเปลี่ยนจากเตียงรถเข็นไปที่เตียงหอผู้ป่วยเราก็รู้สึกเจ็บ พอถึงเวลากินข้าว เราหิวข้าวแต่พยายามกินช้าๆ เพราะยังเจ็บอยู่

การผ่าตัดที่มือและรักแร้จะไม่ได้ใส่สายสวนปัสสาวะ แต่ถ้ารักษาที่เท้าจะใส่สายสวนปัสสาวะไว้ เพราะบางคนเพิ่งผ่าตัดมาแล้วเจ็บจนลุกไปฉี่ไม่ไหว ช่วงเย็นเราพยายามกินน้ำเยอะๆ แล้วขอให้ถอดสายสวนปัสสาวะเพื่อไปปัสสาวะเอง วันรุ่งขึ้นหมอก็อนุญาตให้ออก

ภาพมือคุณวรภัทรหลังผ่าตัด

อาการหลังผ่าตัด

อาการเหงื่อออกหายตั้งแต่หลังผ่าตัดเสร็จ ออกจากห้องผ่าตัดเรารู้สึกได้ว่ามือแห้ง ไม่มีน้ำออกมา ที่หมอชอบโพสต์ในกลุ่มบ่อยๆ ว่าผ่าตัดปุ๊บแล้วหายเลยเป็นเรื่องจริง ตอนแรกดีใจว่าหายแล้ว แต่วันรุ่งขึ้นเหงื่อออกชดเชยที่อื่นแทน เช่น บริเวณหน้าท้อง แผ่นหลัง  ต้นขา แต่ก็ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศร้อนมากๆ เหงือถึงจะออก

เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัด

ใบรับรองแพทย์ที่หมอเขียนให้เราหยุดพักฟื้น 2 อาทิตย์ แต่ผ่านไปประมาณอาทิตย์นึง ก็รู้สึกโอเคแล้ว พอถึงวันนัดหมอเอ็กซ์เรย์ดูว่า ปอดเราปกติดีไหม เพราะการผ่าในช่องอกมีโอกาสที่จะเกิดถุงลมรั่วหลังจากการผ่าตัด อาการเหล่านี้สามารถฟื้นตัวได้เอง แต่ช่วงผ่าตัดแรกๆ อย่าเพิ่งนั่งเครื่องบิน เพราะความกดอากาศอาจเกิดลมรั่วในปอดและอย่าเพิ่งยกของหนัก หากจำเป็นต้องยกเองจริงๆ ให้เอามาอุ้มไว้ที่หน้าอก

ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือจากการผ่าตัด

เรามั่นใจขึ้น อยากใส่เสื้อเชิ้ตก็ได้ใส่ สเปรย์ดับกลิ่นแทบไม่ต้องใช้เพราะเหงื่อไม่ออก รองเท้าโลฟเฟอร์ที่เป็นรองเท้าหนัง ตอนนี้ก็ใส่ได้ ใส่รองเท้าแตะก็ไม่ลื่นแล้ว อยากจะจับราวรถเมล์ รถไฟฟ้าก็จับได้เลยโดยไม่ต้องกังวลว่าคนที่มาจับต่อจะรังเกียจ  ทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้นมาก

มีคนบอกว่าโรคนี้จะดีขึ้นหลังจากที่เราอายุเยอะ ตอนสมัยแม่เราสาวๆ ก็มีอาการ แต่ไม่ได้เป็นเยอะเท่าเราเลยไม่ได้รักษา หมอบอกว่า หากอาการไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพราะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่สำหรับเราคงไม่สามารถรอให้อาการหายตอนอายุ 40 ปี เพราะเราต้องเรียนและทำงาน

วิธีขออนุมัติสิทธิ 30 บาทที่วชิระพยาบาล

คนไทยทุกคนที่มีบัตรประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้อยู่แล้ว บัตรทองมี 2 สิทธิย่อย สิทธิแรกเรียกว่าหน่วยบริการปฐมภูมิหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ถ้าพูดให้เห็นภาพก็จะคล้ายสถานีอนามัยตามต่างจังหวัด เวลาเราเจ็บป่วยเล็กน้อยเราจะมาที่นี่ก่อน ถ้าสหพยาบาลที่แรกเขารักษาไม่ได้ก็จะส่งต่อไปยังที่สามารถผ่าตัดรักษาโรคนี้ได้โดยใช้สิทธิ 30 บาท ทุกคนสามารถมารักษาได้ สิทธิที่สองเรียกว่า สิทธิรักษาประจำหรือสิทธิส่งต่อ 

สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าสิทธิอยู่ไหน ให้เช็คสิทธิจากเว็บไซต์ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) แล้วเอาใบส่งตัวไปยื่นที่โรงพยาบาลวชิระพยาบาลเพื่อจะขออนุมัติสิทธิการรักษาเพราะเป็นหน่วยบริการที่รักษาเฉพาะทาง ของเราเจ้าหน้าที่เขียนใบส่งตัวให้สามารถใช้ได้หนึ่งปีเพราะหลังผ่าตัดก็ยังต้องไปหาหมอเพื่อติดตามอาการ หากจะใช้ทีมาขอทีก็เป็นภาระของคนไข้อีก

ถ้าเป็นเรื่องสิทธิการรักษา ไม่ได้กังวลเลย เพราะอาจารย์บอกกระบวนการให้หมด หากเป็นคนไข้ที่ต่างจังหวัดจะขอใบส่งตัวก็สามารถไปขอจากโรงพยาบาลที่เรามีสิทธิ แต่ถ้าเขาไม่ให้ก็ให้มาพบอาจารย์ก่อนเพื่อทำ ใบสรุปประวัติการรักษาและใบส่งตัวเพื่อมารักษาต่อ

ภาพคุณวรภัทรเต็มตัวใส่เสื้อเชิ้ตสีน้ำเงินลายทาง กางเกงสีดำ ยืนยิ้มอยู่

สิทธิการรักษาภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติ

เราคิดว่าสิทธิ 30 บาทควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหมือนเพื่อนเราที่ผ่าตัดไส้ติ่งก็เบิกสิทธิ 30 บาทได้หมด แต่การผ่าตัดของเรามีค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำนักงานหลักประกันแห่งชาติไม่สามารถเบิกให้ได้ ผู้ป่วยต้องจ่ายส่วนเกิน ถ้าผ่าตัดมือและเหงื่อจะจ่ายส่วนเกินไม่เกิน 5,000 บาท แต่ของเราผ่าตัดที่มือ รักแร้ และเท้า เลยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมประมาณ 15,000 บาท

สิทธิอื่นๆ ที่เราทราบมาอย่างสิทธิค่าราชการ ไม่ได้มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเยอะเท่าบัตรทอง สิทธิประกันสังคมเราไม่แน่ใจว่าต้องจ่ายส่วนเกินเท่าไหร่ แต่โรงพยาบาลวชิระพยาบาลใช้สิทธิ 30 บาทรักษาเหงื่อที่ออกจากมือ รักแร้ และเท้าได้ที่เดียว ถ้าเป็นสิทธิประกันสังคมจะมีที่ โรงพยาบาลเกษมราษฎ์ประชาชื่น โรงพยาบาลลาดพร้าว IMH สีลม และโรงพยาบาลเปาโลพระประแดง

ส่วนกลุ่มคนที่มีประกันสุขภาพและประกันชีวิตสามารถใช้ได้ที่โรงพยาบาลพญาไท 1 และ โรงพยาบาลกรุงเทพ แต่ต้องสอบถามกับประกันว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายแค่ไหน เบื้องต้นเข้าใจว่ารักษาได้แค่มือกับรักแร้เท่านั้น

กลุ่มแชร์ประสบการณ์ผู้ป่วยโรคเหงื่อออกมือ,รักแร้,เท้า

หลังจากเราคิดว่าตัวเองคงเป็นแบบนี้ไปตลอด มองว่าไม่ได้เป็นโรคร้ายแต่รำคาญใจ พอหาข้อมูลก็เจอกลุ่มแชร์ประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคเหงื่อออกมือ รักแร้ เท้า ปกติกลุ่มจะถูกสร้างจากผู้ป่วยด้วยกันเอง แต่กลุ่มนี้ถูกสร้างโดยคุณหมอเฉพาะทางคือ อาจารย์ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางทรวงอก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กลุ่มนี้เหมือนเป็นแสงสว่างว่าโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดรักษา

หากใครผ่าตัดเสร็จก็ไปโพสต์แชร์ประสบการณ์ให้คนไข้คนอื่นที่รอการรักษาอยู่รู้วิธีการปฏิบัติตัว บางคนไม่เคยผ่าตัดพอได้อ่านรีวิวจากคนอื่นทำให้หายกังวลได้

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ