Skip to main content

ทุกวันนี้คนเริ่มหันมาสนใจกับสุขภาพเท้ามากขึ้น เห็นจากจำนวนคนรีแอคชั่นคอนเทนต์เท้าแบนบนสื่อโซเซียลมีเดียเป็นจำนวนมากหรือบูธผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเท้าที่โฆษณาให้ตรวจเช็คลักษณะเท้าได้ฟรีมีคนยืนต่อแถวรอวัดสุขภาพเท้าเพื่อผลิตแผ่นรองเท้าดัดแก้ความผิดปกติเท้าสำหรับแต่ละบุคคลที่มีราคาสูงเป็นหมื่น ที่อาจจะเป็นหนึ่งสาเหตุให้หลายคนที่รู้ทั้งรู้ว่าสุขภาพเท้าไม่ดี เดินแป๊บเดียวแล้วเจ็บเท้าแต่ผัดผ่อนไปก่อนเพราะสู้ราคาแผ่นรองเท้าไม่ไหว 

 

แผ่นรองเท้านั้นราคาสูงจริงหรือไม่ เราจะมีแผ่นรองเท้าราคาน่ารักๆ แล้วช่วยได้ปัญหาเรื่องเท้าได้อย่างไร  Thisable.me ชวนคุยกับวาวแวว ว่องเอกลักษณ์ นักกายอุปกรณ์ประจำคลินิกเท้า สถานบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องเท้าๆ ทั้งอาการแบน รองเท้าและแผ่นรองเท้า รวมถึงสิทธิเกี่ยวกับเรื่องเท้าที่คนไทยมีแต่แทบจะไม่มีใครรู้ 

 

ภาพป้ายติดฟิวเจอร์บอร์ดสีฟ้าเขียนคำว่าคลินิกเท้า กายอุปกรณ์
ภาพกายอุปกรณ์อื่นๆ ที่ถูกโชว์ในตู้คลินิกกายอุปกรณ์
 
จุดเริ่มต้นของการทำงานที่คลินิกเท้ากายอุปกรณ์

วาวแวว: เราเรียนจบสาขากายอุปกรณ์จาก La Trobe University ประเทศออสเตรเลีย แล้วเข้ามาเป็นนักกายอุปกรณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท้าและแผ่นรองเท้า คลินิกเท้าสถาบันสิรินธรฯ ประมาณปีพ.ศ 2552 ตอนนั้นเราได้รับมอบหมายจากท่านอดีตผู้อำนวยการ แพทย์หญิงดารณี สุวพันธ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพเท้า เพราะปัญหาสุขภาพเท้าอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมา จึงได้มีการจัดตั้งคลินิกเท้าขึ้น การดูแลสุขภาพเท้าด้วยแผ่นรองเท้า เป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นการรักษาแบบใหม่ที่ยังไม่มีในประเทศไทย ที่มีการนำเอาเครื่องแสกนเท้ามาใช้ในการตรวจประเมินการลงน้ำหนัก และใช้ในการออกแบบเแผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคล

 

ความสำคัญของเท้าในมุมนักกายอุปกรณ์ 

เท้าเหมือนเป็นเสาหลักของบ้าน ถ้าเสาเอียงบ้านก็ล้ม ถ้าเท้าเรามีปัญหา สุขภาพโดยรวมก็มีปัญหาไปด้วย เราไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ถ้าประสิทธิภาพการทำงานของเท้าลดลง ทุกคนเกิดมาไม่มีเท้าใครปกติร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าจะมีความผิดปกติมากน้อยขนาดไหนและเป็นอุปสรรคในชีวิตประจำวันหรือไม่ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเราไม่รู้หรือเราได้รับการรักษาไม่ถูกต้องต่อไปในระยะยาวก็อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้หรือทำให้เกิดความพิการถาวร ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือ ผู้ป่วยเท้าเบาหวานที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลที่เท้าเช่น มีความรู้สึกที่เท้าลดลงหรือเท้าผิดรูป ถ้าหากเขาได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพเท้า และเลือกใช้รองเท้าและแผ่นรองเท้าที่เหมาะสม ความเสี่ยงจะเป็นแผลที่เท้าลดลง ลดโอกาสการถูกตัดเท้าหรือตัดขา อีกตัวอย่างคือรองช้ำ เป็นโรคเท้าที่พบบ่อยที่สุด และเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของหลายคน อาการที่พบคือ เหยียบเท้าลงพื้นหลังจากตื่นนอนตอนเช้าแล้วเกิดอาการเจ็บบริเวณส้นเท้า จึงทำให้ไม่อยากใช้ชีวิตประจำวันต่อและทำให้ประสิทธิการดำเนินชีวิตประจำวันลดลง 

 

ภาพโมเดลลักษณะเท้าทั้ง 3 รูปแบบได้แก่เท้าปกติ อุ้งเท้าสูง เท้าแบน

 

 
เท้าแบนก็มีปัญหา

โครงสร้างเท้าอธิบายง่ายๆ มี 3 แบบ แบบหนึ่งคือ เท้าปกติ ส่วนตรงกลางจะมีอุ้งเท้าโค้งขึ้นมาเล็กน้อย แนวสันเท้าจะตรง เวลายืนลงน้ำหนักจะเหมือนเลขเจ็ด แบบที่สองคือ อุ้งเท้าสูง ตรงกลางเท้าจะโค้งขึ้น เวลายืนลงน้ำหนักจะลงเฉพาะบริเวณฝ่าเท้าส่วนหน้า จมูกเท้าและบริเวณส้นเท้า แนวส้นเท้าบิดเข้าด้านใน แบบที่สามคือ เท้าแบน บริเวณอุ้งเท้าจะลดต่ำลงมาหรือแบนแนบไปกับเพื่อน พอลงน้ำหนักจะเป็นรูปกลมๆ คล้ายเลขศูนย์

 

คนเท้าปกติแนวการลงน้ำหนักจะต้องผ่านกึ่งกลางสะโพก กึ่งกลางเข่า กึ่งกลางข้อเท้า แต่คนที่เท้าแบนแนวการลงน้ำหนักจะเฉียงเบนออกจากแนวปกติ ข้อสะโพกก็จะไม่อยู่ในระนาบเดียวกัน ข้อเข่าก็จะบิดออก ทำให้เกิดแรงกดฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไปและกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อหรือเอ็นทำงานไม่สมดุลกัน ส่งผลให้เกิดอาการปวดหรือเดินผิดปกติ อาจจะไม่ได้ปวดเฉพาะเท้าหรือฝ่าเท้า แต่อาจจะส่งผลถึงข้อเท้า ข้อเข่า เอว และหลัง 

 

ถ้าเท้าข้างหนึ่งแบนมาก ก็จะเห็นว่าขาสั้นยาวไม่เท่ากัน และส่งผลให้กระดูกสันหลังคดตามมา ส่วนใหญ่คนที่มีปัญหาเท้าแบนจะมีปัญหากระดูกสันหลังคดร่วมด้วย ทำให้คนไข้ที่มาทำอุปกรณ์ใส่ดามกระดูกสันหลังคดจะถูกส่งมาดูที่คลินิกเท้าว่ามีปัญหาเรื่องขาสั้นยาวไม่เท่ากันไหม เท้าแบนไหม จะได้ปรับแก้ไขตั้งแต่เท้า ก่อนไล่ขึ้นไปที่อวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย

 

สมัยก่อนคนนิยมใส่รองเท้าคัทชูและรองเท้าแตะ

ปัญหาหลักที่เจอตอนทำคลินิกแรกๆ คือ คนไทยนิยมใส่แต่รองเท้าแตะกับรองเท้าคัทชู ซึ่งรองเท้าประเภทนี้จะไม่เหมาะที่จะใส่เดินเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเท้าตามมาและไม่สามารถใช้ร่วมกับแผ่นรองเท้าได้

 

ความยากการทำงานช่วงนั้นมีอยู่ 2 อย่างคือ จะชักจูงให้คนมาใส่รองเท้าผ้าใบได้อย่างไรและทำอย่างไรให้ใส่แผ่นรองเท้าในรองเท้าคัทชูได้ สมัยก่อนถ้าอยากเปลี่ยนให้คนใส่รองเท้าผ้าใบต้องดูที่ไลฟ์สไตล์ด้วย บางคนใส่ชุดทำงานต้องใส่คู่กับรองเท้าคัทชู เราจึงแนะนำว่า เวลาไปทำงานใส่รองเท้าคัทชู ถ้าไม่ได้ไปทำงานให้ใส่รองเท้าผ้าใบ 

 

เวลาคนไข้มาหาที่คลินิกเท้า เราจะแนะนำว่ารองเท้าแบบไหนดีที่สุด แต่ถ้าหากไม่สามารถเปลี่ยนรองเท้าได้ เราสามารถผลิตแผ่นรองเท้าสำหรับรองเท้าที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่ประสิทธิภาพการรักษาอาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เท่ากับใส่รองเท้าผ้าใบ 

 

วัฒนธรรมใส่รองเท้าส้นสูงในหน่วยงานราชการเปลี่ยนไปเยอะมาก หน่วยงานราชการหลายที่เริ่มให้ใส่รองเท้าคัทชูเฉพาะวันที่มีพิธีการสำคัญ วันทำงานก็ใส่รองเท้าหุ้มส้นไปทำงาน หรือในกลุ่มผู้สูงอายุบางคนเคยชินกับคัทชู พอเราบอกใส่ไม่ได้ เขาก็ใส่รองเท้าแตะมา แต่ไม่ใส่รองเท้าผ้าใบอยู่ดี ทั้งที่จริงแล้วหากเราต้องการบังคับโครงสร้างเท้าก็ควรใส่รองเท้าหุ้มส้น เพื่อประคองกระดูกส้นเท้าให้ไม่บิดไปบิดมาเวลาเรายืนหรือเดิน 

 

ภาพแผ่นรองเท้าที่ใส่อยู่ในรองเท้าผ้าใบ
 
เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับรองเท้าและแผ่นร้องเท้า

หลายคนเข้าใจผิดว่านิ่มคือดี แต่จริงๆ แล้วทั้งรองเท้าและแผ่นรองเท้านิ่มเกินไปก็ไม่ดี ใส่ก้าวแรกสบายเท้า พอใช้ไปนานๆ เหมือนเดินอยู่บนทรายยวบตลอดเวลา เดินยาก กล้ามเนื้อมัดเล็ก เอ็นต่างๆ ที่อยู่ภายในเท้าต้องทำงานหนักตลอดเวลาและล้า ส่งผลต่อกล้ามเนื้อขา ดังนั้นแผ่นรองเท้าที่นี่จะแข็ง ออกแบบตามโครงสร้างเท้า เน้นปรับแนวการลงน้ำหนักและกระจายน้ำหนักตามโครงสร้างเท้า อย่าลืมว่าเท้ารับน้ำหนักร่างกายทั้งหมดประมาณ 50 - 80 กิโลกรัม ถ้าทำแผ่นรองเท้านิ่มไปจะประคองเท้าไม่อยู่ทรงตามที่เราต้องการ 

 

เมื่อได้แผ่นรองเท้าที่ออกแบบตามโครงสร้างเท้า การกระจายน้ำหนัก และแรงกดของเท้าแล้ว จะให้คนไข้ไปใส่ประมาณหนึ่งเดือนแล้วนัดมาติดตามอาการ หลายคนใส่แผ่นรองเท้าทั้งวันเลย ก็เลิกใส่ หยุดใส่ เพราะปวดเท้าเนื่องจากการออกแบบเพื่อปรับการลงน้ำหนักทำให้รู้สึกไม่เหมือนเดิม จากที่ใส่รองเท้ามา 20-30 ปี จึงแนะนำให้คนไข้ที่ได้แผ่นรองเท้าไปจะต้องใส่ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง แล้วถอดพัก แล้วค่อยเพิ่มจำนวนชั่วโมงตามวัน พอผ่านไป 2-3 อาทิตย์ ก็ใส่แผ่นรองเท้าต่อเนื่องได้ทั้งวันได้โดยไม่มีอาการปวด เพราะเท้าและโครงสร้างของร่างกายค่อยๆ ปรับตามแผ่นรองเท้าแล้ว  

 

เราสอนคนไข้ใส่แผ่นรองเท้าตั้งแต่วันที่มาตรวจ ตอนก่อนใช้เราก็บอกเขาอีกว่าใส่อย่างไร ใส่ครั้งละกี่ชั่วโมง อาการที่เกิดขึ้นมีอาการอะไรบ้าง เช่น เหงื่อออกเยอะ ร้อนเท้า ปวดเมื่อยเท้า ปวดเมื่อยน่อง พอใส่เดือนหนึ่งแล้วหายปวด เราก็ไม่ต้องอธิบายให้คนไข้ฟังแล้วว่า ทำไมแผ่นรองเท้าถึงแข็ง ไม่นิ่ม ยกเว้นคนที่ติดสัมผัสนิ่ม เรายังทำแผ่นรองเท้าที่เป็นโครงแข็งให้แต่ด้านบนเป็นวัสดุนิ่ม แต่ความหนาแผ่นรองเท้าจะเพิ่มขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนรองเท้า

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนเข้าใจผิด อย่างรองเท้าสุขภาพ คนขายยังนิยามไม่ได้ว่ารองเท้าสุขภาพคืออะไร ส่วนใหญ่คิดว่ารองเท้าสุขภาพคือรองเท้าที่เบาและนิ่ม แต่เบาและนิ่มไม่ได้ดีเสมอไป ทุกวันนี้ยังมีคนไข้หลายคนไปซื้อรองเท้าแพง ที่เขาโฆษณาว่าเป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เหมาะกับเท้าคนไข้ หรือรองเท้าเบาหวานที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นรองเท้ายางหัวโต ทั้งที่จริงแล้วรองเท้าแบบนั้นไม่เหมาะเลย หากยางมาเสียดสีหรือกดเจ็บที่เท้าเขาก็จะไม่รู้สึก ทำให้เป็นแผลแล้วติดเชื้อได้ง่าย อาจนำไปสู่การตัดนิ้ว ตัดขาตามมา รองเท้าสำหรับคนเป็นเบาหวานคือรองเท้าที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดแผลที่เท้าน้อย เป็นรองเท้าทั่วไปก็ได้แต่ต้องหน้ากว้าง ไม่บีบรัดเท้า และไม่ทำจากวัสดุเสียดสีผิว

 
แก้ไขปัญหาเชิงป้องกันด้วยแผ่นรองเท้า

การใช้แผ่นรองเท้าเป็นวิธีการป้องกันและการรักษาเท้า การทำแผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคลจะได้รับการออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างเท้าหรือปัญหาสุขภาพเท้าของแต่ละบุคคล โดยจะใช้หลักการแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างเท้า กระจายการลงน้ำหนัก ลดแรงกระแทก และประคองเท้าให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม คนไข้ที่เข้ามาที่คลินิกจะได้รับการตรวจประเมินด้วยเครื่องแสกนการลงน้ำหนักแบบสามมิติ ตรวจประเมินโครงสร้างเท้าและออกแบบแผ่นรองเท้าโดยนักกายอุปกรณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และยังให้คำแนะนำในการออกกำลังยืดกล้ามเนื้อและการเลือกรองเท้าที่เหมาะสม การเลือกรองเท้าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันและเหมาะสมกับโครงสร้างเท้าจะช่วยให้สุขภาพเท้าดีขึ้นมาก 

 
วิธีสังเกตว่ากำลังเป็นเท้าแบน

เริ่มสังเกตตั้งแต่เด็กเดิน เด็กเล็กจะมีไขมันที่เท้าค่อนข้างเยอะ ทำให้มองดูเหมือนทางแบน มีวิธีสังเกตง่ายๆ คือดูที่แนวส้นเท้าและหน้าเท้า เวลาเดินเท้าจะบิดออกด้านหน้าเยอะผิดปกติ ส้นเท้าบิดออกด้านนอก ถ้าเป็นมากอุ้งเท้าด้านในก็จะกดลงที่พื้น ถ้าพ่อแม่สังเกตเห็นให้รีบพามาหาหมอ เพื่อตรวจให้ชัดเจนและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป  

 

เท้าจะแบนช้าหรือแบนเร็วขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิต

เท้าแบนเป็นลักษณะโครงสร้างเท้าประเภทหนึ่ง บางคนมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ แต่คนที่เท้าแบนแต่ไม่มีอาการปวดอะไรเพราะกิจกรรมที่ทำไม่ต้องยืน เดินลงน้ำหนักเยอะ เลยไม่เกิดอาการปวด แต่คนที่เป็นเท้าแบนส่วนใหญ่มีความเสี่ยงบาดเจ็บได้ง่ายกว่า มีอาการปวดได้ง่ายกว่า 

 

บางทีตอนที่เราอายุน้อย น้ำหนักตัวยังน้อย ยังไม่เห็นไม่มีอาการ แต่พออายุเพิ่มมากขึ้น น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อที่ฝ่าเท้ามันลดน้อยลง เส้นเอ็นที่พยุงอุ้งเท้าถูกใช้งานหนัก ก็ทำให้อาการเจ็บได้ อาการเท้าแบนอยู่กับเราแต่ยังไม่แสดงอาการ หากทำพฤติกรรมส่งเสริมบางอย่างก็จะเป็นได้ง่ายและเร็วขึ้น 

 

ภาพเจ้าหน้าที่กำลังตัดแต่งแผ่นรองเท้าให้เหมาะสมกับรองเท้าที่คนไข้ใส่
 
แผ่นใส่รองเท้าไม่ได้ใช้ได้แค่เท้าแบนแต่ใช้ได้กับโรคเท้าอื่นๆ ด้วย

แผ่นรองเท้าใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บส้นเท้า เจ็บฝ่าเท้า เท้าบาดเจ็บจากเล่นกีฬา เท้าผิดรูป เท้าแบน อุ้งเท้าสูง ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ปวดข้อเท้า เท้าเบาหวาน และตาปลาที่อาจจะเกิดจากนิ้วที่หงิกงอ นิ้วบิดเก พบในคนที่ใส่ส้นสูงนานๆ จะมีกระดูกปูดออกมาหรือนักกีฬาแบดมินตัน จากท่าที่เขาเล่นจะต้องสไลด์เท้าไปข้างหน้าเยอะ เกิดการเสียดสีและลงน้ำหนักเยอะ เขาก็จะมีตาปลาที่จมูกเท้า หรือบางคนมีโรคประจำตัวเป็นโรครูมาตอยด์หรือโรคเบาหวานก็เป็นตาปลาได้ เพราะกล้ามเนื้อมัดเท้าในเล็กทำงานไม่สมบูรณ์ นิ้วเขาจะหงิกงอ เป็นนิ้วเท้าจิกกันแล้วจะเกิดหนังด้านบริเวณปลายเท้าหรือบริเวณจมูกเท้า บางคนก็เท้าผิดรูปแต่กำเนิด เช่น เท้าแบน อุ้งเท้าสูง

 

คนที่เท้าปกติก็มีปัญหาสุขภาพเท้าได้ เช่น ยืนเยอะ เดินทั้งวัน อย่างพยาบาลที่ต้องยืนอยู่ในห้องผ่าตัดนานๆ เมื่อลงน้ำหนักที่เท้าเยอะก็มีอาการบาดเจ็บส้นเท้าหรือฝ่าเท้าได้

 

ในแผ่นรองเท้าหนึ่งแผ่นจะมีหลายวัสดุ แต่ละตัวมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน บางวัสดุช่วยลดแรงกระแทก เพิ่มการกระจายน้ำหนัก เพิ่มให้เกิดแรงสะบัดเท้าไปด้านหน้า หรือฐานซัพพอร์ตเท้าทั้งหมด และเอาทั้งหมดไปอบขึ้นรูปวัสดุหล่อมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

 
ออกกำลังกายช่วยเรื่องเท้าแบน 

เท้าแบนทำให้เกิดอาการปวดตรงข้อเท้าใต้ตาตุ่ม รอบๆ ข้อเท้าทั้งด้านในและด้านนอก เจ็บตรงบริเวณส้นเท้า ตรงที่เป็นจุดเกาะของเอ็นบริเวณส้นเท้า และด้านหลังส้นเท้าที่จุดเกาะของเอ็นร้อยหวาย

 

เท้าแบนจะกดเอ็นที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของเท้าให้ทำงานหนักตลอดเวลาที่เราเดิน เวลาออกกำลังกายเราจะแนะนำให้เพิ่มความแข็งแรงของเอ็นตัวที่พยุงอุ้งเท้าแล้วเพิ่มความยืดหยุ่นไม่ให้เอ็นฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวายตึงมากเกินไป

 

การออกกำลังกายไม่ได้แก้ความผิดปกติของรูปเท้า แต่ช่วยทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อมัดเล็กในเท้าแข็งแรงขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับท่าที่ออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นต้องมาคู่กัน 

 
การยืนบนส้นสูงไม่ได้ช่วยเพิ่มอุ้งเท้า ลดอาการเท้าแบน

การยืนบนส้นสูงไม่เหมือนการยืนเขย่งที่ต้องใช้กล้ามเนื้อในการพยุงตัวเองขึ้น การยืนเขย่งจึงเป็นวิธีออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเอ็นพยุงอุ้งเท้า โดยยืนเขย่ง 15 - 30 วินาที ลงและไป นอกจากนี้ยังเป็นวิธีตรวจประเมินว่าเป็นเท้าแบนแบบดัดแก้ได้หรือไม่ได้ โดยการยืนเขย่งแล้วดูว่าแล้วอุ้งเท้าขึ้นมาไหม เอ็นร้อยหวายบิดเข้าด้านในไหม 

 

ภาพคุณแววใส่เสื้อแขนยาว เป็นแขนตุ๊กตาสีครีมมองตรงมาที่กล้อง

ถ้ารู้ว่าเป็นเท้าแบนตั้งแต่เด็ก รักษาได้เร็ว ไม่ต้องผ่าตัด 

ถ้ารู้ตั้งแต่เด็ก อาการเท้าแบนจะดัดแก้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกกรณีและต้องใช้เวลาพอสมควร บางเคสอาจจะกลับมาเท้าปกติได้ แต่บางเคสดัดแก้ไม่ได้แต่ป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นได้ หากไม่ทำอะไรเลยอาการเท้าแบนก็จะเป็นมากขึ้นตามวัย  ตอนเด็กๆ อาจจะเป็นไม่เยอะ แต่พออายุมากขึ้นเอ็นกล้ามเนื้อเริ่มทำงานไม่แข็งแรงเหมือนเดิม เท้าเริ่มแบนเยอะ ถ้ามารักษาตั้งแต่เด็กก็จะช่วยป้องกันเรื่องพวกนี้ได้

 

การดูแลสุขภาพเท้าเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะส่งผลถึงสุขภาพองค์รวม อยากให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพเท้าให้มากขึ้น เลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม เพราะสุขภาพที่ดีต่อไป

 

เท้าแบนผิดปกติจนต้องผ่าตัด

เท้าเป็นอวัยวะค่อนข้างซับซ้อน เท้าข้างเดียวมีกระดูกตั้ง 26 ชิ้น และยังมีกล้ามเนื้อมัดเล็กอีกเยอะแยะ ไม่เหมือนกระดูกแขนหรือกระดูกขาที่มีกระดูกแค่ 2 ชิ้น ที่นี่เน้นการรักษาเชิงป้องกัน  ต่อให้เท้าแบนแค่ไหนเราพยายามทำอุปกรณ์ซัพพอร์ตใส่ในรองเท้า เราไม่ค่อยแนะนำให้คนไข้ผ่าตัด เพราะความเสี่ยงหลังผ่าตัดจะค่อนข้างเยอะ อันนี้อาจจะไม่ถูกใจหมอกระดูก (หัวเราะ) 

 

ส่วนใหญ่กรณีที่เท้าผิดรูปมาก เท้าแบนแล้วเท้าแบะออกเยอะ เราอาจจะนำแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อแก้ไขรูปเท้าให้เป็นปกติ  การผ่าตัดความเสี่ยงค่อนข้างสูง  กว่าจะกลับมายืนได้ กว่าจะเริ่มลงน้ำหนักที่เท้าได้ก็ต้องใช้เวลา มีมูลค่าที่คนไข้ต้องเสียจากการผ่าตัดเยอะกว่า หากกลับไปใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมอย่างรองเท้าคัทชู รองเท้าส้นสูงสักระยะ ก็จะกลับมามีอาการปวดหรือเท้าผิดรูปได้อีก 

 

มีงานวิจัยตีพิมพ์ว่า การรักษาด้วยแผ่นรองเท้าประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดถึง 200 เท่า แผ่นรองเท้าของสถาบันสิรินธรคู่ละ 4,000 บาทใส่ได้ 1 - 2 ปี คนไข้เสียเงินครั้งเดียว แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีการอื่น ไม่ใช่เสียเงินเฉพาะค่าหัตถการแต่ยังมีค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาเยอะกว่ามาทำแผ่นรองเท้า

 

อีกอย่างหลังผ่าตัดความเสี่ยงค่อนข้างสูง ผ่าตัดรูปเท้ากลับมาตรงไม่ได้แปลว่าจะหายปวด  หากกลับไปใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมอย่างรองเท้าคัทชู รองเท้าส้นสูงสักระยะ ก็กลับมามีอาการปวดอีกหรือขาดความหยืดหยุ่นของการงอข้อเท้า ทำให้เดินยากขึ้นกว่าเดิม

 

ห้องปูนที่หล่อแผนรองเท้าตามรูปเท้าคนไข้
 
สิทธิในการทำแผ่นรองเท้า

หากมาทำแผ่นรองเท้าที่สถาบันสิริธรฯ ค่าใช้จ่ายการทำแผ่นรองเท้าที่นี่คู่ละ 4,000 บาท ถ้าใช้สิทธิเบิกตรงข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิคนพิการเบิกได้หมด แต่ถ้าเป็นสิทธิบัตรทองต้องมีในส่งตัวมาจะเบิกได้แค่ 2,400 บาท คนไข้ต้องเสียส่วนเกิน 1,600 บาท 


ไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลสามารถทำแผ่นรองเท้าได้ 

หน่วยงานที่ทำแผ่นรองเท้าได้มีอยู่ทุกภาคแต่ไม่ได้มีทุกโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่มีหน่วยงานกายอุปกรณ์ถึงจะทำแผ่นรองเท้าให้ได้ 

 

คนรู้ว่ามีสิทธิทำแผ่นรองเท้าน้อยเพราะบุคลากรน้อย 

เราคิดว่ามีบุคคลากรไม่เพียงพอต่อการทำแผ่นรองเท้า งานกายอุปกรณ์ไม่ได้ทำแค่แผ่นรองเท้าอย่างเดียว แต่ทำหลายอย่างมากตั้งแต่ขาเทียม แขนเทียม สมัยก่อนการทำแผ่นรองเท้าใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำออกมาแล้วหนา หารองเท้าใส่ยาก คนไม่ค่อยนิยมใช้ ตอนนี้เครือข่ายหน่วยงานกายอุปกรณ์หลายๆ ที่รู้ว่าสามารถทำแผ่นรองเท้าได้บางขนาดนี้แล้ว 

 

ที่นี่นักนักกายอุปกรณ์ต้องเป็นอาจารย์ด้วย ทุกๆ ปีจะมีจัดอบรมระยะสั้น 3 - 5 วัน เพื่ออัพเดตเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตกายอุปกรณ์ให้กับนักกายอุปกรณ์ต่างจังหวัดที่เข้ามาอบรม นอกจากนี้ยังมีหลักสูตร 4 เดือนสำหรับผู้ช่วยนักกายอุปกรณ์ เนื่องจากนักกายอุปกรณ์ขาดแคลน ทำงานคนเดียวไม่ไหว เลยต้องมีคนช่วยทำงาน  

 

วิธีเลือกรองเท้า 

https://www.canva.com/design/DAFhokYM3rA/oC2n3mo3wIftA0o5TdYhTQ/view?utm_content=DAFhokYM3rA&utm_campaign=designshare&utm_medium=link&utm_source=publishsharelink

 

วิธีออกกำลังกายเท้า 

https://www.canva.com/design/DAFhokYM3rA/oC2n3mo3wIftA0o5TdYhTQ/view?utm_content=DAFhokYM3rA&utm_campaign=designshare&utm_medium=link&utm_source=publishsharelink

 

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ