เพราะการรักษาอาการป่วยใจและการฆ่าตัวตายนั้นมีต้นทุน ดังกรณีของ UrboyTJ หรือ เต๋า—จิรายุทธ ผโลประการ นักร้องแร็ปเปอร์ ที่โพสต์เล่าอาการและขออนุญาตแฟนๆ ไปรักษาตัวทั้งร่างกายและจิตใจผ่านอินสตราแกรม หลังจากโพสต์นี้ปรากฎบนโซเซียล ต่อมา UrboyTJ ได้ลงไอจีสตอรี่ว่า “ค่ารักษาพยาบาล 6 แสน ไม่ต้องรักษากูก็ได้นะ ถ้าจะแพงขนาดนี้ สัสนรก” ส่งผลให้ #UrboyTJ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์เพื่อแสดงความในใจของหลายๆ คนที่ไปรับบริการสุขภาพจิต
แม้คนไทยทุกคนมีสิทธิการรักษาพยาบาล แต่ทำไมการเจ็บปวดทางจิตจึงไม่ครอบคลุม Thisable.me จึงชวนหมอน้ำหวาน—แพทย์หญิงชนิกา เลี้ยงชีพ กุมารแพทย์ จิตเวชเด็กและวัยรุ่นมาพูดคุยหาคำตอบว่า ต้นตอของปัญหาเรื่องนี้คืออะไร และปัญหาที่ปรากฎอยู่ในแฮชแท็กช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตของคนไทยได้อย่างไรบ้าง
2 ปีที่โควิด-19 แพร่ระบาดกับสถานการณ์โรคจิตเวชไทย
หมอน้ำหวานให้ข้อมูลว่า ในประเทศอังกฤษช่วงล็อกดาวน์ครั้งที่ 1 มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น 10-20% ส่วนในไทยนั้นเก็บข้อมูลรวมๆ ของจำนวนเคสที่ขอบริการให้คำปรึกษา (Counseling) เรื่องความเครียดจากการเรียน การงานและครอบครัวเยอะขึ้น
เวลาคนอยู่ในภาวะความเครียดช่วงสั้นๆ แต่อาการอื่นยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าก็จะเรียกว่า ภาวะการปรับตัวที่ผิดปกติ (Adjustment Disoder) ถ้าภาวะนี้เอาความเครียดออกก็จะหายเลย แต่ถ้ายังเจอปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นความเครียดที่ยังจัดการไม่ได้ คนต้องจำยอมอยู่กับสถานการณ์นี้เป็นเวลานาน ส่งผลให้ระบบประสาทและฮอร์โมนในสมองทำงานผิดปกติ จนเกิดโรคทางจิตเวชและอาจจะทำให้สมองบางส่วนฝ่อ เกิดเป็นโรคสมองเสื่อมได้แม้อายุน้อย
สัดส่วนจิตแพทย์กับคนไข้ที่สวนทางกัน
“หมอรุ่นนี้มี 300 กว่าคน มีคนที่เลือกเรียนเป็นจิตแพทย์ 2 คน”
ในฐานะที่หมอน้ำหวานที่เคยเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ต้องตัดสินใจเลือกเรียนเฉพาะทางจึงเล่าให้ฟังว่า จิตเวชศาสตร์เป็นวิชาที่คนไม่อยากเรียน ถ้าไม่ได้มีใจรักจริงๆ ไม่มีทางทนเรียนได้ อย่างวิชาแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ เช่น ศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ ถึงไม่ค่อยชอบ แต่เป็นเรื่องทางกายยังทนเรียนได้ แต่จิตเวชศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจที่หากไม่ชอบก็ไม่สามารถฝืนเรียนได้
“อัตราจ้างที่เขาเปิดไม่ได้เยอะ ต่อให้เราอยากเพิ่ม แต่ถ้าตำแหน่งเปิดมาจำนวนเท่านี้ ก็ได้เท่านี้ ทุกอย่างผันแปรตามจำนวนคนไข้ และขึ้นอยู่กับว่าคนเขียนนโยบายเห็นความสำคัญของการเปิดตำแหน่งจิตแพทย์ตรงนี้เท่าไร
“งานทางจิตเวชเป็นงานที่ใช้พลังจิต พลังใจเยอะมาก บางทีทำแล้วรู้สึกเหนื่อย ไม่คุ้ม ไม่มีความสุข บางครั้งเราแก้ไขและรับฟังปัญหาของคนไข้ได้ แต่ปัญหาตัวเองกลับยังแก้ไม่ได้
“สมมติว่าสวัสดิการของรัฐไม่ได้ช่วยให้บุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตรู้สึกมีชีวิตที่ดีได้ ค่าตอบแทนน้อย เขาทำงานยาวๆ ไม่ไหวหรอก”
ตรงกับที่อาจารย์เคยบอกกับหมอน้ำหวานในสมัยเรียนว่า จิตแพทย์ต้องจัดการความเครียดตัวเองให้ได้ก่อน แล้วถึงช่วยคนอื่นได้ จิตเวชศาสตร์ไม่เหมือนหมอสาขาแพทย์เฉพาะทางอื่นที่ถึงแม้มีความเครียดก็ยังพอทำงานได้ แต่งานจิตเวชต้องจัดการกับจิตใจคนอื่น ถ้าเราเองยังจัดการปัญหาความเครียดในใจเราไม่ได้และไม่สามารถจัดการอารมณ์ ความคิดได้ ตอนคุยกับคนไข้ก็อาจจะช่วยเขาไม่ได้และอาจทำให้คนไข้รู้สึกแย่ขึ้นกว่าเดิมโดยไม่ได้ตั้งใจ
หมอน้ำหวานเน้นย้ำว่า ต่อให้ประเทศเราจะมีเงินเพิ่มเตียงหรือห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) ที่รักษาคนไข้จิตเวชได้เยอะ แต่ถ้าจำนวนหมอไม่เพิ่ม ก็ไม่มีคนไปทำ
จำนวนหมอน้อยนำไปสู่ปัญหาเรื่องสถานที่
“ส่วนตัวคิดว่า เพราะไม่มีคนมานั่งเฝ้าคนไข้ไม่ให้หนี พอใช้คนคุมไม่ได้ ก็ต้องใช้สถานที่มาควบคุมไม่ให้คนไข้หนี”
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหอพักผู้ป่วยจิตเวชดูคล้ายกับกรง หมอน้ำหวานเสริมอีกว่า ถ้าทำเหมือนต่างประเทศที่ใช้กระจกนิรภัยไม่แตกหรือแตกแล้วเป็นพลาสติก จะต้องทำเป็นระบบแอร์เพื่อให้คนไข้มีอากาศหายใจ ก็อาจมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โรงพยาบาลจิตเวชในไทยหลายที่ก่อตั้งมานานแล้ว และหมอน้ำหวานเองไม่มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารในยุคบุกเบิก จึงมองว่าประเทศไทยอากาศร้อนบวกกับงบที่จำกัด และบุคลากรน้อย การสร้างหอผู้ป่วยให้มีรูปแบบที่ป้องกันไม่ให้คนไข้หนี น่าจะง่ายที่สุด
‘การมีอำนาจในการเลือก’ เป็นสิ่งที่คนยอมจ่ายแพง
หมอน้ำหวานเล่าประสบการณ์ตรงที่เจอกับตัวเองให้ฟังว่า คนไข้ไม่ค่อยมาหาหมอในเวลาราชการ โดยเฉพาะในเคสจิตเวช ถ้าเป็นเด็กต้องไปโรงเรียน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ต้องไปทำงาน มันไม่ใช่เวลาที่จะมาหาหมอ ถ้าเขาลาก็ถูกหักเงิน
“คนที่เขาไม่มีเงิน ถ้าเขามาโรงพยาบาลก็เท่ากับเขาไม่มีเงินกินข้าว มีคนไข้หลายคนที่เป็นแบบนี้ สุดท้ายเขาก็ต้องเลือกว่าจะเสียเงิน 300 บาท ที่เป็นค่าจ้างรายวันเพื่อมาหาหมอหรือไม่”
บางครั้งคนไข้ที่มารักษาที่โรงพยาบาลรัฐบาลอาจรู้สึกว่า จิตแพทย์ไม่ได้ช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นหรือคนไข้บางคนอาจจะไม่ชอบคุยกับจิตแพทย์คนนี้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเลือก ขึ้นอยู่กับดวงคนไข้เลยว่าจะได้หมอคนไหน
“ ถ้ารักษาที่โรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชก็เปลี่ยนหมอได้ แต่หมอต้องเป็นคนประเมินเองว่าไม่สามารถรักษาคนไข้คนนี้ได้แล้ว ถึงจะได้รักษากับหมอคนใหม่ แต่ถ้าไปโรงพยาบาลเอกชนคนไข้เลือกได้ว่าขอนัดเจอหมอคนนี้ได้เลย แต่แลกกับการที่ต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น”

คนทั่วไปเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคมในโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช
ทุกๆ ต้นปี ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะต้องเลือกสถานพยาบาลประกันสังคมใหม่ หากเลือกสถานพยาบาลเป็นโรงเรียนแพทย์อย่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือโรงพยาบาลศิริราช ฯล พอ HR เห็นแบบฟอร์มเลือกสถานพยาบาลประกันสังคมก็จะแนะนำให้เลือกโรงพยาบาลอื่นแทน ถ้าหากเลือกโรงพยาบาลเหล่านี้ก็ไม่มีทางได้
“เพราะคนที่ได้สิทธิสถานพยาบาลประกันสังคมจากโรงเรียนแพทย์คือ หมอและบุคลากรที่ทำงานที่นั่น เนื่องจากโรงเรียนแพทย์ไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่อยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะไม่ได้สิทธิข้าราชการ แต่ได้สิทธิประกันสังคมแทน ดังนั้นเขาต้องกันสิทธิประกันสังคมให้กับบุคลากรของเขาก่อน”
รายชื่อสถานพยาบาลประกันสังคมจะไม่มีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชให้เลือก ทำให้คนเบนเข็มมาเลือกโรงเรียนแพทย์ เพราะเป็นสถานที่เปิดรับสอนสาขาแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจิตเวชศาสตร์เป็น 1 ในสาขาที่โรงเรียนแพทย์เปิดสอน ดังนั้นโรงเรียนแพทย์จะมีแผนกจิตเวช มีอาจารย์หมอ จิตแพทย์ และยารักษาโรคจิตเวชที่จ่ายให้คนไข้เหมือนกับโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช
หมอน้ำหวานเผยอีกแง่มุมว่า แต่ก็มีโรงพยาบาลประกันสังคมเอกชนที่เปิดคลินิกจิตเวชแต่มีน้อย
เงินก้อนที่ได้จากการเก็บเงินประกันสังคมจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลประกันสังคมเอกชน หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลว่าจะให้คนไข้ที่มาโรงพยาบาลได้รับบริการอะไรบ้าง บางโรงพยาบาลมียาจิตเวชไม่ครอบคลุม บางที่หมอทั่วไป (General Practice) ส่งคนไข้ไปเจอหมอเฉพาะทางหลายรอบแล้ว แต่ถูกตีกลับมาตลอด เพื่อนของหมอน้ำหวานที่เคยอยู่โรงพยาบาลประกันสังคมเอกชนเล่าว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หมอไม่ทำหน้าที่ แต่เป็นเรื่องของระบบประกันสังคมที่จำกัดสิทธิการรักษาอยู่แค่นี้
หมอทั่วไปในโรงพยาบาลประกันสังคมเอกชนส่งคนไข้ไปที่โรงพยาบาลเฉพาะทางไม่ได้เหรอ เราถามต่อ
หมอน้ำหวานให้คำตอบว่า โรงพยาบาลประกันสังคมเอกชนไม่ส่งไปโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช พอส่งคนไข้ไปรักษา คนไข้ไม่อยากกลับมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลต้นสังกัด เพราะได้รับการรักษาที่ดีกว่า แต่โรงพยาบาลประกันสังคมเอกชนจะควบคุมค่ารักษาพยบาลให้อยู่ในวงเงินประกันสังคมไม่ได้
‘ไม่เห็นความสำคัญ’ ต้นต่อของปัญหาสุขภาพจิตทั้งหมดทั้งมวล
“ปัญหาจิตเวชเป็นปัญหาเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณ ถ้าเราไม่สามารถวัด Outcome เป็นเชิงปริมาณ เป็นตัวเลขให้คนทำนโยบายเห็นได้ เขาก็ไม่เห็นความสำคัญ”
ไม่ใช่แค่ประเทศเราที่มีปัญหาแบบนี้ ต่างประเทศก็เป็นเช่นกัน ช่วงหลังงานวิจัยจะเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพผสมกับเชิงปริมาณหรือที่เรียกว่า Mixed Method เพื่อให้นักการเมือง คนทำนโยบายเห็นปัญหาเชิงคุณภาพเป็นเชิงปริมาณ สมมติงานวิจัยชี้ว่า คนป่วยเป็นโรคน้อยลง ค่าใช้จ่ายในสถาบันพยาบาลลดลง เขาก็มีเงินเหลือเอาไปใช้ทำอย่างอื่นได้
แก้ไข ‘การศึกษา’ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
“การแก้ปัญหาจิตเวชที่โรงพยาบาลนั้นเป็นปลายเหตุ ถ้าย้อนกลับไปมองต้นเหตุจริงๆ คือเศรษฐานะ ถ้าเราแก้ต้นเหตุให้ได้ก่อนปัญหาก็จะน้อยลง ถ้าประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เราอาจไม่จำเป็นต้องจัดการเรื่องหมอ เรื่องสถานที่เลยก็ได้
“โรคจิตเวชส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐานะสังคมต่ำ (low socioeconomic) มีความชุกในกลุ่มคนจน แต่คนที่เข้าถึงการรักษาได้คือคนรวย”
หากจะลงทุนแก้ปัญหาโรคจิตเวช หมอน้ำหวานแนะนำให้ลงทุนแก้ไขเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งตัวชี้วัดเศรษฐานะหรือสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละคน นอกเหนือจากอาชีพและรายได้
หมอน้ำหวานมองว่า การศึกษาช่วยให้มองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง การคิดอย่างมีเหตุผลจะช่วยทำให้ผู้คนเข้าใจว่า การป่วยเป็นโรคจิตเวชไม่ได้หมายความว่าเป็นคนอ่อนแอ และเริ่มเข้าใจว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต
เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูที่เป็นส่วนสำคัญของสุขภาพจิตเด็ก หากพ่อแม่ไม่มีการตระหนักรู้ (Self-Awareness) ในตัวเอง ไม่มีทักษะจัดการอารมณ์เชิงลบ เช่น เวลาเครียด โกรธ มักจะกดอารมณ์ไม่แสดงออกมา เพราะกลัวคนอื่นมองไม่ดี ดูเป็นคนก้าวร้าว พอลูกสังเกตเห็นว่าพ่อแม่จัดการอารมณ์แบบนี้ เวลาเจอสถานการณ์คล้ายๆ กัน เขาจะลอกเลียนแบบวิธีการจัดการอารมณ์จากพ่อแม่ ถ้าหากพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี ก็จะช่วยให้เขามีทักษะจัดการอารมณ์และมีสุขภาพจิตที่ดี
นอกจากนี้หมอคิดว่า ครูเป็นหนึ่งในคนสำคัญในชีวิตเด็ก (Authority Figure) เพราะว่าเด็กส่วนใหญ่พอออกจากบ้านก็จะมาอยู่ที่โรงเรียน สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน 5 วันจะอยู่เด็กอยู่โรงเรียนเป็นระยะเวลา 12 กว่าปี ถ้าครูทำให้ช่วงเวลานั้นของเด็กไม่ดี นั่นหมายความว่า เด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี คิดเป็น 70% ของช่วงชีวิตวัยเด็ก ซึ่งก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิต ทักษะการคิดจัดการปัญหา และมีผลยาวจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ไม่ดี
“สุดท้ายการเพิ่มหมอก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โรคจิตเวชหลายโรคเป็นเรื้อรัง คนไข้ต้องเจอหมอไปตลอดชีวิต ถ้าเราไปจัดการที่ต้นเหตุก่อน จริงๆ มันจะแก้ปัญหาในระยะยาวกว่า”
จากเรื่อง UrboyTJ สู่ความขาดในระบบดูแลสุขภาพจิตผ่านโพสต์ที่ว่า ‘ค่ารักษาพยาบาล 6 แสน ไม่ต้องรักษากูก็ได้นะ ถ้าจะแพงขนาดนี้’ หมอน้ำหวานก็ได้สะท้อนทิ้งท้ายว่า
“สมมติเขาได้รักษาที่โรงพยาบาลของรัฐตามสิทธิ 30 บาท ได้อยู่โรงพยาบาลรัฐที่ดี วอร์ดที่ดี เขาอาจจะรู้สึกอีกแบบ ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ ปัจจุบันการบริการที่ดีจำกัดอยู่แค่บางที่เท่านั้น”
ขอบคุณสถานที่
ร้าน Start Slurp_Coffee
เปิดทุกวันเวลา 09.00 – 18.00 น.
ที่ตั้ง : 307/167 จรัญสนิทวงศ์ 31 เขตบางกอกน้อย แขวงบางขุนศรี กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : 083 910 0429
Facebook : https://www.facebook.com/Start Slurp_Coffee