Skip to main content

ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน ‘โรคซึมเศร้า’ จะเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับว่า ความเจ็บป่วยทางจิตใจนั้นสมควรให้คุณค่าไม่ต่างจากความเจ็บป่วยทางกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไปถึงอาการป่วยรุนแรงที่พร้อมคร่าชีวิตคนได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ดีก็ยังมีพื้นที่ที่ความเข้าใจเรื่องซึมเศร้านั้นยังอาจไปไม่ถึง ดังเช่นในพื้นที่ผ่านระบบราชการครูที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโลกอีกใบหนึ่งที่บ่มเพาะความรู้และสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ แต่กลับมีความเข้าใจภาวะซึมเศร้าของบุคลากรอยู่อย่างน้อยนิด

หากใครได้ติดตามช่องทางโซเชียลชองครูท๊อฟฟี่— ศุภณัฐ กาหยี ครูโรงเรียนรัฐบาลและเจ้าของเพจ Bangkok Otter ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ฝูงนากฝูงใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียนก็จะเห็นว่าเธอพยายามสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องโรคซึมเศร้าและระบบราชการไทยที่ยังไม่เข้าใจโรคจิตเวช Thisable.me จึงถือโอกาสนี้ชวนคุยว่า โลกข้าราชการครูไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและความไม่เข้าใจส่งผลต่อร่างกายและจิตใจผู้ป่วยที่เป็นครูอย่างไรบ้าง 

ภาพครูท๊อฟฟี่ยืนเอียงขวาแล้วมองท้องฟ้า

ปัญหาการทำงานมีส่วนทำให้เป็นโรคซึมเศร้า

ศุภณัฐ: ก่อนสถานการณ์โควิด-19 เรามีเทคนิคการสอนและประเมินหน่วยการเรียนรู้ว่าเด็กควรจะได้ผลการเรียนรู้แบบไหน แต่พอเกิดโควิด-19 ทำให้กิจกรรมต่างๆ โดนจำกัดทั้งหมด บางครอบครัวไม่เข้าใจว่าเรียนที่บ้านเพราะสถานการณ์ไม่ปกติ แต่คิดว่าเด็กปิดเทอมจึงให้เด็กไปช่วยทำงาน กลายเป็นว่าเด็กไม่พร้อมที่จะเข้ามาเรียนหรือบางคนก็ไม่เข้าเรียน เราจึงต้องพยายามหาจุดที่แฟร์กับทุกคน คนที่เข้าเรียนก็ควรจะได้สิ่งดีๆ คนที่มีปัญหาก็ควรได้รับการช่วยเหลือและคนที่ไม่เข้าเรียนก็สมควรได้บทเรียน แต่สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราไม่สามารถทำตามเป้าได้ จนเกิดความรู้สึกแย่ๆ ทั้งรู้สึกผิด เครียดและผิดหวังสะสมในใจ กระทั่งรู้สึกไม่ปกติจึงกลัวว่าจะมีผลกระทบกับนักเรียนและการทำงาน จึงตัดสินใจพบจิตแพทย์และถูกวินิจฉัยว่า มีภาวะวิตกกังวลร่วมกับอารมณ์เศร้า ถึงแม้ค่าใช้จ่ายในการหาหมอต่อครั้งไม่เกิน 300 บาทและเรามีสิทธิเบิกตรงเพื่อรักษาอาการป่วยเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เราต้องเจอขณะอยู่ในระบบราชการ 

ไปหาหมอนับว่าเป็นลากิจ ไม่ใช่ลาป่วย

ตอนนั้นถึงแม้รู้ตัวว่าป่วย แต่ก็ไปหาหมอทันทีไม่ได้เพราะต้องทำบันทึกข้อความแจ้งผู้บริหารให้รับทราบว่าหยุดงานเพื่อไปหาหมอ และขอใบรับรองแพทย์เพื่อทำบันทึกแนบตามขึ้นไปทีหลัง ยิ่งเราเป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวพบแพทย์ต่อเนื่อง การไปหาจิตแพทย์แต่ละครั้งจึงไม่ถูกนับว่าเป็นลาป่วยแต่เป็นลากิจ แม้จะไปหาหมอจริง มีใบรับรองแพทย์ แต่การรู้วันเวลานัดล่วงหน้าจึงเท่ากับลากิจ 

เราถามผู้อำนวยการว่า ถ้าอย่างนั้นวันที่ไปหาหมอก็ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า บอกปากเปล่าว่าป่วย และนำใบรับรองแพทย์มาแนบข้างหลังในวันถัดมาได้ใช่หรือไม่ กลายเป็นเราได้คำตอบว่า ทำแบบนั้นเท่ากับหนีราชการ 

สำหรับอาชีพครู การลาแต่ละครั้งมีผลอย่างมากโดยเฉพาะการประเมินขั้นเงินเดือน ครูสามารถลาได้สูงสุดไม่เกิน 8 ครั้งต่อปีงบประมาณ แต่การลาป่วยจะไม่เอามาพิจารณา หากดูรายละเอียดตามกฎหมายจะพบว่า มีการหยุดเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง เช่น หากครูรถชนขาหักแล้วเดินมาสอนไม่ได้ ก็สามารถหยุดเพื่อรักษาตัวเอง 2 - 3 เดือน แต่อาการป่วยของเราไม่ได้ทุพพลภาพ ไม่จำเป็นต้องหยุดอยู่บ้าน แต่โรคซึมเศร้าก็ทำให้สูญเสียศักยภาพในการทำงานไม่ต่างกัน จึงควรถูกบรรจุอยู่ในระเบียบการลาเพื่อฟื้นฟูศักยภาพด้วย เพราะช่วงแรกๆ ที่ป่วยต้องลาเยอะ หนึ่งเดือนนัด 2 ครั้ง ช่วงหลังถึงนัดห่างขึ้นเป็นเดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้ง แม้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเช็คขาดลามองว่า กรณีของเราเป็นการลาป่วยได้และไม่ยอมทำเอกสารลากิจ แต่ก็มีการทำเอกสารและบังคับให้มาเซ็นต์ชื่อเป็นผู้ออกเอกสาร ซึ่งเข้าข่ายการใช้อำนาจโดยมิชอบ 

ถ้าเอกสารนี้ถึงมือเรา เราตั้งใจจะถือเอกสารนี้ไปยืนยันว่า เราลาไปหาหมอตามสิทธิ ทำไมจึงได้เอกสารนี้และยังต้องแลกคาบเพื่อหาหมอ ทั้งที่ควรมีบันทึกระบบงานโรงเรียนเพื่อจัดสรรบุคลากรไปสอนแทน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่คิดเรื่องนี้เคยมองจากคนที่ประสบปัญหาหรือเปล่าหรือมองจากคนที่ต้องมาแก้ปัญหา 

ภาพถ่ายครูท๊อฟฟี่ครึ่งตัวใส่เดรสสีดำหันขวาและเงยหน้า

การเลือกปฏิบัติที่ต้องเจอ

ช่วงที่ป่วยเราลาไปหาหมอเยอะมาก จนกระทั่งผู้บริหารเรียกเข้าไปตำหนิว่าลาบ่อยเกินไป เราเล่าให้ฟังว่า กินยานอนหลับทั้งแผงเพื่อฆ่าตัวตาย ผู้บริหารก็เสนอให้ใช้วิธีเดียวกันกับอาจารย์อีกท่านที่เป็นมะเร็งและยังต้องรักษาตัวต่อเนื่องคือ ให้มาสแกนหน้าเข้าทำงานก่อนแล้วค่อยไปโรงพยาบาล แต่เราไม่มีรถ ต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะจากถนนอิสรภาพ สี่แยกบ้านแขก ผ่านสาทร ทุกคนก็รู้ว่าการจราจรแถวนั้นเป็นอย่างไร พอถึงถนนพระราม 2 ก็ต้องนั่งแท็กซึ่เข้าไปอีก 11 กิโลเมตร เสียเงินประมาณ 85 - 100 บาทต่อเที่ยว แต่ถ้าเดินทางจากบ้านไปโรงพยาบาลใช้เวลานิดเดียวแล้วค่อยไปโรงเรียน เลยไม่เข้าใจว่าจะให้ไปสแกนหน้าลงชื่อเข้าทำงานก่อนแล้วค่อยไปหาหมอที่โรงพยาบาลอยู่ห่างโรงเรียนร่วม 30 กิโลเมตรเพื่ออะไร ทั้งที่โรงเรียนก็มีแอพพลิเคชัน Student Care ให้เช็คอินออนไลน์จากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้  แต่เขากลับไม่หย่อนให้เราต่างจากกลุ่มคนที่ผู้บริหารสนิทที่สามารถมองข้ามการกระทำบางอย่างได้

ดูแลจิตใจคนเรียน แต่ไม่ดูแลจิตใจคนสอน 

สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีนักเรียน ครู และผู้ปกครองป่วยซึมเศร้ากันเยอะมาก หากเด็กป่วย มีใบรับรองแพทย์ก็สามารถยื่นให้ครู เพื่อหยุดพักดูแลตัวเองและเข้ากระบวนการบำบัดรักษาได้ แต่พอครูป่วยเป็นโรคเดียวกัน ระบบราชการกลับไม่ให้หยุดรักษาตัว 

ช่วงประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนเราถือโอกาสเล่าปัญหาที่เจอว่า หากในอนาคตโรงเรียนมีเหตุการณ์แบบนี้อีก จะมีมาตรการดูแลช่วยเหลือครูอย่างไร ไม่อย่างนั้นก็จะสูญเสียบุคลากรจากการฆ่าตัวตายอยู่เรื่อยๆ เสียดายทีหลังก็ไม่มีประโยชน์แล้ว ถ้ามองว่าโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาส่วนบุคคล ครูต้องจัดการเองและยังไม่เคยมีครูป่วยเป็นซึมเศร้าออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ ระบบการทำงานก็จะไม่มีวันแฟร์กับผู้ป่วยที่เป็นครู ตอนที่มีไลฟ์เฟซบุ๊กของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง เราก็คอมเมนต์ว่าอยากให้ผู้บริหารโรงเรียนได้รับการอบรมเรื่องซึมเศร้า และยังถามรัฐมนตรีว่า ถ้าครูป่วยซึมเศร้ามีมาตรการอะไรรองรับบ้าง แต่ก็เงียบ ไม่มีคำตอบจากไลฟ์หรือในช่องคอมเมนต์ ถ้ารัฐมนตรีเห็นคำถามนี้ก็ฝากด้วย 

ครูท๊อฟฟี่ใส่เดรสสีดำจับราวบันไดแล้วเงยหน้าแบบเชิดๆ ขึ้น

คนเข้าใจโรคซึมเศร้าอย่างไร 

บางคนคิดว่า ซึมเศร้าเกิดขึ้นเพราะคิดมาก เครียด หรือเป็นข้ออ้างของความขี้เกียจ บ้างก็หาว่าทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่งไม่ถูก ซึมเศร้าไม่ใช่ความทุกข์ทั่วไปที่ย้ายตัวเองออกมาก็จบ แต่ความทุกข์นี้คืออาการป่วยที่อยู่กับเราตลอด 24 ชั่วโมง หนีไปจากความป่วยไม่ได้ อยากให้คนอื่นเข้าใจว่า เราไม่ต้องการความเห็นใจ ไม่ต้องการให้สงสาร แค่รู้ว่าเป็นแบบนี้แล้วเข้าใจสิ่งที่เป็นก็พอ

ที่โรงเรียนมีครูท่านหนึ่งหวังดีกับเรามาก ถ่ายรูปตัวเองใส่ชุดขาว ชวนเราไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม และบอกกับเราว่าเชื่อพี่หายแน่นอน เราก็ปฏิเสธไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาก็มาเซ้าซี้เรื่องอาการป่วยจนเราแพนิค มือสั่น เพื่อนครูต้องดุให้หยุด หลังจากนั้นทักมาส่วนตัวเพื่อชวนอีก เราปฏิเสธแต่เขาก็พยายามยัดเยียด สุดท้ายเราก็เลิกเรียกเขาว่าพี่และเปลี่ยนมาเรียกคุณกับฉัน หรือบางคนก็ถามว่าเรานับถือศาสนาอะไร พอเราตอบว่าไม่มีศาสนา เขาก็พยายามชวนเรานับถือศาสนาที่เขาเชื่อ เรามองว่า ความปรารถนาดีต้องมาพร้อมความต้องการ ถ้าปรารถนาดีแต่ไม่ต้องการก็จะกลายเป็นการยัดเยียดที่ยิ่งเพิ่มความทุกข์ 

ภาพในอนาคตที่อยากเห็น

เราคิดว่า ไม่ควรนำการลามาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินขั้นเงินเดือน ทุกคนมีสิทธิลาได้ตามสิทธิ  ระเบียบการลาตอนนี้มองการลาแบบแนวดิ่ง ไม่ได้มองแนวกว้างว่าโรคก็มีหลายโรค โรคในนิยามของระเบียบราชการมีแค่ก้อนเดียว เราอยากกระจายให้มีหลายก้อนมากขึ้นเพื่อรองรับคนที่มีอาการป่วยอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และคิดว่าอาชีพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนอื่นอย่างครู สอนนักเรียนผิดพลาดอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กคนนั้นไปตลอดชีวิตได้ ถ้ามีหน่วยงานด้านจิตเวชเข้ามาดูแลบุคลากรครูในโรงเรียนก็เป็นประโยชน์แน่นอน