Skip to main content

รูปปก

ตั้งแต่ปี 2550 ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมี มาตรา 33 กำหนดให้สถานประกอบการหรือหน่วยงานต้องจ้างงานคนพิการในอัตราส่วน 100 : 1 เช่น ถ้าบริษัทมีพนักงาน 100 คน ก็ให้จ้างงานคนพิการ 1 คน หากผู้ประกอบการไม่สะดวกจ้าง ก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปีตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 34 หากผู้ประกอบการไม่ทำตามมาตรา 33 และ 34 ก็สามารถทำตามมาตรา 35 คือ ให้สถานที่ทำงาน ฝึกอบรมคนพิการ หรือให้การจ้างงานในลักษณะเหมาจ้างหรือเหมาบริการ

ดูเหมือนกับว่าข้อกำหนดตามมาตราเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้คนพิการหางานง่ายขึ้น และผลักดันให้คนพิการมีงานทำ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การจ้างงานตามมาตราดังกล่าวช่วยให้คนพิการเข้าสู่ตลาดแรงงานได้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อดูตามสถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะเห็นได้ว่า ในปี 2563 มีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานมากกว่า 800,000 คน แต่มีไม่ถึง 80,000 คนเท่านั้นที่ได้รับการจ้างงานในหน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการ ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ก็พบว่าตัวเลขผู้ที่ได้รับการจ้างงานแทบจะไม่แตกต่างกันเลย 

การรับรู้และความเข้าใจความพิการของสังคมส่งผลอย่างไรต่อการทำงานของคนพิการในสถานประกอบการในปัจจุบัน และทำไมอัตราการจ้างงานของคนพิการจึงยังไม่ไปถึงเป้าหมายสักที Thisable.me ชวนปุ๊กปิ๊ก - กมลวรรณ กระถินทอง และเก่ง - ณรงค์ศิลป์ ล้านศรี คนพิการที่ผ่านประสบการณ์การจ้างและทำงานมาพูดคุยถึงประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ตั้งแต่การสมัครงาน เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงความฝันที่จะช่วยให้คนพิการสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างแท้จริง 

ปฏิเสธเพราะพิการ

ปุ๊กปิ๊กใช้เวลากว่าสี่เดือนหลังเรียนจบจากภาควิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการหางานที่ตรงกับสิ่งที่เธออยากทำและตรงกับความสามารถ เธอเลือกที่จะยื่นใบสมัครในเว็บไซต์หางานตามปกติและไม่คิดว่าความพิการมีผลอะไรต่อการทำงาน ในช่วงแรกเธอจึงไม่ได้แจ้งเรื่องความพิการไปพร้อมกับใบสมัคร แต่เมื่อผู้ประกอบการรับรู้ถึงความพิการของเธอ คำตอบเดียวที่เธอได้รับคือคำปฏิเสธการรับเข้าทำงาน

“ตอนแรกเราไม่ได้แจ้งเพราะมองโลกในแง่บวกมาก คิดว่าเขาไม่น่าจะติดขัดอะไรมั้ง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ประเทศไทยยังไม่ได้ก้าวหน้าขนาดนั้น สังคมในภาพรวมมีความเข้าใจต่อคนพิการไม่เหมือนกับสังคมที่เราเจอมาตั้งแต่เด็กจนถึงตอนมหาลัย บางที่พอเขารู้ว่าเราเป็นคนพิการ เขาก็ไม่รับเลย

“บางที่พอไปสัมภาษณ์ เขาเห็นว่านั่งรถเข็นมา เขาก็ไม่ให้สัมภาษณ์และโดนปฏิเสธเลย เราเจอมาเยอะมาก”

เช่นเดียวกับเก่ง ในช่วงที่เขาหางาน แม้เป็นงานสำหรับคนพิการหรือโอกาสต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการและเงื่อนไขทางด้านร่างกายแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้งาน 

“เคยลองสมัครงานประกันที่หนึ่ง พอบอกว่าเราพิการปุ๊บ เขาก็ไม่รับเลย

“เขาบอกว่า กังวลเรื่องสภาพแวดล้อมและการไปทำงาน ทั้งที่บางงานไม่ได้ต้องเข้าออฟฟิศตลอด แต่เขาก็ปฏิเสธ เพราะอาจจะยังไม่เข้าใจบริบทของความพิการ เขาไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับคนพิการ เลยปิดกั้น แล้วก็ไม่อยากรับ”

ผู้คน สังคม สถานที่

เมื่อได้รับการปฏิเสธซ้ำ ๆ ปุ๊กปิ๊กจึงเลือกที่จะแจ้งเงื่อนไขทางด้านร่างกายของเธอไปกับบริษัทตามตรง

“เวลาบริษัทโทรมา เราก็แจ้งไปว่าเรามีความพิการ เรามืองอนะ ยืนได้นะ แต่อาจจะต้องเกาะ บางครั้งก็ถามเขาว่า ต้องการดูรูปเราไหม แต่ก็พบว่า ไม่มีที่ไหนคุยอะไรกับเราต่อ กระทั่งเจอที่แรกก็คือที่ที่ได้ไปทำงาน ตอนที่เขาโทรมาคุยกับเราและเราแจ้งเรื่องความพิการไป เขาบอกว่า พี่ไม่ได้มองว่าน้องพิการนะ พี่มองว่าน้องทำงานได้ก็แค่นั้น เป็นประโยคที่ทำให้รู้สึกดีมาก

“พอเข้าไปทำงานทุกอย่างก็ดีมาก ทั้งเพื่อนในทีม คนจากทีมอื่น แม่บ้าน รปภ. ทุกคนดีกับเรามาก แล้วที่นี่ก็มีกฏเกี่ยวกับ Disability Harassment กำหนดไม่ให้กีดกันคนพิการออก ให้ดูคนที่ความสามารถไม่ใช่ความพิการ ถ้าเกิดมีการละเมิดใด ๆ เกิดขึ้น ก็สามารถแจ้งทางบริษัทได้เลย

“สถานที่ก็สะดวกมากเพราะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ข้างในออฟฟิศก็กว้าง สามารถเข็นรถเข้าไปได้เลย เรียกว่า Universal Design ก็ได้ เขาทำทุกอย่างไว้พร้อม ตั้งแต่ยังไม่มีคนพิการเข้ามาทำงานด้วยซ้ำ ห้องน้ำก็สะดวกทั้งในออฟฟิศ และในห้างสรรพสินค้า ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเดินทางในที่ทำงาน หรือสภาพแวดล้อมตรงนั้นเลยเพราะเราสามารถเข้าไปได้ทุกที่ รู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติและมีความมั่นใจมากตลอดเวลาที่ทำงานที่นี่” 

ปุ้กปิ้กใส่ชุดเดรสสีแดง เสื้อคลุมแขนยาวสีขาว นั่งยิ้มหันหน้าให้กล้องบนวีลแชร์
ปุ๊กปิ๊ก

เมื่ออยู่ในสังคมที่เข้าใจ สถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถใช้งานและเข้าถึงได้ ความพิการก็เป็นแค่เงื่อนไขหนึ่งในการดำเนินชีวิตเท่านั้น หากแต่ในประเทศไทยของเรามีเพียงไม่กี่ที่ที่สามารถสร้างสังคมและสถานที่แบบนั้นได้ 

ปุ๊กปิ๊กจำเป็นต้องเปลี่ยนงานเนื่องจากเหตุผลทางด้านครอบครัว สถานที่ทำงานใหม่ และเพื่อนร่วมงานกลุ่มใหม่ทำให้ความมั่นใจในความสามารถ และความเชื่อมั่นในตนเองในฐานะมนุษย์โดนสั่นคลอน

“เขาปฏิบัติกับเราไม่ดีจริงๆ สีหน้าท่าทางของเขามันบ่งบอกออกมาเลย บางคนก็ล้อท่าทางของเรา ด้วยความที่เรามืองอ บางทีมือจะแข็ง ก็ต้องสะบัดมือเพื่อที่จะทำให้ทำงานต่อได้ แต่เขากลับมาพูดว่า ทำไมต้องสะบัดด้วย แล้วก็หัวเราะกัน มองว่าเป็นเรื่องตลก แต่ถ้าถามว่าเราตลกด้วยหรือเปล่า คำตอบคือไม่

“บางคนก็มาถามว่า ทำไมไม่ใส่รองเท้าคัชชู ทั้งที่เราคุยกับ HR แล้ว แต่ฝ่ายอื่นก็มาจี้กับเราว่ามันผิดกฎ บางครั้งก็บอกว่า ต้องใส่ยูนิฟอร์มอย่างกระโปรงสอบหรือกางเกงขายาว แต่ไม่คิดว่า คนพิการที่เป็นแบบเราจะใส่ยังไง แม้หัวหน้าใหญ่ไม่ได้บังคับให้เราใส่ แต่คนรอบข้างบังคับ สุดท้ายเราก็ทนไม่ได้ ก็ต้องใส่ให้ได้

“สถานที่ทำงานไม่สะดวกเลย มีแค่ห้องน้ำคนพิการอย่างเดียว ออฟฟิศแคบมาก แค่คนจะเดินสวนกันก็ยากอยู่แล้ว ต้องตะแคงตัวกันเดิน พอเราไปพร้อมรถเข็น เขาก็พูดกันว่าเกะกะหรือบางทีไม่พูดอะไร แต่ยืนอยู่ตรงนั้นจนกว่าเราจะถอยไปเพราะเขาจะเดินก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตอนอยู่บริษัทแรก มีแต่คนบอกให้เราไปก่อนเลย ให้ทำแบบที่ปิ๊กสะดวก เพราะเขาไม่มองว่าเราแตกต่างหรือแบ่งแยกเราออกไป

“เวลาหิวน้ำต้องไปกดที่ที่กดน้ำ เราต้องขอให้แม่บ้านช่วยกดน้ำให้เพราะหน้าตู้มีสเตป แต่คนอื่นมองว่า ทำไมเราไม่ทำเอง มองว่า การให้แม่บ้านมาช่วยกดน้ำมันทุเรศเหมือนคนไม่มีความสามารถ ทั้งที่เราไม่สามารถเข้าสเตปที่ขวางอยู่ได้ บางทีเอกสารที่ต้องหยิบต้องปีนบันไดขึ้นไป เราทำไม่ได้ก็ต้องพึ่งคนอื่น เขาก็มาบอกกับเราว่า ไหนบอกว่าทำได้ทุกอย่างไง

“เวลาที่มีเอกสารกองใหญ่ๆ ด้วยความที่มือเราไม่ดี ไม่สามารถใช้แรงเยอะในการหนีบหรือแม็กก็เลยต้องขอให้คนอื่นช่วย มีคนหนึ่งเข้ามาช่วยเราดีมาก แต่กลับไปบอกหัวหน้าใหญ่ว่า รับเราเข้ามาทำไม รับเข้ามาแล้วทำให้เดือดร้อน ไล่มันออกไปเถอะ โดยที่เขาไม่ได้บอกเราซักคำว่า เขาไม่สะดวกหรือไม่เต็มใจช่วยเรา”

เมื่อปุ๊กปิ๊กเจอกับความกดดันจากที่ทำงานที่มองว่าเธอเป็นคนไร้ความสามารถ เธอจึงพยายามทำทุกอย่างให้มากขึ้น ยกดัมเบลข้างละ 2 กก. ทุกวัน ฝึกกล้ามเนื้อมือ เพื่อให้พร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ได้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด 

“เราก็พยายามจัดการตัวเอง เลือกที่จะฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง เพราะถ้าลาออกไปตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปทำงานที่ไหน ในเมื่องานของคนพิการมันหายาก แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนใช้ 

“พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น คำพูดต่างๆ ที่เขาคอยพูดก็ทำให้เราถูกกลืนไปว่าทุกอย่างเป็นเพราะเรา เป็นเพราะความพิการของเรา เพราะสังคมที่เราเจอทุกวัน วันละหลายชั่วโมงคือตรงนี้ ถึงคนใกล้ชิดนอกที่ทำงานจะบอกว่าอย่าไปสนใจ แต่พอโดนทุกวันก็ไม่ไหว เราถูกกลืนไปจริงๆ สมองสั่งให้เราโทษตัวเอง โทษตัวเอง โทษตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ความผิดเราเลย

“เราเริ่มโทษตัวเองว่า ทำไมเราถึงเกิดมาพิการ รู้สึกแย่มาก เราได้ยินแต่คำพูดที่ไม่ดีที่คนพูดให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองจะได้ลาออกไป เขาพยายามพูดว่าเราไร้ความสามารถ พิการก็ให้ไปหางานของคนพิการทำเถอะ จนเราเชื่อว่า เราไม่มีความสามารถจริง ๆ ตอนนั้นเราเอาคำพูดของเขามาด้อยค่าตัวเองจนกลายเป็นว่าไม่มีความมั่นใจในตัวเองไปเลย กลัวไปหมดทุกคน”

หรือแท้จริงคนพิการกำลังถูกเอาเปรียบ

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 หรือ 35 คือ สถานประกอบการนั้นๆ สามารถที่จะเอาค่าจ้างคนพิการไปลดหย่อนภาษีได้เป็นสองเท่าของหลักเกณฑ์ปกติ และถ้าจ้างคนพิการครบตามที่ พ.ร.บ.ระบุเอาไว้ ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการตามมาตรา 34 

ฝั่งผู้ประกอบการก็ได้ลดหย่อนภาษี ฝั่งคนพิการก็ได้งานทำ เหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย แต่การต้องทำงานในสถานที่ที่ไม่ได้เอื้อกับคนพิการ รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่ไม่เข้าใจ การถูกมองว่าไร้ความสามารถ และเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อลดหย่อนภาษี ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนักในฐานะมนุษย์คนหนึ่งดังเช่นที่ปุ๊กปิ๊กเจอ

"เราได้มารู้ทีหลังว่าจริงๆ แล้วจุดประสงค์หลักที่เขารับเราเข้ามาก็คือเพื่อให้มีคนพิการอยู่ในที่ทำงาน เพราะบริษัทเขามีพนักงานหลายร้อยคน เราเป็นคนพิการคนแรกที่เขารับ ปีหนึ่งบริษัทต้องเสียเงินให้กับกองทุนคนพิการเป็นล้าน การรับเราเข้ามาสามารถที่จะเอาไปใช้ลดหย่อนภาษีได้"

ทางด้านเก่งก็เช่นกัน เขาได้รับการติดต่อจากโรงงานแห่งหนึ่งในช่วงที่กฎหมายคนพิการกำลังเป็นกระแส ให้เข้าทำงานด้วยค่าจ้าง 2,000 บาท แลกกับการไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากแจ้งชื่อเป็นพนักงานของโรงงานนั้นด้วยค่าจ้างเต็ม 9,000 บาท เพื่อโรงงานจะได้นำไปลดหย่อนภาษี

“เขาบอกว่า ให้เรามาวาดรูปโลโก้ ถ้าทำสวยจะเอาไปทำเป็นลายผ้า โดยให้เดือนละ 2,000 บาท ตอนนั้นเราก็โอเค ลองทำดู ไม่ได้คิดมากอะไรเพราะหางานทำไม่ได้ ไปๆ มาๆ คือเราไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้เดือนละ 2,000 บาท

“เคยต่อรองขอเพิ่มแต่ก็ไม่ได้ จริงๆ เราอยากทำงานแล้วได้เงินเต็มจำนวน แต่เขาก็ไม่ให้ จึงรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ เพราะเขาจ้างเราไปลดหย่อนภาษีได้เป็นแสน สุดท้ายเราก็ออกมาเพราะอยากทำงาน ถ้าไม่ออกก็ไปทำที่อื่นไม่ได้ อย่างไรก็ดี หลังออกก็ว่างงานอยู่หลายปีเหมือนกัน”

ความพิการเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน?

หลายคนมองว่า ความพิการทำให้โอกาสในการทำงานนั้นน้อยลง แต่นอกจากความพิการที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคดังที่เก่งคิดแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างที่กีดกันคนพิการออกจากการทำงาน

"ความพิการเป็นอุปสรรคแน่นอน เปรียบเสมือนเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องจัดการแก้ไข ถ้าบริษัทนั้นๆ เข้าใจและเห็นความสามารถของคนพิการและรู้ว่าคนพิการมีเงื่อนไขอะไรบ้าง และต้องจัดการกับเงื่อนไขเหล่านั้นอย่างไรก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าบริษัทแค่เห็นว่าเป็นคนพิการก็ปิดกั้นโดยไม่สนใจว่าเขาเก่งแค่ไหน แบบนี้ก็ไปต่อไม่ได้ บริษัทต้องดูว่า คนพิการคนหนึ่งมีทักษะที่จะมาซัพพอร์ตองค์กรไหมและหาทางปรับตัวต่อเงื่อนไขนั้นๆ

"สภาพแวดล้อมทางสังคมไม่ได้รองรับการใช้ชีวิตของคนพิการ ทุกวันนี้คนพิการยังออกไปใช้ชีวิตข้างนอกลำบากอยู่ ต่อให้มีกฎหมายว่า ตึกที่สูงเท่านี้จะต้องทำอุปกรณ์รองรับคนพิการ แต่ผู้สร้างก็มักทำเพื่อให้ไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ได้ใช้งานได้จริง พอคนพิการออกไปใช้ชีวิตแล้วไปเจอทางลาดชันมาก เข็นขึ้นเองไม่ได้ก็ต้องพึ่งคนรอบข้าง จะขึ้นรถเมล์ก็ขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีรถเมล์ชานต่ำ กลายเป็นว่าคนพิการจะออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คนทั่วไปก็ไม่เคยได้เห็นคนพิการใช้ชีวิตเลย ก็ยิ่งทำให้ความเข้าใจหรือจินตนาการเรื่องคนพิการยากขึ้นไปอีกว่าคนพิการจะทำงานได้อย่างไร ผู้ประกอบการจึงไม่เคยคิดถึงคนพิการ แต่ถ้าผู้ประกอบการได้เห็นคนพิการในชีวิตประจำวัน และใช้ชีวิตตามปกติ การจ้างงานคนพิการก็ควรเป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันคนพิการส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตในสังคมได้ไม่ปกติ พวกเขาถูกดองไว้ที่บ้าน ไม่ว่าคนพิการคนนั้นจะเก่งขนาดไหน ก็ยังไม่สามารถเข้าสังคมเพื่อไปใช้ชีวิตได้"

เก่งนั่งบนวีลแชร์ ใส่เสื้อยืดสีน้ำเงิน
เก่ง

เช่นเดียวกับปุ๊กปิ๊กที่มองว่า ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนพิการหลายคนเข้าไม่ถึงการทำงาน เพราะถึงแม้มีกฏหมาย แต่การบังคับใช้กลับไม่เคร่งครัด

"ภาครัฐไม่สนใจก็มีส่วนทำให้คนพิการไม่ถูกจ้างงาน รัฐจะสนตอนที่คนพิการโวยวาย แล้วคนที่ออกไปโวยวายก็ถูกมองว่าเป็นคนมีปัญหา เราเองก็เคยคิดอย่างนั้นกระทั่งตอนนี้รู้แล้วว่าบางอย่างเราไม่ต้องทนก็ได้ เพราะถ้าเราไม่พูดถึงปัญหาแล้วใครจะมารู้ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เราที่ต้องเผชิญคนเดียว คนพิการแบบเรามีอีกมาก คนรุ่นหลังที่พิการ หรือคนแก่ก็เยอะ ถ้าสิ่งที่เรียกร้องเกิดขึ้นยังไงก็มีคนที่ได้ใช้ประโยชน์ 

"ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ ไม่ส่งเสริมให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ไม่ว่าจะด้วยแนวคิดของคนไทยที่ว่า คนพิการเกิดมาพร้อมเวรกรรม จนทำให้หลายครอบครัวอายที่มีลูกพิการ จึงเก็บไว้บ้าน ไม่ให้ไปเรียนหนังสือ ไม่ให้ไปทำงาน คนพิการก็จะถูกมองว่าเป็นภาระของคนอื่น ทั้งที่จริงแล้วมีหลายอย่างที่คนพิการทำได้ และควรเข้าใจว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เราทุกคนช่วยเหลือกันและกันได้ ต่างก็มีสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นบริษัทต้องมีสถานที่ที่ตรงกับความพิการของเรา และเรื่องนี้เป็นอุปสรรคแน่ๆ ในเมืองไทย แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้มีทางลาด กำหนดให้ทุกบริษัทที่มีพนักงานเกิน 100 คนมีพนักงานคนพิการ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้จริง ในหลายประเทศไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ เขาทำตามอย่างเคร่งครัด สถานที่ต่างๆ จะต้องออกแบบให้เป็น Universal Design ทั้งหมดผ่านกฎหมายบังคับ สำคัญที่สุดคือทัศนคติ ในเมืองนอกไม่ว่าพิการจะเป็นแบบไหนถ้าเขาคิดว่าทำงานได้ เขาก็จะพยายามปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับเรา"

สิ่งที่สถานประกอบการควรมีเพื่อให้คนพิการทำงานได้สะดวกมากขึ้น

ปุ๊กปิ๊กคิดว่าทัศนคติของคนในองค์กรต้องมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อบ้านเรายังมีปัญหาด้านต่างๆ เต็มไปหมด

"ถ้าคุณมองว่าคนพิการคือคนคนหนึ่ง ที่เป็นคน มีสิทธิ เสรีภาพ มีความเสมอภาค เท่าเทียมและมองเห็นถึงความสามารถของเขา ทุกอย่างจะตามมาได้เองหมดเลย เรื่องสภาพแวดล้อมหรือสิ่งอื่นใดมาปรับกันได้ทีหลังหมดเลย คนพิการเองรู้ตัวอยู่แล้วว่าหางานยาก มีความแตกต่าง มีอุปสรรค พวกเราก็พยายามเป็นสองเท่า เวลามีบริษัทรับเราเข้าไป หลายคนก็พยายามตอบแทนให้เต็มที่ที่สุดอยู่แล้ว คนพิการทุกคนพร้อมที่จะทุ่มเททั้งกายและใจ แม้บางทีกายอาจจะไม่พร้อมแต่ใจทุ่มเทให้เต็มที่เท่าที่ความสามารถของเขาจะทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าบริษัทต้องการเปิดรับคนพิการ ก็ควรจะมีการทำความเข้าใจกับคนในองค์กรเรื่องข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ของคนพิการ คนที่มีอำนาจในบริษัทควรจะมีนโยบายการปฏิบัติต่อคนพิการในองค์กร เพื่อที่ทุกคนในองค์กรจะได้เข้าใจร่วมกันและต้อนรับ เปิดใจให้คนพิการกันมากขึ้น"

เช่นเดียวกับเก่งที่มองว่า ไม่อยากให้ผู้ประกอบการตัดสินใจจ้างคนพิการเพราะว่าสงเคราะห์หรือเพียงเพราะมีโควต้า  หากเทียบกับกีฬาฟุตบอลก็เหมือนกับการมีโควต้าเอเชียหรือโควต้าอาเซียน เมื่อมีโควต้าคนพิการ ก็ควรหาคนพิการที่เจ๋งๆ มาทำงาน ไม่ใช่สงเคราะห์คนพิการโดยให้เงินแต่ไม่มีงาน

แต่การจะเป็นคนเจ๋งที่มีทักษะในการประกอบอาชีพสำหรับคนพิการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสภาพแวดล้อมทำให้คนพิการต้องอาศัยต้นทุนของชีวิตมาเป็นตัวกำหนด 

"คนพิการเข้าถึงการเรียนยากมาก ทั้งจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อและคนในครอบครัวไม่เข้าใจ คนพิการบางคนก็มีพลังใจดี พร้อมลุย แต่ครอบครัวไม่เข้าใจหรือไม่มีเงินสนับสนุน หลายคนมองว่าคนพิการทำไม่ได้หรืออยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งกดทับคนพิการ จึงอยากเห็นวันหนึ่งที่คนพิการเก่งได้ เจ๋งได้ แล้วคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดากว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"

สิ่งที่ทำให้คนพิการเข้าสู่ตลาดแรงงานและสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

เก่งมองว่า การประชาสัมพันธ์หรือสื่อที่ทำให้คนเข้าใจและปรับเปลี่ยนมุมมองต่อคนพิการจะทำให้คนพิการมีอาชีพที่ยั่งยืนได้

"ถ้าความเข้าใจเหล่านี้แมสได้ การรับคนพิการเข้าทำงานก็น่าจะเป็นไปได้เพราะตอนนี้คนไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนพิการ เห็นได้จากเวลาคนพิการออกมาทำอะไรสักอย่าง โลกออนไลน์ก็จะแชร์ แห่ชื่นชมว่าดูสิเป็นคนพิการยังทำได้ สังคมยังมองแล้วยกย่องเกินจริงหรือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งทั่วไปที่คนหนึ่งคนควรจะทำได้"

ในขณะที่ปุ๊กปิ๊กมองว่า รัฐบาลเป็นกลไกประสานสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการจ้างงานคนพิการ

"รัฐบาลเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดของประเทศนี้ คุณสามารถออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับทุกหน่วยงานในประเทศได้ ฉะนั้นถ้าคุณออกกฎมา บริษัทต่างๆ ก็ต้องทำตาม นอกจากนี้จะต้องทำให้มีผลในทางปฏิบัติและใช้ได้จริงด้วย การบังคับให้มีเพียงอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าจะมีประสิทธิภาพ เช่น หากกำหนดให้สถานีรถไฟฟ้าทุกที่ต้องมีทางลาดให้วีลแชร์ แต่ไม่ได้กำหนดมาตรฐาน ใช้ทางลาดลงมาก็เจอเสาไฟฟ้า เจอดินลูกรัง เจอทางตัน ฯลฯ ฉะนั้นก็หวังว่า ถ้าออกกฏต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงการใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ อาจหยิบยกตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างญีปุ่น เกาหลี สิงคโปร์หรือไต้หวัน หากมีกฏที่ชัดเจนก็เชื่อว่า บริษัทเอกชนก็จำเป็นจะต้องออกนโยบายให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่กำกับไว้"

 

อ้างอิง

https://www.dep.go.th/images/uploads/files/situation_Sep64.pdf

https://dep.go.th/th/law-academic/service_stats/stat-depjob