Skip to main content

เมื่อเราเปิดทีวี ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าวหรือละคร สิ่งที่เราเห็นก็คือผู้คนและตัวละครที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปลักษณ์หรือบทบาท ความหลากหลายนี้ทำให้เราเพลิดเพลินได้เสมอ แต่ความหลากหลายมีไว้เพื่อทุกคนหรือไม่ เมื่อคนพิการเข้ามามีบทบาทในสื่อ เรามักจะเห็นภาพที่ปรากฎเพียงไม่กี่บทบาทเท่านั้น เช่น บทบาทของความสำเร็จของคนพิการที่แสดงให้เห็นถึงการมีข้อจำกัดทางร่างกายแต่สามารถประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งได้ หรือบทบาทความทุกข์ยากต่างๆ  ซึ่งจะเห็นได้จากรายการทีวีต่างๆ ที่ให้คนพิการมาเล่าเรื่องราวความลำบากในชีวิตตนเองให้ฟัง บทบาทเหล่านี้กลายเป็นภาพปรากฏของคนพิการจนคุ้นชิน 

Thisable.me จึงอยากชวนทุกคนร่วมสำรวจภาพลักษณ์ของคนพิการผ่านสื่อและทำความเข้าใจปรากฎการณ์นี้ให้มากขึ้นผ่านการพูดคุยกับรับขวัญ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ งานวิจัยในระดับปริญญาเอกของเธอนั้นศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์การแสดงที่ไม่ได้อยู่แค่ในทีวีหรือสื่อ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสังคมและวัฒนธรรมว่า  ปรากฏการณ์ความสุขเกิดขึ้นผ่านสื่อได้อย่างไรและสร้างชุดความเชื่อในสังคมได้อย่างไร

ว่าด้วยเรื่องของสื่อ

รับขวัญ: พอเราพูดถึงเรื่องสื่อ (Media) ความหมายมันกว้างมาก สื่อคือเรื่องของการสื่อสาร พูดแบบตรงไปตรงมาก็คือเครื่องมือตรงกลางที่ใช้ส่งข้อมูลระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ก่อนที่จะมีสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุหรือทีวี การรับรู้ข้อมูลและการสื่อสารของคนถูกส่งผ่านปากต่อปากผ่านคนที่เล่าต่อมาเรื่อยๆ แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างคนเล่าที่ 1 และคนเล่าที่ 2 เทคโนโลยีจึงเข้ามาแทนที่เพื่อทำให้การสื่อสารของมนุษย์พัฒนาขึ้น 

ตัวกลางอย่างการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์เริ่มมีบทบาทในการกำหนดชุดข้อมูล เช่น แทนที่จะเล่าว่าตอนเช้าไปเจอคนรถคว่ำ ก็กลายเป็นว่าเรื่องนี้จะถูกบันทึกไว้ในแบบที่คนสามารถรับรู้ได้เหมือนกัน โดยไร้ซึ่งการบิดหรือเปลี่ยนไป การเกิดขึ้นของสื่อจึงค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องสื่อทำหน้าที่อะไรก็คือ “ใครเป็นคนส่งต่อข้อมูลชุดนั้น” หรือ “ใครมีอำนาจในการถือครองสื่อชุดนั้น” เพราะยิ่งเป็นสื่อสาธารณะเท่าไหร่ แปลว่ายิ่งมีคนดูที่สามารถเข้าถึงข้อมูลชุดนั้นมากขึ้นสื่อจึงไม่ใช่แค่เรื่องของสื่อแต่หมายถึงผู้ส่งสารกับผู้รับสารผ่านความสัมพันธ์ทางอำนาจของความหลากหลาย หากมีการผูกขาดชุดข้อมูล เช่น สื่อในยุค Propaganda สงครามโลก หรือยุคเผด็จการใดๆก็แล้วแต่ ก็จะเห็นว่า สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ผ่านผู้มีอำนาจ ที่สามารถส่งต่อข้อมูลชุดหนึ่งเพื่อสร้างความปกติหรือการรับรู้ให้คนในสังคม การรับรู้จึงขึ้นอยู่กับว่าสื่อชิ้นนั้นถูกผูกขาดโดยอำนาจแบบใดหรือคนที่มีทัศนคติ (Mind set) ความเชื่อแบบไหน ทำให้เมื่อเราพูดถึงสื่อ จึงไม่สามารถพูดด้วยหลักนิเทศศาสตร์สมัยเก่าได้ แต่ต้องต้องมองถึงโครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองด้วย เช่น ประชาธิปไตยทำให้วงการสื่อเกิดประชาธิปไตยหรือเปล่า หากมีการเลือกตั้งแล้วสื่อยังถูกผูกขาดโดยทุนกลุ่มหนึ่งก็เท่ากับว่า ยังผูกขาดข้อมูลและการรับรู้ของประชาชนเช่นกัน

เพราะจุดขายคือ“ความแปลก” 

สื่อหรือ Media ที่มีการใช้คนพิการเข้ามาไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยที่เราเห็นในบทบาทของดาราหรือนักแสดงตลก แต่ต้องมองกลับไปถึง “ความพิการ” (Disabled) ที่สื่อเลือกจะหยิบมาเล่น ถ้าเรามองในตรรกะของการขายของ โฆษณาหรือการเขียนบทละคร สิ่งเหล่านี้ต้องมีจุดขายที่เด่นและไม่ซ้ำเรื่องอื่น สื่อหยิบภาพคนพิการในลักษณะของความผิดปกติมาเป็นจุดขาย เช่น ดาราคนนี้พูดไม่ชัด ตัวเล็ก ก็นำมาขายเหมือนมีความพิเศษบางอย่าง ความพิเศษเช่นนี้ในยุคแรกๆ มักมาพร้อมกับความตลกหรือคอมเมดี้  เช่นเดียวกับในไทย การเล่นตลกเจ็บตัว ตลกตีหัวก็เกิดขึ้นเหมือนกับในต่างประเทศ เช่นละครยุคหนึ่งซึ่งเรียกว่า “Slapstick Comedy” ที่ดำเนินเรื่องผ่านการฟาดกันไป ฟาดกันมาแล้วก็ขำ คนดูขำเพราะรู้ว่าความตลกนั้นมันไม่จริง เป็นเพียงการแสดง และเรารู้สึกตลกเพราะว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเองคล้ายกับตอนเด็กๆ ที่เราเห็นเพื่อนตกเก้าอี้หงายท้องแล้วคนในห้องก็หัวเราะ แต่เมื่อภาพเหล่านี้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นสื่อที่ฉายซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ ก็กลายเป็นภาพปกติ ยิ่งคนที่มีสื่ออยู่ในมือผลิตซ้ำภาพแบบเดิมเท่าไหร่ ยิ่งมีพื้นที่ในการส่งข้อมูลให้คนดูซ้ำแล้วซ้ำอีกได้นานเท่าไหร่ สิ่งที่เรามองว่าแย่มากหรือไม่ปกติ ก็กลายเป็นเรื่องปกติ สิ่งนี่คืออำนาจของสื่อในการผลิตซ้ำ ก็ยิ่งเกิดภาพแบบนี้ขึ้น

ในต่างประเทศมีข้อสังเกตและโต้แย้งในเรื่องนี้มานานมากแล้วและไปไกลกว่าภาพคนพิการในเชิงตลก แต่ยังรวมถึงภาพของเหยื่อด้วย ในไทยก็เริ่มมีภาพการทำให้ดูน่าสงสาร เช่น รายการที่ทำให้คนเห็นว่าพิการแล้วน่าสารมากจนต้องรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ในต่างประเทศเองก็มีการเอามาทำให้รู้สึกมีพรสวรรค์หรือมองว่า คนพิการคือคนที่มีความพิเศษซ่อนอยู่หรือไม่ก็เป็นฮีโร่ เช่น  ภาพยนต์ Blockbuster หนังฮอลลิวูด หรือแม้แต่ X-men ก็รวมคนพิการแล้วมองว่าความพิการมีความพิเศษบางอย่างอยู่ นอกจากนี้ยังนำเสนอคนพิการในรูปแบบของความไร้เดียงสา ความบริสุทธิ์เช่น ภาพยนต์ I am Sam และ Rain man ที่ทำให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของคนพิการ 

อย่างไรก็ดี ตัวอย่างทั้งหมดที่ว่ามานั้นไม่ได้หลุดไปจากกรอบที่มองว่าความพิการคือ “ความแปลก” และเอามาเป็นจุดขาย หากแต่เป็นความพิการแบบน่าสงสาร พิการแบบตัวร้ายที่สร้างรูปลักษณ์ว่ามีบาดแผล หรือมีความพิการทางจิตใจ เช่น โจ๊กเกอร์ ที่ถูกเล่าอย่างเป็นรูปแบบผ่านสื่อเท่านั้นโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นมนุย์

คนพิการที่ถูกเล่าในสังคมไทย

ในไทย เราคุ้นชินกับการทำให้เป็นตัวตลก เมื่อเราลองย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า ทำไมคนสามารถใจร้ายได้ขนาดนี้ ทำไมเราขำกับการเอาคนพิการมาแสดงตลกได้ เราจะพบว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ คนไม่ได้มีดีเอ็นเอแห่งการดูถูกคนอื่น แต่เกิดจากปฏิบัติการทางวัฒนธรรมผ่านสื่อที่ถูกทำซ้ำมาตลอด เช่น ในคณะตลกต้องมีคนพิการ แม้เราอาจมองว่า นี่คือการให้โอกาส แต่สุดท้ายก็ไม่หลุดกรอบจากการทำให้ตลก (Make fun) หรือการทำให้ภาพจำของคนพิการที่ถูกเล่าในสังคมไทยผ่านความตลกโปกฮา (Cheap Laughs) คือการเอาเสียงหัวเราะแบบง่ายๆ จากความพิการมาขาย 

อีกประเด็นที่รู้สึกว่าเริ่มมีเยอะและชัดขึ้นก็คือ การทำให้เป็นเหยื่อ (Victim) ไม่ก็คนสิ้นหวัง (Helpless) ที่ดูแลตัวเองไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดการแก้ปัญหา แต่ทำให้คนไม่พิการได้รู้สึกชำระล้างตัวเองผ่านการเห็นอกเห็นใจผ่านสื่อ เช่น รายการเกมส์โชว์บนทีวีที่ทำให้เห็นว่าเป็นคนพิการแต่ร้องเพลงเพราะ กรรมการก็จะชมว่า พิการขนาดนี้แต่ยังทำได้ ส่วนตัวจึงมองว่า สังคมไทยยังไม่ไปถึงจุดที่เอาความพิการมาสร้างเป็นพรสวรรค์ (Gifted) หรือความเป็นฮีโร่เลยด้วยซ้ำ แต่ยังอยู่ในจุดผู้ถูกกระทำเสียมากกว่า

ถูกสร้างเป็นตัวละครแต่ไม่สะท้อนโครงสร้าง

เวลาเกิดภาพจำนั้นไม่ได้มาจากการดีดนิ้วแล้วเกิด แต่เกิดจากการทำย้ำๆ จนสังคมมีภาพจำของความพิการ เช่น พิการคือวีลแชร์ พิการต้องไม่สมประกอบ ทั้งที่จริงแล้วความพิการมีหลายระดับ มีความพิการที่มองไม่เห็น ความพิการเหล่านี้จะสามารถไปอยู่ในสื่อหรือความบันเทิงโดยไม่กดทับได้หรือไม่ เราคิดว่าขึ้นอยู่กับต้องการส่งข้อความอะไรคุณมองคนพิการในฐานะมนุษย์คนหนึ่งหรือว่าคุณกำลังพูดเรื่องความพิการเป็นจุดขาย หากเป็นอย่างหลัง ไม่ว่าจะเชิดชูคุณค่ายังไงก็จะพูดถึงได้แค่คนพิการที่เป็นเด็กออทิสติกมีความสามารถพิเศษ แต่ไม่ได้พูดถึงเด็กออทิสติกกี่ร้อยกี่พันคนที่ไม่ได้มีพื้นที่แบบนี้

ฉะนั้นถ้าจะเล่าเรื่อง สร้างหนังหรือละครแล้วมีตัวละครที่พิการ คำถามคือทำไมตัวละครนี้ถึงต้องพิการ คุณเลือกมาเพราะอยากให้เห็นว่าตัวละครตัวนี้โดนกระทำจากสังคมรึเปล่า เขาควรได้รับคุณค่าที่ดีกว่านี้รึเปล่า หรือเพียงเลือกมาเพราะมีวีลแชร์แล้วเก่ง สามารถทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่ตั้งคำถามต่อว่า ใช่ทุกคนหรือไม่ที่สามารถมีชีวิตแบบนี้ได้ แม้แต่ในภาพยนต์ต่างประเทศเองก็ดี หลายครั้งก็ใช้ภาพของคนพิการเป็นพระเอก-นางเอกเพื่อลบหรือกลบปัญหาเชิงโครงสร้าง ผลักความพิการเป็นเรื่องของจิตใจที่เข้มแข็ง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่สำหรับทุกคน ทุกคนไม่ได้เกิดมามีต้นทุน ไม่ใช่ทุกคนเกิดมาจะได้รับการศึกษาแบบพิเศษที่ครอบคลุม โดยเฉพาะในหลายครั้งมักพยายามลบความพิการออกเพื่อให้ทุกอย่างดูเรียบง่าย หรือหายได้แต่ไม่ตั้งคำถามว่าสังคมโอบรับพวกเขามากน้อยแค่ไหน มีความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิเป็นอย่างไร  สื่อยังทำหน้าที่ตรงนี้น้อยมากในประเทศไทย กลับเห็นแต่เรื่องคนพิการจนแล้วสู้ชีวิต 

การสร้างเรื่องเล่าของคนพิการในเสรีนิยมใหม่

ปัญหาหลักใหญ่เวลาที่เราพูดถึงเรื่องอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สีผิว หรือแม้แต่ความพิการ แนวคิดเสรีนิยมใหม่พยายามตัดเรื่องพวกนี้ออกจากเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ผ่านการมองเป็นแค่เรื่องของจิตใจ อย่างคำพูดที่ว่า “ถ้าใจสู้” ซึ่งจริงๆ ตรรกะใจสู้นี้เป็นตรรกะเดียวกับสังคมทุนนิยมเลย ที่บอกว่าถ้าคุณขยัน สู้ ทำงานหนัก ก็จะมีชีวิตที่ดีได้ แนวคิดเช่นนี้กดทับหนักโดยเฉพาะสังคมเสรีนิยมใหม่แบบเข้มข้นที่ไม่มีตาข่ายรองรับประชาชน คนก็ต้องแบกรับต้นทุนชีวิตหนักขึ้นเท่านั้นคนที่ร่างกายแข็งแรงยังแบกรับขนาดนี้ คนที่มีความพิการยิ่งต้องแบกรับหนักกว่าคนปกติทั่วไป ฉะนั้นเวลาเห็นข่าวจึงรู้สึกหงุดหงิดมากที่คนชมว่าเขาสู้ชีวิต เขาต้องสู้เพราะคุณไม่มีอะไรให้ไง เหมือนเวลาเราดูคนจนแล้วเชิดชูว่าเค้าสู้ชีวิต แต่คนรวยไม่ต้องสู้ชีวิตเพราะคุณรวยแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องชนชั้นแห้งๆ อย่างชนชั้นสูง ชนชั้นต่ำ แต่ทุกสิ่งเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา คือคนที่มีต้นทุนสูงใช้คนพิการเป็นพื้นที่เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง โดยไม่พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้มีชีวิตดีขึ้น ทำเพียงแค่สงสารและบริจาค ถ่ายรูปลงว่าไปช่วยคนพิการเพื่อให้ตัวเองอยู่เหนือขึ้นไปอีก 

สตีเฟ่น ฮอว์คิง นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีความพิการต่อสู้และเน้นย้ำมาตลอดว่าเขามีชีวิตอยู่ได้เพราะระบบ Health Care System ในยุคสมัยของเขาที่ทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางที่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนต่างๆ เช่น วีลแชร์ สิ่งหนึ่งที่เขายืนยันคือ เขาไม่ได้ต้องการหายจากความพิการ แต่ เราต้องยอมรับความพิการและต้องหาทางดูแลโอบอุ้มสิ่งเหล่านี้ นั่นก็คือระบบ Health Care System เพราะหากปล่อยให้โรงพยาบาลกลายเป็นสินค้ามากเท่าไหร่ คนพิการที่เกิดมาต้นทุนต่ำก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงการรักษาที่ดี ปลอดภัยหรือมีอุปกรณ์ที่ทำให้ใช้ชีวิตที่ได้เหมือนคนทั่วไป ทั้งเรื่องการคมนาคม การสื่อสาร การเข้าถึงการเรียนรู้

ทำไมคนพิการจึงยังเอาตัวเองเข้าไปในกลไกของสื่อแบบนี้

เป็นเรื่องของพื้นที่และเงื่อนไขเศรษฐกิจ เมื่อสื่อไทยผลิตซ้ำค่านิยมหรือวัฒนธรรมการ Make Fun กับร่างกายคน ไม่ใช่แค่ความพิการหรือสีผิว เรื่องเพศก็เช่นกัน โครงสร้างนี้ทำให้วงการมีพื้นที่จำกัด ถ้าเกิดคุณอยากเป็นดารา คุณก็มีพื้นที่แค่นี้ แล้วคุณจะเอามั้ยเมื่อเล่นเป็นอันนี้แล้วคนชอบมากเลย เรตติ้งดีมาก คุณก็ต้องอยู่ในพื้นที่นี้สังคมมองว่าถ้าจะทำงานก็ต้องเอาความพิการมาขาย เอาความตลกมาขาย เอาความ “แปลก” ที่สังคมสร้างขึ้นมาขาย คนจึงรับบทเหล่านั้นเพราะอาจไม่เห็นว่าสามารถเป็นอย่างอื่นได้ 

ในสังคมปัจจุบันที่มีการตระหนักรู้มากขึ้น คิดว่าสื่อจะเปลี่ยนมุมมองตามไปด้วยหรือไม่

ถ้าถามเมื่อ 5 ปีก่อนก็จะตอบว่าคงยาก แต่ทุกวันนี้พอได้อยู่กับคนรุ่นใหม่ ได้เห็นกระแสสังคม ได้อ่านทวิตเตอร์และดูความเปลี่ยนแปลงของสื่อก็คิดว่าการตระหนักรู้นั้นมีผล แต่ก่อนนี้คนทำสื่อคิดว่าก็ทำละครตบจูบไปเถอะ คนชอบดู แต่ไม่เคยถามกลับเรื่องอำนาจของคนดูว่าถ้าวันหนึ่งคนไม่ดูคุณ ไม่เอาเนื้อหาแบบนี้จะทำยังไงกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศไทยไม่ใช่แค่ในเฉพาะเชิงการเมือง วัฒนธรรม แต่กำลังอยู่ในช่วงคุกรุ่น ประเด็นหลายๆ อย่างเกิดขึ้นเยอะไปหมด และทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง การถกเถียงก็คือสิ่งที่ดีเสมอ แต่ก่อนเราไม่เคยคิดเลยว่าไม่ควรบูลลี่คนพิการเพราะทำมาตั้งแต่เด็ก สมัยตัวเองเด็กๆก็ดูละครเรื่องบ้านทรายทองที่มีตัวละครคือชายน้อย การเล่นเป็นชายน้อยก็คือการ Make Fun เล่นตลก แต่พอสังคมเปลี่ยนไป คำถามเกิดขึ้นคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามถึงการบูลลี่ ก็แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีการวิเคราะห์ถึงบางอย่างที่เคยโอเค วันหนึ่งอาจจะไม่โอเคแล้วก็ได้ ตอนนี้สื่อกระแสหลักก็เริ่มปรับตัว เช่นประมาณ 4 ปีก่อน ในเกมส์โชว์มักจะมีการล้อสีผิว แม้แต่นักแสดงที่ผิวคล้ำก็ยังเล่นความดำของตัวเอง แต่พอสังคมเริ่มมีการวิพากษ์มากขึ้น การไม่ปล่อยผ่านมากขึ้น สังคมและวัฒนธรรมก็เปลี่ยนและสื่อก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน

หลุดจากกรอบอัตลักษณ์เพื่อมามองปัญหาสังคม

อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าสำคัญก็คือเวลาเราพูดว่าต้องเคารพสิทธิมนุษยชนในโลกเสรีนิยมใหม่สิทธิมนุษยชนมักมากับเรื่องส่วนตัว ตัวใครตัวมัน เราไม่บูลลี่กัน ฉะนั้นการสร้างภาพจำไม่ควรแค่เลิก Make Fun และหันมาทำละครแบบมีความสามารถพิเศษเท่านั้นเพราะหากเราไม่สามารถหลุดจากกรอบที่สร้างความพิการว่า “แปลก” โดยไม่ได้มองปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือบอกว่าคนพิการมีความพิเศษจนคนดูได้รับแรงบันดาลใจ คนพิการอีกมากมายที่ไม่ได้มีคุณค่าเช่นนั้นก็จะตกหล่น สังคมจะไม่รองรับพวกเขา ฉะนั้นสื่อจะต้องสร้างให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพร่างกายแบบไหน ต้องสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานได้ ไม่เช่นนั้นคนพิการก็จะตกอยู่ในกรอบของการเอาอัตลักษณ์ความพิการมาเป็นตัวละครหนึ่งเท่านั้น

กาญจณี สุคะมะโน
นักศึกษาฝึกงาน