Skip to main content

ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้น ผู้คนในกลุ่มต่างๆ ได้รับความเข้าใจที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สัญชาตหรือวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี แม้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีอยู่ในสังคมมานานและได้รับความเข้าใจมากขึ้น แต่ประเด็นหนึ่งอย่างบุคคลออทิสติกกลับยังไม่ได้รับความเข้าใจจากคนในสังคมเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดการกลั่นแกล้ง การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องจนทำให้คนบุคคลออทิสติกใช้ชีวิตลำบากและคนในสังคมรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้เข้าถึงยาก

Thisable.me จึงชวนทำความเข้าใจบุคคลออทิสติกให้มากขึ้นผ่านมุมมองของ “โฟกัส” ผู้ซึ่งรู้ตัวว่าตัวเองเป็นออทิสติกตอนอายุ 15 ปี ปัจจุบันเขาได้สร้างและเป็นแอดมินเพจ NeurodiverThai ที่คอยอัพเดตเรื่องราวและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลออทิสติก

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สนใจเรื่องออทิสติก

โฟกัส: ตอนที่เรารู้ตัวว่าเป็นออทิสติก เราก็ลองเข้ากลุ่มออของฝรั่ง เช่น Autism Community หรือ Autism Inclusivity กลุ่มเหล่านี้ให้ความรู้เกี่ยวกับ Neurodiversity (ความหลากหลายทางระบบประสาท) ในตอนนั้นงงว่า Neurodiversity คืออะไร แล้วเกี่ยวกับออทิสติกอย่างไร จึงลองเอาคำนี้ไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตและพบว่าน่าสนใจ ในเมืองไทยก็ยังไม่มีคนพูดเรื่องนี้ เราจึงต้องการบอกเล่าเรื่องดังกล่าวและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ก่อตั้งเพจ

อีกสาเหตุหนึ่งของการทำเพจก็คือ ช่วงหนึ่งเราเห็นคนทะเลาะกันในเพจเฟซบุ๊กโดยใช้คำด่าว่า “พิการทางสมอง” และตอนนั้นตัวเองก็รู้สึกไม่โอเค จึงได้ออกโรงต่อต้านและตั้งเพจ NeurodiverThai ในปัจจุบัน 

คนที่เป็นออทิสติกอยากให้นิยามตัวเขาว่าอะไร

คนที่เป็นออทิสติกนิยามตัวเองว่าเป็น “บุคคลออทิสติก” คือเราจะเรียกเป็น Identity first language เช่นเกี่ยวกับในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Autistic Person ไม่ใช่คำว่า Person with Autism เหตุผลที่นิยามเช่นนี้เป็นเพราะอยากให้ออทิสติกเป็นส่วนเด่นที่สุดของร่างกาย ไม่ใช่ส่วนด้อยที่ขจัดออกได้ 

คำไหนไม่ควรใช้กับบุคคลออทิสติก

จริงๆ มีหลายคำมาก คำที่เจอบ่อย เช่น เอ๋อ ติงต๊อง ปัญญาอ่อน หรือคำที่แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องทางสติปัญญา นอกจากนี้ก็คือคำว่าป่วย โรค รักษา เพราะว่าออทิสติกไม่ใช่โรคและไม่มีใครตายจากออทิสติกด้วย

สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกคืออะไร

คนเข้าใจผิดกันว่าคนออทิสติกควบคุมอารมณ์ไม่ได้เพราะว่าอยู่ไม่เฉย ทั้งที่จริงแล้วการอยู่ไม่เฉยเป็นเพราะพฤติกรรมการควบคุมอารมณ์ และการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น การโยกตัวไปมา มองพัดลม หรือการที่ตัวเราเองที่ชอบฟังเพลงซ้ำไปซ้ำมาเพราะรู้สึกว่ามันผ่อนคลายและควบคุมอารมณ์เราได้ หากเราปิดกั้นพฤติกรรมการกระตุ้น สิ่งที่ตามมาก็คืออาการ Melt Down หรือภาวะฟิวส์ขาด ชัตดาวน์ แล้วก็หมดไฟ ซึ่งอันตรายมากสำหรับบุคคลออทิสติกอาการ Melt Down ไม่ใช่แค่โมโห ส่วนใหญ่จะออกมาเป็นอารมณ์เศร้าหมองที่คนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการเกี้ยวกราดนั่นเอง

สิ่งที่จะทำให้บุคคลออทิสติกกับคนทั่วไปอยู่ด้วยกันได้คืออะไร

ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถามความต้องการของเขาว่าต้องการอะไรและศึกษาข้อมูลว่า มีจุดละเอียดอ่อนอะไรหรือไม่ ถ้าศึกษาไม่ดีพอก็อาจเกิดปัญหาทางสังคมได้ 

หากครอบครัวใดมีลูกเป็นออทิสติก อย่างแรกคืออย่าพาเด็กไปบำบัดหรือแก้ไข้ความเป็นออทิสติก เราเองเคยโดนมาแล้ว ทั้งโดนให้นั่งเฉยๆในห้องน้ำเพื่อปิดกั้นการกระตุ้น จนสุดท้ายเราก็เกิดอาการ Melt Down แล้วสุดท้ายอาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ เราไม่อยากให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น นอกจากนี้คนควรเคารพความเป็นออทิสติก เช่น พอรู้ว่าลูกตัวเองเป็นออทิสติก ก็ต้องถามลูกว่ามีความละเอียดอ่อนเรื่องไหน พอรู้แล้วก็จะได้ระวังไม่ให้เกิดสิ่งกระตุ้นจุดอ่อนของเขา เช่น หากลูกละเอียดอ่อนเรื่องแสงก็ต้องเตรียมแว่นกันแดดมาให้ใส่และสุดท้ายอย่าไปโมโหเขา เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตในอนาคตได้

ทำไมถึงมองว่าบุคคลออทิสติกไม่ควรรับการรักษา

เราดูกลุ่มคนที่เป็นออทิสติกในต่างประเทศและเขาเชื่อกันว่า ออทิสติกคือพันธุกรรม เป็นความหลากหลายทางระบบประสาท ซึ่งรักษาไม่ได้ ถ้ารักษา พฤติกรรมสำคัญอย่างการกระตุ้นก็จะเลือนหายไปด้วย ถ้ายิ่งไปบำบัดแก้ความเป็นออทิสติก เช่น ABA (Applied Behavior Analysis) ที่เป็นการบำบัดออทิสติกก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการ PTSD (Post-traumatic stress) ได้ เพราะการบำบัดมีความรุนแรงซ่อนอยู่

เป็นออทิสติกในไทยมีปัญหาอะไรบ้าง

จริงๆ แล้วเราไม่กล้าเปิดเผยตัวตนในที่สาธารณะเพราะกลัวคนมองในทางที่ไม่ดี ปัจจุบันคนยังเอาความเป็นออทิสติกมาทำให้เป็นเรื่องตลก ประกอบกับที่บ้านเรายังไม่รู้ว่า ออทิสติกคืออะไร เราจึงไม่กล้าให้ตัวเองรับการกระตุ้นมากเมื่ออยู่ภายนอก เช่น โยกตัวไปมาเพราะว่ากลัวคนจะมองว่าเราเป็นคนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มากสุดก็เลยใส่หูฟัง ปัญหาอีกอย่างคือบ้านเราไม่มีองค์กรที่เจ้าของเป็นออทิสติกเลย จากที่ศึกษาข้อมูลขององค์กรหนึ่งในต่างประเทศและได้พูดคุยกับเจ้าของที่ชื่อว่า Autistic Inclusive Meets เขาเล่าว่าส่วนตัวอยากมาเปิดสาขาในเอเชียมาก แต่องค์กรออทิสติกในไทยยังมองว่าออทิสติกคือข้อผิดพลาด เช่น ยังให้มีการบำบัดอยู่ ส่วนตัวไม่อยากให้เกิดการบำบัดในอนาคต และอยากทำให้เกิดองค์กรออทิสติกในประเทศไทย ความฝันนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้อยากเรียนต่อด้านสังคมศาสตร์ด้วย

คิดว่าในตอนนี้มุมมองของคนที่มีต่อบุคคลออทิสติกเปลี่ยนไปมั้ย 

ตอนนี้เราทำเพจมาได้ 1 ปีแล้ว และพบว่าจากปีที่แล้วคนไทยยังไม่รู้จักวันภูมิใจในความเป็นออทิสติกซึ่งตรงกับวันที่ 18 มิถุนายน แต่ปีนี้คนก็รู้จักพิ่มขึ้น แม้ตอนนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นเยอะแต่ก็เพิ่มจากปีที่แล้ว และเรื่อง Neurodiversity ก็มีคนรู้เยอะขึ้นด้วย

ในอนาคต เราอยากให้เรื่องบูลลี่หมดไป การบูลลี่ต้องเป็น 0% และไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ และต้องแบนการรักษาที่มุ่งแก้ออทิสติกออกไป เหมือนกับในต่างประเทศที่เริ่มแบนการบำบัดแล้ว ไม่อยากบุคคลออทิสติกเกิดมาเจอเรื่องน่ากลัว เราอยากได้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับบุคคลออทิสติก เช่น เราเป็นคนไม่ชอบสบตาคนอื่น หากต้องไปสมัครงานในอนาคตและต้องมีการคุยแบบสบตาอาจจะรู้สึกไม่โอเค ก็อยากให้คนเข้าใจส่วนนี้ 

สามารถติดตามผลงานได้ที่ไหนบ้าง

ตอนนี้ก็มีเพจ NeurodiverThai (https://www.facebook.com/neurodiverthai/)และเว็บซต์ http://neurodiverthai.wordpress.com ที่ลงบทความและ Podcast ทั้ง 2 รายการคือรายการจิตสีรุ้ง กับรายการ NeuroTalk

กาญจณี สุคะมะโน
นักศึกษาฝึกงาน