Skip to main content

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทุกคนต่างได้รับผลกระทบด้วยข้อจำกัดที่มีมากขึ้นในสังคม รวมถึงคนพิการที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตมากขึ้นไปอีก ทั้งด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและสวัสดิการของรัฐที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตทั้งในช่วงสถานการณ์ปกติและยิ่งหนักขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

ชวนคุยกับ ‘นัท-ณัฐนนท์ บุญสม’ ชายข้ามเพศซึ่งพิการทางการได้ยินถึงเรื่องปัญหาที่พบในช่วงโควิด-19 ไปจนถึงเรื่องที่คนในสังคมไม่เข้าใจเกี่ยวกับคนพิการและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

“เรามักตัดสินพวกเขาจากสิ่งที่เป็น แต่ไม่ได้มองที่ความสามารถที่พวกเขามี” นัทกล่าว

มุมมองของคนรอบข้างกับตัวตนของเรา

ณัฐนนท์ : ตอนเราเป็นเด็ก เพศทางเลือกยังไม่แพร่หลายในสังคมไทยเท่าไหร่ หลายคนบอกว่าเราเป็นทอม เราเองก็เรียกตามคนอื่นว่าตัวเองเป็นทอม ทั้งที่จริงๆ เรามองว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนเด็กผู้ชาย แม่คาดหวังให้เราเป็นผู้หญิง เพราะเป็นสิ่งที่เขาต้องการ ต่างจากพ่อที่มองว่าเรามีความสุขกับการเป็นผู้ชายมากกว่า จึงผลักดันและสนับสนุนในสิ่งที่เป็น ในช่วงนั้นกฏหมายกำหนดว่าหากเยาวชนต้องการเทคฮอร์โมนหรือผ่าตัดแปลงเพศ ต้องให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอม พ่อเราทำงานอยู่ต่างประเทศ ส่วนแม่เป็นตำรวจที่ไม่เปิดกว้างเรื่องเพศ เราจึงต้องรอจนอายุ 20 ปีก่อนแล้วจึงเริ่มใช้ฮอร์โมน

ผมพูดไม่ชัดมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่มีใครเอะใจว่าจะเป็นโรคประสาทหูเสื่อม กระทั่งเรียนมัธยมต้น ครูบอกว่าให้พ่อแม่พาไปตรวจหูเพราะเรียกแล้วไม่ได้ยิน จึงพบว่าเป็นโรคประสาทหูเสื่อมที่หาสาเหตุไม่เจอ และยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ เราได้ยินแค่เสียงต่ำ แต่เมื่อเป็นเสียงสูงจะต้องหาคนคอยแกะเสียงให้ หากประสาทหูแย่ลงเรื่อยๆ ต้องผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมข้างละ 8 แสนบาท ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

ครอบครัวไม่อยากให้เรามองว่าตัวเองพิการ แต่การเอาเราไปเปรียบเทียบกับเด็กหูดีในเรื่องการเรียนมันก็ค่อนข้างยากอยู่เหมือนกัน เพราะเราเองต้องพยายามมากกว่าคนอื่น และเนื่องด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในประเทศนี้ยังไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตเท่าที่ควร แม้คนอื่นจะห่วง แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเราก็พยายามอยู่ไม่น้อยไปกว่าคนอื่น

การเรียน การทำงาน และเป้าหมายในชีวิต

เมื่อก่อนเราเคยเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัญหาทางการได้ยินทำให้หูเราแย่ลงไปเรื่อยๆ เมื่อต้องเรียนห้องหนึ่งเป็นร้อยคน อาจารย์ไม่สามารถดูแลนักศึกษาได้ทั่วถึงก็เลยลาออกมาเรียนราม โดยต้องมีอาจารย์มาสอนประกบ อาศัยการอ่านปากถึงจะลำบากนิดหน่อยแต่ก็เรียนได้ 

ผมอยากจะเป็นนักสิทธิเพื่อช่วยเหลือคนอื่นใน 3 ด้านหลักคือ ความหลากหลายทางเพศ ความพิการ และความชรา เพราะมองว่า รัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมคนกลุ่มนี้เท่าที่ควร

โควิด-19 กับอุปสรรคในการดำเนินชีวิต

เรายังไม่ได้จำเป็นต้องเรียนภาษามือ แค่ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมก็ยังสื่อสารได้ แต่เมื่อช่วงนี้มีโควิด-19 ทุกคนสวมใส่แมสก์ ผมที่ปกติอาศัยการอ่านปากเวลาสื่อสาร จึงพบอุปสรรคมากพอสมควร

เวลาผมทำธุระต่างๆ ต้องอาศัยการอ่านปาก ปัจจุบันไม่สามารถอ่านได้แล้ว แม้พอได้ยินบ้างแต่ต้องคิดหนักว่า เขาพูดอะไร ต้องพยายามเรียนรู้เสียงคนอื่น สำหรับเสียงต่ำเราจะรู้เรื่อง แต่เสียงสูงหรือไม่คุ้นหูก็อาจจะเป็นปัญหา การทำธุรกรรมบางอย่างจะมีตัวหนังสือขึ้นบนหน้าจอก็ถือว่าโชคดีไป แต่ในบางสถานที่ก็ไม่มี เวลาถึงคิวแต่เขาเรียกเราก็ไม่ได้ยิน ค่อนข้างลำบากอยู่เหมือนกัน

เหตุการณ์ที่เป็นกระแสอยู่ เรื่องต่อใบขับขี่แล้วเกิดปัญหาเป็นมาอย่างไร

วันนั้นเราไปต่อใบขับขี่ที่ขนส่ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 กำลังร้อน ทุกคนใส่หน้ากากทำให้การสื่อสารของผมกับคนอื่นค่อนข้างลำบากกว่าปกติ เราจึงพาน้องสาวไปด้วย เมื่อไปถึงก็แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามาต่อใบขับขี่ เราขับรถได้แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่เชื่อว่าขับได้ แม้ผมเตรียมเอกสารไปครบทุกอย่างแต่เจ้าหน้าที่ก็พูดเร็วมากจนฟังไม่ทัน เราจึงเรียกน้องสาวมาช่วยแต่เจ้าหน้าที่กลับชักสีหน้า มองด้วยสายตาเหยียดหยาม และมีอารมณ์หงุดหงิด ทั้งที่เราอธิบายว่าได้ยินไม่เท่าคนอื่น น้องสาวแม้ไม่โอเคกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องห้ามตัวเองไว้เพราะกังวลว่าอาจไม่ได้ใบขับขี่

เมื่อถึงเวลาทดสอบ เจ้าหน้าที่ให้เราเหยียบเบรกเวลาไฟแดงขึ้น พอเราเห็นว่ามีไฟแดงสามจุด มีแดงซ้าย แดงหน้าและแดงขวา เราก็ไม่แน่ว่าจะต้องเหยียบเบรกตอนไหนจึงสอบถาม แต่เขาไม่อธิบาย น้องสาวจึงเข้ามาบอกให้เหยียบเบรกตอนไฟแดงขึ้นทางขวา แต่กลับถูกไล่ ไม่ให้เข้ามาช่วย

สุดท้ายเราก็ได้ใบขับขี่โดยไม่ต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม แต่ความไม่พอใจจะไม่เกิดขึ้นถ้าเจ้าหน้าที่ใจเย็นและมีใจบริการมากกว่านี้ แม้เข้าใจว่ามีคนใช้บริการขนส่งจำนวนมาก แต่ก็ไม่ควรจะชักสีหน้าหรือพูดจาไม่ดี โดยเฉพาะเมื่อเราไม่ได้แสดงกริยาไม่ดี เขาก็น่าจะอธิบายดีๆ ได้ ส่วนหนึ่งเรามองว่าสังคมไทยเห็นคนพิการเป็นอะไรที่น่ารังเกียจ ไม่จำเป็นต้องพูดดีด้วย ทั้งที่คนพิการก็เป็นคน หลังจากเรื่องแพร่ไปในโซเชียล ขนส่งโทรมาขอโทษ เราบอกว่าอยากให้พนักงานใจเย็น ใจกว้าง และลดอคติลง ซึ่งเขาก็รับปากว่าต่อไปนี้จะปรับปรุง  

สังคมไทยกับ LGBT+ ในปัจจุบัน

เรามองว่าสังคมไทยเปิดกว้างขึ้น แต่ก็ไม่ได้ยอมรับจริง สังคมให้น้ำหนักแค่กับกลุ่มคนที่ดูดี สวย หล่อ หรือมีความสามารถ แล้วคนที่เหลืออยู่ตรงไหนในสังคม เราคิดว่าสังคมยังสลัดมายาคตินั้นไม่หลุด

คนทุกคนควรถูกยอมรับโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข แม้คนนั้นไม่สวย ไม่หล่อ ไม่ได้มีความสามารถ แต่เขาไม่ได้มีค่าความเป็นคนน้อยกว่าคนอื่น จึงไม่อยากให้ไปตัดสินเขาและควรเคารพความแตกต่างของคนอื่น ผู้ชายข้ามเพศบางคนก็ไม่ได้เทคฮอร์โมน แต่เขาก็มองว่าตัวเองเป็นผู้ชาย สังคมควรเคารพการนิยามตัวเอง ผู้ชายที่ชอบสีชมพูก็มี ชอบแต่งหน้าก็มี ผู้ชายไม่ต้องเข้มแข็ง ร้องไห้ได้ มายาคติที่ฝังรากลึกในสังคมมายาวนานควรหยุดได้แล้ว

“ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แค่อยากให้เคารพความเป็นมนุษย์ของเรา”นัทกล่าว

การที่หลายคนมองว่าคนพิการน่าสงสาร เพราะเขาตีกรอบแล้วว่าคนพิการไร้ความสามารถ เมื่อประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่คนพิการยังไม่สามารถเข้าถึงได้ คนพิการเลยไม่ได้แสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ทั้งที่หลายคนมีความสามารถและทุกคนควรได้รับการยอมรับเหมือนกับคนอื่นทั่วไปในสังคม