Skip to main content

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า โรคที่เกิดขึ้นในปีนี้อย่างโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบ กับคนทุกกลุ่ม ทุกสถานะอย่างมาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อหลายล้านคนทั่วโลก และกว่าสามพันคนในไทยคงเป็นเครื่องยืนยันความน่าสะพรึงกลัว ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มคนพิการ 

ภาพบรรยากาศการถ่ายทำรายการล่ามภาษามือ

ย้อนกลับไปในช่วงแรกของการระบาด เราจะพบว่าโควิด-19 ถูกเรียกด้วยชื่อหลากหลายแบบ ตั้งแต่ โคโรน่าไวรัส ไวรัสอู่ฮั่น จนไปถึงโควิด-19 

มีข้อมูลของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรค การปฏิบัติตัว นโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing เกิดขึ้นมากมาย ทั้งจริงและไม่จริง สร้างความสับสนให้แก่ผู้คน โดยเฉพาะคนหูหนวกที่เข้าไม่ถึงข้อมูลอยู่แล้วแม้จะเป็นสถานการณ์ปกติก็ตาม

คำถามที่เกิดขึ้นคือในช่วงสภาวะวิกฤตแบบนี้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากแค่ไหน รวดเร็วเพียงใด สอดรับกับความช่วยเหลือที่ต้องการหรือไม่ สื่อมีความสำคัญต่อคนหูหนวกมากเพียงใด เราอยากชวนคุณปรับมุมมองสู่โลกที่ไร้เสียง ดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนหูหนวกในช่วงวิกฤตเช่นนี้

เข้าไม่ถึงข้อมูลเป็นปัญหาใหญ่

ดา-สุชาดา จิตรสุภาพ เป็นล่ามภาษามือนานกว่า 20 ปี เธอเรียนรู้ภาษามือมาตั้งแต่เด็กเพราะมีคนในครอบครัวเป็นคนหูหนวก วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนหูหนวกจึงเป็นสิ่งที่คุ้นเคย เธอเล่าว่า ในช่วงโควิด-19 คนหูหนวกเผชิญทั้งปัญหาการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารที่ไม่ชัดเจน ผลกระทบจาก Social distancing รวมไปถึงการเยียวยาความเดือดร้อนจากภาครัฐที่เข้าไม่ถึง

สุชาดา: คนหูหนวกส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่า ในสถานการณ์ปกติข่าวภาษามืออยู่ช่องไหน ภาคเที่ยงมีช่องไทยพีบีเอส ช่องสาม ช่องทรู ช่องทีเอ็นเอ็น และ ช่อง 11 แต่พวกเขาไม่รู้ว่ามีแถลงสดจากศูนย์ฯ หรือรัฐบาล หลายคนเพิ่งรู้จากรายงานสถานการณ์เป็นภาษามือ รายการ big sign  ของไทยพีบีเอส ที่ได้สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยและคนหูหนวกช่วยกันแชร์

ช่วงแรกที่เกิดโควิด-19 เป็นปัญหากับคนหูหนวกมาก เพราะข่าวสารมีความหลากหลาย และยังไม่ได้รับการกลั่นกรอง คนหูหนวกคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาวิตกจริตมากเพราะไม่แน่ใจว่าสาเหตุของโรคมาจากไหน ค้างคาวหรืองู ตกลงแล้วมาจากไหนกันแน่ ซึ่งเราเองก็ได้แต่ตอบว่าไม่มั่นใจ เพราะเวลานั้นยังไม่มีใครทราบ แต่คนหูหนวกยิ่งเครียดยิ่งกังวลมากกว่า เพราะเขาไม่มีข้อมูลเลยว่า ติดกันแบบไหน คนสู่คนหรือไม่ ป้องกันอะไรได้บ้าง ช่วงที่ทุกคนต้องการข้อมูลข่าวสาร ก็เป็นช่วงที่คนหูหนวกต้องการเหมือนกัน แต่กลับไม่มีข้อมูลที่เข้าถึงได้

ช่วงแรกที่รัฐบอกให้กักตัวอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ คนหูหนวกมีคำถามมากมาย เขาถามว่า จะอยู่บ้านได้อย่างไร กินยังไง แม้ช่วงแรกยังพออยู่กันได้ แต่พอถึงช่วงที่มีการปิดสถานประกอบการ คนหูหนวกจำนวนมากก็ตกงาน แล้วใครจะช่วยพวกเขา จะเอาเงินจากไหนมาใช้เมื่อไม่ได้ทำงาน คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่มีใครให้คำตอบพวกเขาได้

การกักตัวอยู่บ้านตามหลัก Social distancing ทำให้คนหูหนวกโดดเดี่ยว หากในบ้านเขาเป็นคนเดียวที่หูหนวกและไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ เขาก็ไม่มีสังคม คนหูหนวกอยากจะพูดคุยสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคม เพราะอยู่บ้านแล้วก็ไม่มีใครให้ข้อมูล ไม่มีใครพูดคุย แม้ไม่ได้อยากออกไปเสี่ยงหรือมั่วสุม แต่ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก คนหูหนวกจึงมักออกไปหาเพื่อนหูหนวก แต่เมื่อจากบ้าน คนหูดีในครอบครัวก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนหูหนวกไม่ยอมกักตัว กลายเป็นพวกดื้อเอาเชื้อมาติดคนในบ้านอีก

คนพิการหลายคนเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากภาครัฐ ไม่ใช่แค่คนหูหนวกแต่กระทบคนพิการทุกประเภท คนพิการแขนขาบางคนก็ต้องอาศัยญาติพี่น้องลงให้ ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนก็ลงทะเบียนรับสิทธิไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัด พ่อเราเป็นคนหูหนวก ก็ยังมีเราคอยอธิบายให้ฟัง แต่อย่าลืมว่ามีคนหูหนวกที่อยู่คนเดียว บางคนอ่านหนังสือไม่ออกก็ตกขอบหมด มีคนหูหนวกที่ไม่รู้มาตรการอะไรเลย เช่น ถ้าขายเสื้อผ้าที่แผงลอยจะลงทะเบียนเยียวยาได้ไหม รายละเอียดเหล่านี้ไม่มีใครตอบในรูปแบบภาษามือ แค่เพียงทำเป็น QR Code นำไปสู่ขั้นตอนการรับเงินเป็นภาษามือ คนหูหนวกก็จะเข้าถึงได้มากขึ้น

ล่าสุดนโยบายของ กสทช. ที่ให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี 10 GB คนหูหนวกชอบมากรีบสมัครกันใหญ่เพราะ อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทำให้พวกเขาคุยวีดิโอคอลได้มากขึ้น แต่ปรากฎว่า ใช้ได้แป๊ปเดียวก็หมด เพราะการคุยผ่านกล้องใช้อินเตอร์เน็ตเยอะ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีในช่วงที่ไม่มีรายรับ เพราะคนหูหนวกมีความจำเป็นต้องใช้ ยิ่งในช่วงที่ออกไปเจอใครไม่ได้ก็ยิ่งอยากจะพูดคุย 

สื่อสำคัญมากในสภาวะวิกฤต

ภาษามือทำให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลได้อย่างชัดเจน ได้รู้ว่าช่วงนี้มีคนเจ็บกี่คน เสียชีวิตกี่คน ต้องระวังแค่ไหนหากไปในจุดเสี่ยง จังหวัดไหนมีคนป่วยบ้าง เป็นพื้นที่ที่มีญาติหรือคนในครอบครัวอาศัยอยู่หรือเปล่า ช่วงที่ผ่านมามีการเคอร์ฟิว จำกัดเวลา คนหูหนวกหลายคนก็เพิ่งเข้าใจว่า เคอร์ฟิวคือห้ามออกจากพื้นที่บ้านตัวเอง การไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าถึงได้ ทำให้คนหูหนวกได้ข้อมูลกันแบบผิดๆ ถูกๆ พอมีรายการ  Big sign  รายงานข่าวภาษามือขนาดใหญ่ครึ่งจอที่คนหูหนวกเห็นได้ชัดกว่าล่ามภาษามือบนจอทีวีทั่วไป เขาก็รับข้อมูลได้มากขึ้น

คนหูหนวกเป็นคนไทยเหมือนกัน มีสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญคือต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ คนหูหนวกไม่อยากเป็นภาระกับใคร โดยเฉพาะเวลามีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม คนหูดีอาจรู้เรื่องจากข่าว แต่คนหูหนวกรู้ช้ากว่า คนหูหนวกก็ต้องขอความช่วยเหลือจนคนหูดีก็รู้สึกว่าคนหูหนวกเป็นภาระที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ฉะนั้นหากทำให้ คนทั้ง 2 กลุ่มรับสารอย่างเท่าทันกันปัญหานี้ก็จะไม่เกิด

เราคิดว่า ควรต้องมีกลไกในการให้ข้อมูลข่าวสารมากกว่านี้ ในทุก วินาทีที่คนหูดีได้รับข้อมูลข่าวสารคนหูหนวกก็ควรได้รับเช่นกัน บางคนบอกว่า รายการออกช่วง ตีสามถึงตีห้าไม่มีคนหูหนวกมาดูหรอก เราก็บอกเขาว่าอย่าไปคิดแบบนั้น มีคนหูหนวกที่เลิกงาน นอนไม่หลับหรือทำงานกลางคืนเหมือนคนอื่นทั่วไป หรือหากคิดว่าไม่มีคนดูแล้วจะมีรายการช่วงนั้นไปทำไม หากมีรายการแล้วทำไมคนหูหนวกถึงไม่มีสิทธิดู นอกจากกนี้ รายการที่มีภาษามือในบ้านเราส่วนมากเป็นรายงานข่าว ทั้งๆที่คนหูหนวกก็อยากดูละคร ดูรายการทำอาหาร สาระบันเทิง รายการตลก เหมือนกันกับคนอื่น

ทำสื่อให้ถึงมือคนหูหนวกในช่วงโควิด-19

หนึ่งในสื่อที่แปลกตาที่สุดในช่วงโควิด-19 คงหนีไม่พ้นรายการ  Big sign รายงานข่าวภาษามือที่มีขนาดใหญ่ครึ่งจอ ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์ รายการได้รายงานสถานการณ์จากสองที่ คือศูนย์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงสาธารณะสุข ที่มี กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 

กนกพร : ช่วงเลือกตั้งปี 2562 เรามีรายการพิเศษที่ชื่อว่า ‘สิบวัน พันนาที ชี้อนาคตประเทศไทย’ ทำนโยบายพรรคการเมืองให้เป็นภาษามือ ตอนนั้นตั้้งเป้าหมายว่า คนพิการอยากดูอะไร พวกเขาควรรู้อะไรและมีเรื่องไหนที่ควรจะสื่อสาร

ตอนทำรายการ ‘หนึ่งวัน พันนาที’ แม้จอล่ามค่อนข้างใหญ่แต่ไม่เท่าปัจจุบัน คือขนาดใหญ่กว่าในทีวีทั่วไป เป็น 1 / 3 ของจอ หลังจากโครงการเลือกตั้งปี 2562 ก็มาที่งานพระราชพิธีสำคัญ โดยเลือกจากเหตุการณ์ที่คนในสังคมให้ความสนใจ และมีความสำคัญกับประเทศ หลังจากก็ต่อยอดไปอีกเพราะคนหูหนวกไม่ควรรู้แค่ข่าวสาร จึงขยายไปยังเนื้อหาบันเทิงและสารคดีข่าวด้วย

โดยเอารายการในสถานีมาทำเป็นภาษามือ ที่เป็นรายการสำหรับทุกช่วงอายุ เช่น รายการหม้อข้าวหม้อแกง เกี่ยวกับเด็กทำอาหาร, รายการยินดีที่ได้รู้จัก สำหรับช่วงวัยทำงาน , รายการดูให้รู้ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวในต่างประเทศ และสุดท้ายเป็นละครซิทคอมแก๊งค์เก๋าเขย่าครัว เป็นซิทคอมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ รายการเหล่านี้น่าจะตอบโจทย์คนหูหนวกได้ไม่มากก็น้อย 

เราดำเนินงานมาเรื่อยๆ จนต้นปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทีมงานจึงเสนอว่าน่าจะมีการรายงานสถานการณ์เป็นภาษามือ หลังประสานไปยังสมาคมคนหูหนวก เพื่อขอล่ามภาษามือแปลข่าว สมาคมตอบรับไวมากและทำงานร่วมกันนานนับเดือนแล้ว โดยรายงานแถลงการณ์จากกระทรวงสาธารณะสุข ตัวเลขผู้ติดเชื้อ การปฏิบัติตัว และการป้องกัน 

แต่พอทำไปได้ครึ่งเดือน สถานการณ์ดูเหมือนจะตึงเครียดขึ้น มีแถลงการณ์จากรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาทั้้งเรื่องนโยบายและกฏหมาย เราจึงทำเพิ่มอีกหนึ่งช่วง  เท่ากับหนึ่งวันเรามีสองตอน คือ 11-12.00 น. จากทำเนียบรัฐบาล บ่าย 13-14.00 น. จากกระทรวงสาธารณะสุข

คนดูไม่เยอะแต่ต้องทำให้มี

มีคนเข้าถึงประมาณหนึ่งแต่ไม่ได้มากเพราะเป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม  โชคดีที่กลุ่มเป้าหมายช่วยกันกระจาย ความโชคดีของไทยพีบีเอสคือ เราเป็นองค์กรที่มีศักยภาพพร้อม ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและนโยบายแนวทางการปฏิบัติที่ว่าประชาชนทุกคนควรเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ เมื่อนโยบายและทิศทางมาทางนี้ บวกกับเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อม รายการก็เกิดขึ้นจริงได้ แม้ช่องอื่นอาจมีทรัพยากรเหมือนกันแต่หากมองเชิงธุรกิจก็จะพบว่า การทำอะไรแบบนี้นั้นไม่คุ้มค่า เพราะใช้ทรัพยากรค่อนข้างมากและไม่สามารถวัดเรทติ้งได้ ไม่สามารถเรียกไลค์และแชร์ได้ แต่รายการนี้ทำแล้วมีประโยชน์เพราะสามารถอธิบายเรื่องการเข้าถึงสื่อได้อย่างชัดเจนและเหมาะสมที่สุด

ในอนาคตอยากจะทำรายการเพื่อคนหูหนวกโดยเฉพาะ เป็นเนื้อหาใหม่ๆ ไม่ใช่เอารายการที่มีมาใส่ภาษามือเพียงอย่างเดียว ในช่องอื่นมีรายการข่าวที่มีช่องล่ามอยู่แล้ว  แต่มิติของชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องข่าว ยังมีสาระบันเทิงหรือสุนทรียะอื่นที่คนอยากเข้าถึง รายการนี้ทำให้เรา ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวิธีคิดของคนหูหนวก ได้เห็นปัญหาที่เราไม่เคยรู้หรือคาดคิดมาก่อน คนหูดีเวลามีปัญหากันยังสามารถพูดคุยกันได้ แต่คนหูหนวกไม่สามารถสื่อสารกับคนหูดีได้ การทำงานตรงนี้จึงทำให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น และได้เห็นว่าคนพิการไม่ใช่คนที่น่าสงสารเลย และคงไม่มีใครอยากถูกสงสาร 

ทำอย่างไรให้ถึงมือคนหูหนวก

จากบทสัมภาษณ์ของวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ในรายการล้อมวงข่าว ช่องไทยพีบีเอส ได้ระบุถึงปัญหาด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนหูหนวกว่า

 

วิทยุต : อีกปัญหาที่สำคัญคือการมีล่ามไม่เพียงพอ คนหูหนวกที่ขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการมีจำนวน 3 แสนคน หลายคนเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น โทรศัพท์มือถือจึงทำให้เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร และมีคนหูตึงบางส่วนที่ใช้ภาษามือไม่ได้ ที่ต้องการคำบรรยายใต้ภาพ การแถลงข่าวสำคัญต่างๆ ที่เป็นข่าวรวมการเฉพาะกิจ ไม่มีทั้งจอล่ามและคำบรรยาย เขาจึงต้องการให้มีการแก้กฎหมาย เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนทุกกลุ่มอย่างชัดเจน 

ทั้งนี้ เครือข่ายคนหูหนวกก็ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูล จัดทำคลิปสาธิตการป้องกันโรค  โรงเรียนเศรษฐเสถียรก็มีการทำข้อมูลสำหรับเด็ก อย่างไรก็ดี จอล่ามภาษามือในปัจจุบันมีแค่ในช่วงข่าว แถมบางครั้งก็แปลไม่ชัดเจน ทำให้คนหูหนวกต้องดูหลายๆ ช่องมาเทียบ 

อีกปัญหาที่สำคัญคือล่ามภาษามือมีไม่เพียงพอ แหล่งผลิตล่ามภาษามือมีอยู่ที่เดียวคือ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล  จึงควรสนับสนุนให้คนอื่นมีโอกาสทำความรู้จักภาษามือมากขึ้น อาจเป็นวิชาเลือกเหมือนกับภาษาอื่นๆ ที่สอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และรัฐบาลควรมีจอล่ามในแถลงการณ์สดต่างๆ  ปัจจุบันคนหูดีได้ยินเสียง แต่คนหูหนวกใช้ได้แค่สายตา การมีล่ามจึงจำเป็นเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงในทุกช่วงที่ออกอากาศ