Skip to main content

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ต่อเนื่องเรื้อรังมาเกือบสองเดือน รัฐบาลได้มีมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมทั้งมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เงินช่วยเหลือแรงงานอิสระที่ได้รับผลกระทบ 5,000 บาทเป็นเวลาสามเดือน การแจกอาหาร การเพิ่มเบี้ยความพิการ รวมไปถึงเงินช่วยเหลือเยียวยาคนพิการเพื่อบรรเทาผลกระทบคนละ 1,000 บาท

อย่างไรก็ดี แม้รัฐมีมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบประชาชน แต่ประชากรกลุ่มเฉพาะจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึง โดนเฉพาะอย่างยิ่ง คนพิการจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสิทธิในการได้รับการเยียวยาอื่นใด นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือเยียวยาคนพิการคนละ 1,000 บาท จนทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตต่อมาตรการดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมและครอบคลุมเพียงใด

จากข้อสังเกตดังกล่าว เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมหรือ We Fair จึงร่วมกับโครงการพัฒนาเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ตั้งคำถามและชวนตรวจสอบมาตรการเยียวยาคนพิการในสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้

มาตรการช่วยเหลือด้วยเงิน 1,000 บาทแบบครั้งเดียวจบ

จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย.63 ที่ผ่านมา (กดอ่านที่นี่) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือคนพิการในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ให้แก่คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 2 ล้านคน คนละ 1,000 บาท จำนวน 1 ครั้ง พร้อมเพิ่มเบี้ยความพิการจาก 800 บาทเป็น 1000 บาท ให้คนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1,100,000 คน และเด็กพิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 120,000 คนนั้น

เครือข่าย We Fair ได้แสดงความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมสมรรถนะในการประเมินความรุนแรงของปัญหาของรัฐบาล ที่ไม่เข้าใจว่าปัจจัยในการดำรงชีวิตของคนพิการไม่ว่าจะมีงานทำหรือไม่มีงานทำก็มีต้นทุนสูงกว่าคนไม่พิการ จำนวนเงินเยียวยาดังกล่าวจึงไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตแบบมีคุณภาพได้

เครือข่ายเห็นว่า คนพิการและครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ต้องแบกรับและเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ได้ลดลง เช่น ค่าจ้างผู้ช่วยคนพิการที่คนพิการยังต้องเสียเงินจ้างเอง เพื่อช่วยเหลือในกิจวัตรต่างๆ ในแต่ละวัน เนื่องจากระบบผู้ช่วยคนพิการในปัจจุบันมีไม่เพียงพอ แถมยังถูกจัดสรรโดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือค่าใช้จ่ายจ้างนักกิจกรรมบำบัดมากระตุ้นพัฒนาการเด็ก เพราะบุคลากรในศูนย์การศึกษาพิเศษมีไม่เพียงพอ ทำให้ครอบครัวคนพิการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปจนกว่าบริการของรัฐจะครอบคลุม

ปัญหาเหล่านี้สร้างความเหลื่อมล้ำจนทำให้เด็กพิการจำนวนมากไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการและส่งเสริมทักษะในการดำรงชีวิต เพียงเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินค่าเดินทางหรือไม่สามารถลางานได้ ส่งผลให้คนพิการที่ไม่มีทักษะในการช่วยเหลือตัวเองถูกปล่อยให้อยู่ในบ้านตามลำพังในระหว่างที่ผู้ดูแลออกไปหารายได้

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังซ้ำเติมการดำรงชีวิตของคนพิการให้เผชิญกับความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เนื่องจากคนพิการมีต้นทุนการดำรงชีวิตเท่าเดิม แต่มีคนที่จ่ายไม่ไหวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เงินช่วยเหลือเพียง 1,000 บาทครั้งเดียวจบ จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาใดๆ สำหรับคนพิการ ในเมื่อรากเหง้าปัญหาอยู่ที่ระบบรัฐสวัสดิการแบบขอไปที ไม่ถ้วนหน้า ไม่ครอบคลุม แถมยังกรีดซ้ำแผลเก่าในใจที่ว่าไม่มีรัฐบาลไหนเข้าใจพวกเขาจริง

เบี้ยคนพิการที่เหมือนเพิ่มจะถ้วนหน้า สุดท้ายให้เฉพาะบางกลุ่ม แต่คนจนตกหล่นอยู่ดี

จากรายงานข่าวเรื่องการเพิ่มเบี้ยความพิการที่เผยแพร่เป็นครั้งแรกในเดือน ธ.ค.2562 โดยระบุให้เพิ่มเบี้ยความพิการอีก 200 บาทจาก 800 เป็น 1,000 บาท แต่ก็ยังคลุมเครือว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิต้องถือทั้งบัตรประจำตัวคนพิการและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่

ต่อมาภายหลัง ในการประชุมคณะกรรมการคนพิการที่มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม (กดอ่านที่นี่) ได้ประกาศ 4 มาตรการเยียวยาคนพิการ โดยหนึ่งในนั้นเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพิ่มเงินเบี้ยความพิการแบบถ้วนหน้า ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามที่เคยคลุมเครือ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.63 (กดอ่านที่นี่) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกลับระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เพิ่มเบี้ยคนพิการให้แก่ผู้ถือบัตรคนพิการ 2 กลุ่มเท่านั้นคือ กลุ่มอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 1.2 แสนคน และกลุ่มคนพิการที่มีทั้งบัตรคนพิการและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี) จำนวน 1 ล้านคน จากเดือนละ 800 บาทเป็น 1,000 บาท โดยจะเริ่มปรับเพิ่มเบี้ยในเดือน ต.ค.63 มิได้เป็นการเพิ่มแบบถ้วนหน้าแต่อย่างใด

ดังนั้นนโยบายการเพิ่มเบี้ยคนพิการในไทย ซึ่งหวนกลับมาใช้การพิสูจน์ความยากจนเป็นเกณฑ์ จึงสวนทางกับแนวคิดการมองสวัสดิการเป็นสิทธิ ทั้งที่งานวิจัยทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า การจัดรัฐสวัสดิการที่ใช้กระบวนการพิสูจน์ความยากจนนั้น จะยิ่งซ้ำเติมให้คนที่อยู่ชายขอบของการศึกษาหรือการเข้าถึงเทคโนโลยีไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐและถูกกีดกันตั้งแต่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ การให้แบบถ้วนหน้าแล้วค่อยตัดสิทธิผู้ที่ไม่มีความจำเป็นภายหลัง จึงเป็นทางออกของการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้

นอกจากนี้ เครือข่าย We Fair ได้ระบุถึงข้อมูลของคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าว่า มีเด็กยากจนที่รายได้ครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีในไทย ที่ตกหล่นจากกระบวนการพิสูจน์ความยากจน จำนวน 30% ทำให้ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด-6 ขวบ เดือนละ 600 บาท

เมื่อมองย้อนกลับมาที่คนพิการที่มีอุปสรรคทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สภาพแวดล้อม บางครั้งยังถูกกีดกันจากการทำธุรกรรมโดยเจ้าหน้าที่ธนาคาร ฯลฯ เมื่อสิ่งเหล่านี้รวมกันจึงเดาได้ไม่ยากนักว่า มีคนพิการจำนวนไม่น้อยตกหล่นจากกระบวนการพิสูจน์ความยากจน

ข้อสันนิษฐานข้างต้นสามารถพิสูจน์อย่างง่ายบนสถิติจำนวนคนพิการทั้งหมด จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2.02 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนพิการถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.1 ล้านคน มีคนพิการวัยทำงานที่มีอาชีพ 266,484 คนและมีคนพิการที่อายุน้อยกว่า 18 ปี 1.2 แสนคน เท่ากับจะเหลือคนพิการ 4.4 แสนคนที่ไม่ได้รับการเพิ่มเบี้ยความพิการ อาจไม่มีอาชีพและตกหล่นจากการทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงหมายความว่า คนพิการยากจน 28% ตกหล่นจากกระบวนการพิสูจน์ความจน การที่รัฐเพิ่มเบี้ยความพิการให้เฉพาะคนพิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนที่อายุไม่ถึง 18 ปี จึงไม่ใช่ทางออก รัฐจึงควรเพิ่มให้ทุกคนมีหลักประกันในชีวิตที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

บริการผู้ช่วยคนพิการแบบทิ้งขว้าง

เครือข่าย We Fair อ้างถึงข้อมูลในเว็บไซต์ www.disability-memorial.org ว่าตลอด 39 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีเหตุการณ์ฆาตกรรมคนพิการจากผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวมากกว่า 1,300 กรณีที่สามารถระบุได้ชัดเจน โดยกระบวนการเก็บข้อมูลดังกล่าวมักถูกนับหลังจากสิ้นสุดกระบวนการสืบสวนแล้ว เคสที่ถูกบันทึกจึงไม่นับรวมการฆาตกรรมอำพรางที่ถูกมองว่าเป็นการฆ่าตัวตายและไม่นับรวมการฆาตกรรมที่เกิดจากการเพิกเฉยจากรัฐจนนำไปสู่การเสียชีวิต ในประเทศไทยเพื่อนคนพิการที่กลุ่มรู้จักอย่างน้อย 6 คน เคยถูกคนในครอบครัวเสนอวิธีจบชีวิตด้วยท่าทีที่เศร้าโศก โกรธแค้น และหยอกล้อ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ สามี พี่ น้อง ปู่ ยาย และทุกคนต่างอยู่ในหลากหลายสถานะ รวมทั้งเกิดขึ้นในครอบครัวของศาสนิกชนหลากหลายศาสนา

ดังนั้นการคุยเรื่องนี้จึงไม่ใช่การบอกว่าฆาตกรเป็นคนบาป แต่คือการทำความเข้าใจเงื่อนไขบนความเป็นจริงของมนุษย์ โดยทิ้งความโรแมนติกของครอบครัวในฝัน แล้วคิดภาพแม่ของคุณต้องลาออกจากงานที่กำลังก้าวหน้า เพื่อมาป้อนข้าวป้อนน้ำให้คุณเพราะรายได้ไม่พอจ้างผู้ช่วยหรือผู้ดูแล พ่อของคุณไปมีภรรยาใหม่และมีครอบครัวที่อบอุ่น คำถามคือแม่ของคุณผิดหรือไม่ หากเธอเลือกกลับไปทำงานและทิ้งคุณไว้ที่บ้านลำพัง อย่างน้อยทั้งคู่จะไม่อดตาย

แม้แม่คุณต้องการคนดูแล แต่ไม่มีใครเลยที่พร้อมเป็นพ่อของเด็กพิการ แม่คุณทำงานสายตัวแทบขาดและกลับบ้านมาเจอความเกรี้ยวกราดหงุดหงิดของคุณ ผู้ซึ่งถูกดองในบ้านมาหลายสิบปีและมีเพียงแม่เท่านั้นที่ระบายอารมณ์ได้ คงไม่ผิดนักถ้าคุณจะวิงวอนต่อโชคชะตาว่าไม่อยากมีชีวิตแบบนี้ไปจนตาย คุณต้องการอิสรภาพ และผิดไหมหากแม่ของคุณเลือกจบชีวิตคุณก่อนเพราะมองไม่เห็นอนาคตที่รออยู่ข้างหน้า ห่วงว่าคุณจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเธอ วันใดวันหนึ่งแม่ของคุณเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุและคุณต้องมีชีวิตต่อโดยลำพัง รัฐจะส่งต่อคุณให้กับญาติใกล้ชิดที่อาจไม่ได้พร้อมอุปการะ แต่ก็ไม่อยากถูกสังคมสาปแช่ง เมื่ออุปการะไปก็ขังคุณไว้ในคอกไม้นอกบ้านและทำร้ายร่างกายเสมือนตายทั้งเป็น ถ้าคุณคิดว่านี่คือเรื่องแต่งก็คิดผิด เพราะเด็กคนนี้มีตัวตนอยู่จริงและยังมีชีวิตอยู่ในปี 2020

คำถามที่ควรไปไกลกว่าคำว่า ผิดหรือถูกคือทำอย่างไรให้ทั้งคนพิการและผู้ดูแลมีอิสรภาพ ทำอย่างไรจะคืนความรักในครอบครัวโดยไม่ผูกรั้งด้วยโซ่ตรวนอันเกิดจากภาวะพึ่งพิง คำตอบของคำถามนี้มีมานานกว่า 40 ปี และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคำตอบของคำถามดังกล่าวนั้น ข้าราชการกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการย่อมรู้ดีที่สุดนั่นคือ “บริการผู้ช่วยคนพิการ”

ตัวแทนกลุ่มระบุว่า เมื่อปลายปีที่แล้วได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเรื่องการขับเคลื่อนแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการในเกาหลีใต้ ที่นั่นมีประวัติศาสตร์การฆาตกรรมโดยรัฐเพราะความเชื่อใจหมอเกิดขึ้น กล่าวคือรัฐพยายามแยกระดับความรุนแรงและความจำเป็นของคนพิการเพื่อพิสูจน์สิทธิว่าควรได้รับบริการอะไรบ้าง สุดท้ายคนพิการที่เคยได้รับบริการบางคนถูกตัดสิทธิในการเข้าถึงบริการผู้ช่วยคนพิการ จนสุดท้ายเขาเสียชีวิตโดยลำพัง ผลชันสูตรพบว่าขาดสารอาหาร ซึ่งเดิมผู้ช่วยคนพิการมีหน้าที่พาคนพิการคนนี้ไปซื้ออาหารในห้างสรรพสินค้า

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของคนพิการในเกาหลีใต้ เพื่อให้ยกเลิกระบบ DRS หรือ  Disability rating system โดยเสนอว่าควรให้พิจารณาจากความบกพร่องในกิจวัตรต่างๆ เพราะแม้มีความพิการและกล้ามเนื้ออ่อนแรงมัดเดียวกัน แต่ความสามารถในการดำเนินกิจวัตรต่างๆ นั้นแตกต่างกัน พร้อมทั้งเสนอให้บริการนี้ครอบคลุมไปนอกเหนือจากคนพิการด้วย เช่น คนไข้หลังผ่าตัด หรือผู้ที่มีความพิการชั่วคราว

เครือข่าย We Fair ระบุว่า ในขณะที่แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระฯ เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่แนวคิดดังกล่าวเริ่มเข้าไปในเกาหลีใต้ ผ่านมาเกือบ 20 ปี ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่มีกลิ่นอายของแนวคิดดังกล่าวอย่างท้วมท้น แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับไม่พบข้อมูลการเปิดเผยจำนวนสถิติ 5 อย่างในรายงานของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

            1.จำนวนผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมผู้ช่วยคนพิการ
            2.จำนวนผู้ที่รัฐขึ้นทะเบียนเป็นผู้ช่วยคนพิการ
            3.จำนวนคนพิการที่ได้รับบริการ และจำนวนชั่วโมงที่ให้บริการ
            4.จำนวนคนพิการที่ยื่นคำร้องแต่ไม่ได้รับบริการ
            5.จำนวนคนพิการที่แบกรับค่าจ้างผู้ช่วยด้วยตนเอง

นอกจากนี้พบว่า ตลอด 5 ปีที่แห่งการนำเอาผลงานของข้าราชการไปออกในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ไม่เคยมีการกล่าวถึงบริการผู้ช่วยคนพิการแม้แต่ครั้งเดียว สิ่งเหล่านี้สะท้อนผลการให้บริการผู้ช่วยคนพิการว่า ไม่ใช่ผลงานที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการภาคภูมิใจนัก และตรงกับสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน เพราะแม้แต่คนพิการรุนแรงระดับผู้นำองค์กรคนพิการตามแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ ผู้ซึ่งเคยออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิคนพิการก็ยังเข้าไม่ถึงบริการผู้ช่วยคนพิการ จึงไม่แปลกใจนักหากคนพิการรุนแรงอีกหลายหมื่นชีวิตจะยังคงเข้าไม่ถึงบริการผู้ช่วยคนพิการ ซึ่งเป็นบริการที่ยุติการฆาตกรรม