Skip to main content

“ตอนคุณอยู่ในท้อง คุณได้ยินแม่เล่านิทานตั้งแต่ตอนนั้น แต่คนหูหนวกเราช้าไปเก้าเดือน พอคลอดออกมา คนอื่นได้ยินเป็นพันๆ คำ แต่คนหูหนวกเห็นแต่ท่าทาง การรับรู้เหล่านี้เข้าไปที่สมอง เมื่อมันเข้าไปน้อย การสื่อสารของเขาก็เลยถอยหลัง ช้ากว่าคนอื่น” 

มีคนกล่าวว่า คนหูหนวกถึงแม้จะเรียนจบปริญญาตรี แต่ก็อาจอ่านเขียนได้เท่าๆ กับเด็กประถม 4 คำกล่าวนี้แม้ดูเกินจริง แต่ไม่เกินจริงเมื่อเราได้คุยถึงเรื่องปัญหาและอุปสรรคของคนหูหนวกกับวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมา การศึกษาของคนหูหนวกเป็นเรื่องที่วิทยุตพยายามทำงานมาตลอด แต่กระนั้นเองด้วยระบบที่ไม่ยืดหยุ่น และความไม่เข้าใจของคนทำงานก็ทำให้คนหูหนวกไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของพวกเขาได้มากเท่าที่ควร ชวนคุยกับวิทยุตถึงเส้นทางการทำงานด้านคนหูหนวก ปัญหาอุปสรรคที่คนหูหนวกเจอ และสิ่งที่อยากเห็นในฐานะนายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

กว่าจะเป็นวิทยุต บุนนาค

วิทยุต: ผมขอเริ่มที่โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดชลบุรี เป็นชื่อสถานที่ที่ผมไม่อยากให้ใช้คำว่า “โสตศึกษา” อยากให้ใช้คำว่า โรงเรียนสอนคนหูหนวก เพราะเมื่อพูดคำว่า “โสต” ผู้คนจะนึกถึงเรื่องการแพทย์ เรื่องเกี่ยวกับหู เรื่องเกี่ยวกับการไม่ได้ยิน แต่ชีวิตของคนหูหนวกมีมากกว่านั้น พวกเขามีวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งสร้างความภูมิใจในการเป็นคนหูหนวก

สมัยที่ผมเรียนอยู่ นอกจากจะต้องฝึกพูด ฝึกอ่านปาก ก็ยังมีภาษามือและการใช้ชีวิตกับเพื่อนหูหนวก จนทำให้ ผมชอบอยู่โรงเรียนมากกว่าเพราะพูดคุยกับทุกคนได้ สิ่งเหล่านี้ปั้นความเป็นตัวตนของผม และทำให้รู้สึกภูมิใจและดีใจที่เป็นคนหูหนวก 

เมื่อผมมีโอกาสได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า คนหูหนวกและคนหูดีมีสิทธิเท่ากันเกือบทุกเรื่อง จึงทำให้เรียนรู้ว่านี่คือเรื่องของสิทธิพื้นฐานของคนหูหนวกที่พึงมี นอกจากนี้ แม้ตัวผมไม่ใช่พลเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ผมยังมีโอกาสได้รับอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะประเทศสหรัฐอเมริกามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิของคนพิการ 

เมื่อผมโตขึ้น ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาพันกว่าคนเป็น คนหูหนวก มีบุคลากรด้านต่างๆ เป็นคนหูหนวก เช่น อาจารย์หูหนวก ผู้บริหารหูหนวก 

อธิการบดีหูหนวก ผมเห็นภาวะผู้นำในคนเหล่านี้ พวกเขามีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบ พวกเขาสอนให้คนหูหนวกไม่แพ้ใคร สอนให้ทุกคนรู้ว่า เราทุกคนเท่าเทียมกัน และจะต้องสู้ด้วยตัวเองไม่รอให้คนอื่นมาป้อน การมีภาวะผู้นำสำคัญมาก หลังจากเรียนจบ ผมมุ่งทำงานด้านการแสดง เพราะเป็นสิ่งที่เรียนมา รู้สึกรักและสนุกกับการถ่ายทอดสื่อสารการแสดงผ่านภาษามือ 

ต่อมาผมได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทด้านหูหนวกศึกษาที่สหรัฐอเมริกา โดยหวังจะกลับมาปฎิรูปการศึกษาไทย แต่ต้องผิดหวัง เนื่องจากการลงมือเปลี่ยนแปลงและเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงเบนเข็มไปเริ่มทำงานในพื้นที่เล็กๆ โดยการเป็นกรรมการสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเข้าวงการเมืองคนหูหนวกของผม

ต่อมา ผมค่อยๆ ขยับตำแหน่งขึ้นไป จนมีโอกาสสมัครตำแหน่งนายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เพราะมองว่าเป็นเส้นทางที่สามารถบริหารจัดการและพัฒนางานในเรื่องที่เห็นควรว่า “ต้องได้รับการพัฒนา” อาจมีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า ผมจึงลองสมัครและในที่สุดผมได้รับตำแหน่งนายกสมาคมจนถึงปัจจุบัน

คนหูหนวกเผชิญปัญหาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องการศึกษา

ความจริงแล้วคนหูหนวกขาดความมั่นใจในตนเอง แม้พวกเขามีสิทธิและมีจุดยืน แต่ยังคงไม่กล้าที่จะเปิดเผยและออกจากโลกของตนเอง เพราะคนหูหนวกอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยคล่อง ความรู้ความสามารถน้อย ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จัดการยากมาก ผมพยายามเริ่มต้นที่ครอบครัว เช่น การสนับสนุนให้พ่อแม่เรียนภาษามือเพื่อสื่อสารกับลูกตั้งแต่ก่อนวัยเรียน เพราะเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนเราไม่สามารถเข้าไปแทรกได้ 

ในขณะที่การบริหารส่วนกลางของภาครัฐไม่ได้มีวิธีสร้างคนหูหนวกให้เป็นพลเมืองที่มีความรู้ความสามารถ 

ส่วนตัวผมอยากให้คนหูหนวกมีความรู้ เพราะพวกเขาจะมีทางเลือกหลากหลายในการประกอบอาชีพ อย่างที่สหรัฐอเมริกามีคนหูหนวกจบด็อกเตอร์หลายคน ประเทศไทยไม่มีคนหูหนวกจบ ด็อกเตอร์เลย กลุ่มคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือพอไม่มีการศึกษาระดับสูง สุดท้ายก็เลือกทำอาชีพทั่วไปเพียงเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ เราไม่แก้จากต้นน้ำ แต่มาโฟกัสกันอยู่ที่ปลายน้ำแทน

แค่ “เปิดโอกาส” นั้นไม่พอ

เราเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดโอกาสแต่คนหูหนวกสอบไม่ผ่าน เพราะไม่มีความพร้อม เช่น ถ้าทุกวันนี้วิชาแพทย์เปิดโอกาสให้คนหูหนวกเรียน ก็จะไม่มีคนหูหนวกเรียน เพราะพวกเขาสอบไม่ผ่านตั้งแต่แรก การผลักดันให้เปิดเยอะๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควร หรืออีกนัยหนึ่งคือ อาจไม่ได้ผลมากนัก สิ่งที่ถูกต้องคือการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ คือการทำให้เด็กเติบโตขึ้นมามีความรู้ความสามารถ รู้สิทธิพื้นฐานของตัวเอง และสามารถเรียกร้องพื้นที่ของตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ควรทำ 

ความไม่เท่าเทียมเริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในท้อง

ตอนคุณอยู่ในท้อง คุณได้ยินแม่เล่านิทานตั้งแต่ตอนนั้น แต่คนหูหนวกเราช้าไปเก้าเดือน พอคลอดออกมา คนอื่นได้ยินเป็นพันๆ คำ แต่คนหูหนวกเห็นแต่ท่าทาง การรับรู้เหล่านี้เข้าไปที่สมอง เมื่อมันเข้าไปน้อย การสื่อสารของเขาก็เลยถอยหลัง ช้ากว่าคนอื่น ดังนั้น เราจึงอยากให้ผู้ปกครองเรียนภาษามือคุยกับลูก เมื่อเด็กเริ่มโตก็ส่งเข้าเรียนในโรงเรียนที่ครูใช้ภาษามือ เพื่อที่จะได้รับความรู้เหมือนกับคนหูดี

ตอนผมเด็กๆ ผมโดดเดี่ยว ไม่รู้เรื่องเพราะรับข้อมูลได้น้อย แต่ยังโชคดีที่สามารถอ่านปากได้บางคำ พอสรุปได้ว่าพูดอะไรได้เป็นบางครั้ง ขณะที่บางคนไม่มีความสามารถในการอ่านปาก ผมคิดว่าทักษะนี้เกิดขึ้นจากความรู้ความสามารถแต่ละคน

สำหรับเด็กหูดี ก.ไก่ ข.ไข่ ถูกสอนโดยการชี้ภาพ เขาจะเริ่มรู้วิธีการสะกดตัวหนังสือ รูปร่าง สัญลักษณ์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเสียงเลย เช่นเดียวกับคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือแทนการพูด แต่มีไวยากรณ์ที่แตกต่างกัน เด็กหูหนวกบางคนเก่งภาษามือ บางคนไม่เก่งภาษามือ เหมือนกับเด็กหูดีที่สามารถเก่งหรือไม่เก่งภาษา ขณะที่ไวยากรณ์ภาษาไทยและไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมีความแตกต่าง

คนหูดีเรียนรู้ว่า ถ้าเป็นภาษาไทยจะพูดว่า  ‘ผู้หญิงสวย’ แต่ภาษาอังกฤษไม่พูดว่า Woman beautiful ต้องพูดว่า Beautiful woman คนหูหนวกก็เช่นกัน พวกเขาต้องแยกภาษามือไทย ภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ แต่ความรู้ที่พวกเขาได้รับมีน้อย ภาษามือก็ไม่ได้ เขียนอ่านไม่ค่อยมีสอนให้เข้าใจอย่างแท้จริง เพราะในระบบการเรียนการสอนมีแต่วิชาภาษาไทยในทุกชั้นเรียน ไม่มีวิชาภาษามือไทย จนเป็นเหตุให้เด็กๆ ไม่รู้ กฎ ระเบียบของทั้งสองภาษา เชื่อว่าถ้ามีวิชาภาษามือไทย อาจทำให้เด็กเข้าใจระบบประโยคของทั้งสองภาษาได้ดีขึ้น จนเก่งสองภาษาได้ และต้องทำให้เด็กรู้ว่า สองภาษามีความสำคัญเท่ากัน

การศึกษาที่ไม่ได้แย่ลง แต่ก็ไม่ดีขึ้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาของคนหูหนวกยังเหมือนเดิม หากเทียบเด็กหูหหนวกที่เรียนจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 กับกับเด็กหูดีที่จบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 จะพบว่าเด็กหูหนวกเขียนอ่านไม่ได้ มีความรู้ไม่เท่าเด็กหูดี 

แม้ผมจบปริญญาโทด้านการศึกษาสำหรับหูหนวก (Deaf Education) แต่พอกลับมาประเทศไทย กลับไม่สามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้เลย เพราะไม่มีงานที่เหมาะสมหรือผมอาจพยายามไม่มากพอ ผมจึงเปลี่ยนทิศทางการทำงานหลังรู้สึกติดกับดักและอุปสรรคของระบบการศึกษาไทย จนไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนได้

การทำงานที่ผ่านมาทำให้ผมเรียนรู้ว่า ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความอดทน และความพยายาม แม้จะบรรลุสำเร็จแล้วแต่ยังคงมีใหม่ที่เรื่องต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ และต้องยอมรับให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องใช้เวลา 

 



 

นลัทพร ไกรฤกษ์
Editor
เด็กสินกำที่เปลี่ยนจากจับพู่กันมาพิมพ์คีย์บอร์ด รักแมวหังเยาเป็นชีวิตจิตใจ