Skip to main content

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ คนพิการ เด็ก การศึกษาและการสาธารณสุข เปิดเผยถึงการประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องต่อแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนพิการ ว่า สถานการณ์การการเข้าถึงสิทธิคนพิการในปัจจุบันยังน่าเป็นห่วงในหลายประเด็น ทั้งการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา สิทธิในการประกอบอาชีพและสิทธิในการเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

1.สิทธิด้านการศึกษาพบว่า ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการโรงเรียนเฉพาะทางคนพิการทั่วประเทศให้ครอบคลุมเด็กพิการทุกระดับ เนื่องจากมีจำนวนบุคลากรด้านการศึกษาพิเศษไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้เด็กพิการไม่สามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนเฉพาะได้ทุกคน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการจ้างครูดูแลเด็กพิการตามบ้าน ที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ และการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กพิการในสถานศึกษา นอกจากนี้้ยังได้แสดงควางกังวลต่อแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการลดจำนวนครูอัตราจ้าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิทางการศึกษาของคนพิการ ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD), พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (2), พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 มาตรา 5 ซึ่งมีสาระคุ้มครองสิทธิของคนพิการในการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาเพราะเหตุแห่งความพิการ และรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาแก่คนพิการ

ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษต่อบุคลากรการศึกษาพิเศษ เพิ่มอัตราจ้างครูให้สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนในแต่ละสถานศึกษา รวมถึงกำหนดให้มีครูการศึกษาพิเศษประจำโรงเรียน และเห็นควรกำหนดหลักสูตรการศึกษาพิเศษเป็นวิชาภาคบังคับ เพื่อทำให้บุคลากรครูทุกคนต้องผ่านการอบรมเรื่องการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการด้วย

2.สิทธิด้านการประกอบอาชีพพบว่า ปัจจุบันอัตราการจ้างงานคนพิการอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ พ.ศ.2550 ได้เปิดโอกาสให้นายจ้างหรือสถานประกอบการจ่ายเงินสมทบกองทุนคนพิการแทนการจ้างงาน ตามมาตรา 34 หรือเปิดโอกาสให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีการพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ตามมาตรา 35 ส่งผลให้นายจ้างหรือสถานประกอบการเลือกแนวทางดังกล่าวแทนการจ้างงานคนพิการ อันกระทบต่อสิทธิการทำงานของคนพิการตาม CRPD

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่า ปัจจุบันมีคนพิการในวัยทำงานอายุ 15 – 60 ปี เข้าสู่ระบบแรงงานเพียง 800,000 คน จากจำนวนทั้งหมด 2,000,000 คน และมีเพียง 100,000 คนที่เข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมาย จึงทำให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเร่งสนับสนุนให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการแทนการจ่ายเงินสมทบตามมาตรา 34 หรือ จ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 ส่งผลให้คนพิการได้รับการจ้างงานมากขึ้น

3. สิทธิการเลือกตั้งของคนพิการพบว่า จากการใช้สิทธิเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 มีคนพิการที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 753 คน จากจำนวนประมาณ 1,800,000 คน ที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยปัญหาส่วนใหญ่มาจากปัญหาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 92 จะกำหนดให้มีการอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ แต่ในทางปฏิบัติ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และคนพิการยังไม่ทราบถึงกฎหมายดังกล่าว เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่หรือคนพิการไม่มีความมั่นใจที่จะมอบหมายบุคคลอื่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้ลงคะแนนแทน

ทั้งนี้ฉัตรสุดาระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความยินดีที่จะเป็นองค์กรกลางในการประสานความร่วมมือ เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและได้รับโอกาสทัดเทียมกับบุคคลอื่นในสังคมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล