Skip to main content

ผมยังไม่เบื่อที่จะเขียนเรื่องเบรลล์บล็อกซ้ำไปซ้ำมา ถึงแม้ว่าจะปวดหัวแค่ไหน แต่เวลาเขียนเรื่องนี้กลับมีสารแห่งความสุขหลั่งไหล เหมือนกับว่าได้ปลดปล่อยความคับแค้นในจิตใจออกมา เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้อยากให้ทุกคนอ่านด้วยความเป็นกลาง ไม่ตัดสิน ไม่ว่ากล่าวทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้อง คนตาบอดที่อยู่ในเหตุการณ์หรือพนักงานบริษัทที่จะกล่าวถึงเพราะไม่ใช่ความผิดของเขา ถ้าเข้าใจกันดีแล้ว ก็เริ่มเรื่องได้!

ไม่กี่วันที่ผ่านมาผมไปทำธุระที่สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง คนที่ใช้รถไฟฟ้าสถานีนี้ประจำคงจำได้ว่าที่นี่มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดิน ประเด็นที่จะเล่าก็อยู่ตรงจุดเชื่อมต่อนี่แหละ 

คนตาบอดลงมาจากรถไฟฟ้า มุ่งหน้าเดินไปทางเชื่อมระหว่างรถบนดินและใต้ดิน ไม่แน่ใจว่าเขาต้องการต่อรถไฟ หรือไปวิ่งออกกำลังที่กายสวนลุมและพี่เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าก็ใจดีเดินไปส่ง ผิดจากปรกติที่พนักงานสถานีนี้จะไม่สามารถเดินไปส่งถึงสถานีรถไฟใต้ดินได้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติงานที่ต้องมีขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานคนดังกล่าวจึงถูกหัวหน้าตำหนิ และผมก็กำลังเดินอยู่กับหัวหน้าคนที่กำลังตำหนิพนักงานคนนั้น


ก.พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน (Warning Tactile/Block) ที่ติดจนเยอะเกินไป

เรื่องนี้มองได้หลายมุม คนตาบอดคนนั้นอาจไม่อยากเดินไปเองเพราะทางเดินยากและยาว คนตาดีอาจจะคิดว่า  ทางเดินตรงนั้นก็แค่ทางเดินตรง ๆ เดินไปเรื่อยก็ถึง แต่สำหรับคนตาบอด ทางเดินตรงยาวและกว้างมากนี่แหละที่ทำให้รู้สึกเคว้งคว้าง ทำให้คนตาบอดหาทางไปไม่ถูกเพราะไม่สามารถใช้อะไรเป็นจุดสังเกตได้เลย สมาธิทั้งหมดต้องใช้หลบคนเดินสวนทางไปมา หลบเสาที่ขวางทาง หลบมุมที่ยื่นออกมา  ผมเองเวลาเดินจุดนั้นแทบจะต้องใช้สัมผัสจากไม้เท้าอย่างเดียว ไม่สามารถใช้หูฟังเสียงที่สะท้อนจากวัตถุต่างๆ ได้ เพราะเสียงสะท้อนนั้นก้องจนจับทิศทางไม่ถูก จากอุปสรรคนี้จึงทำให้คนตาบอดอาจขอให้พนักงานเดินไปส่ง พนักงานก็อาจเดินไปส่งจนทำให้หัวหน้าตำหนิที่ทำผิดระเบียบวิธีปฏิบัติงานที่ตกลงกันไว้

เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หัวหน้าก็ไม่อยากตำหนิ ลูกน้องก็ไม่ได้อยากเดินไปส่ง และคนตาบอดก็ไม่ได้อยากเป็นภาระต่อคนอื่น แต่ในเมื่อทางเดินไม่เอื้อให้คนตาบอดมั่นใจในการเดินทางด้วยตนเอง ก็ทำให้เขาต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเท่าที่เขาสามารถทำได้ ก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะต้องเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง เบรลล์บล็อกจึงเป็นเครื่องมือในการนำทางที่เราเองก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าสำคัญมากในการช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินทางด้วยตนเองได้

อย่างไรก็ดี เบรลล์บล็อกไม่ใช่สิ่งเดียวที่มีแล้วแก้ไขปัญหาให้จบลงได้ แต่เป็นส่วนสำคัญที่ต้องมีและต้องทำอย่างถูกต้องใช้งานได้จริง เพื่อทำให้คนตาบอดมีอิสระในการเดินทาง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เหตุผลที่บอกว่าการสร้างเบรลล์บล็อกเปิดช่องให้ทุจริตหรือสร้างแล้วต้องใช้งบประมาณเยอะ ควรหมดไป และหันมาใส่ใจการมีทางเท้าเพื่อทุกคนและมีอิสระในการเดินทาง

จะมีเบรลล์บล็อกที่ดีได้อย่างไร

เรื่องพื้นผิวต่างสัมผัสหรือเบรลล์บล็อกมีมาตรฐานการวางพื้นผิวต่างสัมผัสที่ใช้จัดทำกันในประเทศไทย เบรลล์บล็อกจะมีคุณภาพดีได้ ต้องมีการวางพื้นผิวต่างสัมผัสให้เหมาะสมกับการเดินทางของคนตาบอด พื้นผิวสัมผัสที่ติดตั้งจะใช้ประโยชน์ได้จริงจะต้องผ่านมาตรฐานของผิวสัมผัส ตามที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้จัดทำออกมาเป็นคู่มือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ และงานวิจัยที่สถาบันต่างๆ ได้จัดทำคู่มือการออกแบบทางเท้าหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการไว้ 

การออกแบบติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัส (Tactile Surface)  คือการติดตั้งพื้นผิวที่มีสัมผัสและสีที่แตกต่างไปจากพื้นผิวและสีในบริเวณข้างเคียง อาจจะเป็นพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดแผ่นกระเบื้องหรือพื้นทรายล้าง โดยทั่วไปเราจะพบเห็นพื้นผิวต่างสัมผัส 2 ชนิดคือ

ก.พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน (Warning Tactile/Block)
ข.พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทาง (Guiding Tactile/Block)
หรือสำหรับบางประเทศซึ่งอาจมีการใช้งาน แบบ ค.พื้นผิวแจ้งเปลี่ยนทิศทางการเดิน (Postional Tactile)

การติดตั้ง ก.พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน (Warning Tactile/ Block) ต้องติดตั้งในบริเวณพื้นที่ดังต่อไปนี้ พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน กว้าง 30 เซนติเมตร ความยาวเท่ากับและขนานไปกับความกว้างของช่องทางเดินของพื้นที่ต่างระดับ ทางลาด บันไดหรือประตู

ขอบของพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน อยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นของทางขึ้นหรือทางลงของพื้นต่างระดับ ทางลาด บันได หรือประตู 30-35 เซนติเมตร ในกรณีของสถานีขนส่งมวลชน ให้ขอบนอกของพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือนอยู่ห่างจากขอบของชานชาลา ไม่น้อยกว่า 60-65 เซนติเมตร


ข.พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทาง (Guiding Tactile/Block)

บริเวณที่ต้องทำการติดตั้ง

1. ทางขึ้นและลงของทางลาดหรือบันได
2. พื้นด้านหน้าและด้านหลังของประตูทางเข้าอาคาร
3. พื้นด้านหน้าของประตูห้องน้ำ
4. พื้นที่หน้าประตูลิฟต์
5. พื้นบริเวณทางออกฉุกเฉิน
6. บริเวณที่เป็นทางแยกหรือทางเลี้ยวในอาคาร

ข.พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทาง (Guiding Tactile/Block) ให้ติดตั้งในบริเวณพื้นที่ที่ใช้สำหรับนำทางคนพิการไปสู่จุดหมายที่สำคัญในพื้นที่ บริเวณพื้นที่โถงอาคารที่กว้างจนไม่สามารถใช้ปลายไม้เท้าขาวแตะขอบผนังอาคารได้ การติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทางจะใช้ควบคู่กับพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือนและนำทางไปสู่ป้ายให้ข้อมูล แผนผังต่างสัมผัส หรือจุดบริการข้อมูลที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่

นอกจากตำแหน่งในการติดตั้งแล้ว วัสดุที่นำมาสร้างเบรลล์บล็อกหรือพื้นผิวต่างสัมผัสก็สำคัญ ทั้งแผ่นกระเบื้อง หรือพื้นทรายล้าง โดยทั้งสองแบบจะต้องมีพื้นผิวและสีแตกต่างจากพื้นบริเวณข้างเคียง สังเกตได้ว่า เบรลล์บล็อกไม่ได้ผลิตจากวัสดุแค่แบบเดียว แต่สามารถผลิตได้จากหลายพื้นผิว พื้นทรายล้างจะให้ความหยาบ ส่วนมากจะพบพื้นผิวต่างสัมผัสนี้ในอาคารที่มีพื้นหินขัด เมื่อนำพื้นทรายล้างมาใช้จะเกิดพื้นผิวต่างสัมผัส ส่วนเบรลล์บล็อกแบบกระเบื้อง ส่วนมากจะพบบริเวณทางเดินนอกอาคารกลางแจ้ง

ต้นทุนในการสร้างเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ราคากลางของราชการตั้งงบไว้ถึงตารางเมตรละ 740 บาท ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับกว้างยาวของกระเบื้องเบรลล์บล็อกที่ 30 X 30 ซม. ทั้งนี้นี่เป็นราคาของพื้นผิวที่เป็นโลหะ แต่การออกแบบในที่ต่างๆ ย่อมมีการปรับเปลี่ยนวัสดุให้เหมาะสมกับพื้นที่ ราคาแต่ละที่จึงไม่เท่ากัน ขึ้นกับความเหมาะสมแต่ละจุด ที่สำคัญคือการสร้างพื้นผิวต่างสัมผัสจะต้องสร้างขึ้นมาพร้อมกับพื้นปกติ การทุบรื้อออกมาปูทีหลังหรือทำซ้ำพื้นผิวต่างสัมผัสจะทำให้เสียงบประมาณเพิ่มเติมไม่ใช่น้อย  เพราะต้องเสียทั้งค่าแรงและเวลา

แล้วบ้านเราพร้อมสำหรับเบรลล์บล็อกแค่ไหน

เมื่อสำรวจลักษณะโครงสร้างและพฤติกรรมการใช้ทางเท้าในบ้านเราว่าพร้อมรองรับเบรลล์บล็อกแค่ไหน ก็พบว่า สำหรับทางเท้าริมถนนนั้นเป็นไปได้ยากมากที่คนตาบอดจะเดินเลาะขอบเพราะมีสิ่งก่อสร้างทั้งถาวรและชั่วคราว ส่วนในด้านพฤติกรรมของคนใช้ทางเท้า พวกเขาไม่ได้เดินยึดด้านใดด้านหนึ่ง ฉะนั้น การเดินสวนทางอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จากประสบการณ์ของผม เมื่อต้องเดินบนทางเท้ากลับพบว่า หากเดินตรงกลางจะปลอดภัยที่สุด ไม่ค่อยชนใคร เมื่อไหร่ที่เดินเลาะขอบกลับชนคนอื่นหรือหลงทางง่ายๆ อีกด้วย ฉะนั้นแนวคิดเรื่องการทำเบรลล์บล็อกเลาะขอบคงไม่ค่อยเหมาะกับบริบทบ้านเราสักเท่าไหร่ 

มีอาจารย์บางท่านบอกว่าต้องทำเบรลล์บล็อกให้ใกล้กับขอบ ในความเห็นของผมคิดว่า การทำใกล้ขอบขัดกับหลักของการทำพื้นผิวนำทาง เพราะการทำพื้นผิวนำทาง ควรทำในพื้นที่ที่กว้างจนไม่สามารถใช้ปลายไม้เท้าแตะบริเวณขอบหรือผนังได้หากทำใกล้กับขอบ ก็อาจไม่ได้ประโยชน์อะไร

หากพูดถึงเรื่องมาตรฐานการตรวจวัด การตรวจประเมินจะมีคะแนนเต็มสิบ เท่าที่สังเกตและเท่าที่เคยเจอ หลายที่ก็ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ เช่น ความกว้าง ความนูน ความยาว ความห่าง ถ้าหากผ่านสามในสี่ก็คือผ่าน อย่างไรก็ดี ความปลอดภัยในการใช้งานไม่สามารถอาศัยแค่คำว่าผ่านได้ แต่ต้องได้คะแนนเต็มเท่านั้น เช่น เบรลล์บล็อกแบบ ก. หากนำมาติดตั้งที่ชานชลารถไฟ และได้คะแนนเพียงแค่ผ่าน แบบนี้จะเป็นอันตรายมาก เท่าที่เห็นสถานีรถไฟฟ้าบ้านเราจะมีเบรลล์บล็อกแค่บริเวณหน้าประตูเข้าขบวนรถ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากจะทำต้องทำยาวทั้งชานชลา ผมก็ไม่รู้ว่าเบรลล์บล็อกแบบนี้ผ่านการตรวจวัดมาตรฐานมาได้อย่างไร  เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องควาามปลอดภัย การตรวจวัดเพียงเฉพาะจุดไม่ควรถือว่าผ่าน และควรปรับแก้ 

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้คนตาบอดเข้าใจการเดินทางมากขึ้นคือแผนที่แบบนูน ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะจะช่วยอธิบายจุดหมายได้อย่างถูกต้อง คนตาดียังต้องใช้แผนที่ในการเดินทาง เราจะทอดทิ้งคนตาบอดและปลอบใจด้วยคำว่า ให้ไปถามคนตาดีอย่างนั้นหรือ ที่ประเทศญี่ปุ่นที่ปลายราวจับของบันไดจะเขียนเอาไว้ลงมาแล้วเจออะไร ขึ้นไปแล้วเจออะไร แต่เสียที่เขียนเอาไว้เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแนวคิดหรือวิธีการแบบนี้ผมคิดว่าไม่ยากที่บ้านเราจะทำ

หากประเทศไทยต้องการสนับสนุนให้คนพิการใช้ชีวิตอย่างอิสระก็ควรจะมี ครั้งแรกอาจยุ่งยากเพราะขาดความรู้ แต่หากทำบ่อยขึ้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะมีทักษะความรู้มากขึ้นแน่นอน 

สุดท้ายนี้  อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ที่ต้องให้บริการสาธารณะในด้านต่างๆ ให้คำนึงถึงผู้ใช้งานในทุกกลุ่มและความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างอิสระของคนพิการ “เบรลล์บล็อกไม่ใช่ปัญหาในการเดินทางของคนตาบอด แต่การออกแบบที่ผิดพลาดต่างหากที่ทำให้เกิดอันตรายต่อการเดินทางของคนตาบอด”

 

เว็บไซต์อ้างอิง

นลัทพร ไกรฤกษ์
Editor
เด็กสินกำที่เปลี่ยนจากจับพู่กันมาพิมพ์คีย์บอร์ด รักแมวหังเยาเป็นชีวิตจิตใจ
คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ