Skip to main content

คุณอาจนึกภาพไม่ออกว่าการมีผู้ช่วยคนพิการ (PA) มีความจำเป็นมากแค่ไหน ถ้าคุณไม่ใช่คนพิการระดับรุนแรง แม้แต่คนพิการบางคนก็อาจไม่เข้าใจถึงความจำเป็นนี้  PA หรือ Personal Assistant ตามความหมายของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 คือบุคคลซึ่งให้ความช่วยเหลือคนพิการเฉพาะบุคคล เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ  ตามที่เจ้าตัวตัดสินใจ

แล้วทำไมคนพิการจึงจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะอะไรครอบครัวจึงไม่สามารถเป็นผู้ช่วยเหลือคนพิการได้ หน้าที่นี้มีอะไรพิเศษ จนทำให้เป็นที่ต้องการ ติดตามไปพร้อมกันผ่านชีวิตของชายร่างเล็กอย่าง วรรณ -มงคล แก้วนิล วัย 53 ปี ผู้ช่วยคนพิการมืออาชีพที่จะเป็นผู้พาเราก้าวเข้าไปรู้จักกับอาชีพนี้อย่างใกล้ชิด

7 โมงเช้าวันหนึ่งเรานัดกับวรรณแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ เพราะเขาต้องเดินทางต่อไปศาลายา จังหวัดนครปฐม อันเป็นพื้นที่ทำงานของเขาในวันนี้

วรรณเริ่มต้นอาชีพนี้จากการเป็นเพื่อนกับคนพิการมาก่อน เขาเดินทางและทำกิจกรรมร่วมกันเสมอ จนได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อน จนความสัมพันธ์ค่อยๆ พัฒนา เขาเรียนรู้ทักษะการช่วยเหลือคนพิการทีละน้อย ก่อนจะขยับมาทำงานเป็นผู้ช่วยคนพิการเต็มตัวและมีรายได้เฉลี่ยวันละ 3 - 4 ร้อยบาท ขึ้นอยู่กับความขยัน หากเป็นผู้ช่วยเหลือคนพิการหนึ่งชั่วโมงจะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 100 บาท ขยันมากก็ได้มาก แต่ก็ต้องแลกกับความเหน็ดเหนื่อยของร่างกาย จึงทำให้วันหนึ่งเขาสามารถเป็นช่วยให้คนพิการได้ 3 ถึง 4 คน

หน้าที่ของพีเอ

เรามาถึงอพาร์ตเมนท์ย่านศาลายาช่วง 9 โมงเช้า  วรรณมีนัดกับคนพิการที่นี่ เพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือเรื่องชีวิตประจำวัน พุ -อธิพันธ์ ว่องไว คนพิการที่ใช้บริการจากวรรณกำลังรอเขาอยู่ เขาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ “IL -Independent Living พุทธมณฑล” วรรณเริ่มต้นงานวันนี้ด้วยการช่วยเหลือกิจกรรมที่ต้องอาศัยความสามารถด้านร่างกาย อย่างเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และเตรียมตัวให้พุได้ออกจากห้องไปทำงาน  ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วคนพิการหนึ่งคนจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงหรืออาจมากกว่านั้น กรณีที่มีความต้องการอื่นเพิ่มเติม

พุนอนอยู่ตอนที่วรรณมาถึง วรรณจัดแจงพาพุขึ้นมาอยู่ในท่านั่ง ก่อนเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด แปรงสีฟัน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว และจัดการล้างหน้า แปรงฟัน เช็ดหน้าเช็ดตา และหยิบเสื้อผ้าสำหรับใส่วันนี้ ในทุกขั้นตอนที่วรรณเป็นคนทำ จะมีพุเป็นคนตัดสินใจเองตลอดว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไรหรือจะใส่อะไร สิ่งนี้เรียกว่า ‘อำนาจร่วม’ (shared power) ที่สร้างให้คนมีอำนาจน้อยกว่าได้เข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจด้วย

“เรื่องสำคัญมากของคนที่เป็นพีเอคือเรื่องการคิดแทน คนพิการควรกำหนดเองว่า จะทำอะไร ตามการตัดสินใจของเขา พีเอจะไม่คิดแทนเหมือนกับคนในครอบครัว ที่มักมีปัญหาอย่าง ไม่ให้คนพิการออกไปข้างนอก หรือเมื่อให้ออกไปแล้วก็ถามว่าไปทำไม จะไปได้เหรอ ขึ้นรถเมล์หรือข้ามถนนได้เหรอ จะเข้าห้องน้ำยังไง เพราะครอบครัวคิดว่าคนพิการใช้ชีวิตไม่ได้ ต้องช่วยเหลือตลอดเวลา และหากไม่ว่างช่วยก็รู้สึกว่าคนพิการกลายเป็นภาระ

“ไม่ใช่แค่ในครอบครัว อุปสรรคต่างๆ ของคนพิการ ไม่ว่าจะเรื่องสภาพแวดล้อมหรืออื่นใดล้วนเกิดจากความไม่เข้าใจของคนในสังคม ที่ใช้ประสบการณ์ของตัวเองแต่ไม่ได้ถามความคิดเห็นของคนพิการ พอทำเสร็จ คนพิการก็ไม่ได้ใช้เพราะใช้ไม่ได้ สุดท้ายก็บ่นว่าสร้างแล้วไม่มีคนใช้”  วรรณกล่าว

พุกล่าวว่า เหตุผลที่เขาต้องจ้างวรรณเป็นเพราะในพื้นที่นครปฐมมีพีเอน้อย ยิ่งพีเอที่เข้าใจแนวคิดด้านการช่วยเหลือคนพิการแบบ IL ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ เขาเล่าให้เราฟังไปพร้อมกับให้วรรณช่วยเตรียมตัว แต่งตัวออกจากบ้านไปด้วย

“ผู้ช่วยคนพิการเป็นตำแหน่งงานที่หายาก นอกจากพี่วรรณก็มีนักเรียน นักศึกษามาช่วยบ้าง เป็นระยะสั้นๆ วันธรรมดาเขาก็ต้องไปทำงานหรือไปเรียน จึงมาช่วยได้แค่ช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น” พุกล่าว

ปัญหาของพีเอ

หนึ่งในปัญหาคลาสสิคที่สุดของงานพีเอคือความไม่เพียงพอของคนทำงานด้านนี้ แม้หน่วยงานรัฐจะกำหนดสัดส่วนของผู้ช่วยคนพิการไว้แล้วคือ จังหวัดหนึ่งจะมีผู้ช่วยประจำ 7 คน แต่ในทางปฎิบัติก็ยังดูห่างไกล และไม่เพียงพอ

“จริงๆ มีระเบียบกำหนดไว้สำหรับคนพิการที่ไม่มีใครช่วยเหลือ ดูแล ให้สามารถมีผู้ช่วยตามที่หน่วยงานจัดสรรมาดูแลได้โดยกำหนดให้มีจังหวัดละ 7 คน แต่ปัญหาคือ จำนวน 7 คนนั้นไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ช่วยคนหนึ่งอาจต้องดูแลคนพิการอย่างน้อยสามคน นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ บางครั้งไม่ได้มีหลักในการประเมินความจำเป็น จนทำให้พีเอที่มีอยู่ประจำจังหวัดไปเป็นผู้ช่วยของกลุ่มคนพิการที่ไม่ได้มีความพิการรุนแรง”

“ความไม่เข้าใจของผู้ช่วยคนพิการประจำจังหวัดก็เป็นปัญหาที่สำคัญ บางคนเข้ามาเยี่ยม มาให้กำลังใจ มาแนะนำว่า ตัวเองเป็นตัวแทนของศูนย์แล้วก็หายไป สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากความเข้าใจผิดในเรื่องหน้าที่ของพีเอว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะพีเอส่วนหนึ่งเติบโตมาจากการเป็น อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) การเป็นผู้ช่วยคนพิการไม่ใช่หน้าที่ของเขา เคยถามบางคนเขาก็บอกตรงๆ ว่า ถ้าให้มาช่วยเช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว เขาทำไม่ได้หรอก สิ่งทำได้มากที่สุดคือมาเยี่ยม” พุกล่าวต่อ

หลายครั้ง มักมีข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องพีเอคือแนวคิด ซึ่งสามารถให้คนในครอบครัวมาเป็นได้ ไม่ว่าจะพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ท้ายที่สุดหากเราดูตามความหมายของคำว่า พีเอ จริงแล้วๆ ในสายตาของคนพิการ พุกลับคิดต่างออกไป

“คนบอกว่า เราเอาเงินให้พ่อแม่ดีกว่า เงินไม่ไปไหน แต่หากมองในมุมการเป็นผู้ช่วย เมื่อครอบครัวเป็นคนดูแลเรา เวลาเราคิดอะไรที่ไม่เหมือนเรากลับไม่มีสิทธิแย้ง อยากกินอะไร อยากไปไหน หรือทำอะไรที่ครอบครัวอาจไม่เห็นด้วย เขาก็คิดแทนเราไปทุกเรื่อง”

“เราอยากกินส้มตำ เขาก็ไม่ให้กินเพราะกลัวจะท้องเสีย แล้วต้องมานั่งเช็ดขี้ เช็ดเยี่ยวให้ หรือเรื่องง่ายๆ แค่อยากแต่งตัวแบบไหน ก็ยังคิดแทน อยากใส่กางเกงขายาวก็ใส่ไม่ได้เพราะมันใส่ยาก ต้องเสียเวลามานั่งทำให้ แต่พีเอจะไม่แทรกแซงเราในเรื่องเหล่านี้ เขาทำหน้าที่ช่วยให้สิ่งที่เราตัดสินใจนั้นเกิดผลสำเร็จ”

“อย่างไรก็ดี ก็ยังมีบางเรื่องที่พีเออาจไม่เข้าใจ เช่น เรื่องที่เราดูดบุหรี่ แขนเราไม่ดีจึงต่อไฟเองไม่ได้ ก็ต้องถามพีเอก่อนเสมอว่า ดูดบุหรี่ไหม ถ้าเขาไม่โอเคกับบุหรี่เราก็จะขอให้คนอื่นช่วยแทน พีเอบางคนคิดว่า ดูดบุหรี่แล้วไม่ดี ก็มาห้ามเราดูดบุหรี่ ด้วยคำพูดอย่างว่า “พิการแล้วยังดูดบุหรี่มันไม่ดีนะ” หรือพยายามหาแต่ของกินเพื่อสุขภาพมาให้เรา ให้เรากินแต่ผัก เจอแบบนี้ครั้งหน้าเราก็ขอเปลี่ยนเป็นคนอื่นแทน”

“ในญี่ปุ่น คนพิการกับผู้สูงอายุต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเรื่องพีเอ  สมมติว่า มีคนพิการคนหนึ่งอยากออกมาใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน รัฐจะจ่ายค่าพีเอให้ แต่เขาต้องมาที่ศูนย์  IL เพื่อประเมินก่อนว่า จะต้องใช้ผู้ช่วยกี่ชั่วโมง ต้องใช้งานอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร กว่าที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกต้องมีการฝึกหัดก่อน

“การปฏิบัติต่อพีเอก็สำคัญ คนพิการบางคนคิดว่างานพีเอคือคนใช้ ซึ่งไม่ถูกต้อง พีเอเป็นคนช่วยเหลือไม่ใช่คนใช้ หรือบางคนเวลาเรียกพีเอมาช่วย ก็เรียกเหมือนเขาเป็นลูกน้อง “เห้ย มานี้ดิ” แบบนี้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามีเงินจ้าง แล้วคุณจะไปใช้เขาทุกอย่าง ให้เขาเอากางเกงในไปซักหรือใช้พีเอไปล้างห้องน้ำ ทั้งๆ ที่มีคนอื่นในครอบครัวอยู่”

ระบบพีเอที่ขาดการส่งเสริม

“บ้านเราไม่มีการส่งเสริมเรื่องผู้ช่วยอย่างจริง เพราะเขาประเมินว่าบ้านเรามีคนพิการน้อย เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ในญี่ปุ่นเขาคิดว่าต้องมีผู้ช่วยให้มากขึ้น เพราะสังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”

“เราเคยเป็นคนพิการติดเตียงมาก่อน ทำให้เข้าใจความรู้สึกดี ต่อให้เราทำเรื่อง UD (Universal design) ให้เกิดขึ้นได้แล้ว แต่คนพิการไม่มีความเชื่อมั่น เขาก็ไม่กล้าออกมาใช้ชีวิต

อย่างรถเมล์ชานต่ำที่คนพิการใช้ได้ พอไปถามคนขับก็พบว่า คนที่ใช้ส่วนใหญ่มีแต่คนหน้าเดิมๆ นั่นเป็นเพราะยังมีคนพิการอีกมากที่ไม่ออกมาใช้ชีวิต กลัว ไม่รู้ว่าออกมาแล้วจะใช้ชีวิตยังไง รวมถึงอีกหลายคนยังต้องการพีเอในการช่วยเหลือสิ่งต่างๆ ที่เขาทำในชีวิตประจำวัน”

“ในกฏหมายเขียนครอบคลุมหมดทุกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติคนละเรื่อง ปีที่แล้วเราไปทำเรื่องขอกู้เงินคนพิการกับ พมจ. (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด) เขาไม่ให้เรากู้ เพราะพิการรุนแรง คิดว่ากู้ไปก็เอาไปทำอะไรไม่ได้ เรารู้กฏหมายเลยคุยกับเขา ชี้ให้เขาดูว่าจริงๆ แล้วทำได้ ไม่มีกฏข้อไหนที่ห้ามคนพิการรุนแรงกู้เงินกองทุนคนพิการ สิ่งเหล่านี้หากคนพิการไม่รู้กฏหมายก็เข้าไม่ถึง” พุกล่าว

 

ไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงระบบเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการทำงานด้วย องค์ประกอบหนึ่งของการขาดคนทำงานคือ คามเสี่ยงจากการบาดเจ็บของร่างกาย วรรณเล่าให้ฟังว่า

“เรื่องร่างกายเป็นปัญหาปกติของคนเป็นพีเอ โดยเฉพาะเมื่อต้องอุ้มคนพิการ รวมถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอเพราะบางทีดูแลคนพิการที่นอนดึกเราก็ต้องนอนทีหลัง แล้วเราก็ต้องตื่นก่อนเพื่อมาดูแลเขาซึ่งมันไม่เพียงพอเท่าไหร่“

“เรื่องของการอุ้ม แม้ผมจะยังไม่เคยเจ็บตัว แต่ต้องมีการฝึกฝน หาเทคนิค เพราะอุ้มแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำคัญคือต้องปลอดภัยสำหรับตัวเราเอง บางครั้งเราต้องอุ้มคนที่ตัวใหญ่กว่ามากๆ ถ้ามีคนช่วยก็เป็นเรื่องที่ดี”

“การเป็นพีเอมันเหนื่อยมากๆ ทำงานจนหนีเลยก็มี บางทีเจอคนพิการที่จู้จี้จุกจิกมากๆ ก็เบื่อ แต่สำหรับคนพิการ การถูกพีเอทิ้งคือเรื่องใหญ่ บางคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็ต้องนอนอยู่อย่างนั้น ข้าวก็ไม่ได้กิน น้ำก็ไม่ได้อาบ ไม่มีคนช่วยจัดการเรื่องขับถ่ายหรือการเข้าห้องน้ำ คนพิการคนหนึ่งที่รู้จักถูกพีเอทิ้ง ต้องนั่งบนรถเข็นทั้งคืนเพราะไม่มีคนมาช่วย ลองนึกสภาพของคุณสิ ถ้าต้องนั่งท่าเดิมทั้งคืนจะเมื่อยและเหนี่อยขนาดไหน”  

อาชีพที่คนไม่ค่อยอยากทำ?

“สมัยก่อนผมมีความพยายามจะทำกลุ่มของตัวเอง ทำได้ประมาณเกือบ 2 ปี มีประมาณ 20 กว่าคนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร และมีคนทำงานจริง 4 คน ซึ่งก็ทำอยู่ไม่กี่เดือนก็หายไป คิดว่าไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนไม่เห็นว่าการยึดทำอาชีพนี้จริงได้ ยิ่งหาคนทำประจำยิ่งยาก

หากเป็นนักศึกษา เมื่อเรียนจบเขาก็หางานประจำทำ แถมการเป็นพีเอเป็นอาชีพที่ไม่ได้มีรายได้มากมาย ใครจะทนอยู่ สู้ไปทำงานบริษัทดีกว่า ฉะนั้นปัญหาแรกคือเราจะทำยังไงให้คนทำงานนี้มีรายได้ที่มั่นคง คือให้เป็นอาชีพที่ถาวรให้ได้ ทุกวันนี้คนไทยไม่ทำแล้ว พีเอหลายคนจึงเป็นคนต่างด้าว แสดงให้เห็นว่าคนบ้านเราไม่สนใจเลย จึงควรเริ่มจากค่าตอบแทนที่ดีก่อนเพื่อจูงใจ” 

อ้างอิง

พระราชบัญญัติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550

http://www.mol.go.th/content/62670/1504757160

“PA” ผู้ช่วยคนพิการ งานหลักคือให้คนพิการได้ “ตัดสินใจ”

https://thisable.me/content/2017/08/261