Skip to main content

เรารู้จัก จ๊ะจ๋า จิณจุฑา จุ่นวาที จากสื่อหลายๆ ที่ ที่ทั้งคุยเรื่องชีวิตส่วนตัว การเรียนหรือชีวิตการทำงาน ด้วยความน่ารักและเป็นกันเองของจ๊ะจ๋าจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมแวดวงสื่อถึงเฝ้ามองเธออยู่เรื่อย แต่ปัจจุบันจ๊ะจ๋าเป็นนักวิชาการอุตสาหกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และยังเป็นแม่ค้าขายของกิ๊ฟท์ชอปในวันว่าง

ก่อนหน้านี้ ThisAble.me เคยพาผู้อ่านไปรู้จักกับจ๊ะจ๋ามาแล้วรอบหนึ่ง ตอนที่เราตามเธอไปเป็น “ติ่ง” นักร้องเกาหลี (อ่านได้ที่นี่ https://www.thisable.me/content/2017/12/350 ) วันนี้เราเลยอยากชวนคุณมารู้จักเธออีกครั้งหนึ่ง ผ่านเรื่องการเรียน ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอเป็น ‘จ๊ะจ๋า’ หญิงสาวที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแบบทุกวันนี้

อย่างที่รู้กันว่า การเรียนเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากสำหรับคนพิการหลายคน แต่ไม่ใช่เพราะเขาเรียนไม่ได้ แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ และโรงเรียนที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน แม้การเรียนจบปริญญาตรีจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือเก่งพิเศษ แต่หลายครั้ง ด้วยความยากของการเข้าถึง ทำให้คนมองคนพิการจบปริญญาตรีว่า เป็นคนเก่งและสู้ชีวิต

ด้วยฉากหลังที่เราเล่าไปขั้นต้น ทำให้เราสนใจ จ๊ะจ๋าถึงมุมการเรียน การทำงาน เราอยากรู้ว่าเธอมีวิธีแบบไหนในการฝ่าฟันอุปสรรค ชวนอ่านช่วงชีวิตวัยเรียนที่เต็มไปด้วยสีสัน การตัดสินใจ จุดเปลี่ยน แรงผลักดัน และแรงสนับสนุนของจ๊ะจ๋า ที่นำมาสู่การทำงานอันเป็นที่รักในวันนี้

เด็กหญิงจิณจุฑาผู้รักการสื่อสาร

จิณจุฑา: เราชอบงานสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ตอนเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์ ก็ทำกิจกรรม เล่นดนตรีไทย เป็นพิธีกร โรงเรียนก็สนับสนุนให้ออกสื่อเรื่อยๆ เพราะเด็กพิการมักไม่ค่อยกล้าแสดงออก จนรู้สึกว่า เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่เรารู้จักดีที่สุด และจะเลือกเดินทางนี้   

เราเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์ถึง ม.3 หลังจากนั้นก็ต้องตัดสินใจว่าอยากทำอะไร บางคนไปสายอาชีพ โรงเรียนพระมหาไถ่ หรือเรียน ปวช. ปวส.ในกรุงเทพ บางคนก็ไม่เรียน ส่วนเราเลือกเรียน ม.ปลาย  ไม่เคยคิดถึงการฝึกอาชีพหรือไปทำงานก่อนเลย เพราะอยากเรียนเหมือนคนอื่น แม่บุญธรรมของเราก็จริงจังกับเรื่องเรียนมาก แม่ยืนยันให้เราเข้าเรียนตั้้งแต่อนุบาลแม้ไม่มีโรงเรียนไหนรับเรา

ไม่ใช่เหตุผลเพราะพิการแล้วต้องเรียน แต่เพราะเป็นเด็กต้องเรียนหนังสือ การศึกษาคือเรื่องสำคัญ  

ชีวิต ม.ปลาย

โรงเรียนปากเกร็ด เป็นโรงเรียนสามัญทั่วไป อาจเพราะนนทบุรีมีคนพิการอยู่เยอะ สภาพแวดล้อมเลยค่อนข้างสะดวก เราไม่เคยโดนเพื่อนแกล้งเพราะคนค่อนข้างชินตากับคนพิการ แต่ก็มีบ้างอย่างสายตาที่มองเราแปลกๆ คนมองสงสัย คนพิการบางคนไม่ชอบที่ถูกมอง แต่เราไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้ เรามั่นใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนไม่พิการ คนบ้านเราไม่ได้มีธรรมชาติของการมองเหยียด แต่มักมองด้วยความสงสัยหรือสงสารซะมากกว่า   

เราเข้าเรียนมัธยมปลายด้วยการสอบเข้าตามระบบปกติ ในสายศิลป์คำนวณ คณิต-อังกฤษ ตอนนั้นโรงเรียนยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีห้องน้ำคนพิการ ไม่มีทางลาด แต่เราโชคดีที่มีเพื่อนทั้งเพื่อนผู้ชายผู้หญิงช่วยเหลือ คอยอุ้ม คอยยกไปในจุดที่เราไปไม่ได้ แม้แต่ยกขึ้นชั้น 7 ก็เคยมาแล้ว เราไม่เคยได้ยินเพื่อนเกี่ยงกันเลย ส่วนอาจารย์ก็เข้าใจที่เราเข้าห้องช้า

เพื่อนเคยพูดว่า ไม่เคยมองเราเป็นคนพิการ เวลาไปไหนก็ไปด้วยกัน โดดเรียนด้วยกันก็เคยมาแล้ว

มหาวิทยาลัยที่ไม่ให้เข้าเรียน

ตอนแรกเราเลือกเรียนวารสารศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่เมื่อสัมภาษณ์ เขากลับบอกว่า เราไม่สามารถเรียนร่วมกับคนปกติได้ เพราะอาจจะถือกล้อง แบกของไม่ได้ หรือจะดูงานข้างนอกยังไง จึงทำให้ไม่รับเข้าเรียน

เรามองว่าเขาควรรับเพราะมีงบสนับสนุนสำหรับคนพิการในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แล้วจะอ้างว่าไม่พร้อมได้อย่างไรในเมื่อเราสอบผ่านตามระบบทุกขั้นตอน สุดท้ายเราจึงตัดสินใจออกมา และไปอยู่ในที่ที่เขาอยากรับเราดีกว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีภาคปกติไม่เคยมีนักศึกษาพิการมาก่อน เคยมีแต่ภาคพิเศษเพราะเรียนภาคพิเศษไม่ต้องทำกิจกรรม เราจึงเป็นคนแรกที่เรียนในหลักสูตรนี้

เลือกมหาวิทยาลัยที่เลือกเรา

เราเลือกเรียนคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ทั้งที่จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจเรียนการตลาดตั้งแต่แรก ตอนไปสอบสาขาสื่อสารมวลชนแม้มหาวิทยาลัยจะไม่ได้ระบุว่าสาขานี้ไม่รับเด็กพิการทางการเคลื่อนไหว แต่คณะก็ไม่รับจึงยื่นข้อเสนอให้ไปเรียนคณะอื่น เราเล็งคณะคหกรรมและบริหารแต่สุดท้ายก็เลือก บริหารการตลาดเพราะคิดว่า ต้องได้พูด ได้สื่อสาร แต่พอมาเรียนจริงๆ ก็ยังไม่ใช่อย่างที่คิดเพราะที่นี่สอนให้เราเป็นผู้บริหาร ไม่ได้ให้มาขายของ

ตอนเรียนที่นี่เรายู่หอใน โดยมีแม่เช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ เพราะหอนอกอยู่ไม่ได้อันตรายเวลาข้ามถนน หอในถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ขยายห้องน้ำ ทำทางลาด เราเลยยิ่งมั่นใจว่าคิดถูกที่มาเรียนที่นี่  สำหรับเรา การให้โอกาสมาเรียนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องสนับสนุนในด้านอืนๆ ด้วย เหมือนกับเรื่องหอพักที่เราอยู่นี่แหละ

เราปรับ มหาวิทยาลัยเปลี่ยน

หลังเราเข้าเรียน การปรับเปลี่ยนต่างๆ ก็ไม่ได้อยู่แค่ที่หอ แฟนเราตอนนั้นเรียนคณะศิลปกรรม พอคณะเห็นเราไปหาแฟนบ่อยๆ จากที่มีแต่บันไดเขาก็ปรับเป็นทางลาด ทำพื้นให้เรียบ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับเรา แต่มีประโยชน์ในระยะยาว   

ช่วงเรียนเราต้องลาไปโรงพยาบาลบ่อย บ่อยจนคิดว่าน่าจะเรียนไม่จบ แต่มหาวิทยาลัยก็เข้าใจความจำเป็น ไม่ได้เช็คขาดเรียนแต่ให้ชีทมาอ่าน ให้งานมาทำ เช่นเดียวกับช่วงปีสามที่เราผ่าตัดใหญ่ ทำได้แค่นอนเตียงเพราะใส่เฝือกไปถึงเอว เราเองก็ขอดร็อป แต่เขาไม่ยอม และเปลี่ยนวิธีเรียนโดยการเอาหนังสือมาให้ มีอาจารย์มาสอนที่หอ สอบที่หอ มีรุ่นพี่มาช่วยสอนหนังสือ เพื่อนก็บอกว่าอยากให้จบพร้อมกัน ทุกคนพยายามช่วยเราไปด้วยกัน  

เราทำกิจกรรมทั้งของสาขา ของคณะ ของมหาลัย ช่วงแรกที่เข้ามาเรียนปี 1 พี่ๆ เขาคงเป็นห่วง ไม่ค่อยอยากให้ทำอะไร ดูแลอย่างดี แต่พอผ่านไปสองวันเท่านั้นแหละ ขึ้นมึงกูมาเลย เขาเริ่มเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นและยอมรับว่าเราก็เป็นเด็กคนหนึ่ง แค่ต้องระวังบางอย่างนอกจากพี่เข้าใจแล้ว เราว่าก็อยู่ที่เราด้วย ถ้าเราเข้ากิจกรรมไปแล้วนั่งเฉยๆ ก็ไม่มีทางที่จะได้รู้จักคนอื่น จนตอนปีสองก็ได้เป็นรุ่นพี่นำทำกิจกรรม ซึ่งไกลจากที่เราคาดหวังไว้เยอะ  คนอื่นๆ ไม่ได้มองว่า เป็นคนพิการแล้วต้องอยู่เฉยๆ เรามีน้องรหัส หลานรหัสเหมือนคนอื่น แถมมันกล้าไถตังค์เราด้วย (หัวเราะ)

เหตุผลที่คนพิการ(บางคน)เรียนจบช้า

คนพิการหาพื้นที่ตัวเองเหมาะสมยาก การจะต้องไปที่ไหนสักแห่งจะต้องคิดเยอะ โดยเฉพาะคนพิการในต่างจังหวัด  มีคนพิการที่เรารู้จักหลายคนมากที่ตั้งเป้าว่าอยากเรียนต่อทั้งสายอาชีพ ทั้งในมหาลัย สุดท้ายก็ไม่ได้เรียนเพราะที่บ้านไม่สนับสนุน ปัจจัยไม่อำนวย เรียนฟรีแต่ก็ไปมหาวิทยาลัยไม่ได้ บางคนก็รอให้ตัวเองพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจที่จะกลับเข้าสู่สังคม เข้ามาเผชิญหน้าผู้คน ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเตรียมใจรับสิ่งที่จะต้องเจอเหมือนเราได้  

เรารู้สึกว่า ถ้ายิ่งทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น ก็ยิ่งรู้สึกแตกต่าง สิ่งเหล่านี้ท้าทายตัวเราว่า จะทำยังไงให้สามารถอยู่ในสังคมที่ไม่สนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นท์ได้ คำตอบคือเราต้องรู้จักปรับตัว ผสมไปกับการสนับสนุนของภาครัฐ การรอรับเพียงอย่างเดียวนั้นทำให้รู้สึกว่า คุณค่าในตัวน้อยลงไปเรื่อยๆ   

เข้าสู่รั้วกระทรวง

ตอนแรกทำงานที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ตำแหน่งนักพัฒนาสังคม ดูแลคนไข้จิตทุเลา ดูอาการต่างๆ แต่พอทำไปสักพักก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางของเรา พอกรมส่งเสริมอุตสากรรมเปิดรับสมัคร เราเลยตัดสินใจมาลองดู

อยู่ที่นี่เราได้บรรจุในตำแหน่งนักวิชาการอุตสาหกรรม ทำส่วนของงานวินัย กฏหมาย ระเบียบโครงสร้างองค์กร ซึ่งช่วงแรกก็แอบกังวลเหมือนกันว่าจะทำงานได้ไหม คนอื่นจะยอมรับในตัวเราไหม จะให้งานเราทำไหม แต่พอมาทำงานจริงๆ เราก็พบว่าคนอื่นพยายามเรียนรู้ร่วมกับเรา ไม่ตัดสินว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้  โดยเฉพาะส่วนงานด้านกฏหมาย ที่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบและความไว้ใจประมาณหนึ่ง ถึงจะมอบหมายงานได้

ชีวิตที่ปรับตัวอีกครั้ง

ตอนอยู่ที่ทำงานเก่าเขาดูแลเราดี มีที่พัก เสียแค่ค่าน้ำค่าไฟ แต่พอย้ายมาที่นี่เราต้องหาเช่าคอนโดเอง และปรับตัวใหม่หมด แรกๆ เรานั่งแต่แท็กซี่ แถมแท็กซี่พอเห็นวีลแชร์ก็ไม่ค่อยรับ แม้แพงหน่อยแต่ก็แลกกับความสบายใจ ใช้ไปสักพักก็พบว่าไม่ไหว ค่าเดินทางเดือนละห้าพัน เลยมาลองใช้รถไฟฟ้า MRT แม้จะใช้เวลานานขึ้นหน่อย ขึ้นยากขึ้นหน่อย แต่ก็โอเค เราต้องรู้จักการปรับตัว ทำยังไงให้ตัวเองอยู่ได้ ถ้ามาอยู่แต่ไม่เปิดใจ คิดแต่ว่าคนอื่นดูถูกเราตลอดเวลา อยู่ที่ไหนก็ไม่รอด คนพิการหรือพ่อแม่คนพิการบางคนชอบบอกเราว่าเราโชคดี เพราะได้งานทำแล้วคนรอบข้างยอมรับ เราว่าไม่เกี่ยวทั้งหมด อยู่ที่ตัวคนพิการเองว่าเข้าถึงคนอื่นไหม หรือปรับตัวไหม ไม่ใช่แค่เรื่องงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตอื่นๆ ด้วย การไปซื้อของ ไปเที่ยว ออกไปใช้ชีวิต ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน

 

ขอขอบคุณ  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

อ้างอิง : รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทยประจำเดือนกันยายน 2560

http://dep.go.th/sites/default/files/files/news_2.pdf