Skip to main content

“ข้อจำกัดไม่ใช่ข้ออ้างในการล้มเลิกความฝัน เมื่อเราเชื่อในตัวเอง ก็จะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดได้” เป็นความคิดที่เกิดเมื่อได้พูดคุยกับ องุ่น-สุดารัตน์ เทียรจักร์ หญิงสาวที่เคยฝันอยากจะดำน้ำ ในวันนี้องุ่นไม่เพียงแค่ฝัน แต่เธอเป็นทั้งนักเขียน นักดำน้ำ นักเดินทาง และกำลังจะกลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจกับคนอื่นอย่างไม่รู้จบ

หนังสือ “พลังที่ซ่อนอยู่” และ “How deep is your dream” ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอ เป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงบทบาทข้างต้นที่เราเกริ่นไว้ หากแต่หนังสือเหล่านี้ไม่เพียงบอกเล่า แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจและเปิดมุมมองอีกด้านให้กับผู้อ่านโดยมี “องุ่น” ผู้เขียน หญิงสาววัย 27 ปี ที่ใช้ชีวิตกับวีลแชร์มาร่วม 14 ปีหรือกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต มาบอกเล่าประสบการณ์หลังเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทตั้งแต่บริเวณคอ พ้นความเจ็บในวันนั้น ความรู้สึกเดียวที่เหลืออยู่คือความรู้สึกจากนิ้ว 2 นิ้ว โป้งและชี้ และเป็น 2 นิ้วที่ทำให้เธอได้รางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2560 ประเภทชมเชยสารคดีสำหรับเด็กและเยาวชนมาแล้ว

How deep is your dream หนังสือที่เราหลายคนคุ้นตาจากชั้นหนังสือแนะนำตามร้านขายหนังสือ ที่มีหน้าปกเป็นนักประดาน้ำ 3 คนใต้ทะเล หากมองผ่านๆ นี่อาจเป็นหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ดำน้ำของใครสักคน แต่เมื่อลองเปิดอ่านคุณจะพบว่านี่ไม่ใช่หนังสือดำน้ำทั่วไป แต่คือไดอารี่เก็บเรื่องราวชีวิตของหญิงสาวที่มีความฝันอยากดำน้ำ และเธอประสบความสำเร็จกับความฝันครั้งนี้

ชีวิตเริ่มต้นอีกครั้งด้วยกระดาษและปากกา

สุดารัตน์: จุดเริ่มต้นเกิดจากหนังสือทำมือที่ทำช่วงพักฟื้นหลังอุบัติเหตุ ทำเพื่อโชว์พัฒนาการของตัวเอง เล่าความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และเพื่อมอบเป็นของขวัญให้หมอและเพื่อนที่คอยให้กำลังใจเรา จากที่เขียนตัวหนังสือโย้เย้ก็เริ่มสวยขึ้น เราให้หมอดูเป็นคนแรกแล้วจึงส่งต่อให้คนอื่นได้อ่าน

เราเคยวาดสีน้ำและปักผ้าก่อนที่จะเริ่มฝึกเขียนบันทึก ตอนวาดรูปเราจะวานคนอื่นเขียนวันที่ให้ เหมือนกับเวลาล้างพู่กันหรือเปลี่ยนน้ำ ที่แม่จะทำให้ แต่วาดไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรา เราอยากทำทุกขั้นตอนได้ด้วยตัวเอง จึงหันมาเขียนบันทึกที่ใช้แค่กระดาษกับปากกา เขียนเรื่องตัวเองลงเว็บไซต์เด็กดีแต่ก็ไม่มีคนอ่าน เขียนนิยายที่ใช้เวลาเรื่องหนึ่งเป็นปีๆ โดยได้แรงบันดาลใจของเรื่องและตัวละครในจินตนาการแบบที่เราอยากเป็น อยากทำหรืออยากพูด แต่ลองส่งสำนักพิมพ์แล้วไม่ผ่าน ช่วงนั้นกลับมาเริ่มใหม่จนท้อ คิดอีกแล้วว่าคงไม่ใช่ตัวเอง

เรามักมีข้ออ้างกับสิ่งที่เราทำไม่ได้

ตอนอายุ 20 เราก็หยุดตัวเอง เลิกเขียน นั่งดูแต่ซีรีย์เกาหลีแล้วบอกตัวเองว่า นี่คือการหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ทั้งที่รู้ว่าเป็นแค่ข้ออ้าง คำถามว่า ตัวเองทำอะไรอยู่เกิดมากขึ้นเมื่อเห็นเพื่อนเข้ามหาวิทยาลัย รู้สึกแย่กว่าตอนประสบอุบัติเหตุอีก ตอนอุบัติเหตุเรายังมีความหวังกับตัวเอง แต่ตอนนี้เรากลับรู้สึกผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ รายการเจาะใจในปี 56 ที่พี่สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุลพูดว่า “เรามักมีข้ออ้างกับสิ่งที่เราทำไม่ได้ เพราะเราคิดว่าทำไม่ได้ เราก็เลยทำไม่ได้” ซึ่งตรงกับที่เราเป็นอยู่ คำพูดนี้ทำให้เราลองทำอะไรมากขึ้น กล้าคว้าโอกาสที่เข้ามา เหมือนกับหนังสือเล่มแรก “พลังที่ซ่อนอยู่” เกิดจากที่พี่เอ๋ นิ้วกลม มาถ่ายรายการ “พื้นที่ชีวิต” และได้อ่านบันทึกของเรา เขาถามว่า จะรวบรวมออกมาเป็นหนังสือได้ไหม แล้วก็ให้โอกาสเราได้ทำจนกลายเป็นหนังสือ

How deep is your dream ?

พอเริ่มมีเงินจากการทำหนังสือพลังที่ซ่อนอยู่ ก็อยากไปเที่ยวทะเล แต่จะให้ไปทะเลเพื่อนั่งเฉยๆ ก็คงไม่ใช่ คนอื่นไปทะเลก็เล่นน้ำ เล่นสคูบากัน เราสงสัยว่าจะทำได้ไหม จนเห็นคนพิการในต่างประเทศนั้นทำได้

ตอนไม่พิการไม่เคยมีความคิดอยากดำน้ำเลย การดำน้ำดูเป็นเรื่องไกลตัว เหมือนเป็นอีกโลก แต่พอได้ทำแล้วรู้สึกสนุก น้ำทำให้เราเป็นอิสระทั้งจากการเคลื่อนไหวและวีลแชร์   ต่างจากตอนอยู่ข้างบนที่ขยับตัวไม่ค่อยได้ แม้ก่อนพิการเราจะว่ายน้ำเป็นอยู่แล้ว แต่การว่ายน้ำหลังพิการก็ไม่เหมือนเดิมเพราะเราขยับตัวไม่ค่อยได้ ต้องใส่ถุงเท้าป้องกันขาไปโดนปะการัง ตลอดระยะเวลาที่ดำน้ำตั้งแต่เริ่มฝันจนทำสำเร็จ ก็ถูกรวบรวมเป็นไดอารี่ How deep is your dream

สถานีต่อไป...ญี่ปุ่น

หนังสือเล่มต่อไปเป็นไดอารี่ท่องเที่ยวญี่ปุ่น จากเล่มแรกจนถึงเล่มที่ 3 แตกต่างกันทุกเล่ม ตอนเล่มแรกเราไม่รู้ว่า จะต้องทำอย่างไรให้ออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่มได้ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า ต้องเขียนแบบไหนคนถึงจะสนใจ       

 เราไปญี่ปุ่น 5 วันช่วงต้นเดือนเมษายน วางแผนเที่ยวเองทุกอย่าง ทั้งที่พัก การเดินทาง เรากังวลเรื่องการเดินทางอยู่บ้างว่า จะไปได้ไหม วีลแชร์เข้าได้หรือเปล่า อารมณ์เหมือนตอนไปกรุงเทพฯ ครั้งแรก แต่พอไปจริงก็ไม่กังวลแล้วเพราะข้อมูลแน่น (หัวเราะ) 

เราเลือกไปญี่ปุ่นเพราะชอบดูซีรีย์ญี่ปุ่น อีกทั้งญี่ปุ่นเองก็ขึ้นชื่อเรื่องการเดินทางที่สะดวกสบาย แล้วก็สบายจริงๆ สมคำร่ำลือ รถไฟฟ้าที่นู่นมีเจ้าหน้าที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกสถานี ต่างจากในไทยที่รถไฟฟ้ายังมีลิฟต์แค่บางสถานี แต่ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือทางเดินเท้าที่ราบเรียบไปหมด หรือถึงจะมียกพื้นก็มีทางลาดให้ตลอด เราสามารถไปได้ทุกที่โดยไม่ต้องกังวลเลย

ความพิการทำให้เรารู้จักตัวเอง

ครั้งแรกที่เล่าเกี่ยวกับอุบัติเหตุคือตอนออกรายการเจาะใจ เมื่อปี 2556 เราตื่นเต้นเมื่อต้องพูดแล้วมีกล้อง ต่างจากตอนนี้ที่ไม่รู้สึกอะไรแล้ว อุบัติเหตุไม่ค่อยส่งผลกระทบกับจิตใจแล้วเพราะผ่านมากว่า 1o ปี เราไม่รู้สึกกลัวอุบัติเหตุ แค่รู้สึกแย่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเพราะอุบัติเหตุมากกว่า

ช่วงแรกที่เดินทางผ่านจุดเกิดเหตุก็รู้สึกแย่นะ ที่ตรงนี้ทำให้เราเป็นแบบนี้ ทุกวันนี้ก็ยังต้องผ่านเส้นทางนั้นอยู่ แต่ไม่ได้รู้สึกแย่ขนาดนั้นแล้ว เรารู้สึกดีที่เข้มแข็งผ่านมาได้ ถึงจะมีความคิดว่า ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุอาจทำอะไรได้ดีกว่านี้ แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เราว่า ความพิการทำให้เรายอมรับชีวิตได้ง่ายขึ้น ทำให้เราคิดบวกมากขึ้น และรู้จักตัวเองมากขึ้น

แน่นอนว่า ความพิการเป็นข้อจำกัด แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นกรอบ กลับกันความพิการทำให้เราท้าทาย อยากเอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง

เราเป็นคนชอบทำกิจกรรมนะ แต่ช่วงแรกที่ประสบอุบัติเหตุกลับไม่ออกไปไหนเลย ไม่ชอบให้ใครมอง จะไปไหนทีก็ลำบาก แต่พอเริ่มได้ออกไปเที่ยวอีกครั้ง กลับรู้สึกว่า แค่เที่ยวห้างก็สนุกแล้ว  แล้วก็อยากไปที่อื่นๆ อีก เราไม่ได้รู้สึกว่าพิการ แต่เป็นเด็กทั่วไปที่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ เพียงแต่เดินไม่ได้แค่นั้นเอง

ไม่เอาใครมาตัดสินตัวเราเอง

การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น คือการปรับตัวเรียนรู้กันและกัน อย่างคนที่รู้ว่าเราดำน้ำได้ เขาก็อาจไม่รู้ว่าต้องอุ้มเราลงสระยังไง แต่หลายๆ ครั้งเราก็ไม่สามารถไปทำความเข้าใจกับทุกคนได้ เลยยังมีหลายคนที่มีความคิดว่า “พิการแล้วมาเที่ยวทำไม” อยู่ ซึ่งนั่นก็เป็นสิทธิของเขา

เราไม่ค่อยเจอคนตัดสินเราด้วยคำพูด แต่มักเจอการตัดสินด้วยสายตา ตอนไปดำน้ำที่เกาะราชา ฝรั่งที่เที่ยวอยู่ไม่ค่อยมองเรา แต่คนไทยมองนะ แค่ไปห้างยังมองเลย ช่วงแรกๆ เราไม่ชอบ ก็เลยคิดว่า เขามองเราเหมือนกับที่เรามองคนสวยคนอื่นๆ การมองเหล่านั้นก็ทำร้ายอะไรเราไม่ได้

 

มองหาเป้าหมายใหม่ให้ใช้ชีวิตอยู่เสมอ

เรามีแพลนใหม่เรื่อยๆ ตอนนี้อยากไปยุโรป ทั้งที่ตอนแรกคิดว่า ชีวิตหนึ่งแค่ได้ไปญี่ปุ่นถึงตายก็ไม่เสียดายแล้ว แต่พอทำสำเร็จแล้วก็รู้สึกว่า ชีวิตก็ไม่ได้จบแค่ตรงนั้น ก็มองหาเป้าหมายใหม่ให้ใช้ชีวิตต่อไป อย่างที่เคยคิดว่า อยากทำหนังสือเพื่อตอบแทนพ่อแม่ ถึงทำได้แล้วแต่เราก็ยังทำมันต่อไป พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เหมือนที่ตอนประสบอุบัติเหตุแรกๆ ก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะดำน้ำ จะไปญี่ปุ่น หรือไปยุโรป แต่ค่อยๆ ขยายความคิดและขยายกรอบของตัวเอง

ปีที่แล้วเราไปเล่นสไลด์เดอร์ที่ซานโตรินี่ คนพิการเล่นสไลด์เดอร์ได้โดยใช้ลิฟท์พาขึ้นไป เรายังรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้เล่น ครอบครัวของเราไม่ได้มีฐานะสูงมาก เวลาไปกรุงเทพก็ใช้นั่งรถไฟเพราะเครื่องบินนั้นแพง องุ่นมากรุงเทพฯ ด้วยรถไฟครั้งแรกตอนประกวดมิสวีลแชร์ ตอนนี้รถไฟมีตู้คนพิการที่มีลิฟต์แต่หากจองใกล้ๆ เดินทางก็จะเต็มแล้ว บางครั้งเลยต้องใช้ตู้ทั่วไป แล้วให้เจ้าหน้าที่อุ้มขึ้น-ลง

สิ่งที่พบระหว่างการเดินทางขององุ่น

การเดินทางเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้เห็นน้ำใจคน ถึงจะถูกมอง ไปไหนลำบาก แต่พอออกไปเจอสถานการณ์จริงๆ เราก็สามารถเอ่ยขอความช่วยเหลือได้ รวมถึงมีคนคอยเข้ามาช่วยเหลือระหว่างทางแบบไม่ได้ขอด้วย การเดินทางทำให้รู้ว่า  โลกและสังคมยังเปิดกว้าง การออกไปเจออะไรใหม่ๆ ทำให้ได้เรียนรู้ และปรับตัวตาม ข้อจำกัดที่เคยเป็นกรอบก็ลดลง และอยากทำอะไรให้เกินกว่าที่เคยเป็นอยู่