Skip to main content

คุณคิดว่าคนพิการทำอาชีพอะไรได้บ้าง ?

คนพิการหลายคนถูกมองข้ามความสามารถเพียงเพราะคำว่า พิการ หรือแม้คนพิการหลายคนจะมีความสามารถแต่ก็ยังถูกมองว่า ความพิการเป็นกรรมเก่าที่คนพิการต้องชดใช้ แต่ความเชื่อแบบนี้ใช้ไม่ได้กับวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์สอนกฎหมายคนแรกของประเทศไทยที่มีความพิการทางการมองเห็น หลังจากสอนหนังสืออย่างยาวนาน วิริยะก็ผันตัวเองมาเป็นประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ด้วยความเชื่อที่ว่า คนพิการสามารถทำได้ทุกอย่าง

จากบทความที่แล้ว (Yimsoo Cafe สาขา 2 กาแฟร้านเล็กกับความอร่อยใหญ่โดยบาริสต้าหูหนวก) Thisable.me ได้พาทุกคนไปชมบรรยากาศของร้านยิ้มสู้คาเฟ่ ในวันนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพกาแฟกับศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของยิ้มสู้คาเฟ่

 

 

โครงการฝึกอาชีพคืออะไร ?

วิริยะ  :  ด้วยความคิดที่จะฝึกและสร้างอาชีพให้กับคนพิการ หลังที่ผ่านมาในจำนวนคนพิการประมาณ 7 แสนคน มีงานทำแค่แสนกว่าคนและในแสนกว่าคน ก็มีอาชีพส่วนใหญ่เป็นอาชีพอิสระเพราะอาชีพลูกจ้างมีอุปสรรคเยอะ ตั้งแต่เรื่องการเดินทาง, นายจ้างไม่ยินดีรับหรือรับแล้วก็ให้ทำงานง่ายๆ ฉะนั้นการฝึกที่นี่ก็เลยเน้นอาชีพอิสระ ที่รายได้ขึ้นอยู่กับผลการทำงานที่ดี โครงการฝึกอาชีพของเราจะเน้นที่การฝึกทำอาหารและกาแฟ รองลงมาคือการขาย เมื่อฝึกจบแล้วก็ต้องมีที่ขายและต้องเป็นที่ที่ขายได้จริงๆ อย่างยิ้มสู้คาเฟ่สาขาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่มีลูกค้าเยอะมาก ขายได้จริงและคุ้มค่าต่อการขาย

โครงการฝึกอาชีพเริ่มต้นขึ้นอย่างไร ?

เริ่มต้นจากตอนไปประชุมที่สหรัฐอเมริกากับทีมเครือข่ายคนตาบอดที่ทำร้านอาหาร เขาคุยกันว่ามีรายได้ปีละ 10 ล้านเหรียญ ถ้าเทียบกับประเทศไทยก็ประมาณ 300 กว่าล้านบาทต่อปี การที่เขาบริหารร้านอาหารได้ขนาดนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วจึงเริ่มโครงการด้วยอาชีพร้านอาหารและกาแฟ นอกจากขายกาแฟก็ยังจัดร้านให้ทันสมัยสมัยและสวยงาม ตกแต่งร้านให้มีมุมถ่ายรูปเพื่อให้ลูกค้ามาถ่ายรูป เช็คอินในโซเชียลมีเดียได้ ซึ่งถือเป็นการโฆษณาให้ร้านไปด้วยในตัว

ปัญหาที่คนพิการเผชิญมีส่วนทำให้เกิดโครงการนี้มั้ย ?

มีส่วน อุปสรรคอันยิ่งใหญ่ของคนพิการในสังคมไทยคือความเชื่อ เพราะสังคมไทยไม่เชื่อว่าคนพิการมีความสามารถ ไม่เชื่อว่าคนพิการทำงานได้ พอสังคมมองว่าคนพิการเป็นภาระก็เลยเกิดปัญหา และปัญหานี้ก็มีมาตั้งแต่สมัยผมเรียนแล้ว ในตอนนั้นหลายโรงเรียนไม่ให้เรียน ผมเลยต้องไปเรียนโรงเรียนคริสต์ จากวิกฤตจึงกลายเป็นโอกาส โชคดีที่ผมก้าวพ้นอุปสรรคความเชื่อนี้ได้จึงเกิดเป็นโครงการนี้เพื่อให้สังคมเห็นว่าจริงๆ แล้วคนพิการสามารถทำอะไรทุกอย่างไม่ต่างจากคนทั่วไป รวมถึงสามารถสร้างรายได้และสร้างอาชีพได้ด้วย

ทำไมถึงต้องเป็นกาแฟ ?

อาชีพที่เหมาะกับคนพิการหากอยู่ในเมืองคืออาชีพทำร้านอาหารและร้านกาแฟ เราจึงเลือกฝึกอาชีพด้านอาหารและกาแฟให้กับคนพิการ โดยมุ่งหวังให้คนพิการสามารถเปลี่ยนจากจุดอ่อนของความพิการเป็นจุดแข็งได้ และกลายเป็นเป็นจุดขายของร้านได้

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ?

ก็ไปได้ดีนะ ตอนนี้เราต้องพยายามเสาะแสวงหาสถานที่ที่ยินดีให้เราไปขายและราคาไม่แพง ต้องเป็นที่ที่เราวิเคราะห์แล้วว่ามีลูกค้ามากพอ ซึ่งก็จะพยายามไปเจรจากับหน่วยงานราชการด้วย เหมือนเป็นการขยายสาขาแต่ก็ต้องดูด้วยว่าคนที่เรารับมาฝึกนั้นพร้อมที่จะทำหรือเปล่า ไม่อย่างงั้นจะเกิดปัญหาว่าได้ที่ขายเรียบร้อยแล้วแต่ไม่มีคนไปขาย (หัวเราะ)

 

 

 

ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับอะไร ?

ได้เรียนรู้เรื่องกาแฟและการทำอาหารโดยไม่เสียเงิน และถ้าสนใจทำงานก็จะมีการรับเข้าทำงานเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้ความรู้เรื่องการบริหารร้าน เพราะเราฝึกทุกอย่างตั้งแต่เช็ด ถู ทำความสะอาดร้าน ไปจนถึงทำบัญชี โดยส่วนคนที่เข้าร่วมโครงการเป็นคนพิการทางการได้ยิน เพราะที่นี่มีตู้ล่ามภาษามือผ่านระบบ TTRS เลยจะเข้าถึงกลุ่มคนหูหนวกมากกว่า

บาริสต้าร้านยิ้มสู้คาเฟ่เป็นผลผลิตจากโครงการนี้หรือเปล่า ?

ใช่ครับ จริงๆ แล้วเราอยากให้เขาไปเปิดร้านเองนะ การฝึกอบรมเกิดขึ้นเพื่อทำให้มั่นใจว่า ถ้าหากคุณไปเปิดร้านเป็นของตัวเองแล้วมีลูกค้าเยอะอย่างที่สาขาธรรมศาสตร์ คุณจะสามารถวิเคราะห์การบริหารงานกับร้านเล็กๆ และคิดวิธีที่จะทำให้มีสินค้าเยอะๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้  หลังจากอบรมกับโครงการ บาริสต้าจะได้เริ่มทำงานในส่วนของมูลนิธิก่อน ซึ่งก็คือยิ้มสู้คาเฟ่และถ้าเขามั่นใจที่จะเปิดร้านเองแล้ว เราก็สนับสนุนเขา นอกจากนี้ก็มีหลายหน่วยงานที่สนใจจ้างคนที่เข้าร่วมฝึกอบรม ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการดูสถานที่ว่าเหมาะสมหรือไม่

มีปัญหาอะไรในการอบรมบ้าง ?

คนหูหนวกมีปัญหาด้านการสื่อสาร คนพิการร่างกายก็มีปัญหาด้านการเดินทาง กลุ่มออทิสติกที่มาฝึกงานก็มีปัญหาด้านพฤติกรรม อย่างคนที่มะภาวะออทิสติกถ้าขายที่ยิ้มสู้คาเฟ่สาขาอรุณอัมรินทร์ซึ่งลูกค้าไม่เยอะมากเขาก็ทำได้เรื่อยๆ แต่พอเป็นสาขาธรรมศาสตร์ที่ลูกค้าเยอะ เขาก็จะงง ทำไม่ค่อยถนัด จึงต้องมีคนคอยกำกับตลอด เพราะฉะนั้นก็มีข้อจำกัดของคนพิการอยู่เหมือนกัน เราก็เลยจำเป็นจะต้องมีผู้ดูแลคนพิการมาช่วยดูแล ซึ่งหมายถึงทั้งคนที่มีลูกหลานพิการที่ตามกฎหมายพวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะอบรมได้เช่นกันโดยได้รับการสนับสนุนจากเงินกองทุนคนพิการ

ผู้เข้าร่วมโครงการเสียเงินหรือไม่และใครเป็นคนฝึกสอน ?

ไม่เสียครับ เพราะเราใช้เงินกองทุนคนพิการมาฝึกอบรม เงินส่วนนี้จะครอบคลุมไปถึงค่าอบรม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก รวมไปถึงค่าอาหารด้วย โดยจ้างหัวหน้างานที่ชำนาญเรื่องอาหารและกาแฟมาฝึกและสอนงานให้ได้มาตรฐาน และเนื่องจากเรามีความพิการหลายประเภท ก็จะอาศัยคุณครูมาช่วยชี้แนะให้ผู้ร่วมฝึกอบรม นอกจากนี้ยังอนุญาตให้เอาพ่อแม่และผู้ดูแลมาด้วย ถ้าเป็นคนกลุ่มคนหูหนวกก็จะสอนผ่านล่ามภาษามือ ส่วนหรือกรณีของกลุ่มออทิสติกก็จะมีผู้ปกครองมาช่วยดูแล

การฝึกใช้เวลานานไหม ?

อย่างน้อย 1 เดือน แต่ถ้าจะให้ชำนาญจริงๆ ต้อง 6 เดือน จากนั้นเราก็จะจ้างเขาทันที ทำแล้วมีเงินเดือน มีหัวหน้าคอยจ้ำจี้จ้ำไชในการทำงาน ในต่างจังหวัดเราจะเน้นอาชีพเกษตรแปรรูป ต่อไปก็จะเอาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่ได้มาขายที่ยิ้มสู้สาขาธรรมศาสตร์ สินค้ามีทั้งไส้อั่ว และผลิตภัณฑ์จากเห็ด เราส่งเสริมให้พวกเขาเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน เพื่อให้เกิดรายได้รายวัน รวมถึงการฝึกเลี้ยงจิ้งหรีด อนาคตอาจจะมีการเอาจิ้งหรีดทอดไปขายเพราะเห็นว่านักศึกษาหลายคนชอบทาน (หัวเราะ) รุ่นล่าสุดเพิ่งอบรมเสร็จไปเดือนที่แล้ว ตอนนี้กำลังประกาศรับรุ่นใหม่อยู่ครับ ไม่ได้กำหนดเวลาตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จะไปเปิดขาย ถ้าเมื่อไหร่หาที่ขายได้เราก็จะเปิดรับคนมาฝึกอบรมก่อน

 

 

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อที่ช่องทางไหนได้บ้าง ?

เราจะมีการแจ้งไปยังที่ต่างๆ ที่รับสมัครหางานให้คนพิการ ถ้าทางออนไลน์ก็สามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการหรือที่เบอร์ 02 - 055 - 1901 อีกทั้งที่นี่มีคนหูหนวกเป็นสมาชิกจึงใช้ระบบ TTRS แจ้งโดยล่ามภาษามือ

 

     สุดท้าย วิริยะได้ทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้สังคมเข้าใจความพิการ ให้โอกาสคนพิการได้เรียน ได้ทำงาน อยากให้เชื่อว่าพวกเขาสามารถทำงานได้และทำได้ดีด้วย รวมถึงเปลี่ยนวิธีคิดที่เคยมองว่าคนพิการคือภาระ เพื่อลดและขจัดความเชื่อผิดๆ ที่เคยตัดสินกลุ่มคนพิการ

 

 
ถ่ายภาพโดย  karnnt
ภาพหน้าปกโดย  Methawee Khamdee