Skip to main content

วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสายตา ด้วยเทคโนโลยี Eye tracking เพียงใช้สายตาจ้องไปยังทิศทางที่ต้องการไป วีลแชร์นี้ก็จะเคลื่อนตัวมุ่งไปยังทิศทางนั้นทันที

โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของโลก และยังเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการระดับรุนแรง ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยเกิดใหม่ราว 10-15 ล้านคน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคนเสียชีวิตและอีก 5 ล้านคนกลายเป็นคนพิการถาวร

ที่ผ่านมาเราอาจเคยเห็นวีลแชร์ที่บังคับด้วยสมอง หรือเสียงไปแล้ว แต่ล่าสุดวีลแชร์ไฟฟ้าที่สามารถควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair Based on Eye Tracking) ได้ถูกสร้างขึ้นโดยทีมนักศึกษาและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และได้ส่งประกวดจนชนะรางวัล Silver Award จากเวทีแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกหรือ International Contest of Innovation 2017 (iCAN) ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ท่ามกลางผู้เข้าประกวดนวัตกรรมจำนวนกว่า 5,000 คน จาก 20 ประเทศ

รศ.ดร.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีคนพิการเพิ่มมากขึ้น ในจำนวนนี้มีคนพิการร้อยละ 3-5 ต้องทุกข์ทรมานจากภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตที่เป็นผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 150,000 ราย วีลแชร์จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่วีลแชร์ไฟฟ้าที่มีในท้องตลาด ส่วนใหญ่มักจะควบคุมการใช้งานด้วยจอยสติ๊ก จึงทำให้ผู้ป่วยอัมพาตชนิด ALS หรือพาร์กินสันใช้วีลแชร์ที่มีอยู่ทั่วไปได้อย่างยากลำบาก แม้นักวิจัยจะสร้างวีลแชร์บังคับด้วยเสียง (Voiced-control system) และบังคับด้วยสมอง (Brain-control system) แต่ก็มีปัญหาเมื่อสภาพแวดล้อมมีเสียงดังรบกวน การใช้เทคโนโลยี Eye tracking ทีี่เพียงจ้องไปยังทิศทางที่ต้องการจะไป วีลแชร์นี้ก็จะเคลื่อนตัวมุ่งไปยังทิศทางนั้นทันที จึงจะช่วยให้การใช้งานเป็นไปอย่างง่ายขึ้น

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา หนึ่งในทีมนักวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวะลาดกระบัง เล่าถึงส่วนประกอบสำคัญและการทำงานของวีลแชร์ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก คือ 1.Image Processing Module 2.Wheelchair-Controlled Module 3.Appliances-Controlled Module และ 4.SMS Manager Module

เมื่อ Image Processing Module ซึ่งมีกล้อง Webcam และ C++customized image processing จับภาพเคลื่อนไหวของดวงตา และส่งสัญญาณไปยัง Rasberry Pi โมโครคอนโทรลเลอร์ที่เชื่อมต่อประสานกับลูกตา ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็น Cursor control ตัวจอของ Rasberry Pi ในการควบคุมระบบ นอกจากความเคลื่อนไหวของสายตาแล้ว การกะพริบตาก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบนี้ได้เพื่อสั่งการเหมือนกับการกดแป้น “Enter” บนคีย์บอร์ด

Wheelchair- ControlledModule เป็นที่รวมของเซอร์โว 2 ชุด ที่สามารถขับเคลื่อนไหวได้ 2 มิติ และปรับให้เข้ากับจอยสติ๊กได้ด้วย ระบบวีลแชร์นี้ยังสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในระยะไกล และสื่อสารติดต่อกับแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพผ่านการแจ้งข้อความในสมาร์ทโฟนด้วย

อนิวัฒน์ จูห้อง นักศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมชีวการแพทย์ หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าวว่า ภายในวีลแชร์จะมีเครื่องมือตรวจจับความเคลื่อนไหวของดวงตาผู้ที่ใช้งาน ซึ่งติดตั้งอยู่กับจอแสดงผลโดยจะมีสัญลักษณ์คำสั่งต่างๆ ที่สามารถมองได้อย่างชัดเจน ผู้ใช้งานได้เลือกใช้ได้ด้วยการมองไปยังสัญลักษณ์นั้น เพื่อสั่งงานตามความต้องการ โดยมีคำสั่งพื้นฐานซึ่งจะประกอบไปด้วย การสั่งให้วีลแชร์เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือเคลื่อนไปข้างหน้า เพียงแค่มองไปยังสัญลักษณ์นั้น ระบบจะมีการประมวลผล พร้อมทั้งสั่งงาน เหมือนกับการคลิกเมาส์ในระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งจะสะดวกต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ผู้ใช้ยังสามารถลิงก์เข้ากับระบบบ้านที่อยู่อาศัยแบบ Smart Home ได้อีกด้วย โดยจะมีคำสั่งบนหน้าจอที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมา ที่จะสามารถควบคุมระบบไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน เช่น เปิด-ปิดประตูบ้าน โคมไฟ เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลผู้ป่วย ผ่านการส่งข้อความไปยังสมาร์ทโฟนเมื่อผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน