Skip to main content

เราเจอบุญรอดครั้งแรกตอนที่เราทั้งคู่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขานั่งอยู่บนม้านั่งตรงนั้นเหมือนไม่มีความพิการ จนเขาเริ่มเดิน ท่าเดินที่โยกไปโยกมา บวกกับแขนที่เกร็งก็พอทำให้เรารู้ว่า มีบางอย่างผิดปกติ แต่สิ่งที่แตะความสนใจของเรากลับไม่ใช่ความผิดปกตินั้น แต่เป็นความช่างคุยและความเป็น 'ผู้หญิง' ในตัวของบุญรอดเสียมากกว่า

แม้เราจะมีเพื่อนเป็นคนพิการหลายคน และหลายคนก็มีเพศหลากหลาย แต่คนที่กล้าแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศกลับน้อยจนนับนิ้วได้ เหตุส่วนหนึ่งมาจากกลัวสังคมไม่ยอมรับ แต่ไม่ใช่กับบุญรอด อารีย์วงษ์ในวัย 25 หนุ่มวัยทำงานที่กำลังมีหน้าที่การงานมั่นคง พื้นที่ชีวิตของบุญรอดรายล้อมด้วยคนที่เข้าใจในตัวเขา โดยเฉพาะพื้นที่ในมหาวิทยาลัยที่เข้าใจทั้งความพิการและตัวตน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาความรัก และความต้องการทางเพศในแบบที่เขาต้องการ


บุญรอด อารีย์วงษ์
ถ่ายโดย คชรักษ์ แก้วสุราช/ สถานที่ Bad Taste Cafe

บุญรอดเป็นคนอย่างไร

บุญรอด: ร่าเริง แจ่มใส ตลก ขี้เล่น  เข้ากับคนอื่นง่าย ครอบครัวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราเป็นคนแบบนี้้ เพราะทุกคนเข้ากับคนง่าย พูดคุยเก่ง เราก็เลยติดนิสัยชวนคุย

เราเป็นครึ่งกะเทย ครึ่งเกย์ ไม่ได้อยากเป็นผู้หญิงเต็มตัว แต่ก็มีบางอารมณ์ที่อยากแต่งตัวเป็นผู้หญิง เวลาเครียดก็แต่งหน้าเล่นให้หายเครียด แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว

แล้วชอบเพศอะไร

ชอบเกย์

เรารู้ตัวว่าเป็นแบบนี้ตั้งแต่อนุบาล เพราะชอบเอารองเท้าส้นสูงของแม่มาใส่ เราอยู่ในครอบครัวใหญ่ที่มีพี่ชายเป็นเพศหลากหลายเหมือนกัน เราก็เล่นด้วยกัน แต่ตอนนั้นแม่คงคิดว่าเราเล่นๆ ครั้งหนึ่งตอนแม่ไม่อยู่บ้าน เราไปหยิบเครื่องสำอางแม่มาแต่งหน้า แต่งเต็มมากกก (เสียงยาว) ติดขนตาปลอม ปรากฏว่าแม่กลับมาตกใจ ร้องไห้ แล้วก็ตี หลังจากวันนั้นได้คุยกัน เขาบอกตอนนั้นเขาตกใจ อึ้ง ทำอะไรไม่ถูกก็เลยร้องไห้ แต่ไม่เคยเสียใจที่เราเป็นแบบนี้ แค่เป็นห่วงว่า ในอนาคตสังคมจะยอมรับเราได้หรือเปล่า และหลังจากนั้นแม่ก็ไม่ตีอีกเลย

ชีวิตตอนเด็กของบุญรอดเป็นอย่างไร

ตอนประถมฯ มีเพื่อนผู้หญิงเยอะ เพราะผู้ชายชอบแกล้ง เช่น เอานิ้วแทงก้น เราเลยรู้สึกว่าผู้ชายไม่น่าเล่นด้วย อยู่กับผู้หญิงดีกว่า เราชอบวิ่งเล่น เล่นหมากเก็บ บอลลูนโป้ง พอขึ้นมัธยมฯ ต้น เราเรียนโรงเรียนชายล้วนก็มีคนที่ไม่ยอมรับเรา มีแกล้งบ้าง แต่ก็นับได้ว่ามีสังคมของเพื่อนที่เป็นกะเทยเยอะขึ้น แต่ตอนมัธยมฯ ปลายสังคมเปลี่ยนไป ทุกคนโตขึ้นไม่แกล้งกันเหมือนตอนเด็กๆ แล้ว แต่อาจจะมีบ้างที่ล้อเลียนเช่น ตุ๊ดพิการ

ลึกๆ เราเสียใจนะที่โดนว่า ถ้าเทียบคำว่า ‘ตุ๊ด’ และ ‘พิการ’ เราเสียใจที่เค้าด่าว่าพิการมากกว่า รู้สึกว่าคำนี้ไม่ควรเอามาด่าเพราะเราไม่ได้อยากเกิดมาพิการ แต่เท่าที่ผ่านมา ไม่มีเหตุการณ์ไหนที่ร้ายแรงจนเราเลิกอยากเป็นแบบนี้ เรายังมีความสุขกับตัวเอง และเชื่อว่าสามารถพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเป็นเกย์ไม่ได้เสียหายและสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วย พอเข้ามหา’ลัยก็ไม่มีแล้วทั้งการล้อเลียนหรือแกล้ง ทุกคนเปิดโอกาสให้ทุกเพศ โดยเฉพาะมหาลัยเองที่เปิดโอกาสให้ทั้งกับความพิการและความหลากหลายทางเพศ

รักครั้งแรก

ตอนมัธยมฯ 4-5 เป็นความรักระหว่างเราและเพื่อนผู้ชายคนหนึ่ง เรียนด้วยกันตั้งแต่มัธยมฯ 1 สนิทกันพอสมควร โทรคุยกันทุกวัน เขาคิดกับเราแค่เพื่อน มีแต่เราคิดกับเขามากกว่านั้นก็เลยพยายามทำของขวัญ พับดาวให้ แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยคำว่าเพื่อน

ทั้งๆ ที่เราคิดว่ารักประกอบด้วยหลายอย่างไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กส์อย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาเรื่องที่ใหญ่ที่สุดที่เราเจอคือเรื่องเซ็กส์ ช่วงเรียนมหา’ลัยเราเจอรักออนไลน์จากแอพหาคู่ของเพศทางเลือก ในแอพจะบอกคนที่อยู่ใกล้เราที่สุดและส่วนมากก็มุ่งเน้นเรื่องเซ็กส์อย่างเดียว ถ้าคนไหนที่เราจะไปหาเขา หรือเขาจะมาหาเรา เราจะบอกว่าไม่ค่อยแข็งแรงนะ เหมือนกันกับคนที่เราอยากคุยด้วยนานๆ เราบอกเค้าว่าเราไม่แข็งแรง ไม่ปิดความพิการ มีครั้งหนึ่งเราเล่นแอพแล้วนัดเจอกัน พอเจอปุ๊บเขาถามว่าทำไมไม่เหมือนในรูปเลย แล้วก็วิ่งหนี(หัวเราะ) เราแอบเฟลนะแต่ก็ไม่เป็นไร

“ไม่แข็งแรง” เป็นอุปสรรคต่อความรักหรือเปล่า

พอเขาเห็นเราเดินแปลกๆ ก็จะถามว่าเราเป็นอะไร ไม่แข็งแรงเหรอ เราก็บอกเราคลอดก่อนกำหนด แล้วเจอก้อนมะเร็งที่ตับ ต้องให้คีโม ฉายแสงจนกล้ามเนื้อยึด

เราว่าไม่เป็นอุปสรรค เราเป็นรุก(หัวเราะ) รุกหรือรับเปรียบเทียบไม่ได้กับเพศสภาพที่เห็นตรงหน้า เราบอกไม่ได้หรอกว่าคนที่แต่งตัวเป็นผู้ชายหรือกล้ามใหญ่จะเป็นรุกเท่านั้น หรือคนที่ดูผู้หญิง ตัวเล็กจะเป็นรับเสมอไป คนที่ดูสาวกว่าอาจจะเป็นรุกก็ได้

ที่ผ่านมามี 2-3 คนที่คบกันจริงจัง คุยกันได้ 3 เดือนนับว่านานที่สุดแล้ว แม้เราคิดว่าความพิการไม่เป็นอุปสรรคของความรัก แต่ทุกครั้งที่เรามีคู่ สิ่งที่ทำให้เลิกคุยกันคือความพิการ จนเราต้องย้ำทุกคนว่า อย่ามาคบเราเพราะความสงสาร ถ้าเจอกันแล้วไม่โอเคกับความพิการของเรา ก็ให้บอกว่า ไม่โอเคตรงๆ เลยสบายใจกว่า เจ็บครั้งเดียวดีกว่ารู้สึกเจ็บเรื่อยๆ

คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า เป็นคนพิการแล้วทำไมยังอยากมีความรัก หรือเซ็กส์

ทุกคนก็มีความต้องการทางเพศ แล้วทำไมคนพิการมีความต้องการทางเพศไม่ได้ ทั้งที่พวกเขาก็คนเหมือนกัน อย่าใจแคบกับคนพิการ เปิดใจให้มากๆ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ

ไปออกรายการ Take gay out มา เป็นอย่างไรบ้าง

ติดตามรายการนี้มานานแล้ว มีเพื่อนเป็นทีมงานเลยถามเขาว่า “มึง กูไปได้มั้ย” พอเขาบอกได้ ก็เลยตัดสินใจไป สิ่งที่เรากลัวคือคนดราม่าว่า พิการแล้วมาเรียกร้องความสงสาร แต่พอไปออกจริงๆ กลายเป็นคนละด้าน คนมองว่าเรากล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง ไม่ปิดกั้นตัวเอง โดยเฉพาะครอบครัวที่เปิดเรื่องนี้อยู่แล้ว เขาบอกเต็มที่เลย หลังรายการออกคนดูและเข้ามาทักเยอะมาก เราอยู่ในโพเดียมจนจบซีซัน และมีหนึ่งครั้งที่เหลือเป็นสองคนสุดท้าย แต่ก็ไม่ใช่เราที่ได้ไปต่อ (ตอนยืนในโพเดียมรู้สึกยังไง?) มั่นใจนะ ทำหน้าสวยให้เขาเลือก เราชอบคนตี๋ๆ ตัวเล็กๆ

ทำไมคิดว่าการแสดงตัวตนนั้นยาก หรือคนอื่นจะดราม่า

ก็เพราะความคิดที่ยังไม่เปิดรับคนที่มีเพศหลากหลาย และยิ่งบวกความพิการเข้าไปอีกก็ยิ่งพูดยาก อย่างเวลาคุยกับผู้ชายแท้นี่ยากสุด เราวางตัวลำบาก บางทีต้องแอ๊บแมนหน่อยเพื่อให้เขาสบายใจ เพราะหลายครั้งถ้าเราแสดงตัวตนมากๆ เขาก็จะรู้สึกแปลก กลัวมองว่าไปแอ๊วเขา

ความพิการก็เป็นอุปสรรคต่อความรักในบางมุม แต่ไม่ได้ขัดขวางการใช้ชีวิต มีคิดนะว่า เค้าไม่ชอบเราเพราะความพิการแน่ๆ แต่เราก็เชิ่ดใส่และคิดว่าสักวันต้องมีคนที่โอเค เราเคยมีแฟนพิการเหมือนกันเพื่อจะเวิร์ค แต่ก็ไม่เวิร์ค แค่ลองคุยๆ ก็รู้ว่าเรานิสัยเข้ากันไม่ได้ และไม่เกี่ยวกับความพิการแต่เข้าไม่ได้เพราะมันคับมากเลย (หัวเราะ)

ทุกครั้งที่จะเริ่มมีความรักใหม่ เราก็คาดหวังว่า จะเป็นความรักที่ดีและสานต่อไปได้ แต่สุดท้ายหลายครั้งก็ล้ม ถ้าขอใครสักคนได้ก็คงขอให้เขารับเราได้ ทั้งเรื่องเพศสภาพและความพิการ