Skip to main content

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.61 มิวเซียมสยาม จัดงานเสวนา "Museum Infocus 2018" ในหัวข้อ “งานการศึกษาในพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้พิการ” โดยมี เบญจวรรณ พลประเสริฐ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย, บุรินทร์ สิงห์โตอาจ นักการศึกษาอิสระ และยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล นักการศึกษามิวเซียมสยาม ร่วมเล่าประสบการณ์การจัดงานนิทรรศการที่ออกแบบเพื่อให้คนพิการมีส่วนร่วม

เบญจวรรณ พลประเสริฐ

ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย

เบญจวรรณเล่าถึงการจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเปิดให้คนพิการมีส่วนร่วมได้ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียนพิการทางการมองเห็นและทางการได้ยิน ช่วงเริ่มนำสื่อเกี่ยวกับคนพิการเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ จะต้องคิดก่อนว่า ต้องการสื่ออะไรแก่คนกลุ่มนี้ หนึ่ง- ต้องมีของจริง บางชิ้นอาจสามารถจับหรือดมได้ สอง- เสียง ที่แนะนำคือเป็นปุ่มกดเดียวไม่ซับซ้อน สาม- อักษรเบรลล์ สี่- ภาพนูน ห้า- ของจำลอง ซึ่งเป็นส่วนที่มีค่าใช้จ่ายมากเป็นพิเศษ


เบญจวรรณ พลประเสริฐ

นอกจากนี้ รายละเอียดอื่นที่ต้องมีคือ คำอธิบายภาพรวมของนิทรรศการเป็นอักษรเบรลล์, เบรลล์บล็อก (แผ่นสีเหลืองนำทางคนตาบอด), แผ่นพับเกี่ยวกับนิทรรศการ อาจมีใบงานให้เด็กทำเล็กๆ น้อยๆ เป็นภาพนูน หรือเป็นจุดเรียงกันเป็นรูป (คล้ายลักษณะอักษรเบรลล์) และมีอักษรเบรลล์เป็นคำอธิบาย

เบญจวรรณยกตัวอย่างงานจัดแสดงปี 2558 เรื่อง ‘เจ้าฟ้านักจารึก’ แกนหลักของงานอยู่ที่ ต้องมีสิ่งของให้คนตาบอดสัมผัส และต้องมีมุมหนึ่งที่อธิบายว่า ศิลาจารึกชิ้นนี้ทำอย่างไร อธิบายตั้งแต่ที่มาของหินแต่ละก้อนว่า สกัดจากหน้าผาอย่างไร มีเครื่องมือจริง มีหินจริงตั้งโชว์ ให้ผู้ชมนิทรรศการได้สัมผัส เปรียบเทียบภูมิปัญญาของคนโบราณ เช่น เครื่องมือในตอนนี้แตกต่างจากตอนนั้นอย่างไร ทำให้เขาเห็นว่า คนโบราณกว่าจะสกัดร่องลึกได้ใช้เวลานานมาก และรู้ว่าจารึกอยู่ได้หลายที่นอกจากศิลาจารึก เช่น อยู่ที่ภาพพระบฏ หรือผืนผ้า ส่วนมากเป็นผ้าแถบยาว มีวาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูปเพื่อเป็นที่เคารพบูชา และอยู่ที่ฐานพระพุทธรูป

เบญจวรรณเสริมว่านอกจากนี้ยังมีการทำคิวอาร์โค้ดของพิพิธภัณฑ์ ที่แนะนำพิพิธภัณฑ์ด้วยคลิปวิดีโอสั้นๆ ซึ่งเหมาะในการใช้กับคนสายตาเลือนราง แต่อาจไม่สะดวกสำหรับคนตาบอด

ในปี 2559 ยังมีนิทรรศการ ‘หริภุญไชยที่ไม่ (ทัน) ได้เห็น’ โดยได้ไอเดียมาจากนิทรรศการภาพถ่ายเก่าชื่อว่า ‘สยามที่ไม่ทันได้เห็น’ นิทรรศการนี้เสนอเรื่องราวของหริภุญไชยในที่อื่นๆ เพราะคนมักเข้าใจว่าหริภุญไชยอยู่ที่ลำพูน ทั้งที่จริงแล้ววัฒนธรรม รูปแบบงานศิลปะนั้นไปโผล่อยู่ที่อื่นด้วย เช่น อ.หางดง, อ.จอมทอง, เวียงกุมกาม, เวียงท่ากาน หรือเมืองโบราณต่างๆ ของเชียงใหม่ เราจึงเริ่มตามหาภาพถ่ายเก่า ไปที่หอจดหมายเหตุ และสำนักศิลปากร จนได้จารึกเวียงเถาะจารึกอักษรมอญแบบหริภุญไชย และเริ่มดีไซน์นิทรรศการ

“หากจะสื่อสารกับคนตาบอดก็ต้องมีของที่คนตาบอดจับได้ เลยเริ่มหาข้อมูลนิทรรศการคนตาบอด ปีนั้นมี Dialogue in the Dark ห้องมืดจำลองการใช้ชีวิตของคนตาบอด และ Please Touch! นิทรรศการวาดเส้นด้วยไหมพรมของเด็กพิการทางการมองเห็น ปัญหาที่พบคือ เด็กวาดรูปไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็น เมื่อได้สัมผัส จึงทำให้เด็กจินตนาการภาพออกมาง่ายขึ้น

ข้อแนะนำของเบญจวรรณคือ อย่าติดกับดักว่าต้องทำนิทรรศการเพื่อคนพิการ เพราะถ้าคิดตั้งต้นว่าจะทำเพื่อคนพิการ เราจะติดอยู่กับโจทย์ และคิดสคริปต์ทั้งหมดไม่ออก อยากให้พยายามหาคอนเนคชันจากหลายๆ ที่ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่ทำงานพิพิธภัณฑ์เพื่อคนตาบอดโดยเฉพาะ  ซึ่งจะพัฒนาความคิดของเราจากแค่เรื่องวัตถุ สิ่งที่จับต้องได้ ไปสู่เรื่องภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ วัฒนธรรมต่างๆ ว่าทำอย่างไรให้เขาได้เรียนรู้ไปด้วย

เบญจวรรณย้ำว่า สิ่งสำคัญคือเนื้อหาต้องเข้าใจง่าย เช่น อธิบายตามที่ภาพเห็นแล้วเพิ่มองค์ความรู้เข้าไป อย่างการบอกว่า สีฟ้าจะให้ความรู้สึกเย็น สงบ และระมัดระวังการใช้คำเฉพาะต่างๆ นอกจากนี้ หากจัดนิทรรศการสำหรับเด็กก็ควรเพิ่มเรื่ออวสภาพแวดล้อมรอบข้าง มากกว่าแค่จะบอกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ล้วนๆ สิ่งที่ต้องระวังคือ พิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการมักทำอักษรเบรลล์อธิบายนิทรรศการขนาดใหญ่ แต่เพราะอักษรเบรลล์อาศัยนิ้วสัมผัสในการอ่าน ถ้าตัวอักษรยิ่งใหญ่ก็จะยิ่งอ่านช้า

บุรินทร์ สิงห์โตอาจ

นักการศึกษาอิสระ ที่ศึกษาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บุรินทร์เล่าว่า พิพิธภัณฑ์นี้ออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับคนพิการ เนื่องจากผู้อำนวยการคนแรกของพิพิธภัณฑ์ขาไม่ดี จนเดินไม่สะดวก จึงทำให้เริ่มออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ใต้ดินให้มีทางลาดสำหรับวีลแชร์เพื่อเข้าตัวอาคาร และพื้นที่แสดงภายในที่มีพื้นที่ยกระดับ


บุรินทร์ สิงห์โตอาจ

 

คนส่วนมากเป็นคนทั่วไปที่มาเที่ยวชม แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นกลุ่มนักเรียนพิการทางร่างกาย ซึ่งใช้หลักสูตรปกติในการเรียนการสอน พิพิธภัณฑ์จึงเน้นให้แด็กทำกิจกรรที่ใช้พื้นและอุปกรณ์ไม่มาก ใช้เวลาไม่นาน มีเนื้อหาย่อยง่าย เข้าใจง่าย เช่น การทำสมุดกิจกรรมเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาและใช้เกมอย่างบิงโกอธิบายความหมายของภาพศิลปกรรมจีนที่พบในเครื่องปั้นดินเผา จิตกรรม สถาปัตยกรรม และงานศิลปกรรม นอกจากนี้ยังมีการ์ดภาพศิลปะและความหมาย เกมโดมิโน่ หรือลายแสตมป์เครื่องปั้นดินเผาให้เด็กนำมาแสตมป์ในสมุดกิจกรรม ซึ่งพบว่าเด็กให้ความสนใจ พึงพอใจ อยู่ร่วมกับกิจกรรมได้นาน

นอกจากนี้บุรินทร์ได้เล่าถึงกรณีตัวอย่างที่เขาได้ไปศึกษาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวงไทเป ที่ไต้หวัน ซึ่งมีสื่อสำหรับคนพิการ เช่น ภาพพิมพ์นูนบนกระดาษซึ่งให้ผิวสัมผัสที่แตกต่าง, คำอธิบายเป็นอักษรเบรลล์, ภาชนะต่างๆ ที่มีพื้นผิวหลากหลายสามารถสัมผัสได้ หรือสัญลักษณ์ที่บอกว่าจุดนี้มีสื่อสำหรับคนพิการทางสายตา รวมทั้งพิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวงสาขาใต้เจียอี้ ในไต้หวัน ซึ่งมีสื่อเช่น ผ้านูน โลหะนูน รวมทั้งมีการนำสุนัขมาใช้นำทางคนตาบอด หรือใช้เศษภาชนะดินเผาในเรื่องผิวสัมผัสแต่ละอย่าง เป็นต้น

ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

นักการศึกษา ผู้ดูแลส่วนนิทรรศการมิวเซียมสยาม

ยุภาพรเล่าว่า เริ่มแรกมิวเซียมสยามถูกออกแบบสำหรับเด็กหรือคนทั่วไป ไม่ได้ถูกคิดเรื่องคนพิการ ปัจจุบันก็พยายามเติมเต็มส่วนของผู้มีความต้องการพิเศษด้วย ส่วนใหญ่แล้วมิวเซียมสยามจะเน้นสื่อที่จับต้องได้ (Hands On) แม้มิวเซียมสยามจะไม่มีโบราณวัตถุ แต่ก็ใช้ของจำลองเพื่อสร้างประสบการณ์เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส ที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กอายุ 6-12 ปี และผู้มีความบกพร่องในการมองเห็น อีกนิทรรศการหนึ่งที่สอดรับกับคนพิการคือนิทรรศการ ‘ประสบการณ์หู สู่อาเซียน’ ที่ว่าด้วยเรื่องเสียงในบริบทของสังคม สภาพแวดล้อมในอาเซียน ซึ่งมีเสียงที่หลากหลาย ทั้งเสียงในธรรมชาติ และเสียงในเมืองต่างๆ


ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

ปัจจุบันมิวเซียมสยามจัดนิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดค่อนข้างมากสำหรับคนพิการ แม้มี Audio Guide ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยบรรยายอยู่ตามห้องนิทรรศการต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่ Audio Description หรือเสียงบรรยายที่เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อบรรยายรายละเอียดที่สำคัญของภาพ มีเพียงแค่การบรรยายรวมๆ และมีตัวอย่างสิ่งของบางส่วนให้สัมผัสได้

ยุภาพรยกตัวอย่าง ห้องจัดนิทรรศการห้องหนึ่ง ซึ่งจัดแสดงรูปปั้นนางกวักหลากหลายรูปแบบซึ่งสามารถสัมผัสได้ ทั้งนางกวักในรูปทรงเดิม รูปทรงอ้วน เป็นเทพกระซิบ หรือเป็นแบบโมเดิร์น ซึ่งสะท้อนว่าความเชื่อของไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย และความเชื่อมต่อเรื่องนั้นๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุแต่ละแบบ

ยุภาพรเห็นว่า การเทียบสเกลของวัตถุกับสัดส่วนของคน โดยจำลองเป็นภาพนูน กรณีที่วัตถุนั้นไม่สามารถสัมผัสได้ ทำให้ให้คนพิการทางสายตานึกภาพออกว่าวัตถุดังกล่าวมีขนาดจริงประมาณเท่าใด


สิ่งของจำลองนูน เพื่อให้คนตาบอดสัมผัส