Skip to main content

เว็บไซต์บีบีซีนำเสนอเรื่องราวของสเตฟ ซานจาติ ยูทูปเบอร์สาวข้ามเพศ ที่สร้างแรงบันดาลใจจากการก้าวข้ามความพิการและอคติเรื่องเพศ แม้จะเคยถูกเรียกว่า คนหน้าปลา หรือกีดกันจากกลุ่มเด็กผู้ชายเมื่อเธอเปิดตัวว่าเป็นเกย์ แต่สเตฟในวันนี้กลับเป็นแรงบันดาลใจและมีความสุขกับความแตกต่างของตัวเอง


ภาพจาก Stef Sanjati

คนที่ติดตามยูทิวป์อาจเคยเห็นช่องของสเตฟ ซานจาติ(Stef Sanjati) ผ่านตามาบ้าง สาววัย 22 ปีคนนี้เป็นที่รู้จักในฐานะบิวตี้บล็อกเกอร์ ที่มีความโดดเด่นในการสอนแต่งหน้าและเทคนิคต่างๆ ตอนเด็กๆ สเตฟถูกวินิจฉัยว่า เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ชื่อ Waardenburg syndrome ซึ่งส่งผลให้กระดูกใบหน้าของเธอเจริญเติบโตอย่างผิดรูป สูญเสียการได้ยินของหูซ้าย และส่งผลให้ลูกนัยน์ตามีสีฟ้าเข้มกว่าพบเจอได้ในคนทั่วไป

แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของเธอจะแตกต่างกับคนในครอบครัว แต่นั้นก็ไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับเธอเลย จนกระทั่งเธอเริ่มถูกล้อเลียนที่โรงเรียน

“คนหน้าปลา หน้ากบหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับใบหน้าของฉัน เป็นผลจากตาสองข้างที่อยู่ห่างกันมาก ฉันจำชั่วโมงศิลปะได้ดี ครูของพวกเราสอนการวาดหน้าคน โดยให้เด็กเอานิ้วหนึ่งนิ้วขึ้นมาวัดความห่างของตาทั้ง 2 ข้าง แต่สำหรับฉัน การวาดหน้าตัวเองนั้นต้องทาบนิ้วลงไปถึง 2 นิ้วครึ่ง” เธอกล่าว

นอกจากสเตฟจะถูกล้อเลียนเรื่องใบหน้าแล้ว เธอยังถูกล้อเลียนเกี่ยวกับความ”ไม่แมน” ด้วย สัญญาณของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อ เธอถูกเพื่อนเลือกเมื่อพูดถึงเรื่องคนที่รักชอบเพศเดียวกัน แม้การเป็นผู้ชายที่มีความเป็นหญิง และมีใบหน้าที่ไม่เป็นพิมพ์นิยมจะทำให้สเตฟเผชิญความยากลำบากในการระบุและแสดงตัวตนในช่วงวัยเรียน แต่เธอก็ไม่รู้จะอธิบายความแตกต่างของตัวเองว่าอย่างไร

การเติบโตในเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของออนทาริโอ ในประเทศแคนาดานั้น ทำให้โลกทัศน์ของเธอค่อนข้างแคบเกินกว่าที่จะหาตัวตนจริงๆ ของเธอเจอ ในตอนนั้นแม้แต่เว็บไซต์ต่างๆ ที่ใช้หาข้อมูลในปัจจุบันก็ไม่มีข้อมูล และไม่มีความหลากหลายมากพอเกี่ยวกับสิ่งที่เธอเป็น ด้วยเหตุนี้ ทำให้เธอนิยามตัวเองว่าเป็นเกย์และเปิดเผยตัวเองเมื่อเรียนเกรด 9 และนั่นทำให้เธอเสียเพื่อนผู้ชายทั้งหมดที่มี

“ในวันแรกของการเปิดเรียนเทอม 2 ของเกรด 9 ฉันเลือกนั่งข้างเพื่อนสนิทในวิชาวิทยาศาสตร์ แต่เขากลับมองฉันด้วยสายตานิ่ง ไร้ชีวิตพร้อมกับหน้าแข็งเหมือนหิน และพูดว่า ถ้านั่งข้างเรา เราจะฆ่าเธอ” เธอเล่า


ภาพจาก Stef Sanjati

ในช่วงเวลานั้นเธอเกลียดตัวเองมาก ไม่ชอบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และไม่สามารถส่องกระจกโดยที่ไม่รู้สึกกังวลได้ เธอปลีกตัวออกจากสังคมหรือแม้แต่ครอบครัวของตัวเอง และถึงแม้นี่จะเป็นทางที่เธอเลือก แต่เธอกลับรู้สึกอ้างว้าง และโดนทอดทิ้ง จนทำให้เธอหันหน้าหาโลกออนไลน์เพื่อหนีออกจากสิ่งที่เผชิญ

“ฉันย้ายตัวเองจากเมืองเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ไปยังโลกอินเทอร์เน็ต ฉันหลงอยู่ในโลกแฟนตาซี ที่นั่นมีหลายคนที่เผชิญประสบการณ์คล้ายๆ ฉัน และมีคนมากมายที่มีเพศหลากหลาย และมันเจ๋งมาก”

ไม่นานนักสเตฟก็หลุดเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย เพราะที่นั่นเธอสามารถแสดงความเป็นตัวตนได้อย่างเต็มที่ ห่างไกลจากการล้อเลียน แต่แม้ในโลกออนไลน์เธอจะเป็นตัวเองได้มากเท่าไหร่ ความรู้สึกไม่เข้าใจตัวแองก็ยังคงฝังลึกอยู่ข้างใน เพราะคนทั่วไปที่เธอพบเจอในชีวิตประจำวันก็ยังมองว่าเธอเป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง และนั่นยิ่งทำให้เธอรู้สึกอ้างว้าง จนทำให้ในช่วงหนึ่งของการเรียนมหาวิทยาลัย เธอพยายามเปลี่ยนตัวเองโดยการไว้หนวดและใส่เสื้อคลุม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น

จุดนั้นเองทำให้เธอล้มเลิกความพยายามที่จะเปลี่ยนตัวเอง และยอมรับความเป็นผู้หญิง เธอค้นหาคำตอบในใจว่า เธอมักวิตกกังวลและรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับสภาพร่างกายของตัวเองเมื่อเธอคิดถึงเรื่องการมีครอบครัว ทำไมเธอถึงรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อได้ยินคำว่าการเป็นพ่อ หรือพ่อ จนกระทั่งเธอรู้ว่าสิ่งที่เธอต้องการเป็นคือแม่ ความไม่สบายใจทั้งหมดก็หายไป

“ในตอนนั้นฉันรู้ว่าฉันเป็นคนข้ามเพศ รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้จริงๆ”เธอกล่าว

ในตอนนั้นเธอได้เริ่มสร้างช่องยูทิวป์เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การเปลี่ยนจากชายเป็นหญิง หลังจากทำวิดิโอมาสักพัก เธอก็ได้รับคำถาม แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเพศของเธอ แต่เกี่ยวกับความพิการ เช่น เกิดอะไรขึ้นกับหน้าของเธอ เธอจึงอัดวิดีโอ My face: Waardenburg syndrome  ที่พูดเกี่ยวกับโรคที่เธอเป็นอยู่ ซึ่งมีคนดูกว่า 8 ล้านคน เธอรู้สึกดีมากที่ได้บอกเล่าประสบการณ์การอยู่กับโรคนี้ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่เผชิญทั้งปัญหาด้านรูปลักษณ์และอัตลักษณ์ทางเพศ

สเตฟอัพโหลดวิดีโอของเธอทุกอาทิตย์เพื่อเป็นแรงพลักดันให้คนกล้าที่จะยอมรับตัวเอง นอกจากนี้เธอยังอัพเดตเกี่ยวกับการเข้ารับการผ่าตัดเสริมความงามครั้งต่อๆ ไปด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก

http://www.bbc.com/news/disability-42751434