Skip to main content

เราเริ่มต้นด้วยการถามว่า คำถามไหนที่เจอบ่อยและขี้เกียจตอบแล้ว เพราะที่ผ่านมา จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย เจ้าของแบรนด์ ONCE แบรนด์เสื้อที่มีจุดเด่นตรงที่คนตาบอดสามารถอ่านสีและไซส์ของเสื้อได้จากอักษรเบรลล์ที่อยู่ด้านหลังนั้นต้องตอบคำถามเหล่านี้มากกว่าสิบครั้งจากสื่อที่ต่างๆ

“เรื่องจุดเริ่มต้นของแบรนด์ แต่เป็นเรื่องที่ต้องตอบ แค่ขี้เกียจอยู่หน่อยๆ หรือความพยายามให้เราโชว์ความน่าสงสารของคนตาบอด ซึ่งนั่นไม่ใช่เราเพราะเรานำเสนอศักยภาพ นำเสนอว่าคนพิการเท่าเทียมกับคนไม่พิการอย่างไรซะมากกว่า” จิระตอบพร้อมหัวเราะไปด้วย

ครั้นจะบอกว่า การทำเสื้อนี้มีจุดเริ่มต้นจากการเฝ้าสังเกตการใช้ชีวิตของลุงและป้า ซึ่งเป็นคนตาบอด แต่จิระก็ไม่เคยนิยามตัวเองว่า ทำเพื่อการกุศล หรือทำแล้วได้บุญ หากแต่บอกว่า ONCE คือแบรนด์แฟชัน ซึ่งขายเสื้อที่มีเอกลักษณ์ ทุกคนใส่ได้ และกำลังจะมีคอลเลกชันใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

จิระคือใคร

จิระ: จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย เป็นเจ้าของแบรนด์ ONCE ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ

เราเริ่มทำแบรนด์ ONCE เพราะมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเท่าเทียมให้กับคนพิการทางการมองเห็นผ่านแฟชั่น สิ่งแรกคืออักษรเบรลล์ที่นูนขึ้นมาจากตัวเสื้อผ้า ทำให้คนพิการเลือกสีและขนาดของเสื้อได้ด้วยการสัมผัส ต่อมาก็ต่อยอดในเรื่องของดีไซน์ อย่างคอลเลกชัน ‘ไม้เท้า’ ก็จะมีลักษณะนูนขึ้นมา จึงทำให้ไม่ใช่แค่คนตาดีที่จะเข้าถึงแฟชั่นนี้ได้ แต่คนพิการก็สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมด้วย

อีกอย่างที่ทำก็คือ ไม่นำเสนอแง่มุมที่น่าสงสารของคนพิการ เราคิดว่าปัญหาสังคมในปัจจุบันคือทัศนคติที่เข้าใจคนพิการผิดคิดว่า คนพิการน่าสงสาร ต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาทำได้ทุกอย่าง แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไปเท่านั้นเอง
คอลเลกชันล่าสุดเราร่วมงานกับคนพิการทางการมองเห็นเพื่อให้เขาถ่ายทอดสิ่งที่อยากบอกแก่สังคม และสิ่งที่สังคมน่าจะรู้เกี่ยวกับตัวของเขา (สิ่งนั้นคืออะไร?)  เขาไม่อยากให้สังคมเข้าใจว่า เขาน่าสงสาร และยอมรับความสามารถว่า สามารถเรียนรู้ สามารถพัฒนาได้ไม่ต่างจากคนตาดี เราเลยตีความออกมาเป็นรูปไม้เท้าขาว เพราะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ ของคนตาบอด คนส่วนใหญ่คิดว่า คนตาบอดเดินไปไหนไม่ได้เพราะมองไม่เห็น ไม้เท้าขาวจึงเป็นอุปกรณ์หนึ่ง เป็นเหมือนของวิเศษที่ทำให้คนตาบอดไปไหนก็ได้อย่างอิสระ

ONCE  เลือกนำเสนอผ่านแฟชั่นเพราะการเป็นแบรนด์แฟชั่นทำให้เราได้แสดงออกทั้งในเชิงสัญลักษณ์ และได้ส่งต่อทัศนคติบางอย่างกับคนไปพร้อมๆ กัน จากรายได้ขายเสื้อบางส่วนจะกลายเป็นเงินสร้างสถาบันดนตรีคนตาบอด พี่คนนึงในทีมเคยเรียนที่นั่น เคยเป็นนักร้องข้างถนนมาก่อน นี่คือแผนธุรกิจของ ONCE ที่ต้องการเติบโตในด้านธุรกิจ พร้อมช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืนด้วย

เราคิดว่าหลายๆ โปรเจคควรคิดถึงด้านการช่วยเหลือย่างยั่งยืนด้วย ไม่ใช่แค่ช่วยเหลือ แล้วโครงการเหล่านั้นก็อยู่ได้แป๊บเดียว ถ้าหมดเงินจากการบริจาคไปแล้ว คุณจะเอาเงินที่ไหนที่จะไปช่วยเหลือต่อ โมเดลหาเงินด้วยการขายสินค้า เพื่อเอาบางส่วนมาซัพพอร์ตในการช่วยเหลือ ก็จำเป็นต้องบาลานซ์ให้ไปด้วยกันได้

ทำไมต้องเป็นคนตาบอด

เริ่มจากลุงและป้าของเราเองเป็นคนพิการทางการมองเห็นทั้งคู่  ป้ามองไม่เห็นเลย ส่วนลุงสายตาเลือนราง เราอยู่กับเขามาตั้งแต่เด็ก ตอนแรกเรารำคาญนะเพราะคนตาบอดมีเรื่องให้เราเข้าไปช่วยเยอะอยู่เหมือนกัน ตอนแรกเราไม่เข้าใจก็ช่วยเขาเพราะความสงสาร เป็นแบบนี้พอช่วยนิดๆ หน่อยๆ เราก็เริ่มหงุดหงิดและรำคาญแล้ว กลับกันเราเห็นแม่ช่วยลุงกับป้าได้ทุกวันโดยไม่หงุดหงิดหรือบ่นเลย ก็เลยถามแม่ว่าทำไม

แม่บอกเราว่า เขามองไม่เห็น เราก็ต้องเข้าใจว่าเขามองไม่เห็น แค่นั้นแหละทำให้เราเข้าใจว่า จริงด้วย เราแค่ต้องเข้าใจว่าเขามองไม่เห็น ไม่ได้น่าสงสาร เราเลยไม่ได้ช่วยเขาเพราะสงสาร เมื่อช่วยบ่อยๆ เข้า เราเห็นปัญหาการเลือกเสื้อผ้า ซึ่งเป็นปัญหากับเขามาตลอดชีวิต เช่น เขาจะไปงานนี้ใส่สีแดง แต่มองไม่เห็นและตู้เสื้อผ้าก็รวนไปหมด เขาก็จะต้องหยิบมาให้เราเลือกตลอดเวลา ให้เราดูหน่อยว่าตัวนี้สีอะไร เป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นปัญหา

เราหยิบปัญหาตรงนั้นมา และหาทางแก้ไข เลยเกิดไอเดียป้ายอักษรเบรลล์ เราพัฒนาและส่งโปรเจคเข้าไปที่โครงการไอเดียแลกล้าน จนได้ทุนมาก้อนหนึ่งใช้พัฒนานวัตกรรม

หลังลุงกับป้าใช้ป้ายอักษรเบรลล์ มีฟีตแบคยังไงบ้าง

เขาใช้ตลอดเลย คนพิการทางการมองเห็นทุกคนชอบ อาจจะติดเรื่องราคาแพงไปหน่อย หลายคนที่ใช้ไม่ใช่แค่ลุงกับป้าก็แฮปปี้ ในแต่ละรุ่นที่ผลิตเราก็แก้ไขอย่างต่อเนื่อง เช่น ป้ายอักษรเบรลล์ที่พัฒนาตลอดเวลาทั้งเรื่องความคงทน และฟังก์ชันการใช้งาน ปัญหาที่พบรุ่นแรกคือคนตาบอดใช้งานง่าย แต่คนตาดีกลับเจอปัญหา เพราะเราดีไซน์ให้อักษรเบรลล์ กับตัวหนังสือบอกไซส์อยู่ที่เดียวกันด้านนอกคอเสื้อข้างหลัง ก็จะโชว์เลยว่า XL แต่คนไม่ชอบให้คนอื่นรู้ เราก็ตัดตรงนั้นออกเอาไปใส่ตรงอื่น

พอข้างหลังมีอักษรเบรลล์ หลายคนจะมาถามว่า คืออะไร จุดๆ มีความหมายหรือเปล่า คนที่ซื้อเสื้อเราก็ได้ส่งต่อความคิดที่ดีเกี่ยวกับคนพิการต่อไปเรื่อยๆ ทำให้งานที่เราออกแบบมีคุณค่ามากขึ้น


ONCE นิยามตัวเองว่าอะไร?

เรานิยามตัวเองเป็นแบรนด์แฟชั่น เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนพิการ ไม่ใช่มูลนิธิ แบบที่หลายคนมองว่าเราเป็นเพราะคนไทยมักคิดว่า องค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับคนพิการ หรือการช่วยเหลือต่างๆ ต้องเป็นมูลนนิธิ หรือรับบริจาค เราก็ต้องค่อยๆ พยายามอธิบาย

การเป็นแบรนด์แฟชั่น สำคัญกว่าการเป็นมูลนิธิยังไง?

การกำหนดเป้าหมายของสิ่งที่เราทำนั้นจะชัดเจนกว่า ถ้าเราไม่ชัดเจนว่าเราเป็นแบรนด์แฟชั่น เราก็ไม่ได้เดินไปตามจุดมุ่งหมายที่อยากให้คนเข้าใจ อยากให้คนเข้าใจแนวทางใหม่ๆ ของการทำธุรกิจ ที่ควบคู่ไปกับการทำงานเรื่องสังคม เรามองว่า แนวทางมูลนิธิ หรือองค์กรเพื่อสังคมนั้นโบราณไปแล้ว และยืนอยู่ระยะยาวได้ยาก

กลุ่มลูกค่าของ ONCE คือคนประเภทไหน คนอายุเท่าไหร่

กลุ่มเป้าหมายของ ONCE ตอนนี้ก็คือช่วงวัยทำงาน อายุ 35-45 โดยประมาณ คนกลุ่มนี้มีกำลังทรัพย์และพร้อมที่จะแบ่งปันนอกจากกลุ่มนี้ เราพยายามเจาะในกลุ่มของวัยรุ่นช่วงอายุ 20 กว่าๆ เพื่อปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมด้วย

บอก 3 ข้อ ที่เป็นจุดเด่นของ ONCE

ข้อแรก ที่ทุกคนเห็นแน่นอนคือการแบ่งปัน เรียกว่า ONCE เป็น Community of sharing เลยก็ได้ เพราะลูกค้าคือคนในครอบครัวของเรา เขาไม่ได้ซื้อแค่เสื้อตัวหนึ่งแล้วจากไป แต่ทุกคนกลับมาช่วยเหลือ สร้างสรรค์ และพัฒนาแบรนด์กับเราไปตลอด เพราะเมื่อซื้อเสื้อหนึ่งตัว เสื้ออีกหนึ่งตัวก็จะถูกนำไปมอบให้คนตาบอด จึงเหมือนกับการซื้อของเขานั้นได้แบ่งปันเพื่อนอีกคนด้วย

สอง การเอาใจใส่ เราเอาใจใส่สูงมาก ตั้งแต่การคิดรูปแบบ ฟังก์ชันการใช้งาน เราลงไปคลุกคลีกับคนตาบอดเพื่อทำความเข้าใจการใช้ชีวิตและความต้องการของเขา เลยทำให้งานของเราออกมาแล้วใช้งานได้จริงทั้งกับคนตาดีและคนตาบอด

สาม เป็นเรื่อง Look Good and Feel Good เราคิดว่า ลูกค้าทุกคนต้องได้รับความรู้สึกนี้แน่นอน ทุกคนที่ใส่เสื้อผ้าของเรา ไม่ใช่แค่ดูดี แต่จะต้องรู้สึกดีด้วยเพราะได้แบ่งปันอะไรดีๆ กับคนอื่น และสร้างสังคมที่เท่าเทียมนอกจากนั้น ยังได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวที่กำลังสร้างสังคมในแบบที่เราอยากให้เป็น

ทำไมถึงชื่อ ONCE

ONCE ได้จาก Once upon a time ซึ่งมาจากจุดเริ่มต้นของนิทานหลายๆ เรื่อง เป็นการเล่าผ่านเรื่องราวที่เราอยากที่จะส่งต่อ นิทานมักถูกเล่าจากคนที่เป็นห่วง และรักเรา ซึ่งมีปลายทางคือข้อคิดดีๆ ที่ทำให้เรานำไปใช้ต่อยอดใช้ชีวิตต่อไปได้ อันนี้ก็คือเป็นทั้งกระบวนการของ ONCE เลย

2 ปีที่ผ่านมา ภูมิใจอะไรใน ONCE มากที่สุด

ภูมิใจที่สิ่งที่ทำได้ตอบแทนพระคุณ ไม่ว่าจะเป็นลุงกับป้า หรือว่าพ่อกับแม่ ลุงกับป้ามองไม่เห็น เราทำให้เขาได้สัมผัส รับรู้และเป็นส่วนหนึ่งของโลกเขา ทั้งเรื่องสี ขนาดของงานดีไซน์ เราทำให้เขามีอิสระและภูมิใจในสิ่งที่หลานทำ           

เจอปัญหาอะไรบ้างและแก้ไขยังไง

ปัญหาหลักที่เราเจอคือในเรื่องของคน ONCE ช่วงแรกมีคนทำงาน 4 คน เป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกัน แต่นั่นทำให้เรามีองค์ความรู้เดียว เหมือนมีแค่หัวแต่ตัวกับขาไม่มี ก็เลยเจ๊งไป ต่อมาเราก็ฟอร์มทีมใหม่ แต่ก็เจอปัญหาเรื่องข้อจำกัดของคนพิการทางสายตาที่ทำงานด้วย ทั้งเรื่องงานขาย การนับสต็อก หรือการจัดวางหน้าร้าน ซึ่งต้องพัฒนาให้เอื้อต่อการทำงานของคนพิการ

และแน่นอนว่าการเอาคนพิการทางการมองเห็นออกมาทำอะไรนอกเหนือจากที่เขาคุ้นชินค่อนข้างเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาเขาอาจคุ้นเคยกับการร้องเพลง ขายลอตเตอรี ฯลฯ การทำงานที่อยู่นอกขอบเขตของมูลนิธิที่พวกเขาคุ้นเคยจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย

คนพิการบางคนไม่ได้อยากให้ภาพลักษณ์ของคนพิการ และคนตาบอดดีขึ้นเพราะนั่นหมายความว่าจะทำให้เขาหาเงินได้ยากขึ้น เงินบริจาคก็น้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาต่อการอยู่รอด บางครั้งการทำงานที่ต้องใช้ความคิด หรือความสร้างสรรค์ และใช้ความพยามในการนำเสนอขายนั้นยากกว่าการร้องขอ งานร้องเพลงหรืออื่นๆ รายได้ต่อวันเยอะมาก เยอะกว่าพนักงานบริษัท ยิ่งถ้ายืนในที่แทรฟฟิกดีๆ ก็ยิ่งได้เยอะ

ทำไม ONCE ต้องเป็นเสื้อยืด ในอนาคตจะอย่างอื่นไหม

ช่วงแรกเราเน้นพัฒนาเรื่องของโมเดลธุรกิจมาก ก็เลยทำให้เราละเลยเรื่องของดีไซน์ จึงทำให้มีแค่รูปแบบของเสื้อยืด แต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีคอลเลกชันใหม่ และมีไอเท็มต่างๆ ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ทั้งแจ็คเก็ต เครื่องประดับต่างๆ ซึ่งโชว์ความเป็นตัวเราได้

แต่ละคอลเลคชั่นของ ONCE ได้แรงบันดาลใจมากจากอะไรบ้าง

ONCE ดำเนินเรื่องในแต่ละคอลเลคชั่นผ่านเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งซึ่งเดินทางเข้าไปในโลกสีดำ เขาใช้ชีวิตยังไง เจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง เรื่องราวจะดำเนินไปเรื่อยๆ เป็นตอนให้ติดตามขนานไปกับการออกคอลเลคชั่น

เสื้อที่มีเครื่องหมายเท่ากับ สื่อถึงอะไร

อันนี้คือลายออริจินัลที่ทำตั้งแต่แรก เครื่องหมายเท่ากับบนอกคือความเท่าเทียม สีขาวหมายถึงคนตาดี ส่วนสีเดียวกับพื้นเสื้อหมายถึงคนพิการทางการมองเห็น เราเชื่อว่าหากช่วยเหลือกันและกัน เติมเต็มในสีที่อีกฝั่งขาดหาย ทั้งสองฝั่งก็จะท่ากัน เปรียบเสมือนสังคมที่เท่าเทียมและมีความสุข

ในฐานะที่คลุกคลีกับคนตาบอดตั้งแต่เด็ก อยากจะบอกอะไรคนอื่นที่ไม่รู้จักคนตาบอดบ้าง

คนตาบอดก็เป็นคนเหมือนกัน หลายครั้งเวลาพูดถึงคนมักนึกถึงคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและคนพิการมักไม่ค่อยถูกนึกถึง ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม เราอยากให้คนเข้าใจ หรือพยายามทำความเข้าใจว่า คนเหล่านี้ก็เป็นคนเหมือนกัน เขาสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในสังคม โดยไม่ต้องให้ใครมาสงสาร

สิ่งที่คนตาดีทำได้ คือมีความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น และทำ อันนี้คือสิ่งสำคัญของการช่วยเหลือ ที่จะทำให้เขาสามารถอยู่ได้ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่ต้องพยายามช่วยเหลือ สำหรับคนที่เราเคยคลุกคลีด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้อง ลุง หรือป้า เขาต้องการแค่คนในสังคมเข้าใจว่าเขาเป็นอะไร เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยไม่ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ต้องมีสิทธิพิเศษอะไรมากมาย และปฏิบัติกับเขาเหมือนคนคนหนึ่ง ไม่ได้ปฏิบัติกับเขาอย่างคน “พิการ”

วางแผนอนาคตของ ONCE ไว้ว่าอย่างไร

เรามีแผนจะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และจ้างงานคนพิการด้วย ช่วงนี้เราพยายามขยายสาขาออกไปเรื่อยๆ ภายใน 2ปี ก็น่าจะครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ หรือประมาณ 10 สาขา ตามที่ตั้งใจเอาไว้ การขยายตัวของ ONCE นออกจากจะทำให้การกระจายสินค้ามากขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ และทำให้คนในสังคมเข้าใจคนพิการทั่วถึงมากยิ่งขึ้นด้วย

การมีคนพิการทำงาน เราต้องเข้าใจว่าคนพิการแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องช่วยให้เขาสามารถเดินไปพร้อมกับเราได้ ปรับจูนเข้าหากัน ไม่ใช่เขาทำอะไรได้แล้วก็ปล่อยให้เขาทำอันนั้นอย่างเดียว อันนั้นไม่ถือเป็นการช่วยและมองว่า เป็นการดูถูกคนพิการด้วยซ้ำไป ถ้าเขาไม่รู้เรื่องอะไรก็พัฒนาร่วมกัน ไม่ว่าจะเรื่องของการตลาด หรือเรื่องการขาย การมีเขาอยู่ในทีม ทำให้ทีมยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยซ้ำไป