Skip to main content

เว็บไซต์บีบีซีไทยนำเสนอเรื่องมิตรา ฟาราซานเดห์ หญิงพิการวัย 41 ปี ในหมู่บ้านเล็กๆ ตอนเหนือของอิหร่าน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสังคมอนุรักษ์นิยมที่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ และความต้องการทางเพศ โดยเฉพาะเมื่อเธอมีความพิการ

ในอิหร่านมีคนพิการราว 10 ล้านคน มิตราเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ใช้ร่างกายได้เพียง 25 % เธอเล่าว่า เธอเคยมีความรักและพูดเสมอว่า คนที่ไม่เคยมีความรัก หรือรู้สึกรักใครก็เหมือนกับหุ่นไล่กาในทุ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ

เธออายุได้ 11 ปี ตอนที่รู้ตัวว่ามีความรู้สึกพิเศษกับลูกชายของเพื่อนบ้าน แต่ในช่วงเวลานั้น เธอไม่เห็นตัวเองเป็นคน เพราะความพิกลพิการและร่างกายที่ผิดปกติ เธอไม่เชื่อว่าควรจะมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ ได้แต่เฝ้ารอความตายที่ไม่มีใครอยากเผชิญ

มิตราไม่มีวีลแชร์ เธอจึงต้องนอนบนรถเข็นสำหรับขนดินแทน
ภาพจาก http://www.bbc.com/thai/international-42292641?ocid=socialflow_facebook

เธอแอบรักเขานาน 14 ปี และตัดสินใจสารภาพรักกับเขา และเล่าให้ครอบครัวฟัง เขารับรักเธอ แต่เป็นบ้านของเธอซึ่งไม่ยอมรับ เรื่องนี้ทำให้ชีวิตเหมือนตกนรกอยู่ราว 2-3 ปี ความรักที่มีต่อเขาก็สอนให้รู้ว่า ควรจะรักตัวเองอย่างไรและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างภายในตัวด้วย

เธอรักผู้ชายคนนั้นมานาน 30 ปีแล้ว แม้ว่าจะไม่เคยได้ใช้ชีวิตร่วมกันเลยก็ตาม

"ไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการ ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความต้องการและความรู้สึกเช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไป ฉันอยากอยู่ในอ้อมแขนของคนรักตอนกลางคืน อยากให้เขาลูบผมฉัน แต่โชคร้ายที่คนจำนวนมากในวัฒนธรรมของฉันเชื่อว่า ผู้หญิงอย่างฉันไม่สมควรจะรักใคร หรือรับความรักจากใคร มันทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวด

"การที่พ่อไม่อนุญาตให้ฉันคบหากับคนที่ฉันรัก ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บ ผู้หญิงพิการจำนวนมากทนทุกข์จากการที่ต้องเก็บกดความต้องการทางด้านอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการทางเพศไว้ ฉันเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดต้องมาจากภายในตัวเราเอง เราคือคนที่ต้องยอมรับความต้องการทางเพศและขีดจำกัดของตัวเอง

"เราต้องเชื่อว่า เราคู่ควรในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับชีวิต ไม่ว่าจะพิการหรือไม่ เมื่อเราเชื่อเช่นนั้นแล้ว คนรอบข้างก็จะเริ่มเคารพในความต้องการของเรา ฉันรู้จักผู้หญิงพิการจำนวนมากรอบตัวฉันที่ครอบครัวไม่รู้ว่าพวกเธอก็เป็นคนที่มีความต้องการทางเพศ เพราะผู้หญิงเหล่านั้นไม่อาจเชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าตัวเองไม่เชื่อว่าคู่ควรจะได้รับความรัก แล้วจะทำให้คนที่บ้านเชื่อได้อย่างไร" มิตรากล่าว

แม้ว่าพ่อจะยืนกรานให้เธอเก็บกดความรู้สึกต่าง ๆไว้ แต่เธอก็ภูมิใจที่ได้เผยความรู้สึกและความต้องการออกมา เธอเชื่อในสิทธิของการมีชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เธอเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ และได้อิสรภาพมาในที่สุด

"คนจำนวนมากเชื่อว่าความรู้สึกและความต้องการทางเพศของผู้หญิงพิการไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ความจริงแล้วมันสำคัญมาก ทุกคนทั้งชายและหญิง พิการและไม่พิการต่างก็มีความรู้สึกและความต้องการทางเพศไม่มากก็น้อย บางครั้งฉันเชื่อว่า แรงขับทางเพศของคนพิการอาจจะรุนแรงกว่าคนไม่พิการด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะว่า พวกเราซึ่งมีความพิการทางกายที่รุนแรงไม่สามารถปลดปล่อยแรงขับทางเพศได้ในแบบที่คนทั่วไปทำ

"ฉันคิดว่าถ้าความต้องการทางเพศของผู้หญิงพิการไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จะยิ่งเป็นผลเสีย เพราะความพิการทางกายของพวกเราก็เหมือนกับรังไหมที่ห่อหุ้มตัวเราไว้ การปลดปล่อยแรงขับทางเพศออกมาจะทำให้เรามีพื้นที่มากขึ้นในรังไหมเล็ก ๆ นี้"

 

เรียบเรียงจาก

http://www.bbc.com/thai/international-42292641?ocid=socialflow_facebook