Skip to main content

หลายคนอาจเคยเห็นวัฒนธรรมคอสเพลย์ วัฒนธรรมไอดอลของญี่ปุ่นมาไม่มากก็น้อย วัฒนธรรมเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมไทยมาสักระยะหนึ่งและมีการจัดอีเวนท์เพื่อให้คนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมเหล่านี้ ได้มาพบปะกันอยู่เป็นระยะ ภณิตา ชวภัทรนากุล ก็เช่นกัน การคอสเป็นนันนาลี (จากเรื่องโค้ดกีอัส -Code Geass) ทำให้เธอก้าวเข้าสู่วัฒนธรรมของอีกโลก ที่ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงตัวตนอีกต่อไปแล้ว

รถเมล์- ภณิตา เรียนปริญญาโท สาขาจิตวิทยาชุมชน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาววัย 25 คนนี้เริ่มเป็นติ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 18 ปี เธอมีภาวะของโรคเส้นประสาทไขสันหลังเสื่อมหรือ Spinal Muscular Atrophy: SMA Type 2 วีลแชร์จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เธอเคลื่อนไหวอย่างอิสระเหนือกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลงทุกวัน

ตั้งแต่เด็กจนอายุ 18 สื่อญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทกับเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การ์ตูนเรื่องแรกๆ ที่เธอรู้จักอย่าง โดราเอมอน ชินจัง มารูโกะหรือซากุระ สื่อสารความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นในทุกเวลาว่างของเธอ หรือแม้แต่เวลาที่เธอต้องอยู่บ้านหรือนั่งรอคนอื่นๆ ทำกิจกรรมที่เธอไม่สามารถเข้าร่วมได้

พออายุ 18 ก็เหมือนกับเธอได้เข้ามาอยู่ในโลกของมันเสียแล้ว จากแค่ดูการ์ตูนในยามว่าง ตอนนี้เธอรู้สึกว่ามันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต จนกระทั่งตัดสินใจร่วมคอสเพลย์ตอนอายุ 21 ด้วยคาแรคเตอร์ของนันนาลี

แล้วใครจะไปรู้ล่ะว่า จากเด็กผู้หญิงที่ไม่กล้าคอสเพลย์ เพราะตัวการ์ตูนที่เธอชอบไม่ได้นั่งวีลแชร์อย่างเธอ จะกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ร่วมถ่ายเอ็มวี Koisuru Fortune Cookie หรือคุกกี้เสี่ยงทายของวง BNK 48 วงไอดอลในวันนี้

ชื่นชอบคาแรคเตอร์ไหนมากที่สุด

รถเมล์: (คิดนานมากกกกกกก) ตัวที่ชอบเป็นตัวในโวคาลอยด์ ชื่อ “มิกุ” เพราะมิกุน่ารัก มีตุ๊กตา มีของให้สะสม

โวคาลอยด์คือ ซอฟต์แวร์ประยุกต์รูปแบบเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดและปรับประสมเสียง พัฒนาโดยบริษัทยามาฮ่า ผู้ใช้สามารถพิมพ์ลงในเนื้อเพลง และทำนองเพลงได้เพื่อให้เกิดเสียงตามที่ต้องการ (1)

แต่ถ้าเป็นตัวละครที่ชอบคือ “นันนาลี” จากเรื่องโค้ดกิอัส นันนาลีเป็นตัวที่นั่งวีลแชร์เหมือนกัน เป็นคาแรคเตอร์ของเจ้าหญิง มีพี่ชายที่รักมาก ทำทุกอย่างเพื่อน้อง พิเศษคือเป็นตัวที่ทำให้เรากล้าคอสเพลย์ เพราะตัวละครอื่นๆ หลายตัวเป็นตัวที่เดินได้หมด ในไทยเองยังไม่มีคนที่นั่งวีลแชร์ไปคอสเพลย์ เราเลยคิดว่าเราน่าจะคอสนันนาลีได้เพราะนั่งวีลแชร์

เวลาดูแรกๆ ก็เลยจะอิน รู้สึกว่าเป็นตัวเราเอง


รถเมล์คอสเพลย์เป็น Asuna จากเรื่อง Sword Art Online 2
 

ภาพของคนพิการในสื่อไทย-ญี่ปุ่นต่างกันยังไง

ในการ์ตูนญี่ปุ่นมีตัวการ์ตูนที่นั่งวีลแชร์เยอะ จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ต่างอะไร เหมือนกับที่ในชีวิตประจำวันเราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ต่างอะไร แค่อาจต้องการความช่วยเหลือบ้างมากกว่าคนอื่น

แตกต่างมาก อย่างในการ์ตูนญี่ปุ่น กิวตีคราวน์ (Guilty Crown) ซึ่งถึงแม้ตัวการ์ตูนจะนั่งวีลแชร์เหมือนกัน แต่ก็ยังแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถ เป็นนักต่อสู้ที่ใช้แขนต่อสู้ได้ แต่เมื่อนึกถึงของไทย กลับนึกถึงแต่บทของชายน้อยในบ้านทรายทองว่า นี่คือบทของคนพิการ ต้องน่าสงสาร ตอกย้ำว่าพวกเขาต้องถูกช่วยเหลือ

และถึงแม้บทบาทความพิการจะเยอะในสื่อญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความพิการเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากนัก เช่น เราจะรู้ว่าตัวละครนี้พิการ เพราะเขาใช้วีลแชร์ ไม้เท้าขาว ฯลฯ แต่ละครหรือการ์ตูนเองก็ไม่ได้เล่าถึงปมหลัง โรค หรือการเจ็บป่วยของพวกเขามากนัก เหมือนความพิการเป็นเรื่องธรรมดา

การมองคนพิการต่างกัน ทำให้สังคมมีท่าทีต่อคนพิการต่างกันอย่างไร

ต่างกันมาก เทียบง่ายๆ ถ้าเจอเด็กไทย เด็กไทยจะชอบถามว่า พี่เขาเป็นอะไร ทำไมต้องนั่งรถเข็น แต่ตอนไปญี่ปุ่น แล้วขึ้นรถไฟไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ ในรถมีเด็กเต็มไปหมด วันนั้นเราแต่งชุดโลลิต้า เด็กก็มาทัก มาเล่นด้วย เขาไม่รู้สึกว่าเราต่าง อาจเป็นเพราะเขาก็เจอคนพิการ คนนั่งวีลแชร์แบบนี้อยู่เรื่อยๆ ในสื่อของเขา

เลือกคาแรคเตอร์ที่จะคอสเพลย์อย่างไร

ไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ ช่วงนี้อินอะไรก็ไปตามนั้น แรกๆ จะกังวลว่า ถ้าคอสเพลย์เป็นตัวที่เดินได้ คนอื่นจะดราม่ามั้ยว่าไม่ตรงกับตัวละคร ก็เลยเลือกคอสนันนาลีก่อน แต่พอทำครั้งแรกแล้วผลตอบรับดี ก็เริ่มคอสตัวอื่นๆ เราพยายามหาตัวที่นั่งวีลแชร์ แต่ก็พบว่าบุคลิกของตัวนั้นๆ ไม่ใช่เรา บางตัวก็เป็นสาวห้าว แต่เราเป็นสาวแบ๊วอ่ะ (หัวเราะ) ก็เลยไปหาตัวอื่นที่ชอบ บุคลิกที่ใช่แต่ไม่ได้นั่งวีลแชร์ และคอสดู

พอคอสแล้วไม่มีใครพูดถึงความพิการ ก็เลยคอสมาเรื่อยๆ และคอสตัวที่เดินได้มาตลอด

ตอนคอสทุกคนมองข้ามการเดินได้ เดินไม่ได้ หรือทำไมเราคอสตัวที่เดินได้ไปเลย การเดินได้ เดินไม่ได้ของเราคล้ายกับมิติของคนอ้วนที่ไม่กล้าคอสตัวละครที่ผอม แต่พอเค้ามาเจอเราที่เดินไม่ได้ แต่คอสตัวที่เดินได้ เขาก็กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ชอบ


เวลาคอสแต่ละครั้ง อะไรสนุกที่สุด

สิ่งที่ทำให้รู้สึกสนุกคือช่วงที่ตากล้องมาขอถ่ายรูป เวลาโดนรุมเยอะๆ ไม่รู้จะหันทางไหนก่อน ชอบบบบ (ยิ้ม)

แต่ถ้าช่วงที่มีความสุขที่สุด จะเป็นช่วงที่เราออกไปแล้วคนอื่นมาให้กำลังใจและบอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากเรา ซึ่งไม่ได้มีแค่ที่งานเท่านั้น แต่คนที่ถ่ายรูปเราไปก็เอาไปเขียนถึง เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนอกจากความสนุกที่เราได้ ยังไปต่อยอดอะไรให้คนอื่นด้วย

คอสเพลย์กับชีวิตประจำวันแตกต่างกันยังไง

เวลาไม่คอสเพลย์เราก็ใช้ชีวิตทั่วไป ทำงาน เรียน มีปัญหา ท้อนั่นนี่ แต่ในสังคมคอส ค่อนข้างเป็นสังคมที่อบอุ่น ทุกคนเป็นพี่น้องรู้จักกันไปหมด เราไม่ต้องรู้จักชื่อกันและกัน แต่ทุกคนจะรู้จักชื่อตัวที่เราคอส เช่น ถ้าเราคอสเป็นโคโตริ ในเรื่องเลิฟไลฟ์ ทุกคนก็จะมาเรียก น้องนกๆ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่พอเค้าเรียกเราน้องนก เราก็หัน

แรกๆ แม่ไม่เข้าใจว่าคอสไปทำไม ใส่เสื้อผ้าแล้วยังไงต่อ ใส่เสื้อผ้าเฉยๆ แล้วก็กลับแบบนี้เหรอ เราก็อธิบายว่า มันคือกิจกรรมนึง ซึ่งไม่ต่างกับคนชอบสะสมหนังสือ เค้าก็จะอ่านแล้วมาคุยกัน คนที่ชอบคอสก็เหมือนกัน เค้าเปลี่ยนมาสะสมเสื้อผ้า สะสมวิก พอถึงเวลาจัดงานก็ไปเจอกัน ไปถ่ายรูปกัน พอเจอคนที่ใส่ชุดจากเรื่องเดียวกัน เราก็จะดีใจ ตื่นเต้น ซึ่งพอผ่านมา 2-3 งานแล้วแม่เห็นว่าเราสนุก การปรากฏตัวของเราเป็นกำลังใจให้กับคนอื่นๆ ที่ไม่กล้าลุกขึ้นมาคอส แม่ก็รู้สึกโอเคขึ้น

หลังๆ บางทีแม่ก็ไปหาร้านตัดชุดให้ (หัวเราะ)

ปิ๊งใครจากงานคอสบ้างไหม

ชอบคิริโตะ จากเรื่องเอสเอโอ (Sword Art Online) เวลาดูการ์ตูนจะรู้สึกว่าเขาเท่มากกกกกกกก (ลากเสียงยาว) แล้วพอไปเจอคนที่คอสตัวนี้ก็จะรู้สึกชอบ อาจจะไม่ได้ชอบที่ตัวเขา เพราะไม่เคยรู้จักหรือไม่สนิท แต่รู้สึกว่าเขาคอสแล้วมันเท่ ชอบความเป็นคิริโตะของเขา ถ้าเจอก็จะต้องกรี๊ด

เมื่อเร็วๆ นี้เห็นไปถ่ายเอ็มวีเพลงคุกกี้เสี่ยงทายของ BNK 48 อยากรู้ว่าเริ่มติดตามได้ยังไง

ถ้าเป็นคนที่อยู่ในวงการคอสอยู่แล้วก็จะได้ข่าวมาเรื่อยๆ เพราะส่วนมากคนที่คอส หรือดูแอนิเมะจะคุ้ยเคยกับวัฒนธรรมไอดอล พอเราได้เห็นพวกเขาตั้งแต่เริ่มรับสมัคร กระทั่งเดบิวท์ ช่วงนั้นก็ยังไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นโอตะ ไม่เคยคิดว่าจะตามบีเอ็นเคมากขนาดนี้

บีเอ็นเคเป็นวงไอดอลน้องสาว วงพี่สาวหรือต้นสังกัดอยู่ที่ญี่ปุ่น ชื่อเอเคบีโฟตีเอ๊ก (AKB 48) ซึ่งเมื่อก่อนเวลาไปงานคอส เอเคบีก็เคยมาเล่นดนตรีอยู่แล้ว เลยได้ยินเพลงฟอร์จูนคุกกี้เวอร์ชันญี่ปุ่นจนชิน เริ่มชอบอะไรพวกนี้มาเรื่อยๆ

ถ้าพูดถึงพัฒนาการติ่งวงไอดอลของเรา เราเคยติ่งวงบอยแอนด์เมน อันนั้นเป็นวงที่นาโงย่า เคยได้เจอวันไปงานคอสแล้วเค้ามาตกเรา (ตกคืออะไร?) เหมือนตกปลา อันนี้ก็คือตกไปติ่งเค้า เราเคยเจอที่งานแล้วเขาก็ทักทายเราแบบเป็นกันเอง เราก็เลยตกเป็นติ่งเค้าแบบไม่รู้ตัว


เป็นติ่งใครใน BNK 48

ชอบเฌอปรางมากที่สุด หาเหตุผลยากมาก แต่เฌอปรางเป็นคามิของเรา คามิคือคนนึงที่ชอบที่สุด เราชอบในความเก่งของเฌอปรางหลายๆ ด้าน ที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์เรียนภาคภาษาอังกฤษ เก่งทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น แล้วก็ยังเป็นกัปตันของวงด้วย ซึ่งต้องคอยจัดการดูแลคนอื่นอย่างดีมากๆ  รู้สึกว่าเค้าเป็นไอดอลเราได้ในเรื่องภาษา เพราะเราก็อยากพัฒนาทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นเหมือนกัน ยิ่งพอได้สัมผัส ได้ไปเจอเฌอปรางในงานจับมือ รู้สึกว่าตอนที่พูดกัน เค้าใส่ใจเรามากจริงๆ ช่วงที่จับมือเขาก็จะบีบมือและสบตา และบอกให้เราสู้ต่อไปนะ เรารู้สึกประทับใจ ตอนพูดจบและต้องเดินกลับไป เขาก็ยังหันกลับมาบ้ายบายจนวินาทีสุดท้ายที่หมดฉากกั้น

นอกจากคามิแล้ว โอชิคือคนอื่นๆ ที่ชอบแต่ไม่เท่าคามิ ตั้งแต่ที่ดูบีเอ็นเคเซ็นไป ตอนนั้นเราโอชิแก้ว เพราะแก้วสวย เล่นเปียโนเก่ง หลังๆ มาเพิ่มปัญ เพราะปัญหน้าเหมือนน้อง และล่าสุด แจน เพราะเป็นคนที่เวลาดูไลฟ์ตู้ปลาแล้วเสียงสดเพราะมาก

เวลาต้องไปตามติ่ง ไปตู้ปลา ดูไลฟ์สด ฯลฯ ความพิการเป็นอุปสรรคไหม

ตั้งแต่แรกที่วงเดบิวท์ ก็ไปร่วมกิจกรรมหลายอย่าง ไปตู้ปลา ดิจิตอลสตูดิโอ เกาะกระจก รู้สึกดีกับการไปงานเพราะเขาจะแบ่งโซน อย่างเรานั่งวีลแชร์ก็จะได้อยู่ข้างหน้าเพราะเดี๋ยวกลัวมองไม่เห็น

เราไปงานโร้ดโชว์ ไปนั่นนี่จนเขาจำได้ พอเราเห็นประกาศกติกาหาคนมาร่วมถ่ายเอ็มวีว่าต้องส่งคลิปเต้น พร้อมแนบคลิปตัวอย่างมาให้ เป็นท่าเต้นที่ต้องยืน ยกแขนยกขา หมุนตัว เตะขา ซึ่งเราทำไม่ได้ กิจกรรมนี้เราน่าจะต้องบอกผ่าน เพราะถ้าเค้าคัดเราก็คงไม่ผ่าน ผ่านไปสองสามวันเริ่มเห็นคนคุยกันเรื่องนี้เยอะ ยิ่งรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของเอ็มวีนี้ ก็เลยคิดว่าจะลองดู เอาเท่าที่ได้ เต้นได้แค่ไหนก็แค่นั้น

แต่เค้าเลือกเรา?

ใช่ เค้าเลือกเรา ตอนนั้นกลัวว่าจะมีดราม่า เพราะรู้สึกว่าคนอื่นพยายามมากกว่าเรา ต้องจำท่าเต้นทั้งเพลง แต่เราแค่ขยับแขนเท่าที่เราจะขยับได้ หลังรู้ว่าได้รับเลือก เราเข้าไปเขียนพร้อมแปะคลิปเต้นของเราในกลุ่มบีเอ็นเคคอมมูนิตี้ ไทยแลนด์ ว่าเราเต้นได้ประมาณนี้ ไปบอกให้ทุกคนเข้าใจข้อจำกัด สุดท้ายก็ไม่มีใครมาตัดสินเรา และก็ดีใจที่กล้าที่ออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง


ที่มา สำนักข่าวปากต่อปาก

วันถ่ายทำเป็นยังไงบ้าง

สุดยอดมากกกกกก อากาศวันนั้นร้อน แต่เค้าบอกกันว่าดีเพราะฝนไม่ตก วันนั้นซ้อมและถ่ายจริงทั้งหมด 7-8 รอบ ซึ่งก็เหนื่อยเหมือนกัน พอประมาณรอบที่ 5 แขนเราก็ล้า พอหยุดถ่ายก็จะนั่งอยู่นิ่งๆ แขนอยู่เฉยๆ ไม่ขยับเขยื้อน เก็บแรงเอาไว้ ตอนถ่ายเป็นประสบการณ์ที่ดี วันนั้นมีคนมาทัก ดีใจที่เรามา หรือชื่นชมเราด้วย

แพลนอนาคตการเป็นติ่งไว้ว่ายังไง

ในอนาคตหลังจากนี้ก็คิดว่าคงไม่เปลี่ยนคามิตลอดไป ส่วนโอชิไม่แน่ อาจจะมีโอชิมาเพิ่ม หรือเปลี่ยนไปคนอื่น แล้วแต่ว่าเราติดตามแล้วจะโดนใครตกไปเพิ่มบ้าง ก็จะติดตามต่อและซัพพอร์ทต่อไปเรื่อยๆ

เราพรีออเดอร์บัตรงานจับมือไว้แล้ว เมื่อไหร่ที่มีงานแล้วเราไม่ติดเรียนก็จะตามไป ส่วนการคอสเพลย์พักนี้ไม่ได้ไปบ่อย เลือกคาแรคเตอร์ที่ชอบขึ้นมา แล้วคอสตัวนั้น ปีนีไปคอสคาแรคเตอร์ของอาสึนะ จากเรื่องเอสเอโอ 2 ปี ส่วนปีหน้ายังไม่มีแพลน แค่ซื้อชุดยูกาตะไว้ คิดว่าจะเอาไปใส่ในงานเจแปนเอ็กซ์โป

วัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่ทำให้คนพิการรู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสอง กลุ่มที่คอสก็มองแบบนั้น เราไม่เคยโดนมองว่าพิการแล้วน่าสงสาร แต่เค้าจะมีหลักว่า ทุกคนมีส่วนร่วมได้ งานทั่วไปอื่นๆ บางครั้งเราต้องไปคอยเรียกร้องถามว่าเราเข้าตรงไหนได้ ตรงไหนเข้าสะดวก แต่งานนี้จะมีทางพิเศษให้เลยโดยไม่ต้องไปเรียกร้อง ว่าฉันพิการนะ แต่สามารถเท่าเทียมกับคนอื่นในวิธีที่แตกต่างกันออกไปได้เหมือนกัน

 

อ้างอิง

  1. โวคาลอยด์คืออะไร