Skip to main content

ทุกๆ วันที่โรงเรียน นาตาลี ควินทานาต้องใช้มือสองข้างเพื่อประคองดินสอในการเขียนตัวหนังสือ เพราะโรคอาร์โธรกรัยโปซิส (Arthrogryposis) ซึ่งเป็นโรคหายากที่ทำให้ข้อต่างๆ ในร่างกายนั้นติด และกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ก็จะอ่อนแรงตาม ด้วยภาวะผิดรูปของแขนและข้อมือนี้ เธอจึงเขียนหนังสือด้วยความยากลำบาก


นาตาลี ควินทานา
ภาพจาก http://gazette.com/custom-pencil-grip-gives-colorado-springs-student-a-hold-on-writing/article/1610185

ดินสอที่สามารถปรับแต่งได้เองนี้ทำขึ้นโดยนักเรียนชั้นเกรด 7 และ 8 ของโรงเรียนประถม Janitell พวกเขาทำดินสอที่มีด้ามจับพิเศษสำหรับให้นาตาลีใช้งานได้ด้วยมือขวาอย่างสะดวกและนั่นสร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับนาตาลี

“มันช่วยให้ฉันเขียนได้” นาตาลีกล่าว “ฉันชอบตรงที่มันซัพพอร์ทมือและไม่ทำให้ฉันต้องยกแขนมากนัก แล้วก็เขียนได้ดีขึ้น”

ความพิการของนาตาลีไม่เพียงทำให้แขนทั้งสองข้าง หมุนเข้าด้านในลำตัว แต่ยังกระทบกับขาทั้งสองข้างด้วย เธอจึงต้องอาศัยการใส่เบรสเพื่อทำให้ขาทั้งสองข้างวางไว้อย่างตรงๆ ในวีลแชร์ของเธอ

“ด้วยท่าทางที่ผิดแปลกไปของแขนและมือ ทำให้แขนของเธอต้องยกขึ้นอยู่ตลอดเวลาเมื่อเขียนหนังสือและนั่นทำให้แขนของเธอล้า” ไจมี ฮันซิคเกอร์ นักกิจกรรมบำบัดของเธอกล่าว “เวลาเขียนเธอต้องอาศัยการหมุนข้อมือ เราเลยกังวลเรื่องความล้า เพราะยิ่งเธอโตขึ้น การเขียนในชั้นเรียนก็จะมากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรต้องสร้างอุปกรณ์อะไรสักอย่างขึ้นมา”

“อย่างไรก็ดี เธอเป็นนักสู้ตัวน้อย” มิเชล แคสติลโล แม่ของนาตาลีกล่าว

ตอนนี้นาตาลีเรียนอยู่เกรด 4 และอยากจะเป็นนักอุตุนิยมวิทยา นอกจากนี้เธอยังชอบอ่านและเขียน ตลอดช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา นาตาลีฝึกฝนการใช้อุปกรณ์ช่วยจับนี้ ซึ่งมีวงแหวนสีม่วงสำหรับใส่ที่นิ้วโป้ง และช่องว่างด้านบนสำหรับใส่นิ้วกลาง เมื่อใส่อุปกรณ์นี้ เธอสามารถเขียน และวาดสิ่งต่างๆ ยุ่งเหยิงได้ตราบเท่าที่เธอต้องการ


ภาพจาก http://gazette.com/custom-pencil-grip-gives-colorado-springs-student-a-hold-on-writing/article/1610185

ฮันซิคเกอร์คิดทบทวนเรื่องของนาตาลีซ้ำแล้วซ้ำอีก และในมื้อค่ำวันหนึ่งบนโต๊ะอาหารกับลูกสาวของเขา ซึ่งเรียนอยู่เกรด 8 ได้แนะนำให้เขาไปคุยกับครูของเธอ เคอทิส เอส ซึ่งสอนเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบหุ่นเคลื่อนไหว และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบสิ่งของที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

เอสตอบรับข้อเสนอของเขาทันที

เอสกล่าวว่า เขาดีใจมากที่ได้พัฒนาชิ้นงานที่ใช้ได้ในชีวิตจริง นอกเหนือจากการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ภายในห้องเรียน รวมไปถึงเด็กๆ ในชั้นเรียนซึ่งปกติพวกเขาได้เรียนเกี่ยวกับการทำอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับคนที่มีความต้องการพิเศษอยู่แล้ว เช่น ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยทำรองเท้าให้กับคนที่พิการด้วยโรคซีรีบรัล เพาร์ซี หรือการออกแบบของเล่นให้กับเด็กพิการเพื่อพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ

นักเรียนในห้องของเอสกว่า 30 คนเมื่อเทอมที่แล้วร่วมกันเสนอไอเดียเพื่อแก้ปัญหาการเขียนหนังสือของนาตาลี กว่า 1  ใน 3 เสนอแบบเข้ามาร่วมพิจารณา หลังจากนั้นพวกเขาก็ทำโมเดลโดยการใช้ดินปั้นในการทำตัวต้นแบบ และให้นาตาลีทดลองใช้แต่ละอันจริง โดยการพิมพ์อุปกรณ์เหล่านั้นโดยเครื่องพิมพ์สามมิติ

“เราใช้ขั้นตอนทางวิศวกรรมเข้ามาแก้ปัญหา ลองครั้งแล้ว ครั้งเล่าเพื่อให้ได้ชิ้นที่สมบูรณ์แบบที่สุด” เอสกล่าว “มันก็ใกล้เคียงแล้ว แต่ยังไม่ใช่”

“ปีนี้พวกเราจะทำอุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้น รวมไปถึงจะทำอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาในเด็กที่มีความต้องการพิเศษ” เอสกล่าว