Skip to main content

Thisable.me เผยแพร่คลิปวิดีโอสั้นๆ สัมภาษณ์ทัศนะคนรุ่นใหม่ต่อคำถามที่ว่า “ถ้าลูกในท้องเสี่ยงที่จะมีภาวะพิการ คุณจะทำอย่างไร จะตัดสินใจทำแท้งไหม?


ภาพ ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย

ในคลิปวิดีโอดังกล่าว มีผู้คัดค้านการทำแท้งด้วยเหตุผลทางศาสนาอยู่ ๒ คนด้วยกัน คนหนึ่งบอกว่า “โดยหลักศาสนาคริสต์แล้วจะทำแท้งไม่ได้ ศาสนาคริสต์ไม่สนับสนุนการทำแท้ง นอกจากกรณีที่ลูกในครรภ์เป็นอันตรายกับแม่” ส่วนอีกคนหนึ่งบอกว่า “เราเป็นมุสลิม เราไม่คิดเรื่องทำแท้งเด็ดขาด เพราะเรามีความเชื่อตามหลักศาสนาว่า เด็กมีสิทธิต้องเกิด เขาเป็นของพระผู้เป็นเจ้าและเขาต้องเกิด เราไม่มีสิทธิทำแท้ง” ในคลิปวิดีโอดังกล่าวไม่มีใครอ้างเหตุผลตามหลักศาสนาพุทธ กระนั้นก็พอจะเดาได้ว่า หากเคร่งครัดตามหลักศาสนาพุทธ ก็มีศีลข้อ ๑ เรื่องการห้ามฆ่ากำหนดไว้อยู่แล้ว

จึงอาจพอสรุปได้ว่า เมื่อเลือกที่จะปฏิบัติตามหลักศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด แม้ลูกในท้องจะเสี่ยงเกิดมาพิการ การดูแลและเลี้ยงดูชีวิตนั้นให้ดีที่สุดถือเป็นการปฏิบัติตนที่ดีตามหลักศาสนา

ที่เขียนตรงนี้ไม่ได้จะบอกว่า การทำแท้งเป็นสิ่งที่ไม่ดี หรือทางเลือกที่ดีคือการปฏิบัติตามหลักศาสนาเท่านั้นนะครับ โดยส่วนตัว ผมยังเชื่อว่า การทำแท้งเป็นทางเลือกหนึ่งที่สมเหตุสมผลของชีวิตคนคนหนึ่งเสมอ แม้ศาสนาจะไม่สอนให้ฆ่า ทว่าการฆ่าก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แม้ในฐานะศาสนิกชน แม้ศีลจะเป็นข้อละเว้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความ ชีวิตจะละเว้นจากการฆ่าได้เสมอไป

ดังนั้นคำถามที่ว่า “ถ้าลูกในท้องเสี่ยงที่จะมีภาวะพิการ คุณจะทำอย่างไร? คุณจะตัดสินใจทำแท้งไหม?” จึงเป็นคำถามที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของชีวิต...และของสังคม ที่บ่อยครั้งมีความซับซ้อนกว่าหลักศาสนา

ยามมีความทุกข์อยู่ตรงหน้า เราต้องการที่จะทำความเข้าใจความทุกข์นั้น หรือเราต้องการที่จะทำความเข้าใจหลักศาสนา? ส่วนตัวผมคิดว่า คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับตัวศาสนาด้วยว่าจะเปิดกว้างต่อการรับรู้ความทุกข์ของมนุษย์มากแค่ไหน

---

คลิปวิดีโอสั้นๆ นี้สะกิดใจให้ผมถามตัวเองว่า หากยึดตามหลักศาสนาพุทธแล้ว ถ้าลูกของตัวเองเสี่ยงที่จะมีภาวะพิการ ผมจะทำอย่างไร?

หากตอบแบบพุทธ (ที่ไม่ใช่ศาสนา) ผมคิดว่าตัวเองคงจะพยายามมองไปที่ “เหตุปัจจัย” ทั้งหมดที่เป็นอยู่และที่จะตามอย่างถี่ถ้วน โดยจะพยายามมองไปให้พ้นจากความคาดหวังหรือความกลัวของตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะกับคนที่เป็นแม่ที่จะต้องรับหน้าที่ดูแลอีกชีวิตหนึ่งไปด้วยกัน การทำแท้งในช่วงต้นของการตั้งครรภ์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผมจะนำมาพิจารณาร่วมกับคนรอบข้าง

แต่หากตอบแบบยึดตามหลักพุทธศาสนา ผมคงจะอธิบายว่า ศีลในทางพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ “ข้อห้าม” แต่เป็น “ข้อละเว้นที่พึงปฏิบัติ” หากไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้จะมีใครมาพิพากษาหรือลงโทษ ผลของการกระทำย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้กระทำเอง หากถือศีล ศีลก็ย่อมส่งผลให้จิตใจของผู้ปฏิบัติเองเช่นกัน การไม่ฆ่าถือเป็นเพียงหนึ่งในข้อปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของพุทธศาสนา

หากลูกผมเกิดมาแล้วพิการ เมื่อเขาเกิดมาแล้ว ผมก็หวังว่าเด็กที่พิการควรได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่และคนรอบข้างอย่างดีที่สุด หากลูกผมเจ็บป่วย เป็นทุกข์จากสภาวะทางร่างกายของเขา เขาก็ควรมีสิทธิได้รับการรักษาไม่ว่าเขาจะเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะหรือไม่ก็ตาม ลูกของผมควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อน ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ในสื่อ ในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ หรือในสังคมใดๆ ก็ตามที่เขาเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม ...เขียนมาตั้งนาน ทั้งหมดดูจะไม่ได้มาจากหลักศาสนาใดๆ เลย แต่น่าจะมาจากสำนึกประชาธิปไตยพื้นฐานเท่านั้นล่ะครับ

แต่หากจะเจาะจงลงไปในฐานะพุทธศาสนิกชน ผมคิดว่าการปฏิบัติตามคำสอนเรื่อง “กรรม” น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด กรรมในที่นี้ไม่ใช่การวิเคราะห์ว่า ความพิการเป็นผลจากกรรมในอดีต หรือการพยายามทำกรรมดีในชาตินี้ เพื่อชาติหน้าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น (ไม่เกิดมาพิการอีก) แต่คำสอนเรื่อง “กรรม” คือการเผชิญหน้ากับความเป็นจริง การยอมรับและเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริง โดยไม่ปฏิเสธ ไม่หลบเลี่ยง ไม่หลีกหนี หากมีลูกพิการ ผมก็จะถือว่าสถานการณ์ตรงหน้าเป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่ผมต้องเผชิญและเรียนรู้ร่วมไปกับลูกของผม

เราแต่ละคนมีกรรมในหลายระดับครับ ไม่ว่ากรรมที่เกิดมาเป็นผู้ชาย กรรมที่เกิดมาเป็นผู้หญิง กรรมที่เกิดมาสูง กรรมที่เกิดมาเตี้ย กรรมที่เกิดมาในครอบครัวนี้ กรรมที่เกิดมาในประเทศนี้ กรรมที่เกิดมาในยุคสมัยนี้ ฯลฯ การเผชิญกับกรรมทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจต่อสิ่งที่เราเป็น โดยความเข้าใจนั้นเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของเราเอง ไม่ใช่ความเข้าใจที่เกิดจากความเชื่อหรือคำตัดสินของคนอื่น การเผชิญหน้ากับกรรมของตนช่วยให้เราปลดปล่อยศักยภาพของเราออกจากบ่วงมายาคติทางความเชื่อหรือการยึดมั่นที่ตายตัว กลายเป็นศักยภาพและอิสรภาพในการตระหนักรู้ต่อทุกสถานการณ์ชีวิตเท่าที่จะเป็นไปได้  

คำว่า “ยอมรับกรรม” อาจเป็นคำที่ฟังแล้วดูค่อยเท่ห์เท่าไหร่ในโลกเสรีนิยม แต่ในเส้นทางพุทธธรรม กรรมคือวัตถุดิบสำคัญสำหรับการรู้แจ้ง แทนที่จะกล่าวโทษต่อว่าโชคชะตาว่าทำไมถึงต้องเป็นเรา ว่าทำไมสถานการณ์แบบนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา เรากล้าที่จะยอมรับและเผชิญหน้ากับกรรม ฝึกใจให้อ่อนน้อมที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจชีวิตในสถานการณ์ที่เราปฏิเสธหรือไม่ชอบ ยิ่งเผชิญหน้ากับกรรมของตนได้มากเท่าไร เราก็ยิ่งเห็นคุณค่าของการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์มากเท่านั้น เมื่อนั้นคำสอนเรื่องกรรมในพุทธศาสนา ก็สามารถพัฒนาไปสู่สำนึกแบบ “เคียงบ่าเคียงไหล่” (solidarity) เชื่อมต่อกับเป็นสำนึกทางสังคมต่อผู้คนที่มีความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ ได้

หากผมเป็นพุทธและมีลูกพิการ ผมคงอยากช่วยรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะในตัวลูกผมให้งอกงามในความพิการที่เขาอาจต้องอยู่ร่วมกับมันไปทั้งชีวิต หัวใจแห่งพุทธะของเขาควรจะได้โบยบินอย่างเป็นอิสระ มีมิตรภาพ ความรัก และความผูกพันต่อผู้คนในโลกนี้ได้ไกลที่สุดเท่าที่จินตนาการของเขาจะไปถึง ความเจ็บป่วยหรือความยากลำบากทั้งทางร่างกายและทางจิตใจของลูกผมควรได้รับการร่วมรับรู้และรับฟังโดยพ่อแม่ ครอบครัวและคนรอบข้างที่พร้อมจะยืดหยัดต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น มายาคติผิดๆ ที่มีต่อคนพิการควรได้รับการแก้ไขไม่ใช่ด้วยความสงสาร แต่ด้วยการเคารพและความเข้าใจจากมุมมองและประสบการณ์ของคนพิการเอง

ดังนั้นในมุมมองแบบพุทธ การมีลูกพิการอาจเป็นโอกาสให้เราได้เปิดกว้างต่อชีวิตอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เป็นได้นะครับ เช่นเดียวกับการที่เรามีลูกเป็นเกย์ มีลูกเป็นตุ๊ด มีลูกที่เลือกทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือเลือกไม่ทำในสิ่งที่เราชอบ ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเลือกที่จะปิดกั้นตัวเองอยู่ในความคาดหวังหรือความเคยชินเดิมๆ ของเรา หรือพร้อมที่จะเปิดใจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของลูกเราเท่านั้นเอง