Skip to main content

คุณคิดว่า คำว่า deaf กับ Deaf แตกต่างกันหรือเปล่าครับ

ในสังคมไทย จะ deaf หรือ Deaf ก็อาจแปลว่าหูหนวก หรือมีความ ‘พิการ’ ทางการได้ยินเหมือนๆกันหมด แต่ในอเมริกา deaf กับ Deaf นั้นแตกต่างกันอย่างมาก

คุณรู้ไหมว่าเพราะอะไร?

หลายปีก่อน สมาคมชื่อ Alexander Graham Bell Association for the Deaf and Hard of Hearing หรือ AGB เคยจัดงานเสวนาใหญ่ชื่อ Listening and Spoken Language Symposium ขึ้น งานนี้มีคนมาพูด มีการทำเวิร์คช็อพ และมีการจัดแสดงสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของคนหูหนวกหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้คนมีการฟังที่ดีขึ้น เช่น มีการแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการผ่าตัดต่างๆ รวมไปถึงเครื่องช่วยฟังหลากหลาย ที่จะทำให้ผู้สูญเสียการได้ยินสามารถกลับมาได้ยินอีกครั้ง

แต่เชื่อไหมครับ - ว่ามีคนมาประท้วงการประชุมนี้!

งานนี้จัดขึ้นที่โรงแรม Omni ในใจกลางมหานครลอสแองเจลลิส ผู้ประท้วงมีจำนวนราว 50 คน ไม่มากมายอะไรนัก ดังนั้น เมื่อผู้จัดงานเรียกตำรวจมาจัดการ ตำรวจจึงมาอย่างรวดเร็วเพื่อสลายการประท้วง แต่สิ่งที่ตำรวจไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็คือ พวกเขาไม่สามารถ ‘พูดคุย’ กับผู้ประท้วงด้วยภาษาแห่งการเปล่งเสียงได้ แต่ตำรวจต้องใช้ภาษามือ

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะผู้ประท้วงกว่า 50 คนนั้น ส่วนใหญ่คือคนที่เรียกตัวเองว่า Deaf People!

คุณอาจสงสัยว่า อ้าว! ก็การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนหูหนวกหรือคนที่มีปัญหาเรื่องการได้ยินไม่ใช่หรือ แล้ว Deaf People มีปัญหาอะไรกับการประชุมนี้

ปัญหาที่ว่า - มีรากอยู่ที่ความแตกต่างระหว่างคำว่า deaf กับ Deaf ในสังคมอเมริกันนั่นเอง!

---

ในหนังสือชื่อ America : Voices from a Culture มีการอธิบายเอาไว้ว่า คำว่า deaf ที่ใช้ตัว d เล็ก หมายถึง audiological condition of not hearing หรืออาการที่ ‘ไม่ได้ยิน’ ในแบบต่างๆ แต่ถ้าเป็นคำว่า Deaf ที่ใช้ตัว D ใหญ่ จะหมายถึงคนกลุ่มหนึ่งในอเมริกาที่แม้จะเป็น deaf people แต่เป็นกลุ่มเฉพาะที่มีวัฒนธรรมร่วมของตัวเอง และใช้ภาษาที่เรียกว่า American Sign Language หรือ ASL เป็นเครื่องมือสื่อสาร

Deaf (ตัว D ใหญ่) Culture หรือวัฒนธรรม Deaf นั้น หมายถึงวัฒนธรรมชุดหนึ่งซึ่งมีทุกอย่างเหมือนวัฒนธรรมอื่นๆ คือมีความเชื่อทางสังคม พฤติกรรม ศิลปะ ขนบทางวรรณกรรม อารมณ์ขัน ประวัติศาสตร์ คุณค่า และสถาบันร่วมของชุมชน แต่ที่ไม่เหมือนวัฒนธรรมอื่นๆ ก็คือ Deaf Culture เป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่มี ‘ฐาน’ อยู่ตรงความ deaf หรืออาการหูหนวก ไม่ได้ยินเสียงต่างๆ

ศูนย์กลางวิธีคิดของ Deaf Culture ก็คือการเห็นว่า อาการหูหนวกนั้น ไม่ใช่ ‘ข้อบกพร่อง’ หรือ ‘ความพิการ’ (disability) อะไรเลย พวกเขาเพียงแต่ ‘แตกต่าง’ เท่านั้น อาการหูหนวกไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่อุปสรรค ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พวกเขา ‘ด้อย’ หรือ ‘ไม่ครบ’ อะไรในทางกาย (และทางใจด้วย) พวกเขาภูมิใจกับ ‘อัตลักษณ์หูหนวก’ (Deaf Identity) ของตัวเองเป็นอย่างมาก

ชุมชนของ Deaf Culture นั้น เป็นชุมชนที่มีทุกอย่างอยู่ในนั้นนะครับ มีแม้กระทั่งคลับตลกแบบเดี่ยวไมโครโฟน (ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอเมริกันมากๆ) เพียงแต่จะสื่อสารกันด้วยภาษามือ และเดี่ยวไมโครโฟนของอเมริกันนั้น ถ้าใครเคยดูหรือคุ้นเคยดี ก็จะรู้ว่ามันเป็นการแสดงตลกที่สุดแสนจะไม่ Political Correct คือล้อเลียนไปได้ทุกสิ่งทุกอย่าง

Deaf Culture Comedian ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกันครับ ถ้าคุณรู้ภาษามือ และเข้าไปนั่งดู (ฟัง) ในคลับตลกของชาว Deaf คุณจะพบมุกตลกมากมายที่เสียดสีล้อเลียนคนที่ได้ยินเสียง (แบบเดียวกับที่คนที่ได้ยินเสียงอาจมีมุกตลกล้อเลียนคนพิการในแบบที่ไม่ Politically Correct นั่นแหละ)

คนที่เสนอให้แยกแยะระหว่าง deafness หรือความหูหนวก กับ Deaf Culture ออกจากกัน คือ เจมส์ วูดเวิร์ด (James Woodward) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการร่วมของศูนย์การศึกษาภาษามือที่มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง เขาเสนอเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1972 แล้ว และในสหรัฐอเมริกาก็รับเรื่องนี้มาอย่างดี โดยเฉพาะบางรัฐ เช่นรัฐโคโลราโด (โดย Colorado Department of Human Services) ได้ให้นิยามคำว่า Deaf (ตัว D ใหญ่) ว่าหมายถึง ‘คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความแม่นยำในการได้ยินแตกต่างกันไป วิธีสื่อสารหลักก็คือการใช้ภาษามือ (ในอเมริกาคือภาษา ASL) และมีมรดกกับวัฒนธรรมต่างๆร่วมกัน’

คนที่เป็น Deaf นั้น ไม่ต้องการรักษาตัวให้หายจากอาการหูหนวกนะครับ เพราะพวกเขาไม่ได้เห็นว่านี่เป็นความบกพร่องแต่ประการใด

---

เรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่โตในอเมริกาเมื่อราวสิบกว่าปีที่แล้วก็คือ มีหญิงรักหญิงคู่หนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม Deaf พวกเธอต้องการมีลูกที่หูหนวก เพราะการเลี้ยงดูลูกในชุมชนคนหูหนวกนั้น ถ้าลูกหูหนวกด้วยจะเป็นเรื่องที่ดีกว่ามาก เพราะสำหรับพวกเธอ คนหูไม่หนวกที่อยู่ในชุมชนคนหูหนวกจะเป็นคนที่มีปมด้อย (เช่น เวลาไปดูตลกในคลับก็อาจรู้สึกเหมือนถูกล้อเลียนได้) ดังนั้น พวกเธอจึงใช้วิธีคัดเลือกทางพันธุกรรม นำเชื้ออสุจิของเพื่อนที่มาจากครอบครัวที่มีอาการหูหนวกมาแล้วหลายรุ่น เพื่อนำเชื้อมาผสมกับไข่ของพวกเธอ ผลลัพธ์ก็คือได้ลูกที่หูหนวกออกมาจริงๆ

เรื่องนี้ทำให้เกิดการถกเถียงกันใหญ่โตว่าผิดศีลธรรมหรือเปล่า เพราะเป็นการจงใจทำให้ลูกออกมาหูหนวก ซึ่งคนทั่วไปถือว่าเป็นความบกพร่องทางกาย แต่พวกเธอก็โต้แย้งว่า ถ้าเป็นหญิงรักหญิงผิวดำที่อยากมีลูกผิวดำ ทำไมถึงสามารถเลือกเชื้ออสุจิของพ่อที่เป็นผิวดำได้เล่า ในเมื่อพวกเธอไม่ได้เห็นว่าอาการหูหนวกเป็นความบกพร่อง ก็แล้วคนอื่นจะมีปัญหาอะไร ซึ่งก็แน่นอนว่าก่อให้เกิดการถกเถียงกันขนานใหญ่เข้าไปอีก แต่ที่สุด พวกเธอก็ได้เลี้ยงลูกและมีครอบครัวในแบบ Deaf Culture

---

กลับมาที่การประท้วงสมาคม AGB กันอีกรอบ

คุณอาจสงสัยว่า แล้วกลุ่ม Deaf Culture มาประท้วงอะไรกัน

เรื่องนี้มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนยาวนาน เพราะ AGB นั้น มีเป้าหมายสำคัญที่จะ ‘ช่วย’ ให้คนที่สูญเสียการได้ยิน กลับมาได้ยินใหม่อีกครั้งด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งในกระบวนการที่ว่า ก็เกิดการลดความสำคัญของการใช้ภาษามือ (หรือ ASL) ลงไปด้วย นั่นคือไปมุ่งเน้นที่การสอนการสื่อสารวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช้ภาษามือ เช่น การอ่านริมฝีปาก หรือการฝึกให้คนพูดด้วยการเลียนแบบรูปแบบการหายใจและรูปร่างของปาก โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การสื่อสารแบบ Oralism หรือการพูด แล้วนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วย เช่น การปลูกถ่ายหรือการผ่าตัดต่างๆ

จะเห็นว่า ‘ปรัชญา’ พื้นฐานของการมองความ deaf นั้นแตกต่างกัน AGB เห็นว่าการ ‘รักษา’ เพื่อให้หายจากอาการหูหนวก และกลับมาสื่อสารได้ด้วยวิธีของคนทั่วไปเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในเวลาเดียวกัน กลุ่ม Deaf Culture กลับเห็นตรงข้าม

นักรณรงค์ของ Deaf Culture คนหนึ่ง คือรูธี จอร์แดน (Ruthie Jordan) แห่งองค์การชื่อ Audism Free America (ชื่อก็บอกอยู่ว่า รณรงค์ให้ปลอดจากการใช้เสียงเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร) บอกว่า Deaf Culture จำเป็นต้องปกป้องสิทธิและเสรีภาพของ Deaf people ในอันที่จะเลือกวิธีสื่อสารของตัวเอง ซึ่งถือเป็นสิทธิโดยกำเนิด ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ แต่การทำงานของ AGB คือการให้การศึกษาแบบผิดๆ ต่อผู้ปกครองของเด็กที่เลือกจะเป็น Deaf (ตัว D ใหญ่) ทำให้เด็กๆ เหล่านั้นมีโอกาสในการ ‘เลือก’ น้อยลง

การถกเถียงเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไป (เรียกว่า Hearing People) จะเข้าใจ เพราะคนทั่วไปมักทึกทักเอาว่า Deaf People น่าจะอยากได้ยิน ซึ่งก็แน่นอนว่าคนที่สูญเสียการได้ยินจำนวนหนึ่งอาจอยากมีความสามารถนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนไป

---

การต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะ ‘หูหนวก’ จึงเป็นการต่อสู้ตรงพรมแดนของความเข้าใจที่ยาก และกระทั่งคนที่สูญเสียการได้ยินเองจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับ Deaf Culture ที่ว่า

Deaf Culture จึงเป็นเรื่องหนึ่ง ที่พาเราไปถึงขอบฟ้าแห่งวิธีมองโลกของเราได้ ว่าเราเห็นอาการหูหนวกเป็นความพิการ,

หรือว่านั่นเป็นแค่ความแตกต่างอย่างหนึ่งเท่านั้น