Skip to main content

พุทธมหายานต่างจากพุทธเถรวาทตรงการเน้นย้ำถึงความรักความกรุณาต่อผู้อื่น เป้าหมายของการบรรลุธรรมแบบมหายานไม่ใช่เพียงเพื่อการหลุดพ้นสู่พระนิพพานแต่ประการเดียว ทว่าคือการเป็นอิสระที่จะเลือกอยู่ที่นี่ อยู่กับสภาพเช่นนี้ไม่หนีไปไหน  อุดมคติแบบมหายานปรารถนาจะยังประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ในทุกๆ ที่ “ไม่ว่าจะอีกกี่ภพกี่ชาติ ข้าพเจ้าขออุทิศตนเพื่อยังประโยชน์ต่อผู้อื่น ข้าพเจ้าปรารถนาให้ผู้อื่นเดินทางข้ามฝั่งไปสู่พระนิพพานก่อนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะเข้าสู่พระนิพพาน หากมีแม้นเพียงหนึ่งชีวิตที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร”

แม้นจะดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ แต่อุดมคติแบบมหายานก็เปิดความเป็นไปได้ให้เส้นทางแห่งพุทธธรรมทอดไปสู่ทิศทางใดก็ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ความปรารถนาที่จะเข้าใจ (และเข้าถึง) เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์คือแรงดลใจอันยิ่งใหญ่ของพาหนะใหญ่ หรือมหายาน อันเป็นพัฒนาการคำสอนทางพุทธศาสนาที่ไปพ้นเขตแดน “ความทุกข์ของฉัน”

โดยนัยนี้ มหายานกำลังสื่อสารความเข้าใจหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ การเข้าใจตัวเองนั้นไม่เท่ากับการเข้าใจคนอื่น เราอาจเคยได้ยินมาว่า หากเข้าใจตัวเองแล้วเราก็จะเข้าใจผู้อื่น หากฝึกใจตัวเองให้ดี ก็จะสามารถไปช่วยผู้อื่น สั่งสอนผู้อื่นได้... ทว่ามหายานกำลังบอกว่า คำกล่าวเช่นนั้นเหมารวมเกินไป หยาบเกินไป และใช้ไม่ได้จริงยามเข้าไปสัมพันธ์กับความทุกข์

ดังนั้น “การเข้าใจตัวเองไม่เท่ากับการเข้าใจคนอื่น” จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของพุทธธรรมในขั้นมหายาน การเข้าใจตัวเองก็คือการเข้าใจตัวเอง และการเข้าใจคนอื่นก็คือการเข้าใจคนอื่น การเข้าใจความทุกข์ของตัวเองเป็นเพียง “พื้นฐาน” ในการเข้าใจคนอื่นเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด คำสอนมหายานพัฒนานัยของการเคารพประสบการณ์ความทุกข์เฉพาะของแต่ละบุคคล และฝึกฝนจิตใจให้ละเอียดอ่อนต่อการรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นยิ่งขึ้น

 

คำสอนมหายานเรื่อง “ความว่าง”

จากคำสอนในเรื่องของความดับทุกข์ ดับกิเลส การปล่อยวางจากการยึดมั่นถือมั่น หรือการปล่อยวางความคิดในเทคนิคการฝึกภาวนาเบื้องต้น มหายานพูดถึง “ความว่าง” อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของจิต ความว่างคือคำสอนพื้นฐานของมหายาน อันชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติเดิมแท้ของจิตใจที่ไปพ้นคำพูด คำนิยาม หรือการหาเหตุหาผล

ใน “ปรัชญาปารมิตาสูตร” พระสารีบุตรสนทนากับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรถึงเส้นทางการฝึกตน อวโลกิเตศวรกล่าวว่า

“รูปคือความว่าง ความว่างคือรูป รูปไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกไปจากความว่าง ความว่างไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกไปจากรูป ขันธ์ทั้งห้าคือความว่าง ธรรมทั้งปวงคือความว่าง ในความว่างไม่มีรูป ไม่มีเวทนา.... ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก... ไม่มีกาย ไม่มีจิต... ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น... ไม่มีทุกข์ ไม่มีสมุทัย.. ไม่มีมรรค ไม่มีปัญญา ไม่มีการบรรลุธรรม และไม่มีการไม่บรรลุธรรม  ........ด้วยปราศจากเครื่องกั้นขวางของจิต พวกเขาจึงไม่มีความกลัว พวกเขาก้าวข้ามความผิดพลาดและเข้าสู่พระนิพพานโดยสมบูรณ์”

อาจกล่าวได้ว่า พระสูตรอันเป็นพื้นฐานของคำสอนมหายานนี้ ได้ “รื้อสร้าง” (deconstruct) ธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างถึงราก จากเดิมที่พระธรรมคำสอนเต็มไปด้วยคำพูด คำนิยาม ข้อปฏิบัติ และข้อธรรมมากมายเพื่อนำมาใช้อธิบายความจริง ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ 5 อริยสัจ 4 มรรค 8 อายตนะ6 ฯลฯ สิ่งที่ปรัชญาปารมิตาสูตรต้องการชี้ให้เห็นก็คือ ธรรมทั้งปวงหาใช่การยึดมั่นในหลักธรรมเหล่านั้นไม่ แต่ถึงที่สุดแล้วธรรมทั้งปวงคือความว่าง ไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่จะสามารถอธิบายธรรมะที่มีชีวิตได้ ดังนั้นการเข้าถึงธรรม คือ การปล่อยใจให้ว่าง นั่นคือการปล่อยจากทุกคำตัดสินถูกผิด ทุกคำนิยาม กระทั่งการปล่อยวางทุกหลักธรรมทั้งปวง

เราไม่อาจเข้าใจคนอื่นด้วยข้อธรรมในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าสอนสั่ง แม้หลักธรรมเหล่านั้นอาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อเข้าใจความทุกข์ของเราเองได้ แต่สิ่งที่มหายานต้องการจะสื่อก็คือ ธรรมะที่แท้ไปพ้นจากคำนิยาม การเข้าถึงความจริงอันมีชีวิตทำได้ก็ด้วยหนทางเดียว คือ การ “เปิดใจ” 


ความรัก ความอ่อนโยน ความกรุณา

เมื่อไปพ้นขอบเขตของ “ความรู้” หรือความเข้าใจเชิงสติปัญญา พุทธธรรมก็เริ่มกลายเป็นพลังบางอย่างที่ปลุกหัวใจคนเราให้ตื่นขึ้นอย่างที่ไม่อาจอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ มหายานจึงเป็นเส้นทางของการเปิดใจต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นที่อยู่ตรงหน้า ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับพวกเขา สัมผัสพวกเขา รับรู้พวกเขา รับฟังพวกเขา... ความว่างกลายเป็นศักยภาพแห่งการเรียนรู้อันกว้างใหญ่ไม่มีขอบเขต ที่ยิ่งอ่อนน้อมมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้หัวใจมนุษย์ทรงพลังขึ้นเท่านั้น พลังของพุทธธรรมไม่ได้มีแต่ด้านของความรู้หรือความเข้าใจ ทว่ายังแสดงออกซึ่งความอ่อนโยน ความรัก ความกรุณา ที่มีต่อผู้อื่นที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ไม่ต่างจากเรา 

 

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ด้วยความรักและความอ่อนโยนนี้เองทำให้ผู้ฝึกตนบนหนทางแห่งพุทธธรรมตระหนักว่า การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ไม่ว่าจะในสภาพเช่นไร เป็นโอกาสที่มีค่ายิ่ง แม้จะเต็มไปด้วยความทุกข์ ชีวิตก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จากเดิมที่บางครั้ง “การหลุดพ้น” ถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามกับการเกิดมาในชาตินี้ (เช่น คำกล่าวของพระหลายรูปในบ้านเราที่ว่า “จะไม่ขอกลับมาเกิดอีกแล้ว”) มหายานเปิดความเป็นไปได้ของภาวะหลุดพ้นในโลก ...และในชีวิตนี้ อิสรภาพของการใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมเพื่อยังประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ฝึกใจตนบนปณิธานของการรับใช้เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์อย่างหาญกล้า ไม่ว่าจะต้องเกิดมาอีกสักกี่ชาติ ไม่ว่าจะเกิดมาในสภาพใด สถานการณ์ยากลำบากขนาดไหน จะอยู่ในสวรรค์หรือนรก ก็จะขอใช้โอกาสนั้นเพื่อปัดเป่าบรรเทาทุกข์ให้แก่เพื่อนร่วมโลก

การฝึกตนโดยหลอมรวมเอามิติของความอ่อนโยน ความรัก และความกรุณา ทำให้ความเป็นมนุษย์ไม่ถูกมองเป็นความอ่อนแอหรือเปราะบางที่ต้องปฏิเสธ ศักยภาพของการยอมรับตัวเองถูกขยายกว้างออกไปสู่ด้านที่เราอาจไม่ยอมรับหรือรังเกียจ ก้าวข้ามทวิลักษณ์ของการตัดสินดีชั่ว ถูกผิด สมบูรณ์-ไม่สมบูรณ์ แล้วโอบอุ้มทุกประสบการณ์ของมนุษย์อย่างที่เป็นได้มากขึ้น ...เรารู้สึกเคารพสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างสุดหัวใจ ขยายเป็นการเคารพในเพื่อนมนุษย์คนอื่นอย่างสุดหัวใจเช่นกัน หัวใจที่เปิดกว้าง และ “ว่าง” นี่เอง คือ หัวใจแห่งความมนุษย์ที่มหายานเน้นย้ำ