Skip to main content

มนุษย์ยุค 90’s ยังจำหนังพวกนี้ได้มั๊ย “สมศรี 422 อาร์” “สะแด่วแห้ว” “จะใหญ่จะย่อก็พ่อเรา” “รองต๊ะแล่บแปล๊บ” “วิ่งหน้าตั้งก็ยังรักเธอ” “บุญชู6” “บ้านผีปอบ7” ไม่ได้จะดักแก่ แค่อยากจะชวนคิดถึงหนังอีกเรื่องอย่าง “ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช” ที่ออกฉายในปี 2535 เหมือนกันกับเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด ออกฉายในเดือนมิถุนายน หลังเหตุการณ์พฤษภา’ 35 ไม่นาน ถ้ายังจำกันได้

“ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช” เป็นภาพยนตร์สัญชาติไทย กำกับโดย ชูชาติ โตประทีป ภายใต้ค่ายไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ความยาว 125 นาที ว่าด้วยเรื่องราวความรักระหว่างหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ต่างไปกว่าหนังวัยรุ่นกุ๊กกิ๊กโรแมนติคเรื่องอื่น ก็เพราะเป็นเรื่องราวความรักระหว่างชายตาบอดกับหญิงหูหนวก “ต้น” หนุ่มมหา’ลัยที่ตาเริ่มมองไม่เห็นตั้งแต่เด็ก รักกับนางเอกชื่อ “นุช” นักเรียนสาวสวยที่ไม่ได้ยินและพูดไม่ได้ตั้งแต่เกิด จากที่อยู่กันซึ่งๆ หน้าก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้ ฝ่ายชายมองไม่เห็น ฝ่ายหญิงก็ไม่ได้ยินเสียงของคนที่อยู่ข้างหน้า ก็ค่อยๆสื่อสารกันได้ผ่านสัมผัสบางสัมผัสที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย และเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ แม้จะมีเงื่อนไขจนเข้าใจกันผิดพ่อแง่แม่งอนในบางครั้ง แต่ก็ไม่ยากเกินจะปรับความเข้าใจกัน

นอกเหนือความยากลำบากในการดำรงชีวิตกันเองอยู่แล้ว มากไปกว่านั้นทั้งคู่ยังต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นใจให้รักกัน ทั้งความห่วงใยและขบขันจากคนรอบข้าง ทั้งเพื่อนๆและพ่อแม่ ที่ยังคิดแทนว่า คนพิการ “ไม่พร้อม” จะมีคู่รัก ยังเสมือนเด็กอยู่เสมอเพราะต้องพึ่งพาผู้อื่น ต้องการคนคอยปกป้องดูแลมากกว่าจะไปดูแลคุ้มภัยใครได้ ไม่พร้อมที่จะประคับประคองซึ่งกันและกัน

เมื่อทั้งคู่เริ่มต้นคบหาดูใจกันอย่างเปิดเผย สิทธิ์ผู้เป็นเพื่อนสนิทต้นและพี่ชายที่แสนดีของนุชก็เริ่มมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับต้น ด้วยความเป็นห่วงน้องสาวว่า “จะอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร” เพราะคิดว่าทั้งคู่ยังไม่สมบูรณ์พอ ไม่สมเหตุสมผลที่จะรักกัน เช่นเดียวกับพ่อแม่ของทั้งนุชและต้นที่มองว่า “ความตาบอด” ของต้น จะทำให้ต้นไม่สามารถปกป้องดูแลนุชให้อยู่ดีกินดีสุขสบายได้

ต้นกับนุชก็เปรียบเสมือนตัวแทนคนตาบอดที่ต้องการจะส่งสารบอกผู้ชมว่า ไม่อยากให้ใครคิดแทนอย่างที่แม่ของต้นยังคงคิดว่าต้นเป็นเด็กเสมอ ไม่พร้อมสำหรับความรักหรือปกป้องดูแลใคร ทั้งที่ในความเป็นจริง ต้นก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในโลกนอกบ้าน เพราะคนตาบอดก็คือคนเหมือนกัน เหมือนกับเพลงที่เขาร้อง

“เก็บอาการ ไม่ให้ใครเห็น ว่าคนอย่างเรานั้นก็เศร้าเป็น รู้ร้อนรู้เย็นเหมือนเช่นคนอื่น เก็บอาการเก็บกดเอาไว้ สู้คนอื่นเขาเพราะเราก็คน”

นอกเหนือจากคนพิการจะรักกันได้ หนังเผยให้เห็นว่า คนหูหนวกสามารถทำอะไรได้หลายๆอย่าง ทั้งทำขนม อบบุหงา เล่นบาส เกี้ยวพาราสี คนหูหนวกพูดไม่ได้แต่ก็สามารถเมาท์มอยกันในห้องเรียนผ่านนุชและเพื่อนๆในโรงเรียนเศรษฐเสถียร พอกับๆที่ต้องการจะสื่อสารผ่านตัวละครต้นว่า คนตาบอดก็สามารถเล่นหมากฮอท สอนกีต้าร์ให้คนตาไม่บอดได้ หยอกล้อเล่นกับเพื่อน และกวนส้นตีนเป็น เรียนหัดภาษามือ ปีนเขาขึ้นดอย ขึ้นรถเมล์ไปเรียนได้ เรียนในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งต้นเลือกเรียนเอกจิตวิทยา เพื่อที่จะได้เข้าถึงจิตใจผู้อื่น และการตาบอดถูกทำให้กลายเป็นข้อดีในเรื่อง เมื่อต้องข้ามสะพานแขวนสูงจากพื้นขณะปีนดอย ต้นสามารถนำทางให้พ้องเพื่อนได้ เพราะด้วยความที่เขามองไม่เห็นทางเลยไม่กลัวความสูง

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องความรักหนุ่มสาว 2 คู่ คู่ของคนพิการที่ดำเนินขนานไปพร้อมกับคนที่ไม่พิการ ขณะที่สิทธิ์กับพิมพ์ (ตามsubtitle แต่ตัวละครเรียกว่า “พริม” ) เพื่อนสาวหูไม่หนวกของนุช ที่มีประสาทสัมผัสการมองเห็นและได้ยิน นั่งดูพระอาทิตย์ตกน้ำยามเย็น ถ่ายรูปแมกไม้ป่าเขา ใช้เสียงเพลงจากกีต้าร์เชื่อมรัก ต้นกับนุชดมดอกไม้และสัมผัสกระต่ายร่วมกัน ดื่มด่ำชื่นชมธรรมชาติด้วยความรู้สึก  เขาและเธอต่างชอบสายลมปะทะผ่านร่างกายเหมือนกำลังแหวกสายลม

แม้ว่าเขาและเธอใช้ประสาทสัมผัสที่มี สร้างงานศิลปะที่อีกฝ่ายเข้าไม่ถึง นุชปักครอสติช วาดรูป ส่วนต้นเล่นดนตรี การที่ต้นมอบตุ๊กตาดนตรีไขลาน ให้กับนุช เสมือนตัวแทนของทั้งคู่ เพราะเป็นสิ่งที่ทั้งต้นและนุชทั้งคู่มีและขาดในเวลาเดียวกัน นุชไม่ได้ยิน แต่มองเห็น ต้นมองไม่เห็นแต่ได้ยิน แต่ทั้งคู่สามารถสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหว การเต้นรำของทั้งคู่ จึงคือการที่ทั้งคู่ได้เป็นดั่งคนๆเดียวกัน

ทั้งนุชและต้นสามารถเป็นคนเดียวกันได้โดยไม่ต้องมีใครเป็นสื่อกลาง คนรอบกายที่ทำหน้าที่สื่อกลางกลับเป็นอุปสรรคเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่คิดแทน แต่เมื่อนุชทดลองใช้ภาษาพูดกับต้นด้วยการขอให้พิมพ์อ่านออกเสียงความในใจที่เธอเขียนลงตลับเทปคาสเซ็ท เพื่อเป็นสื่อรัก ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายชายสับสน รักเกือบจะไม่สมหวัง และอีกครั้งเมื่อต้นโทรเข้าบ้าน ฝากสิทธิ์ชวนนุชเดท แต่สิทธิ์ดันบอกเวลาผิด จาก 4 โมงเช้า เป็น 4 โมงเย็น จนทำให้ทั้งคู่เข้าใจผิด นัดกันไม่เจอ ซึ่งต้นบอกให้เข้าใจและเข้มแข็งไม่หวั่นไหว (สมัยนั้นไม่มีมือถือ จะโทรนัดก็ต้องนัดตั้งแต่ที่บ้าน ต้องตรงเวลา ยืนรอตามตำแหน่งที่กำหนด เพราไม่งั้นจะหากันไม่เจอ)

แต่ไม่ว่าใครก็เข้าใจผิดกันได้ โดยไม่ต้องพิการเช่นคู่ของสิทธิ์กับพิมพ์ที่เมื่อแรกแนะนำตัว พิมพ์ถามชื่อหมาที่จูงมาด้วยความเอ็นดู สิทธิ์กลับตอบชื่อตนเองเพราะนึกว่า พิมพ์กำลังสนใจในตัวเขา

แต่ในท้ายที่สุดของเรื่อง ความรักระหว่างต้นและนุชก็ได้รับการยอมรับจากครอบครัว นุชพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัวต้นด้วยการปรนนิบัติดูแลต้นอย่างอดทนและทะนุถนอมเมื่อคราวเขาถูกรถชน และต้นเองก็พิสูจน์ตนเองว่าสามารถเลี้ยงดูนุชได้ให้ครอบครัวของเธอประจักษ์ เขาเลี้ยงชีพมีรายได้จากการเป็นครูสอนเปียโน และสามารถชนะชิงถ้วยรางวัลการประกวดแข่งขันเปียโนระดับภูมิภาค ของชมรมนักดนตรีสมัครเล่นภาคเหนือ

เมื่อเสร็จการแข่งขัน ครอบครัวของทั้งนุชและต้นเห็นได้ว่า เขาก็มีความสามารถ ทำอะไรได้เท่าๆคนตาไม่บอด ขณะทั้งคู่สวมกอดกัน บรรดาพ่อๆแม่ๆของทั้งเขาและเธอพากันเดินกลับบ้าน ให้ทั้งคู่กลับบ้านกันเองอย่างหมดห่วงและภาคภูมิใจ

ความพิเศษอีกประการของหนังเรื่องนี้คือ ทั้งพระเอก วัลลภัทร บุญประเสริฐ และนางเอกของเรื่อง พัชราวัลย์ พิภพวรไชย ต่างเป็นผู้พิการทั้งคู่ และในงานสุพรรณหงส์ครั้งที่ 2 ในปีนั้น (เดิมชื่อ “สุพรรณหงส์ทองคำ” แรกจัดเมื่อปี 2521 จัดได้ 7 ครั้ง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสุพรรณหงส์เฉยๆเมื่อ 2534  ) พัชราวัลย์ก็สามารถคว้ารางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมได้ หนังเรื่องนี้ทำให้คนทั้งประเทศเห็นได้ว่า คนพิการสามารถเป็นดารานักแสดงได้ และสามารถคว้ารางวัลการแสดงยอดเยี่ยมได้อีกด้วย นอกจากเรื่องราวที่ต้องการสื่อสารกับคนภายในประเทศ ว่าคนพิการในประเทศก็เป็นประชาชนเหมือนกัน คนหูหนวกพูดไม่ได้ก็สามารถร้องเพลงชาติด้วยภาษามือ และนุชก็ทำบุหงาใช้ ไม่ชอบ “น้ำหอมฝรั่ง”

แม้ว่าคนพิการ ไม่เพียงจะถูกกีดกันจากทรัพยากรต่างๆ โดยรัฐสวัสดิการ สาธารณูปโภค ทั้งการดำรงชีวิต การศึกษา การฝึกฝนทักษะ อำนวยใจเพื่อพัฒนาศักยภาพจนสามารถประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ ยังจะถูกจํากัดกันสัมพันธภาพให้มีแค่เพียงคนในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนใกล้ชิดเท่านั้น ทำให้คนพิการมักตีตราความพิการของตนเอง หวาดกลัวการถูกรังเกียจ ถูกมองว่าเป็นภาระ จนได้ประกอบสร้างอัตลักษณ์บุคลิกภาพที่ยับยังสะกัดกั้นการแสดงตัวตนและศักยภาพที่แท้จริงออกมา ซ้ำความรักก็ดันวัด “ความพร้อม” ด้วยบรรทัดฐานสังคมด้านรายได้ อาชีพ อายุ การศึกษา จึงมีคนตาบอดจำนวนน้อยสามารถรักษาความสัมพันธ์ความรักและสร้างครอบครัวได้สําเร็จ[1]ซึ่งนั่นไม่ใช่เนื่องมาจากความพิการของเขา หากแต่สภาพแวดล้อมที่พิกลต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็พร่ำบอกกับเราว่า คนพิการก็มีความรักได้และสามารถรักกันได้ เพราะทั้งเขาและเธอรักจากส่วนลึกของจิตใจ ไม่ใช่ส่วนประกอบภายนอก ไม่ใช้คำพูดและสายตา แต่มีภาษาเดียวกันที่สามารถเชื่อมใจกันได้สนิท เหมือนกับที่ทั้งคู่เต้นรำด้วยจังหวะเดียวกัน นั่นคือความรู้สึกเดียวกัน หนุ่มต้นเรียกมันว่า “ภาษาทางใจ” ก็สามารถพาชีวิตคู่เดินไปด้วยกันบนทางเดินแห่งรักได้ ที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาเกื้อกูลเติมเต็มให้กันและกัน คนหนึ่งเป็นดวงตาให้กับอีกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเป็นหูและปากแทนอีกคน สมกับชื่อภาษาอังกฤษ “Your Eyes and My Ears”

 “ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช” จึงเป็นหนังฟิลกู๊ดบนความขื่นๆของสังคม

 

อ่านตอน 2 ได้ที่นี่

[1] ศราวุฒิ  อินทพนม. (2556). การตระหนักรู้เรืองเพศของชายตาบอด. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.