Skip to main content

หนทางรอดของสังคมผู้สูงวัย สปสช. ร่วมมือ อปท. จัดทำทำเนียบผู้สูงอายุ ส่งหมอดูแลสุขภาพถึงบ้าน พร้อมมีระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและติดเตียง อปท.ยังกังวลการเบิกจ่ายงบผิดระเบียบหรือไม่

ที่มาภาพ http://prachatai.org/journal/2017/05/71419

เว็บไซต์ประชาไท รายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2560 ว่า ดุสิต ศรีโคตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC: Long Term Care) ให้กับ สปสช.เพื่อจัดสรรให้กับหน่วยบริการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ต่อเนื่องมาปีงบประมาณ 2560 เพื่อเป็นงบประมาณให้โรงพยาบาลในพื้นที่จัดทีมหมอครอบครัวร่วมกับ อปท.ดำเนินการคัดกรองผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตามแบบประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel  ADL index) ซึ่งแบ่งผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงออกเป็น 4 กลุ่ม โดยดัชนีบาร์เธลเอดีแอลนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้พัฒนาขึ้น 

ดุสิต กล่าวว่า ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้านติดเตียง) ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขตามสิทธิประโยชน์ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/อบต.)เป็นเจ้าภาพหลัก ในการบริหารจัดการระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่แบบบูรณาการ ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ เป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สำหรับในพื้นที่ สปสช.เขต 7 ขอนแก่นนั้น มี อปท.ที่ต้องการเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนนี้ รวมทั้งหมดประมาณ 365 แห่ง จาก 718 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของ อปท.ทั้งหมด และมีจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลจากการสำรวจเมื่อปี 2559 และต้นปี 2560 ที่ต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแล จำนวน 12,705  คน

“หลังจากที่ อปท.ได้จำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือแล้ว จะต้องจัดทำทำเนียบผู้สูงอายุและรายละเอียดส่งให้กับ สปสช.เขต เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) โดย อปท.ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณนั้น สปสช.จะจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายให้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่เข้าร่วมดำเนินการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ในอัตรา 5,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง” ดุสิต กล่าว

ประสาทพร สีกงพลี นายกเทศมนตรีตำบลนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ระบุว่า เทศบาลตำบลนาดูนได้เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ร่วมกับ สปสช. มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ต่อเนื่องมาปีงบประมาณ 2560 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 640,000 บาท เพื่อจัดบริการให้กับผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง จำนวน 76 คน จาก ผู้สูงอายุรวมทั้งหมด 605 คน เริ่มจากการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนจากทุกภาคส่วน การแต่งตั้งผู้จัดการแผนการดำเนินงาน (Care Manager) การคัดเลือกและส่งผู้ดูแล (Care giver) ไปฝึกอบรมจำนวน 20 คน ซึ่งหลังจากได้ดำเนินงานมา 2 ปี พบว่าผู้สูงอายุในพื้นที่ได้รับการดูแลครบวงจร

“ปัญหาและอุปสรรคส่วนหนึ่งในการทำงานคือปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่ง อปท.หลายแห่งเกรงว่าจะผิดระเบียบ และทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกหนังสือให้ชะลอการจ่ายค่าจ้างผู้ดูแล แต่ทางเทศบาลตำบลนาดูนได้พิจารณาแล้วเห็นว่าตามระเบียบของ อปท.นั้นสามารถจ่ายเงินให้กับผู้ดูแลได้ จึงได้จ่ายให้วันละ 300 บาทต่อคน และเมื่อทำมาได้สักพักก็เริ่มเห็นความสำคัญของกองทุนนี้ ที่ให้การดูแลผู้สูงอายุสิทธิบัตรทองได้เป็นอย่างดี จึงอยากให้ขยายการให้บริการออกไปถึงผู้สูงอายุทุกสิทธิ โดยเฉพาะผู้ป่วยข้าราชการบำนาญด้วย” ประสาทพร กล่าว   

สังวาลย์ เอิ้นเคน อายุ 55 ปี ผู้ดูแลสามีอายุ 62 ปี อดีตคนขับรถสิบล้อที่ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ จนกลายเป็นอัมพาตมานานถึง 15 ปี เล่าว่า ดีใจที่มีผู้ดูแลเข้ามาช่วยดูแล ทำกายภาพบำบัด ให้กับผู้เป็นสามีที่บ้าน เพราะตลอดเวลากว่า 15 ปี ที่ดูแลกันมาตนก็พยายามดูแลสามีอย่างเต็มที่ เมื่อมีผู้ดูแลเข้ามาช่วย 3 วันต่อสัปดาห์ ทำให้ตนมีกำลังใจมากขึ้น และตัวสามีเองก็มีอาการดีขึ้นแผลกดทับจากการนอนอัมพาตมานานหลายปีก็หายแล้ว ทางเทศบาลยังนำเอาที่นอนลมมาให้ใช้เพื่อลดการเกิดแผลกดทับด้วย

เฉื่อย จันทะกะยอม อายุ 75 ปี เล่าว่า ต้องขอบคุณผู้ดูแลทุกคนที่ช่วยดูแลยายจนสามารถเดินได้ แม้จะเป็นเพียงการเดินด้วยเครื่องช่วยพยุง แต่แค่นี้ตนก็ดีใจมากแล้ว ทั้งนี้ เฉื่อย เป็นผู้ป่วยที่เดินไม่ได้ และมีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง แต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษา และไม่ยอมออกมาพบผู้คนได้แต่เก็บตัวเงียบในบ้าน แม้จะมีอาการข้างเคียงจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตา จนทำให้มองไม่เห็น ก็ไม่ยอมไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่เมื่อผู้ดูแลเข้ามาพูดคุย มาช่วยทำกายภาพบำบัด นานถึง 9 เดือน  เฉื่อย จึงยินยอมเข้ารับการรักษาและเริ่มหัดเดินด้วยเครื่องช่วยพยุง จนสามารถเดินได้แล้ว