Skip to main content

"...องค์ความรู้เรื่องความพิการนั้นต้องเปิดใจคุยในระดับนักวิชาการด้วย ไม่ใช่มาฟังแต่ปัญหาคนพิการ ฟังเสร็จเราต้องเอาปัญหาคนพิการมาวิเคราะห์เลยว่า บทบาทของใครต้องทำเรื่องนี้ให้ได้"


ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

กองทุนต่างๆ รวมไปถึงความชัดเจนของระบบและโครงสร้างต่างๆ ที่ภาครัฐจัดเอาไว้แก่คนพิการอาจเป็นหัวใจสำคัญต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชน ทว่านี่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ด้วยเทคนิคต่างๆ ที่รัฐสามารถทำได้ ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่นแก้ไขกฎ ระเบียบ กฎหมายต่างๆ หรือการหยิบยกปัญหาขึ้นเจรจาเพื่อให้จุดเชื่อมที่ลงตัวที่

แต่ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนของบ้านเรา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนพิการเท่านั้น คือการที่ทรัพยากรหรือระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ยังกระจุกตัวอยู่ที่เมืองใหญ่เป็นหลัก ทำให้ความเจริญของในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นต่อให้ออกแบบระบบดีแค่ไหนอาจจะไม่สามารถจะนำมาใช้ได้จริงก็เป็นได้ ดังเช่นหลายๆ ประเด็นที่ Blue Rolling Dot เคยนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา อาชีพ หรือระบบสาธารณูปโภค

ธีรยุทธ สุคนธวิท เลขานุการสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย อธิบายว่าปัญหานี้เกิดขึ้นมากในต่างจังหวัดและชนบท เพราะคนพิการส่วนมากอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลมากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งคนพิการทางการเคลื่อนไหวโอกาสที่จะเข้าถึงก็มีน้อยลงไปอีก ส่วนคนพิการที่ไม่ชัดเจนเช่นพิการทางจิตหรือทางหูก็มักจะตกสำรวจ

“บริการสาธารณสุขที่มีอยู่ก็ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ตามข้อเท็จจริงแล้วก็ยังไม่ถือเป็นโรงพยาบาล ยังไม่มีแพทย์ประจำ ไม่มีเตียงคนไข้นอนพักได้ เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลที่พูดผมก็เน้นไปที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งบางโรงพยาบาลก็ยังไม่ได้มีแพทย์เฉพาะทาง อย่างเรื่องเวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัด อาชีวบำบัด จิตบำบัด สุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่เมืองอีก ดังนั้นถ้าคนพิการจะเข้าถึงก็ต้องเดินทางมาที่เมือง ซึ่งตรงนี้ค่ารักษาพยาบาลฟรี แต่ค่ารถค่าเดินทางไม่ฟรี แล้วกรณีที่ไม่สามารถเดินทางมาด้วยตัวเองได้ ก็ต้องพึ่งพาบุคคลอื่น จึงเป็นปัญหามาก หลายคนแก้ปัญหาด้วยการซื้อยามากินกันเอง รักษากันตามที่เขาทำได้”

ปัญหาเรื่องบุคลากรทางแพทย์ โดยเฉพาะสายฟื้นฟูและจิตเวชนี้คงต้องย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ประธานมูลนิธิออทิสติกไทยอธิบายในเบื้องต้นว่า มีไม่เพียงพอและไม่ตอบสนองกับระบบสุขภาพที่เปลี่ยนไป เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาลด้านจิตเวชอยู่แค่ 4 โรงเท่านั้น ขณะที่มีคนพิการด้านนี้ร่วมหมื่นร่วมแสนคน

พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติสะท้อนว่าด้วยความที่กระแสเรื่องการฟื้นฟูนั้นเพิ่งเกิดมาได้ไม่เท่าไหร่ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงแทบไม่เคยพูดถึงเรื่องคนพิการเลยด้วยซ้ำ แพทย์ที่จบออกมาบางคนเพิ่งมาเข้าใจเรื่องคนพิการช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จริง ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะนิสิตนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงตัวอาจารย์เองที่แทบไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้เลย

“เรื่องของคนพิการจริงๆ ต้องเริ่มมาจากระดับมหาวิทยาลัย เพราะพวกราชวิทยาลัย อย่างตานี้ แทบไม่รู้เรื่องคนพิการเลย เวลาพูดเรื่องคนตาบอดก็บอกไม่ใช่หน้าที่ฉัน พูดเรื่อง O&M ก็บอกว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ฉัน แล้วถามว่าประเทศอื่นเขาทำกันแบบนี้เหรอ อเมริกาคุณไปดูงานเรื่องพวกนี้เขาต้องรู้หมด สุดท้ายถามว่าทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ใคร คือองค์ความรู้เรื่องความพิการนั้นต้องเปิดใจคุยในระดับนักวิชาการด้วย ไม่ใช่มาฟังแต่ปัญหาคนพิการ ฟังเสร็จเราต้องเอาปัญหาคนพิการมาวิเคราะห์เลยว่า บทบาทของใครต้องทำเรื่องนี้ให้ได้ อย่างมหาวิทยาลัยเองมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าใจ หรือมีทัศนคติต่อคนพิการแล้วหรือไม่ บางทีผลิตออกมาแล้วไม่รู้เรื่อง ไปทะเลาะกับคนพิการ สร้างปัญหาให้เขา พยาบาลอยากทำ แต่หมอไม่ให้ทำ”

เพราะฉะนั้น แนวทางหลักในการแก้ไขปัญหา คือการใส่เนื้อหาโดยเฉพาะเรื่องคนพิการเข้าไปในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งตอนนี้ทางศูนย์ฯ เองก็มีแผนการจะผลักดันเข้าไปบ้างแล้ว ซึ่งหลายแห่งก็เริ่มตอบรับเช่นในราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

“เรื่องพวกนี้ต้องทำ Roadmap ออกมาให้ชัด โดยเฉพาะบุคลากรที่ยังไม่เพียงพอ บางอันก็ยังแหว่งๆ ไม่เคยมีในประเทศไทย เช่นเรื่อง O&M เราควรจะมีผู้เชี่ยวชาญดีๆ ที่จบด้านนี้มาโดยตรง หมอเคยคุยกับทางวิทยาลัยราชสุดาว่าทำไมไม่ตั้งสถาบันสักแห่งที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรง เพราะ O&M ก็เป็นเรื่องใหญ่ ต้องเชื่อมกับทั่วโลก แล้วที่อื่นเขาไปถึงไหนแล้ว บ้านเรายังใช้ O&M แบบคนพิการสอนกันเองซึ่งหลายๆ ที่ก็ไม่ยอมรับ หรือคนพิการทางการได้ยิน ผู้เชี่ยวชาญบ้านเราผ่าเฉพาะคนรวย ถามว่าลูกคนจนที่ต้องผ่าก็ยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ สปสช. ผ่าเสร็จก็ยังมีปัญหาเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นฟู โมเดลนี้ก็ยังไม่มี ศูนย์ก็เตรียมการด้วยการไปคุยกับราชวิทยาลัยฯ เตรียมคนส่งไปเรียน นี่เป็นการวางแผนระดับชาติทั้งนั้นเลย อีกเรื่องคือพิการทางสื่อความหมายก็ต้องทำให้หนักกว่า ซึ่งถ้าจะแก้ไขทั้งระบบ เราต้องวางแผนและแบ่งงานกันให้ชัดเจน”

นอกจากคนในระบบแล้ว สังคมรอบข้างคนพิการก็ถือเป็นอีกส่วนที่ปัจจัยสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องทัศนคติเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนพิการยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะบทบาททางสังคมที่ถูกมองว่าไม่มีปากมีเสียงและเป็นเพียงผู้รับบริการเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกที่จะเป็นเช่นนี้

“สถานการณ์เรื่องชุมชนกำลังดีขึ้น เพราะทุกคนเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้ ทิศทางกำลังดีขึ้น แล้วท้องถิ่นก็เริ่มมีงบประมาณของตัวเอง เริ่มใส่ใจคุณภาพชีวิตคนมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ากระแสของคนพิการอาจจะสู้คนสูงอายุไม่ได้ เพราะผู้สูงอายุมีผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะเป็นผู้นำความคิดของคนในชุมชน เป็นพ่อเป็นแม่เป็นผู้ดูแลคะแนนเสียงในบ้าน ถ้าจับคะแนนเสียงได้ก็ชนะไปครึ่ง ขณะที่คนพิการไม่ค่อยออกไปเลือกตั้งก็เลยได้รับความใส่ใจระดับรองลงไป เพราะเขายังมองว่าเป็นผู้รับการสงเคราะห์อยู่” ธีรยุทธในฐานะที่ทำงานด้านชุมชนมาตลอดกล่าว

คนพิการที่สถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพพระประแดง
ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาหลักๆ จึงจำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่คนพิการเองที่จะต้องมีศักยภาพในการดูแลตัวเองให้มากกว่า โดยเฉพาะการไม่ปล่อยให้โรคไม่ติดต่ออย่างเบาหวานและความดันโลหิตสูงเข้ามาแทรกซ้อนความพิการได้ รวมไปถึงรับรู้เรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง เพื่อจะได้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“คนพิการบางคนไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิก็เลยไม่ไปใช้สิทธิ ไม่รู้ว่าหน่วยบริการใกล้บ้านสามารถใช้ได้ เพราะคนพิการมีสิทธิรักษาฟรีด้วยบัตรทอง ท.74 ในทุกโรงพยาบาล ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลที่อยู่ในบัตรก็ได้ ถ้ามีความจำเป็น หรือในกรณีที่ย้ายถิ่นฐาน ทะเบียนบ้านอยู่ที่หนึ่ง ตัวอยู่อีกที่หนึ่งก็สามารถใช้สิทธิโรงพยาบาลแถวนั้นได้ แต่หลายคนไม่รู้สิทธิ ทั้งๆ ที่บางคนก็อยู่กรุงเทพฯ โอกาสที่จะรักษาพยาบาลก็ยิ่งง่าย แต่เมื่อไม่รู้เขาก็จะคิดว่าต้องใช้สิทธิที่ต่างจังหวัดเหมือนเดิม ซึ่งพอเสียสิทธิ เมื่อถึงเวลารักษาพยาบาลก็จะเจอคำถามว่ามีเงินจ่ายไหม ใช้บัตรอะไร ต้องเก็บเงินก่อน คนพิการก็เลยไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะต้องเสียค่ารถค่าเดินทาง และยังต้องเสียค่ารักษาอีกทั้งที่ไม่ควรจะเสีย เพราะฉะนั้นข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งคนที่ให้ก็ควรจะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขา จะเป็น อสม. อบต. เทศบาล ซึ่งมีภารกิจดูแลเขาอยู่แล้ว เวลาลงพื้นที่เยี่ยมบ้านก็ต้องให้ข้อมูลพวกนี้ พอเขารู้แล้วก็บอกว่าต้องไปใช้สิทธิตรงนี้ง่ายสุด เพราะเดี๋ยวนี้ระบบส่งต่อเราพัฒนาไปเยอะ คือสามารถส่งต่อคนพิการที่มีความจำเป็นเข้าสู่ระบบได้ แต่สิ่งสำคัญสุดคือคนพิการต้องเข้าไปรายงานตัวในจุดแรกให้ได้ก่อน”

ส่วนเรื่องความขาดแคลนและความไม่สะดวกในเรื่องการขนส่งนั้น การแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วนและควรทำทันที คือการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่บุคลากรสายสุขภาพ โดยก่อนอื่นจะต้องสร้างเสริมความรู้ในเรื่องการฟื้นฟูให้ซึมซับลงสู่สังคม ไม่จำกัดเฉพาะภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง

“สายแพทย์ค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องวิชาชีพ เช่นพยาบาลต้องจบจิตเวชถึงจะเป็นพยาบาลจิตเวช กายภาพบำบัดต้องจบกิจกรรมบำบัดปริญญาโท แต่ตอนหลังเริ่มมีแนวคิดเรื่องกึ่งวิชาชีพ ซึ่งคนพิการควรเอามาใช้ได้แล้ว เช่นผมจะสอนภาษาเด็กออทิสติก ผมไม่จำเป็นต้องจบเรื่องการพูด แต่ผมผ่านการฝึกอบรมการสอนพูดที่มหาวิทยาลัยรับรอง และมาฝึกในบริบทนั้น ผมเชื่อว่ามันจะเกิดผลตามมาเยอะแยะเลย” ชูศักดิ์อธิบาย

ขณะที่เรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ จะต้องมีการปรับ 2 ส่วนไปพร้อมๆ กัน ส่วนแรกคื่อโรงพยาบาล ธีรยุทธเสนอหลักการง่ายๆ ว่า โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐาน-โรงพยาบาลอำเภอเป็นหลัก เช่นถ้าคนพิการป่วยอาจจะมี อสม. หรือพยาบาลจาก รพ.สต. เข้าไปดูแลที่บ้าน และถ้าในกรณีไหนที่ต้องถึงมือแพทย์ก็จะมีรถจากคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นรถของ อบต. เทศบาล หรืออนามัยเข้าไปคอยรับส่งไปยังบริการที่สูงขึ้น และควรจะจบได้ในระดับโรงพยาบาลประจำอำเภอ

ส่วนที่สองคือชุมชนและครอบครัว ซึ่งชูศักดิ์เรียกระบบนี้ว่า ‘ระบบร่วมบริการ’ คือเน้นการดึงครอบครัว ชุมชน อาสาสมัครเข้ามาเป็นแกนในการฟื้นฟูบำบัด โดยมีแพทย์และโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ให้คำปรึกษา ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ยังต้องสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนและครอบครัวให้เกิดขึ้นก่อน โดยภาครัฐอาจจะต้องช่วยสนับสนุนทั้งการให้ความรู้หรือการเงินให้มากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ หน่วยงานต่างๆ ยังเกี่ยงกันอยู่ว่ากระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งตรงนี้ก็ควรจะเขียนให้ชัดไปเลย เพื่อจะได้ง่ายต่อการจัดการในภายภาคหน้า

“ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำเรื่องนี้สำเร็จจะแก้ไขปัญหาเรื่องคนพิการไปมาก อย่างแรกเลยคือกระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องไปสร้างโรงพยาบาลใหม่ สังเกตดีๆ ทุกวันนี้กระทรวงไม่ค่อยสร้างโรงพยาบาล เพราะหลักประกันไปบีบเขาว่าคุณไม่ต้องสร้างหรอก คุณไปหาโรงพยาบาลคู่ได้ เช่นพวกคลินิกชุมชน คลินิกเข้มแข็ง ถ้าโมเดลนี้เกิดเป็นดอกเห็ดและมีแยกเป็นกลุ่มคนพิการด้วย ก็จะยิ่งทำให้คนพิการเข้าถึงง่ายเยอะ และทำระดับว่าเขาจะให้บริการได้ขนาดไหน เรื่องไหนจะต้องส่งไปให้ใคร ถ้ามีระบบส่งต่อเชื่อมได้ มันจะแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ โดยที่เราใช้เงินเท่าเดิม”

ทั้งนี้ชูศักดิ์ย้ำว่าปัญหาเรื่องการเข้าถึงจริงๆ แล้วแก้ไขไม่ยาก หากเครือข่ายและภาคส่วนต่างๆ เข้มแข็งพอและมีการจัดระบบระเบียบที่ชัดเจน ภายใน 1 ปีก็มีความเป็นไปได้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในกระแสปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งง่ายต่อการเหวี่ยงประเด็นและการเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคม

 

อ่านตอนอื่นได้ที่นี่
| 1: จากรักษาสู่การฟื้นฟู
| 2: ความเหลื่อมล้ำของหลักประกัน
| 3: ความพิการที่มองไม่เห็น
| 4: กองทุนคนพิการ เพื่อใคร?
| 5: ความพิการเรื่องเล็ก ในโครงสร้างใหญ่
| 6: เมื่อประเทศไทยเจริญไม่เท่ากัน
| 7: การดำรงชีวิตโดยไม่พึ่งพิง
| 8: สาธารณสุขเชิงรุก
| 9: เวลาแห่งการบูรณาการ

 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่
'ระบบบริการสุขภาพคนพิการ' โจทย์ใหญ่ของสังคม สู่มาตรฐานความเป็นธรรม