Skip to main content

ถ้ามองภาพรวมของระบบบริการสุขภาพไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทัศนคติเรื่องความพิการ เพราะต้องยอมรับว่าแต่ก่อนสังคมมองความพิการเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องรักษา หากแต่ทุกวันนี้สังคมเริ่มเข้าใจและเริ่มปรับตัวเพื่อทำให้คนพิการสามารถเข้ารับบริการสุขภาพอย่างมาตรฐาน


ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

มิติทางด้านการฟื้นฟูร่างกาย อาจสัมผัสได้จากการที่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศมีกลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู แม้ตอนแรกจะก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมการรักษาโรคซึ่งเป็นมิติหลักของสาธารณสุขไทย แต่ภายหลังก็เริ่มมีการขยายงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายฝ่ายเริ่มประจักษ์แล้วว่าการรักษาและการป้องกันเป็นเพียงต้นทางของระบบเท่านั้น หากแต่การฟื้นฟูจะเป็นตัวผลักดันให้ผู้ป่วยหรือคนพิการสามารถกลับเข้าสู่ระบบต่างๆ ในสังคม แม้จะไม่ได้สมบูรณ์เหมือนก่อนที่จะเข้ากระบวนการด้านสุขภาพก็ตาม

เช่นเดียวกับกับกระบวนการทางด้านกฎหมายของสังคมไทยที่พยายามผลักดันสิทธิและสวัสดิการทางด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ในมาตรา 20 (1) ที่ระบุคนพิการมิสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ ในเรื่องการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อปรับสภาพทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์สังคม พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น

ทว่าถึงจะระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพจะขยายตัว ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเพราะยังมีคนจำนวนหนึ่งก็ยึดอยู่กับกรอบความคิดเดิมๆ อยู่ โดยเฉพาะการมองความพิการอย่างไม่มีความหวัง

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) อธิบายว่าสิ่งเหล่าถือเป็นปัญหาทั้งของผู้รับบริการและตัวผู้ให้บริการ เพราะบางส่วนก็ยังเข้าไม่ถึงข้อมูล ไม่ทราบว่าสิทธิของตัวเองเป็นอย่างไร ไม่ทราบว่าความพิการบางประเภทนอกจากการเรียกร้องค่ายังชีพแล้ว ยังสามารถขอเข้ารับการฟื้นฟูและกลับมาทำอะไรอีกได้ ซึ่งตรงนี้สัมผัสได้มากโดยเฉพาะคนพิการที่อยู่ในชนบทที่น้อยคนนักจะใส่ใจในเรื่องของฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างจริง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่รู้ และบางส่วนเป็นเพราะคนรอบข้างต้องการปิดบังซ่อนเร้น

ส่วนผู้ให้บริการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบายจนถึงบุคลากรทางด้านสาธารณสุข หลายๆ คนยังติดอยู่กระบวนการการรักษาให้หายเป็นหลักหรือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ป่วยกลับมาสู่สภาวะปกติ โดยถือว่าความพิการเป็นเรื่องผิดปกติ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพื้นที่หรือบุคลากรที่ทำงานด้านการฟื้นฟูยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับฝ่ายที่เน้นการรักษา แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันนั้นดีขึ้นมาก ตามกระแสของงานสุขภาพที่มีการปฏิรูปอยู่เสมอ

“ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เป็นต้นมาจะมีแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติประกบคู่ตลอด ซึ่งต้องยอมรับว่างานด้านนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นทุกแผนฯ เพราะเราเริ่มเห็นแล้วว่า เป้าหมายของการดูแลรักษาหรือให้บริการของระบบสุขภาพไม่สามารถมองแค่หายหรือไม่หาย ควบคุมโรคได้หรือไม่ได้ แต่เป็นการทำอย่างไรให้เขามีความสามารถพึงพาตัวเองได้ แม้คนๆ นั้นจะมีสภาวะร่างกายเป็นอย่างไรก็ตาม ถ้าเขามองไม่เห็นไม่ได้แปลว่าเขาจะไปไหนไม่ได้ คุณต้องคิดบริการอะไรขึ้นมา จึงเริ่มมีการพัฒนารูปแบบในสิ่งที่ไม่เคยมีขึ้นมา เช่นวอร์ดผู้ป่วย เมื่อก่อนอาจจะรับนอนแค่รักษาโรค พอผ่าตัดหรือให้ยาเสร็จก็ไม่รู้จะทำอะไร ทำกายภาพบำบัดก็แค่เหยียดข้อ พลิกตัว แต่ความจริงแล้วสามารถทำได้มากกว่านั้น ทำอย่างไรถึงจะฝึกให้เขามาใช้วีลแชร์ ทำอย่างไรให้เขาสามารถเคลื่อนตัวได้ด้วยตัวเอง บริการเหล่านี้จะถูกพัฒนาขึ้น คนตาบอดไม่ได้มารับแค่ไม้เท้าขาว แต่ต้องมีการฝึกให้เขาไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ ซึ่งถึงทุกวันนี้มีกระบวนการพัฒนาและแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ เพียงแต่ว่ายังไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง”

 

อ่านตอนอื่นได้ที่นี่
| 1: จากรักษาสู่การฟื้นฟู
| 2: ความเหลื่อมล้ำของหลักประกัน
| 3: ความพิการที่มองไม่เห็น
| 4: กองทุนคนพิการ เพื่อใคร?
| 5: ความพิการเรื่องเล็ก ในโครงสร้างใหญ่
| 6: เมื่อประเทศไทยเจริญไม่เท่ากัน
| 7: การดำรงชีวิตโดยไม่พึ่งพิง
| 8: สาธารณสุขเชิงรุก
| 9: เวลาแห่งการบูรณาการ

 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่
'ระบบบริการสุขภาพคนพิการ' โจทย์ใหญ่ของสังคม สู่มาตรฐานความเป็นธรรม