Skip to main content

 


ภาพประกอบโดยอิศเรศ เทวาหุดี

ก่อนจะเริ่มเขียนคอลัมน์ให้ thisable ผมนัดคุยกับบรรณาธิการเว็บไซต์ หนู (นลัทพร ไกรฤกษ์) รู้สึกประทับใจเนื้อหาการสนทนาตอนหนึ่ง จึงอยากจะขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

หนูเล่าว่า สมัยเรียน เธอเป็นนักเรียนคนพิการเพียงคนเดียวในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ปกติแล้วในบ้านเรา พ่อแม่ที่มีลูกพิการก็มักส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ หรืออีกทางเลือกหนึ่ง (สำหรับคนมีเงิน) ก็คือการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ทว่าครอบครัวของหนูเลือกที่จะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนทั่วไป เธอใช้ชีวิตในโรงเรียนร่วมกับเพื่อนผู้ไม่พิการ กระทั่งการมีอยู่ของคนพิการคนหนึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน

จากโรงเรียนที่ไม่เคยถูกออกแบบหรือมีนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อคนพิการมากนัก การมีอยู่ของเธอทำให้คณะผู้บริหารโรงเรียนคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์หลายอย่าง กระทั่งกลายเป็นจุดขายของโรงเรียนในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ ซึ่งต่อมาทำให้มีพ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนพิการกล้าที่จะส่งลูกมาเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้มากขึ้น

แม้หนูจะไม่เคยเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในโรงเรียนเพื่อเธอเป็นพิเศษ แต่การเลือกที่จะใช้ชีวิตในโรงเรียนร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ ของเธอก็ได้ขยายพรมแดนของ “ความเป็นปกติ” ให้กว้างออกไป ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ยังมองว่าการอยู่ร่วมกันของความพิการกับความไม่พิการยังเป็นเรื่องไม่ปกติ หรือกระทั่งความเป็นปกติไม่จำเป็นต้องคำนึงการมีอยู่ของคนพิการ

เรากำลังพูดถึงสังคม ที่แต่ละปัจเจกบุคคลมีส่วนร่วมในการกำหนดความหมายของคำว่า “ปกติ” หรือ “ศีล” แทนที่ผู้มีอำนาจเพียงหยิบมือในสถาบันทางสังคมหรือศาสนาจะมาชี้นิ้วกำหนดว่าคนนี้หรือคนนั้น “ไม่ปกติ” หรือ “ผิดศีลธรรม” อยู่ฝ่ายเดียว จนเกิดเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ไม่ถูกรวมอยู่ในความปกติสุขของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น คนพิการ คนรักร่วมเพศ คนป่วย คนคุก คนต่างชาติต่างศาสนา หรือกระทั่งคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

ถ้าจุดเริ่มต้นของการเคารพสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา ก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหนดีนะครับ หากจะหวังให้คุณค่าพวกนี้ถูกพัฒนาขึ้นตอนโตๆ กันแล้ว ก็คงเป็นอะไรที่หวังได้ยากยิ่ง ทว่าตลอดชีวิตในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ผมก็ไม่เคยมีเพื่อนอย่างหนู ผมไม่เคยเรียนหนังสือร่วมกับนักเรียนคนพิการเลย เมื่อไม่เคยมีเพื่อนเป็นคนพิการหรือใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับคนพิการ ก็ยากที่จะเข้าใจว่าสังคมที่คนพิการกับคนไม่พิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมของกันและกันมีหน้าตาเช่นไร

กว่าจะมีโอกาสนี้ก็ปาเข้าไปหลังจบปริญญาตรี ตอนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา จำได้เลยครับว่าวันแรกที่เห็นคนนั่งวีลแชร์ขึ้นรถเมล์ เห็นคนพิการขับรถไปจอดในที่จอดและเข้าไปใช้บริการห้องสมุดสาธารณะด้วยตัวเองได้ เห็นคนพิการที่ใช้ชีวิตในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยร่วมกับคนไม่พิการได้อย่างเป็นปกติ ตัวเองถามคำถามโง่ๆ ในใจว่า

“ทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วถึงมีคนพิการเยอะจัง?”

เดินออกจากบ้านครั้งใด จะเห็นคนพิการอยู่ทั่วไป ในศูนย์การค้า บนรถเมล์ ในห้องสมุด บนทางเท้า ฯลฯ คนไม่พิการอยู่ที่ไหนคนพิการก็สามารถอยู่ที่นั่น ไม่มีความรู้สึกแยกห่างจากกันไกลจนเหมือนอยู่กันคนละโลก

สักพักผมจึงเข้าใจว่า ไม่ใช่เพราะประเทศตะวันตกมีคนพิการเยอะหรอกนะ แต่จริงๆ แล้ว ทุกประเทศในโลกนี้มีคนพิการอยู่เยอะทั้งนั้นต่างหาก ความแตกต่างคือ ในความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาพัฒนาสังคมให้มีวุฒิภาวะมากพอที่จะรวมเอาความพิการเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นปกติทางสังคม ไม่ใช่แยกคนพิการให้อยู่แต่ในพื้นที่ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะอย่างในประเทศเรา

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ความปกติ” เป็นอะไรที่น่าตั้งคำถามอยู่นะครับ

สังคมปกติ คือ สังคมที่ปราศจากคนพิการ หรือสังคมที่เอื้ออำนวยให้คนพิการได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้?

อะไรที่เคยเป็นมาอาจไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นแบบนี้ต่อไปก็ได้ ในความเป็นปกติสุขดีแล้วยังมีพื้นที่ให้กับความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ และบ่อยครั้งที่ความเปลี่ยนแปลงก็มักเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เรามองพวกเขาว่า “ไม่ปกติ” นี่แหละ  ทำให้เราได้พบว่า ครั้งหนึ่งสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นปกติ แท้จริงแล้วกลับไม่ปกติอย่างที่คิด ตรงกันข้าม ความผิดปกติในตอนแรก เมื่อเราเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนมัน ก็ทำให้ได้ค้นพบความเป็นปกติที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น เป็นจริง เป็นตามธรรมชาติ และเป็นธรรมดาขึ้น

การไม่สยบยอมต่อศีลธรรมทางสังคมที่กีดกันคนพิการออกไป ทำให้ความผิดแผกแตกต่างนั้นกลายเป็นพลังที่สร้างสรรค์ ศีลธรรมที่เคยถูกกำหนดโดยคนกลุ่มเดียว (นั่นคือคนไม่พิการ) ได้กลายเป็นศีลธรรมแห่งการมีส่วนร่วม ความเป็นปกติไม่ใช่ความสงบเรียบร้อยที่เกิดจากการกีดกันความแตกต่างออกไป แต่คือการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้เอื้อต่อการมีอยู่ของชีวิตจริงอันหลากหลายอย่างที่เป็น

เราเติบโตขึ้นเพราะความต่าง ไม่ใช่ความเหมือน

เราเติบโตขึ้นเพราะการร่วมทุกข์ ไม่ใช่การหลีกหนีความทุกข์

เราเติบโตขึ้นเพราะการเห็นอกเห็นใจ เข้าใจผู้อื่น ไม่ใช่การเห็นแต่ตัวเอง

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาทางสังคมกับการพัฒนาทางจิตใจ ก็น่าจะสอดคล้องกันไปในทิศทางนี้