Skip to main content

ประชาชนในสหรัฐฯ วางแผนประท้วงใหญ่ภายในวันที่ 21 ม.ค. ที่จะถึงนี้หลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์  โดยมีการประเมินว่านี่อาจจะเป็นการชุมนุมของประชาชนจากหลายภาคส่วนของสังคม ที่มีประเด็นทางสังคมหลายประเด็น ในชื่อ "วีแมนส์มาร์ช" (Women's March) หรือ "การเดินขบวนของผู้หญิง" ซึ่งมีโอกาสกลายเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

15 ม.ค. 2560 เดอะการ์เดียนระบุว่าแผนการชุมนุมในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการเรียกร้องชุมนุมอย่างทันด่วนของกลุ่มนักสตรีนิยมทางโซเชียลมีเดีย แต่กำลังเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จากที่มีผู้เข้าร่วมในหลายประเด็นจนอาจจะกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ หลังจากวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยผู้คนแสดงการประท้วงต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวมหมวกทอสีชมพู

เคย์ลิน วิตติงแฮม ประธานสมาคมทนายความผู้หญิงคนดำกล่าวว่าการร่วมเดินขบวนของผู้คนในหลากหลายประเด็นเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาต้องยืนหยัดต่อสู้ร่วมกันจนเป็นพลังที่ไม่อาจละเลยได้

ในตอนนี้มีกลุ่มสายก้าวหน้าเกือบ 200 กลุ่มทั้งเล็กและใหญ่ให้การสนับสนุนวีแมนส์มาร์ช โดยในกลุ่มเหล่านี้มาจากหลากหลายประเด็นทั้งประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย สิทธิผู้ต้องขัง สิทธิการเลือกตั้ง เสรีภาพสื่อ ประกันสุขภาพในราคาที่คนเข้าถึงได้ ความปลอดภัยจากอาวุธปืน ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและเพศสภาพรวมถึงประเด็นเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้จะใช้ชื่อ "การเดินขบวนของผู้หญิง" แต่ผู้ชายก็สามารถเข้าร่วมได้

ลินดา ซาร์ซูร์ แกนนำการชุมนุมในครั้งนี้กล่าวว่าจะมีการประท้วงพร้อมกันมากกว่า 300 จุดทั่ว 50 รัฐ รวมถึงจะมีการเดินขบวนสนับสนุนในประเทศอื่นๆ 30 ประเทศด้วย ซาร์ซูร์กล่าวว่าพวกเขาไม่มีทางเลือก พวกเขาจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลที่เป็นภัยต่อประเด็นต่างๆ ของพวกเขา และหวังว่าการจัดชุมนุมในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในขบวนการรากหญ้าสายก้าวหน้าที่ใหญ่ที่สุด โดยที่ซาร์ซูร์เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมืองในนิวยอร์กและเป็นชาวอาหรับ-อเมริกัน ที่มีรากมาจากปาเลสไตน์

หนึ่งในผู้ชุมนุมเป็นหญิงที่ทำงานดูแลบ้านที่ชื่อ จูน แบร์เร็ตต์ เธอไม่พอใจเมื่อได้ยินทรัมป์พูดถึงการจับอวัยวะเพศผู้หญิงจากการที่เธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการถูกจับอวัยวะเพศมาก่อน แบร์เร็ตต์เล่าว่าหลังจากที่เธอได้ยินทรัมป์พูดเรื่องนี้เธอก็เริ่มรู้สึกซึมเศร้าเล็กน้อย เธอพยายามอยู่ห่างๆ จากโบสถ์แบ๊บติสต์ที่พยายามชักจูงให้ลงคะแนนให้กับทรัมป์และไมค์ เพนซ์ ผู้สมัครพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะเทือนศรัทธาทั้งหมดของเธอทำให้เธอตัดสินใจว่าจะร่วมเดินขบวนในครั้งนี้

แบร์เร็ตต์ยังเป็นผู้ที่ย้ายถิ่นฐานจากจาไมกามายังรัฐฟลอริดาในปี 2544 เธอเป็นคนดำ เป็นผู้อพยพ และนิยามตนเองว่าเป็นผู้ไม่ปิดกั้นทางเพศหรือ "เควียร์" ทำให้เธอเชื่อว่ารัฐบาลภายใต้ทรัมป์และเพนซ์จะส่งผลกระทบต่อเธอโดยเฉพาะทางลบ และเธอรู้สึกแย่ที่ผู้หญิงหลายคนซึ่งส่วนมากเป็นหญิงผิวขาวลงคะแนนให้พรรครีพับลิกัน

"วีแมนส์มาร์ช" เริ่มต้นมาจากความคิดของ เทเรซา ชูค ทนายความเกษียณในฮาวายผู้ที่ไม่พอใจความคิดเห็นของทรัมป์ที่มีต่อผู้หญิงเช่นกัน เธอวางแผนมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 และวางเวลาการประท้วงเอาไว้ราวช่วงสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ แต่ต่อมาข้อความของเธอก็ถูกนำไปบอกต่อผ่านกลุ่มในเฟซบุ๊กและเริ่มแพร่กระจายทั่วข้ามคืน แต่ในแผนการประท้วงช่วงแรกยังคงถูกวิจารณ์ว่าดูเป็นงานชุมนุมของคนขาวอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งที่ชื่อของมันคล้ายกับ "มิลเลียนแมนมาร์ช" และ "มิลเลียนวูแมนมาร์ช" ที่เคยเป็นการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิวของกลุ่มคนผิวดำเมื่อราว 20 ปีก่อน

นอกจากนี้แล้วยังมีนักรณรงค์เรียกร้องการควบคุมอาวุธปืนและนักสิทธิแรงงานชาวลาติน มีกลุ่มรากหญ้าอื่นๆ แสดงตัวอยากเข้าร่วมแผนการประท้วงในครั้งนี้ด้วย รวมถึงกลุ่มหมวกทอ "พุสซีแฮตส์" ซึ่งเป็นกลุ่มที่คนร้จักกันมาก

ซาร์ซูร์กล่าวว่า "คนบางคนคิดว่าพวกเราเป็นแค่ไม้ประดับ แต่ฉันไม่ใช่แค่ชาวมุสลิมหน้าสวยคนหนึ่ง พวกเราจะนำการประท้วงนี้ไปด้วยกัน"

แลร์รี ซาบาโต ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการเมืองของมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนียกล่าวว่าการประท้วงในครั้งนี้อาจจะเทียบได้กับการประท้วงสงครามเวียดนามหรือการประท้วงเรียกร้องสิทธิพลเมืองในประวัติศาสตร์ ทางด้าน ธานุ ยาคุพิทิยาจ โฆษกของสหพันธ์ผู้อพยพนิวยอร์กหนึ่งในกลุ่มที่จะร่วมชุมนุมกล่าวว่าการเดินขบวนในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพื่อสิทธิของผู้อพยพอย่างเดียวแต่เป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางเพศ เรียกร้องการปฏิรูปตำรวจ และการคุ้มครองด้านสวัสดิการสาธารณสุขด้วย

หนึ่งในผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นคนพิการที่นั่งรถเข็นชื่อ โคลลีน ฟลานาแกน เธอบอกว่าถึงแม้เธอจะ "เดินขบวน" ไม่ได้ก็ขอ "เลื่อนรถเข็น" เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองจากการที่เธอไม่พอใจที่ทรัมป์เย้ยหยันนักข่าวผู้พิการออกสื่อ โดยบอกว่า "การข่มเหงรังแกเช่นนี้อาจจะเปลี่ยนเป็นการเหมารวมกีดกันเป็นวงกว้างในสังคมได้"

ถึงแม้ว่าการร่วมกันชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมจากหลายภาคส่วนในสังคมครั้งนี้จะมีแนวร่วมจากหลายที่หลายประเด็นมากแต่คนหัวก้าวหน้าส่วนหนึ่งก็ยังบอกไม่อยากเข้าร่วม เช่น กลุ่มผู้หญิงคนขาวบางคนอ้างว่าพวกเขารู้สึกถูกกีดกันจากการพูดเรื่องความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติสีผิว ส่วนผู้หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อยก็อ้างว่าฝ่ายหญิงคนขาวยังไม่ค่อยยอมทำความเข้าใจว่าพวกเธอมีอภิสิทธิ์อะไรเหนือคนอื่นบ้าง

ถึงกระนั้น จอน โอ เบรียน จากกลุ่มคาทอลิกฟอร์ชอยส์ กลุ่มศาสนาที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีทางเลือกทางเพศวิถีหรือการทำแท้งผู้ที่ต้องการร่วมขบวนด้วยบอกว่าการเดินขบวนในครั้งนี้เป็นการแสดง "ความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันอย่างแท้จริง" จากที่มีคนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็น "คนขาว คนดำ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนรักเพศตรงข้าม ผู้นิยมพรรคเดโมแครต ผู้นิยมพรรครีพับลิกันสายกลาง คนรวย คนจน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ อเมริกา"

 

เรียบเรียงจาก

Women's March on Washington set to be one of America's biggest protests, The Guardian, 14-01-2017
https://www.theguardian.com/us-news/2017/jan/14/womens-march-on-washington-protest-size-donald-trump