Skip to main content

หลังเลยกำหนดครบรอบ 1 ปีศาลปกครองสูงสุดสั่งให้บีทีเอสก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ พบคืบหน้าช้า-มีแววต้องต่อเวลา สนข.จี้สร้างให้ครบ-ตรงตามสเปค-ใช้ได้จริง โดยเร็วที่สุด


17 มี.ค. 2559 ณ สำนักการจราจร และขนส่ง (สนข.) กรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A), คนพิการ, บีทีเอส, บริษัท เสรีการโยธา จำกัด และผู้เดือดร้อนจากโครงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอส เข้าร่วมประชุมรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอสร่วมกับตัวแทนจากสำนักการจราจร และขนส่ง หลังการก่อสร้างล่าช้าเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปีตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการบนบีทีเอส นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2558 

สุเชฏฐ์ สุจินดามณีชัย วิศวกรบริษัท เสรีการโยธา จำกัด ผู้รับจ้างติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก กล่าวรายงานความคืบหน้าว่า ขณะนี้สามารถก่อสร้างได้จริงร้อยละ 57 และล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ร้อยละ 43 โดยสถานีที่มีความคืบหน้ามากที่สุด ได้แก่ สถานีพร้อมพงษ์ โดยคืบหน้าร้อยละ 60 ส่วนสถานีที่ไร้ความคืบหน้าที่สุด ได้แก่ สถานีสะพานตากสิน คิดเป็นร้อยละ 21 โดยสถานีพร้อมพงษ์ ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างเหล็ก และโครงสร้างทางเดินเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงงานอีกสามส่วนได้แก่ งานผนัง-หลังคา, งานติดตั้งตัวลิฟต์ และงานระบบไฟฟ้า ในขณะที่สถานีสะพานตากสินยังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับกรมทางหลวงชนบทเพื่อเสนอแผนงานก่อสร้างลิฟต์

ทั้งนี้ ปัญหาอุปสรรคหลักๆ ที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ได้แก่ ปัญหางานสาธารณูปโภคใต้ดิน และบนดินในแต่ละสถานี, การร้องเรียนจากเจ้าของพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณก่อสร้าง และการกีดขวางจากร้านค้าแผงลอยในบริเวณก่อสร้าง

โดยปัญหางานสาธารณูปโภคใต้ดิน และบนดิน พบหลักๆ ใน 7 สถานีได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, นานา, ชิดลม, พระโขนง, ศาลาแดง, สะพานควาย และสะพานตากสิน ส่วนมากเป็นปัญหาการกีดขวางของสายสื่อสาร สายไฟฟ้า และท่อระบายน้ำ  จึงทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการติดต่อประสานงานเพื่อเคลื่อนย้ายในแต่ละกรณี

สุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมว่า บีทีเอส และเสรีการโยธา จะต้องดำเนินการก่อสร้าง โดยเร็วที่สุดตามแผนงานที่วางไว้ อีกทั้งการก่อสร้างต้องเป็นไปตามข้อตกลง เรื่องขนาด ความสูง และต้องจัดสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสม อีกทั้งต้องคำนึงว่า การก่อสร้างจะทำให้ทั้งคนพิการและคนไม่พิการที่มีความจำเป็นต้องใช้ สามารถใช้งานบีทีเอสได้อย่างสะดวกขึ้น ถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ หรือสร้างทางลาดเพิ่มเติม ก็ให้ทั้งสองหน่วยงานดำเนินการตามความเหมาะสมได้ทันที

ทั้งนี้ มีข้อคิดเห็นจากเจ้าของพื้นที่ใกล้เคียง ในพื้นที่ก่อสร้างสถานีสะพานควายว่า ตนเองมีความเป็นห่วงเพราะการก่อสร้างนั้นทับแนวท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นเขตคลองเก่า จึงอาจจะทำให้การก่อสร้างไม่แข็งแรง อีกทั้งการก่อสร้างลิฟต์อยู่บริเวณหน้าตึกแถว ซึ่งใช้ประกอบกิจการ การก่อสร้างลิฟต์จึงอาจทำให้บดบัง และเกิดพื้นที่อันตรายบริเวณใต้สถานี ดังเหตุการณ์ที่เคยเจอ เช่น การทิ้งขยะลงมาจากบริเวณสกายวอร์ก

วิศวกรบริษัทเสรีการโยธา กล่าวว่า จะดำเนินการก่อสร้างลิฟต์ให้แล้วเสร็จ จำนวน 12 ตัวอย่างแน่นอน ภายในเดือนเมษายน 2559  ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางบริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลว่าเป็นสถานีใด แต่เมื่อดูในเอกสารเปรียบเทียบร้อยละของผลการดำเนินงาน คาดว่าน่าจะเป็น สถานีที่มีเปอร์เซ็นต์ความก้าวหน้าสูงสุด เช่น พร้อมพงษ์, อารีย์, อ่อนนุช, สนามเป้า, ราชดำริ และราชเทวี