Skip to main content

 

นิทรรศการภาพวาดโดยน้องๆ ผู้พิการทางสายตา โดยใช้อุปกรณ์ ‘เล่นเส้น’ เกิดเป็นเส้นนูน สัมผัสได้ ทำให้น้องๆ ได้แสดงจินตนาการ และทำให้คนตาดีอย่างเราๆ ได้เข้าใจมุมมองในโลกของพวกเขามากขึ้น

ท่ามกลางบอร์ดนิทรรศการสีดำสนิท บริเวณโถงชั้น 1 ของหอศิลป์กรุงเทพฯ ภาพวาดลายเส้นกว่า 30 ชิ้น ถูกเรียงรายอยู่รอบๆ ภาพวาดบางชิ้น มีสีสันสดใส ขณะที่ภาพวาดบางชิ้นใช้สีขาวดำ คนหลายๆ คน กำลังยืนสัมผัสรูปวาดเหล่านั้นอย่างตั้งอกตั้งใจ โดยมีเด็กๆ ใส่ชุดนักเรียนกลุ่มหนึ่งเดินเกาะกันเป็นขบวนรถไฟอยู่ไม่ไกล เพื่อไล่ ‘สัมผัส’ ภาพนิทรรศการเหล่านั้น ทีละรูปๆ อย่างสนุกสนาน



ตัวแทนน้องๆ เจ้าของผลงาน และศิลปินรับเชิญ


บอร์ดนิทรรศการที่ให้ผู้เข้าชม ร่วมวาดผลงานของตัวเองร่วมกัน

 

‘กรุณาสัมผัส’ (Please Touch) นิทรรศการที่เชื้อเชิญทุกคน ให้เข้าไป ‘สัมผัส’ นี้ จัดขึ้นโดยบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารยูโอบี โดยมีอุปกรณ์ไฮไลท์อย่าง ‘เล่นเส้น’ ที่จัดทำขึ้นพิเศษเพื่อให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตา สามารถถ่ายทอดความคิด และจิตนาการของตนเองออกมา ผ่านการวาดภาพ โดยอุปกรณ์ชนิดนี้ มีลักษณะเด่นก็คือ การใช้เส้นไหมพรม และแผ่นหนามเตย แทนการใช้สี ซึ่งทำให้มีลักษณะนูน สัมผัสได้ จึงทำให้คนตาบอดสามารถสัมผัสกับลายเส้นได้ในทันทีที่วาด




ผลงานชื่อ บ้าน โดยน้องนิ่ม ภาพของเธออาจมองดูแล้วธรรมดา แต่เธอสร้างเรื่องราวภายในบ้าน โดยมีเรื่องราวจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จนเกิดเป็นเส้น ตามคำบรรยายภาพที่ว่า ‘บ้าน มีคนอยู่เยอะ น้องนิ่มอยู่ชั้นสามของตัวบ้าน เลี้ยงหมาบางแก้ว เลี้ยงแมวชื่อนัท บ้านใกล้ทะเล ภายในบ้านมีโทรศัพท์ มีห้องน้ำ มีคอมพิวเตอร์ มีปากกา มีดินสอ ทีวีเอาไว้ดูหนัง ตู้เสื้อผ้า เตียงนิ่มๆ มีตุ๊กตาบนเตียง 3 ตัว ประกอบไปด้วยตุ๊กตาอัดเสียง มีห้องครัว ห้องนอน แอร์ พัดลม ลำโพง แฟลชไดรฟ์ ฟังเพลง มีโต๊ะกินข้าว โต๊ะขายของ นอกบ้านมีโต๊ะนั่งเล่น’

ผลงานหลายสิบชิ้นที่จัดแสดง ล้วนเป็นผลงานจากฝีมือน้องๆ ที่พิการทางสายตาจาก 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ โรงเรียนธรรมิกวิทยา โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา และโรงเรียนสอนคนตาบอด และคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน ลพบุรี รวมทั้งผลงานจากศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก, คิ้วต่ำ, มุนินฺ, แชมป์ ทีปกร, ตั้ม วิศุทธิ์ ฯลฯ โดยจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15-29 มีนาคม 2559

การจัดงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นจาก การมองเห็นอุปสรรคของการแสดงออกทางภาพวาดของกลุ่มคนตาบอด จึงทำให้ ฉัตรชัย อภิบาลพูลผล ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหาร บ.กล่องดินสอ ได้จัดทำอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งเขากล่าวว่า เมื่อได้เห็นผลงานของน้องๆ แล้วรู้สึกมหัศจรรย์มาก และทำให้เขาได้รับมุมมองใหม่ๆ อีกทั้งเรียนรู้ว่า คนอื่นที่มีความแตกต่างกันในสังคมของเรา จินตนาการสิ่งรอบๆ ตัวเป็นอย่างไร
 


ผลงานภาพวาด ‘หัวใจศิลปะ’ ของน้องพิมพ์


ภายในงาน มีโต๊ะทำกิจกรรม ที่มีน้องๆ หลายคนนั่งวาดภาพกันอย่างสนุกสนาน ‘น้องพิมพ์’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอเรียนอยู่ชั้น ป.5 ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เธอบรรจงวาดเส้นสีน้ำเงิน ขึ้นลง และสลับไปมา ต่อด้วยการนำสีเหลืองมาวาดทับเล็กน้อยอย่างตั้งใจ ไม่นานนัก ภาพวาดของเธอก็เสร็จ เธอยิ้มอย่างมีความสุข และยื่นภาพวาดชิ้นนั้นมาให้ พร้อมกับบอกชื่อผลงานว่า ‘หัวใจศิลปะ’

เท่าที่สังเกต น้องๆ แทบทุกคนขณะวาดภาพ มักมีเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวเอง อย่างเช่นน้องพิมพ์ ที่ทั้งยกผลงานขึ้นมาฟังเสียง และใช้นิ้วทั้งห้า ค่อยๆ สัมผัสไปทีละส่วน พร้อมกับเอ่ยปากถามอยู่เป็นระยะๆ ว่า สีที่เธอใช้อยู่นั้นคือสีอะไร บางครั้งเธอก็ลากเส้นนั้นอย่างมั่นใจ บางครั้งเธอก็หยุด เหมือนกำลังครุ่นคิดอะไรสักอย่าง ซึ่งถึงแม้ดวงตาของเธอ จะไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่เธอกำลังวาดอยู่ได้ แต่เชื่อว่าประสาทสัมผัสอื่นๆ ที่เธอมี ก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีไม่แพ้ดวงตาเลยทีเดียว

พรไพลิน ตันเจริญ นักศิลปะบำบัด ผู้อยู่เบื้องหลังการวาดภาพของน้องๆ กล่าวกับประชาไทว่า ในช่วงแรก น้องๆ มักจะกลัว ไม่คุ้นเคย และไม่กล้าแสดงออกในความคิดของตัวเองมากนัก แต่เมื่อเขาเกิดความคุ้นเคย ไว้ใจ และกล้าที่จะซักถาม น้องๆ แทบทุกคนก็สามารถที่จะแสดงจินตนาการของพวกเขาออกมา

เธอกล่าวว่า ต้องเริ่มจากการให้น้องๆ เรียนรู้เรื่องเส้นว่า แบบไหนคือเส้นตรง แบบไหนคือเส้นโค้ง หรือแบบไหนคือการวาดเส้นตรง และโค้ง น้องๆ ส่วนมาก ไม่รู้ว่า การลากแบบไหน ทำให้เกิดเส้นแบบใด นอกจากนี้ยังน่าสนใจมาก ที่พบว่า เรื่องราวภาพวาดของน้องๆ ตาบอด ไม่ได้มีความแตกต่างอะไร เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆ จะพบว่า ภาพยอดฮิตก็ยังคงเป็นภาพคน เช่น พ่อแม่ ภาพทะเล รวมทั้งภาพอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย และที่น่าสนใจคือพบว่า ถึงแม้จะสูญเสียการมองเห็นด้วยดวงตา แต่ในภาพวาดของน้องๆ หลายคนก็ยังมีดวงตา เพราะพวกเขารู้สึกว่า ‘มี’ ดวงตา แต่แค่มองไม่เห็นเท่านั้น

“เวลาที่เราวาดรูป เราคนที่มองเห็น ภาพนั้นจะเข้าไปอยู่ในหัวเรา แต่ภาพของน้องๆ นั้นอยู่ในใจ การที่จะเอาออกมาได้ เราต้องสนิทชิดเชื้อ จึงจะสามารถเอาออกมาได้” เธอกล่าว
 


น้องกิลและผลงาน ‘ชามโจ๊กใส่ขิงใส่พริก’ของเธอ
ซึ่งเธอกล่าวว่า วาดภาพนี้เพราะตัวเองชอบกินโจ๊กในตอนเช้า


สิรี ชิตพงศ์ ดีไซเนอร์ของบริษัทกล่องดินสอ กล่าวกับประชาไทว่า อุปกรณ์เล่นเส้น เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้น้องๆ ที่พิการทางสายตาได้วาดภาพ แรกๆ ตั้งใจว่าให้เป็นอุปกรณ์การศึกษา แต่พบว่า เด็กๆ ที่ไม่ได้ตาบอดก็มีความสนใจเช่นกัน น้องๆ ตาบอดที่ได้ใช้ ก็ชอบมาก เพราะไม่เคยได้วาดรูปด้วยเทคนิคอื่น นอกเหนือจากการใช้อักษรเบรลล์

เธอกล่าวต่อว่า หากในอนาคต โครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดี ก็อยากจะเปิดสอนศิลปะอย่างเต็มรูปแบบให้กับน้องๆ ผู้พิการ และหาอาสาสมัคร เช่น ครูช่วยสอน เพื่อมาสอนน้องๆ ต่อไป





มุนินฺ และผลงาน ‘หยาดฝนที่มองไม่เห็น’


มุนินทร์ สายประสาท หรือ มุนินฺ นักเขียน และนักวาดการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงในงาน เล่าให้ประชาไทฟังว่า เมื่อเธอเห็นกิจกรรมนี้ ก็รู้สึกสนใจในทันที ด้วยอุปกรณ์ที่แปลกใหม่ จนกระทั่งได้คอนเซปต์ในเรื่องของความกลัว และพบว่ามีน้องคนหนึ่งที่วาดในคอนเซปต์ความกลัวเช่นเดียวกัน น้องคนนั้นกลัวฝน เพราะฝนตกลงมาโดนแขน จึงวาดถ้ำเพื่อเปรียบเสมือนสิ่งกำบัง เธอจึงคิดว่า หากเธอเป็นคนที่มองไม่เห็น ก็อาจจะกลัวเช่นกันหากมีน้ำฝนมาโดนผิว หรือได้ยินเสียงฟ้าร้อง โดยที่ไม่รู้ว่ามาจากทิศทางไหน ไม่รู้ว่าจะไปหลบตรงไหน เธอจึงนำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาวาดเป็นภาพของเธอเอง

‘หยาดฝนที่มองไม่เห็น’ ภาพวาดของมุนินฺ ถ้ามองด้วยตาจะมองเห็นเพียงแค่เส้นหยาดฝนสีอ่อน ที่อยู่บนพื้นสีดำ แต่หากใช้มือสัมผัส ก็จะพบว่ามีเม็ดฝน (สีดำ) อีกมากมายที่ซ่อนอยู่ โดยเธอกล่าวว่า การทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ทั้งคนที่มองเห็น และมองไม่เห็นได้รู้สึกกับงานของเธอไม่ต่างกัน

จากการได้ทดลองใช้อุปกรณ์เล่นเส้น โดยการปิดตาไปด้วย มีความรู้สึกกังวลเล็กน้อยว่า จะวาดไม่ตรง จะวาดแล้วเลยกรอบ จึงทำให้ไม่มีความมั่นใจในการวาดเส้นแต่ละเส้น ขณะที่น้องๆ ซึ่งมองไม่เห็น หรือมองเห็นเพียงเล็กน้อย กลับวาดอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศิลปะ ไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์ด้วยการมองเห็น และไม่จำเป็นต้องดูด้วยตา คนแต่ละคน มีความถนัด และมุมมองต่อสิ่งเดียวกัน ในแง่มุมที่ต่างกัน แต่แน่นอนว่า ทุกคนสามารถถ่ายทอดจินตนาการ ผ่านทักษะที่ตัวเองมี ได้อย่างมีคุณค่าเท่าเทียมกัน