Skip to main content

คณะสถาปัตยกรรม สจล.เปิดศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน รวบรวมข้อมูลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกแบบ มุ่งส่งเสริมคนพิการ คนสูงอายุ ใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมได้อย่างเต็มที่

14-15 มกราคม 2559 คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) จัดงานสัมมนาเปิดศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (ไอเดีย ยูนิต) (Inclusive Design Environment and Research - IDEaR Unit) กล่าวเปิดงานและแนะนำโครงการโดย อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม สจล. ผู้ริเริ่มโครงการ โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ราย ได้แก่ ร็อบ อิมรี (Prof.Rob Imrie) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ ประเทศอังกฤษ, โรส กิลลอย (Prof. Rose Gillroy) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวแคสเซิล ประเทศอังกฤษ และ บริททานี เพียเรซ (Brittany Perez) จากศูนย์ออกแบบสังคมและสภาพแวดล้อมสำหรับทุกคน (Center for Inclusive Design and Environmental Access - IDeA) สหรัฐอเมริกา


อันธิกา สวัสดิ์ศรี

อันธิกา ให้สัมภาษณ์ว่า เธอมีความสนใจในเรื่องงานออกแบบเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะการออกแบบที่เกี่ยวกับคนพิการ คนสูงอายุ จึงมีความคิดที่จะตั้งเป็นศูนย์ เพื่อทำให้งานออกแบบเหล่านั้นมีการเก็บข้อมูล และสามารถสืบค้นได้ รวมทั้งทำให้ศูนย์นี้เป็นศูนย์กลางในการออกแบบสำหรับคนที่ต้องการ เช่น ครอบครัวที่มีผู้พิการ หรือสูงอายุ ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนบ้าน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของประชาชนอยู่แล้ว

เธอกล่าวว่า ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากหนังสือ รวมทั้งการเก็บรวบรวมจากคนที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว เช่น อ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ ที่ทำเรื่อง ‘หน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ’ ซึ่งครอบคลุมทั้งการออกแบบ กฎหมาย คู่มือต่างๆ เลยคิดว่าน่าจะดี ถ้ามีการเก็บข้อมูลเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับศึกษาต่อไป

“กลุ่มเป้าหมายขั้นแรกก็คือครอบครัว หรือตัวผู้ใช้ประโยชน์เอง นึกถึงตัวเราเมื่อก่อน ตอนต้องการหาแหล่งข้อมูล แต่ก็ไม่มี ต้องพยายามไปค้นตามที่ต่างๆ ยิ่งเมื่อก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต ยากมากที่จะค้นหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ UD (Universal Design)” เธอกล่าว

“ต่อมาคือหวังให้นักเรียน นักศึกษาที่เรียนทางด้านออกแบบได้ศึกษา เพราะปัจจุบันการออกแบบยังไม่ค่อยคำนึงถึงคนพิการ คนสูงอายุเท่าไหร่นัก” เธอกล่าวเพิ่มเติม

เธอเล่าถึงโลโก้ของศูนย์ว่า เกิดจากไอเดียการต่อจุด จุดแต่ละจุดก็เหมือนคนที่ทำงานด้านนี้ ไอเดีย ยูนิตทำงานโดยการเชื่อมเส้นประเหล่านั้นเข้าด้วยกัน แต่ให้ความรู้สึกไม่อยู่นิ่ง บิดเบี้ยว คดไปมา เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความหลากหลายและแตกต่างกัน

ถึงแม้ไอเดีย ยูนิต จะมีศูนย์อยู่ที่ คณะสถาปัตกรรม สจล. แต่เรื่องที่ศึกษาและรวบรวมนั้นมาจากหลากหลายที่ รวมถึงโครงการย่อยหลายโครงการที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งมีความน่าสนใจ เช่น โครงการประกวดคลิปสั้น ‘คนรุ่นใหม่ใส่ใจการออกแบบเพื่อทุกคน’ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สร้างสรรค์คลิปวิดีโอเพื่อนำเสนอการออกแบบโดยคำนึงถึงหลัก UD, โครงการพื้นที่ (ชีวิต) สาธารณะ ที่เสนอเข้าไปปรับพื้นที่ในชุมชนเล็กๆ แถวบางลำพู เพื่อให้พื้นที่ที่ถูกทอดทิ้งได้กลับมามีชีวิตชีวา และใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง, โครงการศึกษาสภาพแวดล้อมเพื่อเด็กออทิสติก โดยทุกโครงการตั้งอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายเดียวกันคือ ส่งเสริมให้คนที่ขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมในการใช้สภาพแวดล้อม ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนและเพิ่มขึ้นตามลำดับ คาดการณ์จำนวนประชากรผู้สูงอายุในปี พ.ศ.2593 (2050) พบว่า ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 2 คือ รองจากประเทศสิงคโปร์ และประเทศลาว โดยสูงถึงประมาณร้อยละ 25 จากร้อยละ 10 ในปัจจุบัน จากจำนวนประชากรทั้งหมด การออกแบบให้ครอบคลุมทั่วถึง จึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนักอย่างยิ่ง

เธอหวังว่า ศูนย์นี้จะเป็นแหล่งความรู้อีกที่หนึ่ง ที่ไม่ดูวิชาการจนเกินไปนัก เพราะอยากให้คนทั่วๆ ไปได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เช่นกัน ให้คนตระหนักในการออกแบบเพื่อคนพิการและสูงอายุมากขึ้น รวมทั้งอยากให้ UD กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ไอเดีย ยูนิตมีความสำคัญคือรวบรวมองค์ความรู้ และหลังจากที่มีการรวบรวมแล้ว องค์ความรู้นั้นจะถูกจัดการ ถูกแปล จึงจะนำไปสู่ประโยชน์ ถ้ามีองค์ความรู้แล้วไม่ถูกจัดการ จะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ UD เป็นสิ่งที่ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ ทั้งกับชุมชนและธุรกิจ และควรจะฝังเข้าไปในทุกๆ สภาพแวดล้อม

เขาเพิ่มเติมถึงตัวอย่างของ UD ที่เห็นได้ชัด คือแว่นตา ซึ่งมีสองขา เสียบที่หู ใช้ได้ทุกคน ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่

“คนเรามักตกหลุมในสิ่งที่เราคุ้นเคยและทำแค่นั้น เราชอบได้แต่ต้องทำให้กว้าง เวลาพูดถึง UD เราจะไปตกหลุมของสถาปนิก นั่นก็ไม่ผิด แต่ UD ไม่ใช่แค่การเปิดด้านกายภาพอย่างเดียว แต่มันโยงถึงข้อมูลด้วย ปัจจุบันนี้เหมือนกับว่า พอเรื่องอะไรเห็นเด่นชัด คนก็จะเข้าไปทำก่อน แต่สักพักมันก็ต้องมีการขยายกรอบการมองให้กว้างขึ้น ไม่งั้นเราสร้างทางให้คนกลุ่มหนึ่ง เราอาจจะไปสร้างปัญหาให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องว่างเข้าไปอีก” เขากล่าว

นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้ร่วมเสวนาอีกสามคน ร่วมกันให้คำจำกัดความของ UD ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อสังคม รวมทั้งมีส่วนสำคัญอย่างไรในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม


ภาพจาก อันธิกา สวัสดิ์ศรี


ร็อบ อิมรี่ (Prof.Rob Imrie) กล่าวว่า UDประกอบด้วย สถานการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาที่พบและแนวทางในการนำไปต่อยอด การออกแบบเช่นนี้ เป็นการท้าทายอำนาจการออกแบบแบบเดิมๆ เพราะคำนึงถึงความอ่อนไหวของร่างกายและความหลากหลายในแต่ละบุคคล เช่น ความแตกต่างของคนพิการแต่ละคน โดยมุ่งหวังให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตและสื่อสารได้อย่างอิสระ รวมทั้งตอบสนองสิ่งที่พวกเขาต้องการได้อย่างเต็มที่ที่สุด โดยไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกกดขี่และสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตอบสนองต่อตลอดช่วงชีวิตของบุคคล รวมทั้งอารมณ์ ความรู้สึก การดำเนินชีวิต และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของบุคคลได้อย่างกลมกลืน โดยคำนึงถึงหลัก 7 ประการ ได้แก่ เท่าเทียมในการใช้งาน, ยืดหยุ่นได้, เรียบง่ายและใช้งานง่าย, เข้าใจง่าย, ทนทาน, ใช้แรงน้อย และใช้พื้นที่และมีขนาดที่เหมาะสม โดยมี ’Care’ หรือการเอาใจใส่ เป็นหัวใจหลัก
เขายกตัวอย่างของการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้งาน เช่นบ้านที่สร้างทางลาดสำหรับคนพิการ ซึ่งมีความยาว ไกล ซับซ้อน ไม่สวยงาม นอกจากจะสร้างความลำบากในการใช้งานให้กับคนที่ไม่พิการแล้ว การออกแบบที่ดึงดูดความสนใจเช่นนี้ยังทำให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความเขินอายและเสมือนเป็นการประกาศโดยนัยว่า บ้านนี้มีผู้พิการอาศัยอยู่

“สถาปนิกมักจะพูดว่า UD นั้นซับซ้อน ผมต้องบอกว่า โลกที่เราเจอทุกวันนั้นซับซ้อนกว่ามาก จะมาออกแบบแบบเหมารวม รวบๆ ก็คงไม่ได้ เราต้องมีวิธีการดีลกับโลกใบนี้” เขากล่าว


โรส กิลลอย

โรส กิลลอย (Prof. Rose Gillroy) กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง แต่อายุยืนยาวขึ้น การเกิดที่น้อยลง และวัยสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในไทย จะมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 31.8 ในปี พ.ศ. 2593 (2050) จากเดิมร้อยละ13.7

เธอต้องการให้เกิดการรวมตัว และเห็นคุณค่าของบุคคลในแต่ละช่วงวัย โดยถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น และคิดว่าเมืองที่ดีน่าจะเป็นส่วนช่วยในการผสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน เช่นงานวิจัยของเมือง นิวคาสเซิล “มาย เพลส” ที่รับฟังความคิดเห็นจากคนในเมืองโดยผ่าน “กระบวนการ 20 นาที” 20 นาทีนี้ เป็นการรวบรวมความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ของเพื่อนบ้านในชุมชน ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการทำให้สังคมตระหนักว่าผู้สูงวัย มีความสำคัญต่อชุมชนและไม่เป็นภาระต่อสังคม

เธอกล่าวต่อว่า สังคมมีบทบาทสำคัญในการรวมคนพิการ และกลุ่มคนที่ถูกกีดกันอื่นๆ ให้ได้มีบทบาทในทุกๆ กิจกรรมของพื้นที่ ตัวอย่างเช่น พบว่าร้อยละ 14 ของผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป มีความสามารถทางการมองเห็นและได้ยินน้อยลง ดังนั้นพื้นที่สาธารณะต่างๆ ก็ควรคำนึงถึงเหล่านี้เช่นกัน

บริททานี เพียเรซ (Brittany Perez) เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรคนพิการจึงจะมีชีวิตที่กลมกลืนและเข้ากับคนอื่นๆ ได้ โดยให้เหตุผลว่าถึงแม้การเข้าถึงของคนพิการจะมีเพียงพอ แต่มักจะโดดเดี่ยวและถูกแยกออกมาเสมอ

เธอยกตัวอย่าง Guggenheim Museum ซึ่งสร้างทางเดินชมพิพิธภัณฑ์เป็นรูปก้นหอย วนตั้งแต่ชั้นบนลงมาชั้นล่าง จึงทำให้ทุกคนสามารถใช้ทางเดียวกัน ไปด้วยกันและเท่าเทียมกัน หรือการสร้างสวนสาธารณะในฟลอริด้า แทนที่จะตัดถนนผ่านระหว่างห้างสรรพสินค้าสองแห่ง จึงกลายเป็นทางเดินที่สะดวกสบายสำหรับทุกคน

“UD ไม่ได้เป็นเพียงแต่โครงสร้างทางกายภาพของตึกหรือสิ่งก่อสร้าง แต่ยังรวมถึงการคมนาคม เช่น ป้ายรถเมล์ที่ยกระดับ ทางลาดขึ้น-ลงรถเมล์ ทางเข้าต่างๆ ที่ไม่มีสเต็ป ทุกคนเข้าถึงได้พร้อมกัน หรือห้องโรงแรมที่เอื้อต่อคนพิการอีกด้วย”เธอกล่าว

เธอเล่าติดตลกว่า ปัจจุบัน กระแสรักสุขภาพกำลังมาแรง จึงอยากให้นับรวม UD เป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะช่วยเพิ่มสุขภาวะที่ดีของทุกๆ คน อีกทั้งยังลดภาวะในการเสียโอกาส

เธอทิ้งท้ายด้วยเรื่องของความสำคัญในการเก็บข้อมูลว่า ยิ่งเก็บมากยิ่งได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่น การเก็บข้อมูลความสูงของตำแหน่งปุ่มกดลิฟต์ การเข็นที่ยากลำบากของวิลแชร์บนพื้นพรมขนยาว การสร้างไฟ LED ในขบวนรถไฟใต้ดินนิวยอร์ก หรือการใช้แผ่นปูพื้นที่มีสีดำ-ขาว ตัดกันมากๆ ก็พบว่าคนที่เป็นโรค Dementia หรือโรคสมองเสื่อม จะไม่สามารถเดินได้อย่างปกติ เพราะเขาจะนึกว่าช่องสีดำนั้นเป็นหลุมหรือร่อง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก ผู้สร้างจึงควรศึกษาและนำเอาผลการเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปอ้างอิงอยู่เสมอ