Skip to main content
วันนี้ (13 มิถุนายน) สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครปฐม ที่ชื่ออรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ซึ่งนั่งวีลแชร์ได้โพสต์ระบุในเฟสบุ๊กส่วนตัวใจความว่า เนื่องจากสถานที่การเลือก สว.ไม่เอื้อกับคนพิการ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือได้รับบาดเจ็บ ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. จึงได้เดินทางยื่นจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถนนแจ้งวัฒนะ
 
 
โดยในเนื้อหาได้ระบุถึงปัญหา และข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ในระดับพื้นที่ หากมีการจัดสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะในระดับจังหวัด หรือในระดับอำเภอก็ตาม ต้องเลือกสถานที่ควรเอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงให้ประชากรทุกกลุ่มเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและใช้สิทธิ์ ได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัย
 
2. เจ้าของสถานที่หรือผู้ที่กำกับดูแลอาคารสถานที่ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี อำเภอนครชัยศรี ต้องจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงทำทางลาดที่ได้มาตรฐานตามกฎกระทรวง กำหนดสิ่งอํานวยความสะดวกในอาคาร สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 ซึ่งอันเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนในระยะยาวและยั่งยืนกว่า
 
3. ภาพรวมในระดับประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำชับในระดับภาคส่วนจังหวัด อำเภอ ของแต่ละพื้นที่ให้ตระหนักและเลือกสถานที่ที่มีความเป็นมาตรฐานต่อการเข้าและใช้งานสถานที่ของประชาชนทุกกลุ่มได้ อย่างเท่าเทียมเสมอภาคและปลอดภัย
 
ท้ายสุดโดยเหตุผลที่ควรปรับเพราะจะช่วยลดภาระการใช้กำลังคนในการช่วยเหลือยกขึ้นยกลงได้ และสิ่งสำคัญเป็นการป้องกันถนอมร่างกายของคนช่วยยกไม่ให้เสี่ยงบาดเจ็บต่อสุขภาพร่างกาย ปลอดภัยต่อทุกฝ่าย รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขณะยกได้ อีกทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เคารพต่อความแตกต่างหลากหลายของประชาชน
 
 
อรรถพลระบุเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าว่า ช่วงประมาณบ่ายสองที่กำลังจะลงจากอาคาร มีการช่วยเหลือผู้สมัครอีกคนซึ่งเป็นคนนั่งวีลแชร์ไฟฟ้าลงไปก่อน ตัวเขากถูกช่วยตามมาเป็นคนที่สอง แล้วจังหวะที่จะถึงบันไดขั้นสุดท้าย มีเจ้าหน้าที่ด้านหลังลื่นแล้วก็ร่วงลงไปกับพื้น แต่ว่าเขาก็พยายามจะปกป้องไม่ให้รถวีลแชร์พลิกตะแคงตัว จึงไม่ได้พลิกคว่ำและไม่ได้บาดเจ็บใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือดูมีอาการบาดเจ็บ ไม่รู้ว่าเป็นมากหรือเป็นน้อย จากนั้นก็ลงมา
 
“ส่วนตัวเราเองวันนั้นมีความรู้สึกหงุดหงิด หากสถานที่มีทางลาด คนที่ช่วยเราอาจจะไม่รู้สึกหงุดหงิดขนาดนี้ ทุกคนจะได้ปลอดภัย
 
“ระดับพื้นที่อย่างผู้ดูแลสถานที่ ควรต้องหางบประมาณมาเพื่อจัดสรรสภาพแวดล้อมทางขึ้นอาคารให้มีทางลาดเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มเพราะสุดท้ายแล้วอาคารนี้ก็จะถูกใช้ในชุมชนและงานอื่นอยู่ดี ประโยชน์มันไม่ได้เกิดแค่เฉพาะเวลามีการเลือกตั้งเท่านั้นแต่มันยังใช้ได้กับอีกหลายงาน คนพิการในชุมชนหลายคนไม่ได้ออกมานอกบ้านเพราะเค้ารู้ว่าอาคารยังไม่ได้ถูกปรับปรับปรุง พอไม่มีทางลาดแล้วก็ต้องมีคนช่วยยก การถูกยกขึ้นมันไม่ได้ง่ายและสบาย รวมน้ำหนักรถเข็นและตัวคนก็หนักอยู่พอสมควร ที่สำคัญที่สุดคือไม่ปลอดภัยแม้กระทั่งคนถูกช่วยและคนช่วย ถ้ามีทางเลือกที่เหมาะสมก็ไม่ต้องมีใครมาคอยรอยกเรา​​​​ เราสามารถเข็นขึ้นไปเองได้อย่างสง่างามและสมศักดิ์ศรี ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย ประโยชน์นี้ไม่ได้ตกแต่คนพิการคนเดียวยังตกแก่สถานที่โดยรวมอีกด้วย
 
“เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ​ ไม่ใช่เรื่องความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ยกไม่ดี ผมไม่มีแผลด้วยซ้ำ คนที่มีแผลและเจ็บน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่คนนั้น สิ่งที่ผมพยายามบอกก็คือหลักการว่าคนทุกคนควรจะเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและปลอดภัย
 
 
“ในที่นี้ไม่ใช่แค่คนพิการเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่จะมาอำนวยความสะดวกกับเราด้วย ซึ่งหน้างานเค้าก็พยามทำกันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ความผิดของคนหน้างานที่เกิดอุบัติเหตุแต่เป็นความผิดของผู้ที่จัดสถานที่ไม่เอื้ออำนวยจนส่งผลต่อคนอื่น ผมเชื่อว่าถ้ามันปลอดภัยไปด้วยกันทั้งหมดก็จะมีความสุขด้วยกันทั้งหมด ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้ติดเรื่องสถานที่หรือเพราะเขาไม่มีงบประมาณในการปรับปรุง กกต.ควรจะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนในการช่วยปรับปรุงสถานที่ให้มันเอื้อกับทุกคน สิ่งเหล่านี้เป็นกฎหมาย มีกฎกระทรวงที่บอกอยู่แต่ก็ไม่ได้มีบทลงโทษแต่บอกว่าให้ทำ ผมว่าเป็นสิ่งที่ กกต.ควรระลึกถึงเสมอในการการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือแม้กระทั่งมีเช็คลิสต์แต่ละหน่วยว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบไหม ความปลอดภัยในการเข้าถึงและห้องน้ำเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย ซึ่งประชากรกลุ่มผู้สูงอายุก็มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างกับคนพิการมากนักสิ่งนี้จำเป็นและสำคัญ”
 
เขาทิ้งท้ายว่า จากนี้ก็ต้องมาติดตามว่ายื่นหนังสือแล้วทาง กกต.จะดำเนินการอย่างไรจะแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างไรก็คงจะต้องติดตามต่อกันต่อ
 
 
ด้านพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน จาก WeWatch ผู้ร่วมสังเกตการณ์การยื่นจดหมายในครั้งนี้ก็ได้ระบุเพิ่มเติมกับผูัสื่อข่าวว่า กรณีนี้เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วสะท้อนว่า กกต.ยังไม่มีความใส่ใจ ​เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องนี้ที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เกิดเกิดขึ้นมานานมากแล้วและเราก็พูดเรื่องนี้กับกกต.มานานมากในเรื่องของสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารไปยังประธานและคณะกรรมการ กกต.มีสองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องหลักการว่าทุกคนมีสิทธิที่จะพิการได้ รวมถึงตัวของเขาเองอาจจะป่วยชราภาพหรือทุพพลภาพและก็อาจจะพิการจนใช้ชีวิตลำบากได้ ถามหน่อยได้ไหมว่าถ้าเกิดความพิการและวันนึงพวกเขาไม่สามารถไปเลือกตั้งได้จะทำอย่างไร การเลือกตั้งมันเป็นเครื่องมือที่บอกว่าอำนาจเป็นของประชาชน สำคัญมากและเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องไปไม่งั้นก็เสียสิทธิ เขาจึงอยากตั้งคำถามไปว่าพวกเขาเคยคิดถึงเรื่องนี้กันบ้างไหม เหตุในหลายประเทศคุยเรื่องนี้กันจนจบไปแล้ว คำถามคือประชาชนอยากจะใช้สิทธิแล้ว กกต.จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึง เพราะคุณเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และภารกิจที่จะทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสิทธิ เขาต้องถูกนับ จนถึงตอนนี้ก็ไม่เชื่อว่าเขาจะสามารถตอบได้
 
“ในประเทศฟิลิปปินส์ ขนาดคนที่ถูกดำเนินคดีและต้องจำคุกเค้าก็ยังมีสิทธิเลือกตั้งได้ อินโดนีเซียทำไมเขาจึงสามารถทำให้คนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงในโรงพยาบาลหรือผ่าตัดหรือป่วยในช่วงการเลือกตั้งสามารถลงทะเบียนและมีการจัดหน่วยเลือกตั้งภายในโรงพยาบาลได้ ในโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลจะมีหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่รวมถึงผู้สังเกตการณ์อย่างตำรวจหรือเจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์พรรคการเมืองอีกหลายพรรคไปด้วยกันคือเขาสามารถทำได้ หน้าที่ของเขาคือต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงการเลือกตั้งและทุกเสียงต้องถูกนับ
 
“เรื่องที่สองที่เราอยากถาม กกต.คือท่านทราบหรือไม่ว่าเมื่อเจ็ดปีก่อนทางเครือข่ายคนพิการรวมถึงองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานการเลือกตั้งได้ร่วมกันทำโครงการหนึ่งร่วมกับกกต.ในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิของคนพิการและได้ทำคู่มือในการอำนวยความสะดวกสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยและมีแบบประเมินเพื่อที่จะประเมินหน่วยเลือกตั้ง มีเช็คลิสต์และข้อปฏิบัติต่างๆ มี กกต.ร่วมทำด้วยจนสำเร็จเป็นคู่มือและเป็นแบบประเมิน แต่ปัญหาก็คือคู่มือนี้ไม่เคยใช้ ทั้งที่ผ่านการประชาพิจารณ์จากเครือข่ายภาคประชาชนและคนพิการ และมีความสมบูรณ์ อยากถามเขาเหมือนกันว่ามีความจริงใจในการแก้ไขหรือปรับปรุงปัญหาเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าอยากพัฒนาและทำการเลือกตั้งให้เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิเขาควรจะทำเรื่องนี้ แต่ตอนนี้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่สนใจและปล่อยปะละเลย
 
“เรื่องนี้เป็นเรื่องเชิงหลักการ ตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญจนถึงกฎของ กกต.และอีกหลายเรื่องมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่คำถามคือหลักปฏิบัติหรือระเบียบไปไหน ทั้งที่มีคู่มือและแบบประเมินเขากลับไม่ประกาศใช้ ไม่ถูกนำมาใช้กับทีมปฏิบัติงาน ไม่มีการเทรนนิ่ง ถ้ามีการประเมินเขาย่อมไม่ใช้สถานที่นั้นอยู่แล้วเพราะว่าไม่ผ่านการประเมิน เราพยายามพูดไปหลายครั้งแล้วแต่เขาไม่ยอมนำมาใช้ ถ้าเขาอ้างเรื่องงบประมาณหรือมองว่าเสียเวลาซึ่งผมคิดว่าไม่สมเหตุสมผล
 
“ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สิทธิคนพิการเป็นเครื่องชี้วัดในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในประเทศและสังคมนั้นๆ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทำไมการพิมพ์คู่มือและการนำมาปฏิบัติใช้มันจึงยากเย็น ทำไมไม่มีการพิมพ์แบบประเมินมาเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบหน้างานทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติใช้ เมื่อไหร่ถึงจะเริ่ม
 
“ผมขอวิจารณ์เรื่องหน่วยเลือกตั้งพิเศษซึ่งโดยปกติแล้ว กกต.ก็จะทำกันก่อนเลือกตั้ง หรือช่วงเลือกตั้งล่วงหน้า โดยมีหน่วยพิเศษ 10-15 หน่วย ผมบอกได้เลยว่าสิ่งนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ จริงอยู่ที่มันอาจสะดวกกับผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่อยู่ระแวกนั้น หรือในบ้านพักคนชรา แต่จริงๆ แล้วควรที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกจุดของการเลือกตั้ง เพราะคนพิการควรสามารถเข้าไปได้ทุกจุดในการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้มีวิธีจัดการ แต่ขึ้นอยู่กับเขาว่าจะทำไหม การอ้างว่ามีหน่วยพิเศษไม่ได้แก้ปัญหาเลย
 
พงษ์ศักดิ์เพิ่มเติมว่า จริงๆ หลักใหญ่ของการเลือกตั้งมีอยู่สามเรื่อง อย่างแรกก็คือเรื่องกฎหมายหรือระเบียบ แม้กระทั่งประกาศของ กกต. ที่จะยืนยันว่าเขามีหน้าที่และความชัดเจนในเรื่องสิทธิและการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม สอง กกต.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เพราะเขาตั้งมาเพื่อต้องการให้เป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม ตรงนี้ กกต. ต้องสำนึกในความเป็นตัวเองว่ามันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีและต้องทำให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิ ไม่งั้นเขาบกพร่องในหน้าที่
 
สามก็คือสิทธิของเขาต้องถูกนับ เช่น การเลือกตั้งของประเทศไทยเกิดบัตรเสียมากมาย ถ้าในระดับสากลเขาจะบอกได้เลยว่า บัตรเสียมากขนาดนี้มันสะท้อนว่าระบบยังมีปัญหา และการให้การศึกษาแก่ประชาชนยังไม่เพียงพอ เขาจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงได้อย่างมีมาตรฐาน ทำอย่างไรให้มีบัตรดีขึ้น นี่ก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะทำให้คนเข้าถึงข่าวสาร วิธีการการเลือกตั้ง ที่ทำให้คนเข้าใจการเลือกตั้ง มันเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการใช้เทคนิคเหนือหลักการ เช่น คุณสามารถใช้เครื่องหมายที่คล้าย กากบาท ไม่ใช่เหมือนน้อยกว่าเพียงเล็กน้อยก็ไม่ถูกนับ หรือเลยสี่เหลี่ยมเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นบัตรเสีย หรือกาย้ำเพราะปากกาหมึกหมดแล้วนับเป็นบัตรเสีย และบัตรเสียชนิดนี้เยอะมากในประเทศไทย
 
หากเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่เอาเชิงเทคนิคนี้มาอยู่เหนือหลักการ ต้องยืดหยุ่นมากพอที่จะทำให้เห็นว่า ตราบใดที่เห็นเจตนาชัดเจนว่าผู้มาใช้สิทธิแสดงเจตนาว่าต้องการเลือกตั้งใครก็เพียงพอแล้ว ที่ปาปัวนิวกินี ในบางเผ่าใช้วิธีการเอาหินใส่ถุงของผู้สมัครเบอร์ต่างๆ แทนการเขียนลงกระดาษ เพียงแต่เขาเน้นแค่ว่าเจตนารมณ์ว่าเขาจะเลือกใคร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวลาคิดอ่านยังขาดการมีส่วนร่วมของคนพิการ ระนาบของปัญหาสะท้อนวิธีคิดและวัฒนธรรมทางความคิดที่จะเข้าใจเพราะฉะนั้นสังคมไทยต้องพัฒนาวิธีคิดด้วยเพราะการออกแบบอย่างไม่ได้คำนึงว่าคนพิการจะเข้าถึงหรือไม่สังคมไทยต้องข้ามเรื่องเหล่านี้ให้ได้
 
 
 
 


 

นลัทพร ไกรฤกษ์
Editor
เด็กสินกำที่เปลี่ยนจากจับพู่กันมาพิมพ์คีย์บอร์ด รักแมวหังเยาเป็นชีวิตจิตใจ