Skip to main content
สมาคมคนหูหนวกไม่เห็นด้วยโครงการอบรมล่ามภาษามือ 135 ชั่วโมง ชี้ควรเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ
 
สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เรื่องการอบรมล่ามภาษามือของสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ชี้การอบรมล่ามภาษามือไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการผลิตล่ามภาษามือชุมชนในระยะเร่งด่วนได้อย่างแท้จริง โดยมีใจความว่า
 
ตามที่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมกับสถาบันราชสุดา และมหาวิทยาลัยสวนตุสิต จัดอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน 135 ชั่วโมง สถาบันละ 3 รุ่น รุ่นละ 30 คน (เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการ รุ่นละ 15 คนและเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการคนพิการจากหน่วยงานอื่นหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ รุ่นละ 15 คน) รวมทั้งสิ้น 6 รุ่น สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีขึ้นไป เปิดรับสมัครผู้สนใจอบรมตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมได้รับการพัฒนาภาษามือเพื่อต่อยอดสู่การผลิตล่ามภาษามือให้มีจำนวนมากขึ้นในระยะเร่งด่วนนั้น
 
สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยเรื่องการจัดอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน ในระยะเวลา 135 ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีความเป็นไปได้ และไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการผลิตล่ามภาษามือชุมชนในระยะเร่งด่วนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะล่ามภาษามือเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ทักษะ และประสบการณ์ทำงาน รวมถึง ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการผลิตล่ามภาษามือที่ดีและมีบริการที่มีคุณภาพได้ จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
 
ทางผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง กานต์ อรรถยุกติ กรรมการสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เพื่อเล่าถึงบริบทของแถลงการณ์ดังกล่าวของสมาคม
 
กานต์ : คนหูหนวกต้องการล่ามภาษามือที่มีคุณภาพเป็นอันดับแรก เพราะล่ามภาษามือต้องสื่อสารสองทางจากภาษาพูดเป็นภาษามือและจากภาษามือเป็นภาษาพูด เป็นคนที่ทำให้สังคมรับรู้ข้อมูลของคนหูหนวกที่ถูกต้อง ชัดเจนและเข้าใจความต้องการของคนหูหนวกในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ที่เท่าเทียมกับคนอื่นเช่นกัน ล่ามภาษามือเป็นบุคคลที่สังคมคนหูหนวกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และล่ามภาษามือได้รับความเคารพจากคนหูหนวกในฐานะที่เป็นผู้สื่อสารให้เกิดความเท่าเทียม
ลองคิดดูถ้าได้ภาษามือที่ไม่มีมาตรฐานไม่มีความรู้ความเข้าใจคนหูหนวกอย่างถูกต้องชัดเจนแล้ว ถ้าล่ามภาษามือไม่มีมาตรฐานแปลผิดพลาดทั้งจากภาษาพูดมาเป็นภาษามือ หรือจากภาษามือเป็นภาษาพูดจะกระทบความเชื่อมั่นของคนหูหนวกที่มีต่อล่ามภาษามือได้แค่ไหน อนาคตคนหูหนวกจะมีอคติที่ไม่ดีต่อล่ามภาษามือ ล่ามภาษามือจะไม่แย่ไปด้วยหรือ สมาคมอยากให้ล่ามภาษามือเป็นอาชีพที่รับการยอมรับไม่ใช่แค่ผู้ช่วยคนพิการ
 
จุดยืนของสมาคมฯ คือเราต้องการคุณภาพล่ามภาษามือ ที่สามารถต่อยอดระยะยาวเพื่อประโยชน์ของคนหูหนวก แต่การอบรมล่าม 135 ชั่วโมง ให้กับเจ้าหน้าที่พม. พมจ.หรือคนในศูนย์บริการเพื่อคนพิการทั่วประเทศ โดยใช้คำว่า “ล่ามภาษามือชุมชน” ผมคิดว่ายังไปไม่ถึงขั้นนั้น การอบรมแบบนี้น่าจะเรียกว่า “การอบรมภาษามือขั้นพื้นฐาน” เท่านั้น
 
พก.(กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) มีมาตรฐานการจัดสอบบัตรวิชาชีพล่ามภาษามือชุมชนอยู่แล้ว คุณสมบัติก็ชัดเจนดีอยู่แล้ว มีการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ระดับการศึกษาจากสถาบันที่มีหลักสูตรล่ามภาษามือ และวุฒิการศึกษา จบ ป.ตรีขึ้นไป หมายความว่าผู้สมัครบัตรวิชาชีพล่ามภาษามือ ต้องผ่านการศึกษาที่มีหลักสูตรล่ามภาษามือและ ได้ผ่านภาคสนามปฏิบัติการแปลภาษามือและภาษาพูด ที่มีประสบการณ์ความรู้แน่นมาหลายปี เข้าสอบ ตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพราะคุณภาพล่ามภาษามือต้องผ่านการสอบมาตรฐานที่ถูกต้อง ไม่ใช่ อบรมภาษามือ 135 ชั่วโมงแล้วไปเป็นล่ามภาษามือได้แบบนี้
ผมจึงขอย้ำ จุดยืนของสมาคมคนหูหนวกฯ ว่า ไม่ควรใช้ชื่อ “ล่ามภาษามือ” ควรเป็น โครงการอบรมภาษามือพื้นฐานจะเหมาะสมดีกว่า เพราะล่ามภาษามือเป็นผู้ที่คนหูหนวกส่วนมากให้ความสำคัญเคารพ ล่ามภาษามือที่ผ่านมาตรฐาน 178 คน คือล่ามภาษามือที่มีคุณภาพแล้วในเวลานี้
 
ตามที่รัฐมนตรีวราวุธแถลงตามข่าวไทยวิกฤติขาดล่ามภาษามือควรมี 40,000 คน แต่มีแค่ 178 คน ข้อมูลตามบัตรคนพิการประเภทสองคือคนพิการประเภทสื่อความหมายทั่วประเทศมี 400,000 คนต้องมีร่างภาษามือให้บริการอย่างน้อย 40,000 คนแล้วรู้มั้ยว่าบัตรคนพิการประเภทที่สองไม่ใช่ทั้ง 400,000 คนจะรู้ภาษามือทั้งหมด มีคนหูตึงหูดับภายหลังคนพูดไม่ได้ปัญหาไม่มีลิ้นไก่พูดไม่ได้แต่ได้ยินเสียงไม่ใช่คนหูหนวกหรือรู้ภาษามือทั้งหมดผมเชื่อว่าคนหูหนวกตามบัตรคนพิการประเภทสองหรือรู้ภาษามือที่สามารถขอล่ามภาษามือได้มีประมาณ 100,000 คน
 
ปัจจุบันล่ามภาษามือที่ผ่านมามาตรฐานมีจำนวน 178 คนก็เป็นจำนวนที่น้อยอยู่เพราะอาชีพล่ามภาษามือไม่ได้รับการส่งเสริมอาจถูกมองเป็นอาชีพที่มีคุณค่าเพราะถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนพิการ
 
อาชีพล่ามแปลภาษาในการประชุมเป็นอาชีพที่ดูดี มีความสามารถสูง มีค่าตอบแทนสูง ทั้งที่พื้นฐานการแปลภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเหมือนกับล่ามภาษามือผมอยากเห็นสังคมเห็นคุณค่าของอาชีพล่ามภาษามือจะทำให้คนอยากเข้ามาเป็นล่ามภาษามือมากขึ้นครับ
 
เขาสรุปเนื้อหาสำหรับการอบรมเรื่อง 135 ชั่วโมงว่า ปัญหาอยู่ที่ชื่อโครงการ หากยืนยันว่าผู้ที่ผ่านการอบรม 135 ชั่วโมงแล้วจะได้ชื่อว่าผ่านโครงการอบรมล่ามภาษามือทางสมาคมก็จะยืนยันว่าไม่เห็นด้วย