Skip to main content

โรคหลอดเลือดสมองหรือเรียกสั้นๆ ว่า สโตรค เป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการเสียชีวิต และอันดับ 3 ของความพิการจากการสำรวจทั่วโลกในปี 2562 (https://pr.moph.go.th/print.php?url=pr/print/2/02/180623/) ถึงแม้ว่าสถิติจะเป็น ผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่ และเวลามีความหมายกับชีวิตผู้ป่วยชนิดที่ว่ารักษาช้าแค่ 1 นาทีหลังจากมีอาการก็ทำให้เซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ แต่โรคนี้ก็อาจเกิดกับคนที่อายุไม่มากเช่นกัน  

Thisable.me ชวนคุยกับตุ้ย—พรพัชรา ค่ำคูณ เจ้าของเพจบันทึกป้าหอยทาก : Stroke สาย Strong ย้อนอดีตเล่าเรื่องราวตอนที่ได้รู้จักกับโรคนี้ครั้งแรกเมื่ออายุเพิ่งก้าวเข้าสู่เลข 3 ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสโตรค เวลา และความพิการมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง 

ภาพหน้าปกพร้อมชื่อบทสัมภาษณ์ ซึ่งคุณตุ้ยใส่เสื้อสีชมพู ที่มีใส่ Hand Splint นั่งไขว้ข้างและมีไม้เท้าประจำตัว


วันที่รู้จักกับสโตรคครั้งแรก

พรพัชรา: ย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีก่อน เราไม่เคยรู้จักโรคนี้เลย จนวันหนึ่งนอนอ่านหนังสือ แล้วเผลอหลับไป พอตื่นขึ้นมารู้สึกปวดหัวจี๊ดเลยจะลุกไปเอายาพารา แต่พอลุกแล้วรู้สึกชาที่แขนไล่ลงไปยังขาและรู้สึกไม่ค่อยมีแรง หลังจากนั้นก็โทรหาเพื่อนแต่เพื่อนไม่รับสาย ก็โทรไปหารุ่นน้องที่สนิทกันแล้วเล่าอาการให้ฟังและถามความเห็นว่า ควรทำอย่างไรดี รุ่นน้องก็ตอบว่า รอดูอาการถึงตอนเช้าก่อนไหม แต่เรามองว่า อาการไม่ปกติจึงให้ยามที่อพาร์ทเมนต์เรียกแท็กซี่ไปส่งที่โรงพยาบาลเอกชน หมอแผนกฉุกเฉินเช็คการรับรู้ความรู้สึก แล้วถามว่า รู้สึกไหม เราตอบไม่ได้เลยว่ารู้สึกหรือไม่ หมอจึงส่งไป CT Scan แล้วเจอรอยเลือดแตกที่สมอง พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็งงว่าเป็นได้อย่างไร ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง 

หลังจากนั้นหมอห้องฉุกเฉินปรึกษากับหมอเฉพาะทางและให้ยามาทาน ตอนนั้นร่างกายซีกหนึ่งปวกเปียก ไม่มีแรงยกแขน ยกขาเลย ผิดกับอีกด้านหนึ่งที่รู้สึกมีแรง ตอนนั้นก็คิดว่า เราจะตายไหมวะ และก็ทบทวนว่า ถ้าต้องตาย ยังมีสิ่งอะไรที่ค้างคาใจหลงเหลืออยู่ไหม แต่อีก 2-3 วินาทีต่อมา เราก็คิดได้ว่า เป็นแค่ข้างเดียว อีกข้างหนึ่งยังไม่เป็นไร มึงยังไม่ตายหรอก แต่จะเป็นมากน้อยแค่ไหน จะใช้ชีวิตอย่างไรยังไม่รู้ 

ตอนอยู่โรงพยาบาล เราเข้าใจว่า ตัวเองสามารถสื่อสารได้ปกติ แต่เราใช้ภาษาไทยสื่อสารพูดคุยกับคนอื่นไม่ได้และใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารแทน นอกจากนี้ยังเรียกชื่อคนที่มาเยี่ยมผิด ซึ่งเรียกเป็นชื่อเพื่อนสมัยประถมหมดเลย คนมาเยี่ยมก็งงแต่ไม่มีใครทักเพราะกลัวเรากังวล เป็นอย่างนี้ 2-3 วัน แล้วอาการก็เริ่มดีขึ้น หมอเรียกแก๊งเพื่อน 3 คนที่มาเฝ้าประจำมาดูรูปสมองและอธิบายสิ่งที่เราเป็นว่า เป็นความผิดปกติเซลล์สมอง (Cavernoma) ตั้งแต่กำเนิด เส้นเลือดตรงที่เป็นกระเปาะๆ เพิ่งมาแตกตอนโต บางคนก็มีความผิดปกติแต่ไม่เป็นอะไรเลยจนตายก็มี บริเวณที่มีรอยเลือดแตกของเราอยู่ใกล้กับประสาทการสื่อสาร ถ้าไปโดนทำให้มีปัญหาการสื่อสารและฟื้นฟูยากมาก แต่รอยเลือดเล็กมีขนาดลง จนไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแล้ว

คุณตุ้ยใส่เสื้อแขนกุดฟองๆ สีชมพูนั่งหันขวายิ้มให้กล้อง

กลับบ้านมากายภาพ

บ้านเราที่ขอนแก่นอยู่ต่างอำเภอ ซึ่งโรงพยาบาลประจำอำเภอไม่มีหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูเหมือนในตัวจังหวัดหรือกรุงเทพฯ แต่ที่นี่ก็มีแผนกกายภาพ จึงได้ฝึกอาทิตย์ละครั้ง แต่เรารู้สึกว่าน้อยไป อยากฝึกอย่างต่อเนื่อง จนได้นักกายภาพ ซึ่งน้องนักกายภาพแนะนำให้ฝึกเดินในน้ำ (Aqua Therapy) เพราะว่า การฝึกเดินในน้ำช่วยให้ก้าวเดินได้ง่ายขึ้น ถึงล้มก็ไม่เป็นไรเพราะมีแรงพยุงจากน้ำช่วยดึงตัวไว้ แล้วยังได้ออกกำลังกายในส่วนที่ทำได้ยากบนบก เราก็โอเค ช่วงนั้นก็มีโปรแกรมฝึกทั้งบนบกและในน้ำ ร่วมกับนวดแผนไทยประคบร้อน สลับกับการทำกายภาพควบคู่กันไปซึ่งช่วยได้ดี

นอกจากทำกายภาพแล้ว เขายังเข้าใจคนไข้ว่า การอยู่เฉยๆ น่าเบื่อ จึงชวนเราไปกายภาพนอกสถานที่ แต่ละที่ก็ต้องใช้วิธีการฝึกเดินที่ต่างกัน ตอนนั้นใช้เวลาฟื้นฟู 3 เดือนก็ดีขึ้น จึงกลับมาทำงาน น้องเขาทิ้งท้ายไว้ว่า ต้องทำกายภาพต่อเนื่อง  แต่เราไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องทำต่อเนื่อง คิดว่า รักษาหายแล้วก็หายเลย 

เส้นเลือดในสมองแตกครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 

หมอเห็นเราเดินได้ดีขึ้น รอยเลือดเล็กลง แต่ก็บอกว่าต้องมาติดตามอาการอยู่เรื่อยๆ เพราะอีกประมาณ 15 ปี อาจจะเกิดขึ้นได้อีก แต่ตอนนี้ไม่น่าเกิดขึ้นแล้ว หมอถามว่า มีข้อสงสัยอะไรไหม คำถามแรกที่ถามหมอคือ หมอคะ กินเหล้าได้ไหม (หัวเราะ) เพราะสมัยก่อนเราเป็นคนชอบเที่ยว หมอตอบว่า กินได้แต่ไม่อยากให้กิน เพราะกลัวเมาแล้วลื่นล้ม อาจจะเป็นซ้ำได้ แล้วเราถามกลับว่ากินอะไรได้บ้าง หมอตอบว่ากินได้ตามปกติ แต่อย่ากินอาหารมันๆ เค็มๆ บ่อย 

พฤศจิกายน 2559 เราเป็นสโตรคครบ 1 ปี ช่วงนั้นเราไปเที่ยวเขาค้อกับแม่และเพื่อน พอกลับมา เริ่มมีความรู้สึกแปลกๆ เลยคุยกับเพื่อนว่า วันมะรืนพาไปสถาบันประสาทได้ไหม เพราะพรุ่งนี้มีอบรมยังไปไม่ได้ แต่ระหว่างอบรมเรารู้สึกว่ามือขวาอ่อนแรง จับปากกาเขียนหนังสือและจับช้อนส้อมไม่ได้แล้ว เริ่มทรงตัวไม่ค่อยอยู่ เดินเซ แต่ว่ายังไม่ได้บอกใครจนอบรมเสร็จ บอกให้เพื่อนไปส่งที่โรงพยาบาลเดิม มาถึงหมอให้ทำ CT Scan ปรากฏว่า เกิดซ้ำ หมอให้แอดมิทเลย หมอก็รู้สึกว่าแปลกจัง ตอนแรกคิดว่า 15 ปีถึงจะเป็นอีก แต่ปีต่อมากลับเป็นเลย ซึ่งในทางการแพทย์ ถ้าเกิดการแตกครั้งที่ 2 ก็จะมีการแตกครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 ยิ่งโอกาสเกิดถี่ขึ้นก็จะส่งผลกระทบเยอะขึ้น หมอพยายามหาวิธีรักษาโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด เช่น การใช้รังสีเพื่อหยุดการไหลของเลือด หลังจากได้เอาฟิล์มให้หมอที่โรงเรียนแพทย์ดู หมอบอกว่าทำไม่ได้แล้ว เพราะเป็นวิธีการรักษาแบบเก่าหยุดเลือดไม่ให้ไหล แต่ใช้ตอนนี้ไม่ทันแล้ว หากดูจากฟิล์มจะพบว่า เส้นเลือดจะค่อยๆ แตกไปเรื่อยๆ จนเรานอนติดเตียงในที่สุด วิธีที่รักษาได้คือต้องผ่าตัดออก แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร อาจจะดีหรือแย่กว่าเดิมก็ได้ พอคุยกับหมอเสร็จ เรากับแม่ก็นั่งแท็กซี่ออกมาและไม่พูดไม่จากันเลย จนแม่เอ่ยปากบอกว่า ให้เราตัดสินใจ และผลเป็นอย่างไรก็ต้องรับ หากผลผ่าตัดไม่โอเคก็แค่อยู่กับแม่ที่บ้านเท่านั้นเอง 

หลังจากนั้นเราก็ลังเลว่าจะผ่าตัดที่ไหน สุดท้ายตัดสินใจผ่าตัดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หมอที่โรงพยาบาลบอกว่า จุดที่จะผ่าเป็นจุดที่อันตรายจริงๆ แต่ก็ผ่าตัดได้ ตอนแรกหมอวางแผนผ่าตัดแบบรู้สึกตัว เพื่อดูว่าเรารู้สึกอ่อนแรงไหมหรือหากอาการไม่ดีจะได้หยุดผ่าตัด แต่พอรอยเลือดเล็กลงก็ไม่ต้องผ่าตัดแบบรู้สึกตัว ก็รู้สึกดีขึ้นหน่อย

พอจะได้คิวผ่าเราก็ดึงเช็งไม่ยอมคอนเฟิร์ม มองว่าถ้าผ่าตัดตอนนี้ต้องลางานเยอะ ผลการประเมินก็จะออกมาไม่ดี ถ้าผ่าตัดสักปลายปี ก็อาจได้ทำงานอีกหน่อย ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เราควรให้ความสำคัญกับร่างกายมากกว่า เพราะเดือนเมษายนเส้นเลือดในสมองก็แตกอีกรอบ อาการก็เริ่มแย่ลง เดินช้าลง เวลาเดินต้องหาอะไรเกาะ และเริ่มอ่อนแรงลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด มือเริ่มแข็ง เริ่มเกร็ง พอแตกรอบที่ 3 เราก็ไปหาหมอว่า อาการแย่ลงแล้ว จะได้คิวเมื่อไหร่ หมอก็บอกคร่าวๆ น่าจะประมาณเดือนมิถุนายน ถ้าได้คิวจะมีคนโทรมาคอนเฟิร์ม แต่พอถึงเดือนมิถุนายนก็ยังไม่มีสายจากโรงพยาบาลสักที อาการเราก็ทรุดลงทุกวัน แม่ก็เป็นห่วง กระทั่งเดือนกรกฎาคมเขาโทรมาว่าได้คิวผ่าตัดแล้ว ทุกคนดีใจกันมาก 

ทุ่มพละกำลังกายภาพหลังผ่าตัด 6 เดือน 

หลังจากผ่าตัดประมาณ 6 เดือนเป็นระยะเวลาที่ได้ผลดีที่สุดในการฟื้นฟูสมองและร่างกาย (Golden Period)  ช่วงนั้นทำกายภาพอย่างหนัก บางคนเข้าใจว่า เวลาทำกายภาพต้องมีนักกายภาพเท่านั้นถึงจะฟื้นฟูร่างกายได้สำเร็จ  แต่ตามจริงนักกายภาพมีหน้าที่เป็นเหมือนเทรนเนอร์ เขามีหน้าที่ไกด์ไลน์ ดูว่าเราทำได้หรือยัง ต้องฟื้นฟูตรงจุดไหนก่อน ส่วนเราต้องเป็นคนทำเอง เราทำกายภาพฟื้นฟูที่โรงพยาบาลเอกชนประมาณครึ่งเดือน หลังจากนั้นกลับบ้านที่ขอนแก่น ก็ทำกายภาพ นวด และฝังเข็มโดยแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อลดอาการเกร็ง 

กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง

ระหว่างที่กายภาพ เราก็คิดว่าจะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้แค่ไหน จะกลับไปทำงานได้ไหม เพราะครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรกที่ 3 เดือนก็กลับมาทำงาน ใช้ชีวิตเองได้ จนกระทั่งมาหาหมอ เพื่อติดตามอาการที่กรุงเทพ แล้วนัดไปกินข้าวกับหัวหน้า หัวหน้าก็บอกว่า มือขวาใช้ไม่ได้ก็ใช้มือซ้ายสิ สมองเรายังใช้ได้อยู่ พอได้คุยกับหัวหน้ารู้สึกเบาใจขึ้นนิดนึง แต่ยังกลัวที่จะกลับไปทำงาน สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับไปและบอกกับที่บ้าน พอได้ยินอย่างนั้น คุณตาก็เดินเข้ามาคุยด้วย ถามว่าจะกลับไปทำงานทำไม เดี๋ยวเขาก็ไล่ออก ใช้มือข้างเดียวทำงานไม่ได้หรอก คนสมัยก่อนคิดว่าต้องใช้สองมือในการทำงาน เขาไม่รู้ว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ตาเป็นห่วงแต่คิดแบบคนรุ่นเก่า จึงไม่สามารถใช้ถ้อยคำแสดงความเป็นห่วงโดยใช้คำพูดไม่ให้เรารู้สึกสะเทือนใจได้ ต่างจากเพื่อนแถวบ้านที่สอนพูดภาษาอังกฤษพยายามให้กำลังใจสุดฤทธิ์  ให้ไม่ต้องสนใจคำพูดอะไรทั้งนั้น เราจำคำพูดเพื่อนเรามา แล้วบอกกับตัวเองว่า เราจะเป็นแบบนั้นให้ได้

พอกลับมาทำงาน เรารู้สึกว่าทำอะไรแล้วช้า แตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างชัดเจน จนมีคนแซวว่า ‘โอ้ย เขาประชุมเสร็จแล้วเนี่ยเพิ่งมาถึงหรอ’ ตอนนั้นน้ำตาตก ร้องไห้กลางที่ประชุม จนประชุมเสร็จแล้วเขาก็มาขอโทษ หรือมีประชุมที่อื่น ซึ่งเขาไม่รู้ว่าอะไรเกิดกับเรา พอเห็นเราพูดว่า ‘โห น้องสภาพนี้กลับบ้านไปนอนดีกว่ามั้ง’ เราก็ตอบกลับว่า ‘หนูคิดว่ามาทำงานให้ตัวเองมีคุณค่าดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ’ พี่บางคนที่ได้ยินและรู้เรื่องราวของเรา เขาก็พูดขี้นมาว่า ‘ดีแล้ว ให้น้องเขาอยู่เฉยๆ ทำไม’ 

เราทำกายภาพเยอะมาก เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด ไม่ได้เจอเพื่อนเลย เจอแต่นักกายภาพกับเพื่อนที่ทำงาน ช่วงนั้นรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่เป็นตอนนี้ อยากเป็นคอมพิวเตอร์ที่กดปุ่มชัตดาวน์ตัวเอง พอดีได้อ่านหนังสือ “สามวันดี สี่วันเศร้า” ของทราย เจริญปุระ อาการในหนังสือเป็นอาการเดียวกับเราเลย นักกายภาพก็แนะนำว่า ลองไปหาจิตแพทย์ไหม พอไปโรงพยาบาล จิตแพทย์บอกว่า เราเป็นซึมเศร้า พอได้ยินแบบนั้น เราถามหมอว่า ‘เราแปลกไหม ดูอ่อนแอจัง ป่วยแล้วยังมาเป็นซึมเศร้าอีก มันดูอ่อนแอ มันดูไม่เข้มแข็ง’ หมอตอบว่า อย่าคิดแบบนั้น ไม่แปลกเลยที่เราเจอเหตุการณ์หนักๆ นับไม่ถ้วนเปลี่ยนชีวิตเราขนาดนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเศร้า และรู้สึกผิดได้ง่ายกว่าปกติทั่วไป 

คุณตุ้ยยืนพิงกำแพงกระจก แล้วหันหน้ายิ้มให้กล้อง

สโตรคเปลี่ยนชีวิต

ตอนที่ผ่าตัดเสร็จ หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่โรงเรียนแพทย์  ให้ลองทำนั้นทำนี่ เขาให้เรากำและแบแขนขวาก็ยังทำไม่ได้ จึงให้หัดใช้มือซ้ายเลย มือขวาใช้ไม่ได้แล้ว รู้สึกอึ้งที่หมอบอกว่าจะใช้ไม่ได้เลย แต่ตอนที่กลับไปฟื้นฟูที่โรงพยาบาลเอกชน หมอบอกว่า มือขวาใช้ไม่ได้เหมือนเดิม แต่เราสามารถให้มือขวาเป็น Helping Hand ได้ ตอนนี้เราเปลี่ยนไปใช้มือซ้ายเป็นหลัก มือขวาเอาไว้ช่วยแทน และต้องใส่อุปกรณ์พยุงประคองมือและข้อมือ (Hand Splint) ไม่ให้มือกำเวลาเดินหรือรู้สึกเกร็ง รักษาให้ข้อมือคงรูป 

เนื่องจากร่างกายซีกหนึ่งอ่อนแรงและกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงจึงต้องใช้ไม้เท้าพยุงตัว เราเริ่มใช้ไม้เท้า 3 ขา ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นไม้เท้าค้ำยันแบบมีฐานช่วยในการพยุงเดิน หลังจากนั้นหมอให้เปลี่ยนมาใช้ไม้เท้าแบบ Single Cane แล้ว เพราะอยากให้ใช้แรงซัพพอร์ตจากอุปกรณ์ช่วยยืนให้น้อยลง แล้วออกแรงใช้กล้ามเนื้อด้านขวาเยอะๆ  และยังต้องใส่อุปกรณ์เสริมที่ดามผ่านส่วนของเท้าและข้อเท้า (AFO) เพราะว่าสโตรคทำให้ข้อเท้าตก ถ้าไม่ใส่เวลาเดิน เท้าจะลากพื้น เสี่ยงล้ม นอกจากนี้เรายังรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ฝ่ามือฝ่าเท้าและตามข้อเวลาลงน้ำหนัก ยิ่งพออาการเย็นหรือเครียดจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเหมือนเวลาเราไปไหว้พระแล้วเดินเหยียบกระเบื้องร้อนๆ ดังนั้นเวลาเดินต้องกะน้ำหนักดีๆ ถ้ารู้สึกเจ็บแสดงว่าลงน้ำหนักมากไป

ช่วงนั้นเราไม่กล้าเดินห้าง อายท่าเดิน เนื่องจากขามีแรงน้อย ร่างกายจะเกร็งที่อวัยวะส่วนอื่นให้แข็งเพื่อช่วยดึงแรงเพื่อยกเท้า สะโพกจะยกขึ้นมานิดหน่อยเวลาเดิน พอฝึกเดินมาสักระยะก็มีความมั่นใจมากขึ้น ก็เริ่มมาเดินห้างตอนดึกๆ หรือไปห้างที่คนไม่ค่อยเยอะ ถ้าไปห้างที่ต้องเดินเยอะ เราจะนั่งวีลแชร์ แต่ถ้ามาห้างใกล้ที่พัก เราจะใช้ไม้เท้าเดิน เพื่อฝึกความมั่นใจในการเดินที่สาธารณะ คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยเห็นคนที่เป็นสโตรคออกมาข้างนอก เพราะเขาอาจจะไม่มีความมั่นใจ เนื่องจากร่างกายเปลี่ยนไป การเดินไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่กล้าออกมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปหรือครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่สนับสนุน ก็จะไม่ค่อยเห็นคนอายุอย่างเราถือไม้เท้าหรือใส่ Hand Splint

ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับสโตรค 

คนยังเข้าใจผิดว่า หญิงแตกซ้าย ชายแตกขวา หมอบอกไม่เกี่ยว ขึ้นอยู่กับสมองที่ได้รับความกระทบกระเทือนที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า อาการของคนป่วยเป็นโรคนี้ไม่เหมือนกัน ตอนแรกยายเราไม่เข้าใจว่าทำไมหลานฉันเป็นเยอะ คนข้างบ้านก็เป็นโรคนี้ ไม่เห็นเป็นไรเลย ตอนนั้นเราเสียใจที่มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น กว่ายายจะเข้าใจใช้เวลานานเหมือนกัน  นอกจากนี้คนยังเข้าใจว่าตีบมีผลกระทบน้อยกว่าแตก ซึ่งไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปเพราะโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดและอายุ 

นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่า คนเป็นสโตรคต้องมีอายุเยอะหรือโรคประจำตัวมาก่อน จริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลย อย่างเรานี่ไง ความดันปกติ เป็นสายสุขภาพ เข้าฟิตเนส เรายังเป็นเลย บทจะมาก็มา เดี๋ยวนี้ไม่เลือกอายุแล้ว ตอนไปโรงพยาบาลก็เจอคนหลายวัยที่ป่วยเป็นโรคนี้ จึงอยากบอกว่าหากมีอาการปวดหัว รู้สึกอ่อนแรง รู้สึกชา อย่าชะล่าใจรอดูอาการก่อนหรือคิดว่าเดี๋ยวก็หาย สโตรคมีเวลาจำกัด ถ้าไปโรงพยาบาลเร็ว ยิ่งลดโอกาสพิการหรือตายได้ แม้ปัจจุบันมีโปรแกรมตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง เราสงสัยว่าช่วยได้จริงเหรอ จึงเก็บความสงสัยไปถามหมอ หมอตอบกลับว่า ไม่จริง ทำได้แค่ตรวจดูแล้วพบว่า มีสัญญาณเตือน เช่น ตรวจเจอเบาหวาน ไขมันอุดตัน แต่โปรแกรมตรวจไม่ได้บอกว่าสโตรคมาวันไหน เราต้องดูแลตัวเอง ไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นสโตรคได้

ภาพคุณตุ้ยมุมเสย ตอนยืนพิงกับกำแพง

เปอร์เซ็นต์ที่จะหายจากสโตรค 

แม้คนที่เป็นสโตรคอยากกลับมาใช้ชีวิตให้ได้อีกครั้ง แต่ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเก่งมากๆ แล้ว อยู่ที่ว่าเรายอมรับไหมและมีเป้าหมายว่าอยากไปถึงจุดไหน อย่างเราตั้งเป้าว่า ต้องเดินให้สวย ให้คล้ายเดิมที่สุด เวลาไปหาหมอ หมอถามว่า ยังทำงานอยู่ไหม พอบอกว่ายังทำงานอยู่ หมอจะดีใจมากที่คนป่วยสามารถมาใช้ชีวิตปกติ การที่เราใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้ ไม่ได้ความว่า ความสุขเราไม่เท่าเดิม เราแค่ปรับเปลี่ยนตามสไตล์ใหม่ที่เป็นไปได้เท่านั้นเอง เราไม่ควรให้โรคมาจำกัดการใช้ชีวิตของเรา 

สโตรคและความพิการ

คนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากยอมรับว่าเป็นคนพิการ หลังผ่าตัด เราเสิร์ชหาเลยว่า อาการเราตรงกับนิยามความพิการหรือเปล่า ระหว่างเสิร์ชในใจภาวนาว่า อย่าใช่เลย เวลาไปห้าง พี่ชายเจอที่จอดรถคนพิการ เราก็นึกในใจว่าใช้คำอื่นได้ไหมหรือเรียกว่า Priority Person ได้ไหม 

ท้ายที่สุดเรายอมรับ ถ้าพูดตามนิยามก็เป็นจริง แต่ไม่ใช่ว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถามว่าอยากให้ทุกคนมาดูแลเราอย่างใกล้ชิดไหม ก็ไม่ ถ้าเราขอความช่วยเหลือก็ช่วยเหลือหน่อย 

ทำบัตรคนพิการเพื่อสิทธิที่ควรจะได้ 

ตอนนั้นเราไปฝึกกายภาพกับหุ่นยนต์ แล้วหมอถามว่า คุณรู้ไหมว่าถ้าทำบัตรคนพิการ แล้วรักษาที่โรงพยาบาลได้ฟรี กายอุปกรณ์เสริมอย่าง AFO และ Hand Splint สามารถขอได้ฟรี หมอมองว่า อยากให้ใช้สิทธิที่เราเพิ่งได้รับ ไม่อยากให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ตอนแรกก็ไม่อยากทำ เพราะกังวลว่าจะมีผลต่อการใช้ชีวิตหรือการทำงานแต่หมอบอกว่า ไม่มีผลกระทบ ตอนนั้นคิดว่า ไม่น่ามีผลอะไร จึงตกลงทำ คุณหมอก็ออกใบรับรองให้

แต่พอไปเบิกจริงใช้ไม่ได้ เพราะเราใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ ต้องจ่ายเงินเอง ถ้าจะใช้สิทธิบัตรทองคนพิการต้องไปทำเรื่องการเปลี่ยนสิทธิ ซึ่งเรายังกังวลว่าเปลี่ยนไปใช้สิทธิบัตรทองคนพิการแล้วสิทธิประกันสังคมที่จ่ายทุกเดือนเราจะยังได้สิทธิอยู่หรือเปล่า แต่เพิ่งถามรายละเอียดมา ใช้สิทธิบัตรทองคนพิการแทนได้ โดยสิทธิประกันสังคมเราก็ยังอยู่ 

ภาพคุณตุ้ยหันข้าวขวามุมใกล้

เพจบันทึกป้าหอยทาก : Stroke สาย Strong

หนึ่ง-ตอนที่เราเป็นใหม่ๆ ข้อมูลเรื่องพวกนี้หายากมาก ไม่ค่อยมีข้อมูล ยังไม่มีกลุ่มสโตรคมาคุยกันด้วยซ้ำ สอง-เราเบื่อ รู้สึกอยากหาอะไรทำให้เป็นประโยชน์ มีน้องคนหนึ่งแนะนำว่า ทำหนังสือหรือเปิดเว็บสิ แต่ทำเพจแชร์ประสบการณ์ก่อนแล้วกัน เราคิดว่าดีเหมือนกัน เพราะชอบจดบันทึกว่า วันนี้ทำอะไรบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ถ้ามีคอนเทนต์หรือเจอโพสต์ที่เคยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ จึงเอามาเรียบเรียงใหม่แล้วค่อยเอาลงเพจ ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ว่า เจออะไรมา เข้าใจทุกคนว่ารู้สึกอย่างไร แล้วเราแค่อยากเป็นพลังบวก ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ปรับมุมมอง และใช้ชีวิตอย่างที่เราเป็นดีกว่า ตอนแรกชวนแม่มาช่วยเขียน เพื่อให้คนอ่านเห็นมุมมองของคนดูแลผู้ป่วยว่า คนดูแลก็เหนื่อย คนเป็นก็ท้อ แต่แม่ไม่ชอบเขียน เราพยายามเขียนให้ครบทุกมุมและเขียนเก็บเอาไว้ว่าที่ผ่านมาเราพัฒนามามากน้อยแค่ไหนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

ส่วนคำว่า หอยทากมาจากรรณกรรมเยาวชนชื่อ “หอยทากผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน” หลังจากอ่านแล้วรู้สึกว่า สภาพร่างกายเราที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราเดินได้ช้าลง เดินตามใครไม่ทัน คล้ายหอยทากที่ค่อยๆ คลาน อาจเดินช้าหน่อย แต่ก็ไปถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน


 

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ