Skip to main content

“คนพิการภายหลัง อย่างแรกที่ต้องเจอแน่นอนคือสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง จิตใจที่อ่อนแอลง ตัวเขาจะขาดความเชื่อมั่น คิดว่าไม่สามารถทำอะไรเองได้ รู้สึกเป็นภาระ บางคนถึงขั้นไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ เพราะรู้สึกว่าอยู่ไปก็ทำอะไรไม่ได้ ไร้คุณค่าและไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้” 

เสียงสะท้อนนี้ อธิพันธ์ ว่องไว ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล บอกกล่าวจากประสบการณ์เสียงของเพื่อนๆ ที่มีความพิการภายหลัง เมื่อความพิการเกิด คนที่เพิ่งเจอกับความพิการนั้นต้องเผชิญกับอะไรบ้าง แล้วแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการนั้นสามารถสนับสนุนอะไรให้เพื่อนๆ คนพิการรายใหม่ได้บ้าง 

ถึงตรงนี้หลายคนอาจยังไม่เคยได้ยินชื่อของแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการว่าคืออะไร ครั้งนี้เราจะพาไปรู้จักแนวคิดนีว่ามีเป้าหมายอะไร การดำรงชีวิตอิสระจะเกิดขึ้นจริงได้เหรอ และอะไรคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการคืออะไร

อธิพันธ์ : เแนวคิดนี้คือการบอกว่า คนพิการหนึ่งคนสามารถเลือกกำหนดความต้องการเป็นของตัวเองได้ ไม่ว่าจะมีความพิการมากหรือน้อย การคิด การตัดสินใจต้องเกิดจากการที่คนพิการ เช่น  การอาบน้ำ แต่งตัว การเลือกใส่เสื้อผ้า การเลือกกินอาหาร และเรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเอง 

แนวคิดนี้เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่งว่ามนุษย์ทุกคนต้องการมีวิถีชีวิตและอิสรภาพ ที่จะเลือกการมีชีวิตเป็นตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือไม่มีความพิการ ก็ล้วนต้องการอิสรภาพ แต่เมื่อมีความพิการขึ้นมาบนพื้นฐานโครงสร้างที่จำกัดก็ทำให้เขาไม่สามารถมีอิสรภาพได้ แนวคิดนี้จะช่วยสนับสนุนในด้านจิตใจ ทำให้เพื่อนคนพิการได้ทบทวนและเห็นความต้องการในชีวิตของเขาเองได้ 

เป้าหมายหลักของเรามี 2 อย่าง คือ 1) เสริมพลังคนพิการ (empowerment) 2) การขับเคลื่อนสังคม (Social movement) โดยแนวคิดไม่สามารถทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ต้องทำงานควบคู่กัน เพราะถ้าเน้นแต่การเสริมพลังคนพิการอย่างเรื่องมุมมองทัศนคติ แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อคนพิการ การใช้ชีวิตอิสระก็ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เช่นเดียวกันถ้าขับเคลื่อนสังคมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการ แต่คนพิการยังไม่เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เขาก็ไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตในชุมชนได้ 

แนวคิดการดำรงชีวิอิสระของคนพิการ เริ่มเข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ.2545 จากประเทศญี่ปุ่น มีการนำร่องในสามจังหวัดคือ นครปฐม นนทบุรี ชลบุรี จากนั้น สันติ รุ่งนาสวน คนพิการที่ผ่านกระบวนจากนครปฐม ตัวเขาเคยเป็นคนพิการติดเตียงและผ่านกระบวนการการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการจนเกิดความเชื่อมั่น และเห็นว่าแนวคิดนี้สามารถช่วยให้เพื่อนคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ จึงชวนเพื่อนที่สนใจมารวมตัวกันและจัดตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑลเมื่อปี พ.ศ.2550 

เมื่อถามต่อว่าทำไมต้องให้ชีวิตอิสระกับคนพิการ ทำไมคนพิการต้องกิน เที่ยว ก็เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ เราอาจเห็นว่าคนพิการบางคนมีครอบครัว แต่สักวันหนึ่งครอบครัวอาจไม่สามารถอยู่กับเราได้ อาจจะจากกันด้วยความตาย ถ้าพี่น้องไม่ดูแล คนพิการต้องอยู่สถานสงเคราะห์เหรอ ในบางครอบครัวมีโครงสร้างอำนาจของพ่อ แม่ ความเป็นพี่ เป็นน้องที่กดทับคนพิการ เช่น ถ้าเพื่อนคนพิการจะออกไปข้างนอก อยากไปเที่ยวที่อื่นที่ไม่ใช่บ้าน โดยนั่งรถเมล์ไป ครอบครัวอาจจะห่วงและกังวลว่าจะลำบาก ไปแท๊กซี่ดีกว่ามั้ย และเพื่อนคนพิการก็ไม่สามารถเลือกหรือต่อรองในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ 

สถานการณ์ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการในประเทศไทย 

ปัจจุบันเรามีข้อมูลศูนย์อยู่ประมาณ 16 ถึง 17 แห่ง ทั่วประเทศ มีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลี แนวคิดไอแอลเข้า       เกาหลีปีเดียวกับประเทศไทยคือปี 2545 แต่ในสิบกว่าปีเกาหลีมีศูนย์ถึง 200 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ไทยมีเพียง 10 กว่าแห่ง ผมเคยไปร่วมงานที่เกาหลี เขาแลกเปลี่ยนให้ฟังถึงแนวทางการขยายโดยมองว่าศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการต้องมีแนวคิดที่ชัดเจน มีความเข้าใจต่อแนวคิด ใครสามารถเปิดศูนย์ก็ได้ เพียงต้องเข้าใจแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระว่าคืออะไร ระบบผู้ช่วยคืออะไร แต่คนที่ให้คำปรึกษาฉันเพื่อนต้องเป็นคนพิการเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกาหลีไปได้ไกลกว่าไทย และนโยบายของรัฐก็สนับสนุนคนพิการโดยตรง 

ปัญหาของงานการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการในไทยคือการขาดคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงาน ทำให้ไอเดียการขับเคลื่อนงานไม่ค่อยก้าวหน้า อีกทั้งไม่มีนโยบายการขยายที่ชัดเจน เราควรต้องเริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามา ไม่ใช้อำนาจจากบนลงล่าง สนับสนุนให้เกิดการบริหารผ่านการใช้อำนาจร่วม และเปิดใจกว้าง 

หากดูภาพรวมแล้ว โครงสร้างของคนพิการไทยนั้นยังไม่มีการขับเคลื่อนร่วมกัน ความพิการประเภทอื่นที่ไม่ใช่ทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวยังมองว่าแนวคิดนี้ใช้เฉพาะกับคนพิการรุนแรง เช่น เวลาขับเคลื่อนเรื่องผู้ช่วยคนพิการ  ความพิการอื่นก็ไม่อิน แตกต่างจากต่างประเทศที่ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนเรื่องผู้ช่วยหรือเรื่องอื่นๆ ความพิการทุกประเภทก็รวมตัวกันขับเคลื่อนไปด้วยกัน เขามองว่าเป็นการสนับสนุนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อหวังว่าคุณภาพชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งต้องดีขึ้น ส่วนไทยยังมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน 

งานของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ

งานที่ทำมีงานบริการอยู่ 5 อย่าง ได้แก่ 1) การให้ข้อมูลข่าวสารและการส่งต่อ 2) การให้คำปรึกษาฉันเพื่อน 3) ผู้ช่วยคนพิการ 4) การฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ 5) การพิทักษ์สิทธิ เป็นเครื่องมือในการทำงานใช้สนับสนุน โดยมีเป้าหมายหลัก 2 อย่าง คือ การเสริมพลังคนพิการ (empowerment) และการขับเคลื่อนสังคม (Social movement)

ปัจจุบันที่ศูนย์มีคนทำงานรวม 5 คน และอาสาสมัครอีก 3 คน โดยแต่ละคนทำกันคนละบทบาททั้งผู้อำนวยการศูนย์ ผู้จัดการศูนย์ การรณรงค์และพิทักษ์สิทธิ์ และให้คำปรึกษาฉันเพื่อน

งานของเราคือการเข้าไปหาคนที่เพิ่งเจอกับความพิการ เขาต้องเจอและเผชิญกับอะไรบ้าง คนพิการภายหลังอย่างแรกที่ต้องเจอจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง คือจิตใจที่อ่อนแอลง ตัวเขาจะขาดความเชื่อมั่น คิดว่าไม่สามารถทำอะไรเองได้ รู้สึกเป็นภาระ บางคนถึงขั้นไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ เพราะรู้สึกว่าอยู่ไปก็ทำอะไรไม่ได้ ไร้คุณค่า ไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ 

ส่วนครอบครัวยังคาดหวังว่าจะรักษาให้หายได้ พยายามหาทางรักษาให้หาย หาวิธีการทุกวิถีทาง เพื่อให้หาย รวมทั้งทางไสยศาสตร์ รดน้ำมนต์ จ้างหมอผี จะเกิดภาวะครอบครัวไม่ยอมรับความพิการ  เวลาเข้าไปทำงาน เราทำงานในฐานะเพื่อน จะไม่ตีตรา ไม่เอาตัวเองเป็นมาตราฐาน ว่าเราทำได้เขาทำไม่ได้ เข้าไปหาในฐานะเพื่อน

ในช่วงแรกที่เข้าหาคนพิการ เราต้องสร้างความสัมพันธ์และรับฟัง แนะนำตัว ชวนคุยในสิ่งที่เพื่อนพิการรู้สึกชอบ เรื่องที่เขาอยากคุย จนไว้วางใจและเกิดความเชื่อมั่น เห็นเราเป็นเพื่อน เราก็จะชวนคุยต่อถามความต้องการอยากไปเที่ยวไหน หรืออยากไปที่ไหน ชวนเขาออกจากพื้นที่ที่เขาเคยอยู่ จากที่อยู่แต่ในบ้านออกมาเปลี่ยนบรรยากาศ จากในห้องออกมาหน้าห้อง หรือออกไปซื้อของแถวบ้าน หรือออกไปเที่ยวในชุมชน ให้ได้เจอผู้คน สิ่งนี้เป็นกระบวนการแรกที่เราทำ ให้เขาเกิดความมั่นใจในตัวเอง เปลี่ยนแปลงมุมมองของตัวเอง 

จากนั้นเมื่อเขามีความมั่นใจกล้าที่จะออกไปข้างนอกมากขึ้น เราจะชวนคุยต่อถามเขามีความต้องการอยากจะทำอะไร เราเรียกว่าการกำหนดเป้าหมายชีวิต แต่ถ้าหากเขายังนึกไม่ออกว่ามีความต้องการ หรือจะใช้ชีวิตยังไง เราอาจจะต้องมีเพื่อนคนพิการต้นแบบ ในการเข้าไปพูดคุยกับเขา คือคนที่มีความพิการคล้ายๆกัน ที่มีภูมิหลังความพิการเหมือนกัน หรือความต้องการที่เหมือนกัน ให้เขาได้แลกเปลี่ยนกัน เขาจะได้เห็นคนพิการต้นแบบ เขาอาจจะนึกออกว่าเขาอยากทำอะไรต่อ เราเรียกว่า โรลโมเดล (role model) ซึ่งกระบวนการนี้อยู่ในการให้คำปรึกษาฉันเพื่อน 

เมื่อเขากำหนดเป้าหมายว่ามีสิ่งที่อยากทำคืออะไร ชวนเขาประเมินตัวเอง สมมุติว่า ถ้าเขาอยากเปิดร้านขายของ แต่เขายังนั่งได้ไม่นาน เราจะชวนเขาคุยทบทวน อะไรที่เขาควรทำก่อนหรือหลัง เราเรียกว่า การกำหนดแผนการฝึกทักษะ โดยแผนจะต้องออกมาจากการคิดและการตัดสินใจจากตัวของเพื่อนคนพิการเอง 

เริ่มต้นจากการรับฟัง

เพื่อนคนพิการคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุจากการตกนั่งร้านงานทาสี ทำให้พิการอัมพาตท่อนล่างอยู่ติดเตียงมาประมาณ 5 ปี พักอาศัยอยู่กับสามีแค่สองคน ไม่มีลูก สามีต้องเป็นคนทำงาน ตัวเขาโทษสามีคิดว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ต้องพิการเพราะพาเขาไปตกนั่งร้าน และโทษตัวเองด้วย รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ ช่วงแรกที่เข้าไปเขาจะพูดตัดพ้อว่าอยากตายอยู่ตลอด ก็ต้องรับฟังเขา 

เราทำได้แค่รับฟัง รับฟังอย่างจริงจัง เพื่อให้เขาได้ระบายในเรื่องที่เขาไม่สามารถพูดให้ใครฟังได้ จนระยะเวลาผ่านไปได้สองสามเดือนก็เกิดความเปลี่ยนแปลง เพียงแค่ตัวเพื่อนคนพิการได้มีโอกาสได้ออกไปข้างนอกกับพวกเรา จากที่ชักชวนให้ออกไปข้างนอกตั้งหลายสิบครั้งเขาก็ไม่ยอมออก พอได้ไปกินข้าวด้วยกันที่ตลาด แล้วเขาเห็นว่าผมนั้นมีความพิการที่รุนแรงแต่กินข้าวเอง เขาก็ถามผมว่า ไม่อายบางเหรอเวลากินข้าวต่อหน้าคนเยอะๆ ผมบอกไม่อายครับ หลังจากวันนั้นเขาเริ่มมีความคิดที่เปลี่ยนไป กล้าออกมาแถวบ้านมากขึ้น และปัจจุบันสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมเองได้ แต่ก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร 

ส่วนอีกคนหนึ่ง มีความพิการอยู่บ้านมา 20 ปี จากอุบัติเหตุทางถนน เราก็ทำงานตามกระบวนการไอแอล สิ่งที่เห็นได้ชัด คนพิการต้นแบบนั้นมีผลต่อเพื่อนคนพิการ ในช่วงสองสามเดือนแรกที่เราไปหาเขา ครอบครัวเพื่อนคนพิการก็กลัวไม่ยอมรับทีมงานเรา กังวลว่าเราจะไปหลอกลูกเขา ก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง แต่เราก็สร้างความเชื่อมั่นกับครอบครัวเพื่อนคนพิการ 

เราประสานร่วมมือทำงานกับ อสม.ในชุมชนและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลประจำจังหวัด เวลาเข้าไปที่บ้านเขาจะเข้าไปพร้อมกับทีมงานเราด้วย เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อครอบครัว เมื่อผ่านไปได้จนเกิดความเข้าใจกันในระดับหนึ่ง แต่ครอบครัวยังรู้สึกเปรียบเทียบว่า ทีมงานของเราบางคนมีความพิการที่น้อยกว่าลูกของเขา ซึ่งลูกเขาไม่สามารถทำอะไรเองได้เลย จากความกังวลนั้นเราแก้ไขโดยให้คนพิการต้นแบบที่มีความพิการคล้ายๆกัน  เข้าไปกับเราด้วยในครั้งต่อๆไป จนครอบครัวเพื่อนคนพิการได้เห็นและได้แลกเปลี่ยนสอบถามคนพิการต้นแบบ ทำให้ครอบครัวเริ่มเห็นความเป็นไปได้ และเริ่มเปลี่ยนแปลงมุมมองความคิดได้ 

รัฐสนับสนุนการทำงานมากขึ้นแต่ก็ยังไม่มากพอ

ถ้าภาพรวมของประเทศ ปัจจุบันนี้ผมมองว่ารัฐเริ่มเปิด และมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน มีระบบสนับสนุนเรื่องผู้ช่วยคนพิการ และพยายามทำให้เกิดบริการการฝึกทักษะการดำรงชีวิตชีวิตอิสระมากขึ้น แต่ว่ายังไม่ค่อยตอบโจทย์กับงานการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการอย่างเต็มที 

ระบบผู้ช่วยคนพิการที่รัฐสนับสนุน จำนวนผู้ช่วยยังมีจำนวนน้อย และค่าตอบแทนไม่เพียงพอสำหรับคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย แนวคิดเรื่องระบบผู้ช่วยของรัฐ ไม่ได้ถูกทำให้ชัดเจนตามแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ที่ถูกนิยามไว้ว่า ผู้ช่วยคนพิการจะช่วยคนพิการในสิ่งที่คนพิการไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง และต้องเกิดจากการตัดสินจากคนพิการ จะไม่คิดแทนหรือทำในสิ่งที่นอกเหนือจากการคิดของคนพิการ แต่ในขณะเดียวคนพิการเองก็ต้องใช้บริการผู้ช่วยคนพิการบนฐานการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของตัวผู้ช่วยคนพิการด้วยเช่นกัน เพราะผู้ช่วยไม่ได้เป็นคนรับใช้ 

จึงมองว่า รัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดบริการผู้ช่วย ไม่ควรเร่งรีบ ไม่ควรทำให้การบริการผู้ช่วยเหมือนการสงเคราะห์ เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระได้จริง ส่วนเรื่องของบริการการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ ผมมองว่ามีความพยายามที่จะทำให้เกิดบริการนี้ในมุมกว้างขึ้น แต่ว่าวิธีการของรัฐ จะทำให้งานไม่แตกต่าง ไม่เน้นการตัดสินของตัวคนพิการเป็นหลัก ซึ่งในส่วนการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ตามแนวคิดเราเน้นการฝึกทักษะการใช้ชีวิตในสังคม ไม่คิดแทนไม่ตัดสิน เคารพการตัดสินใจของเพื่อนคนพิการเป็นหลักถึงแม้ว่าการตัดสินใจนั้น อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม  

การฝึกทักษะเป็นก้าวแรกของคนพิการ เป็นประตูบานแรกที่สนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระได้ เพราะจากความพิการเกิดขึ้นจะทำให้เขาหมดความมั่นใจ แต่การฝึกทักษะที่เกิดจากการที่เขาได้คิดและตัดสินใจเอง จะทำให้เขาได้เรียนรู้ สามารถสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้ ตามรูปแบบและวิถีชีวิตของตามแต่ละคน 

วันนี้ในหลายประเทศที่สนับสนุนแนวคิดการดำรงชีวิอิสระของคนพิการอย่างเต็มที อย่างเช่นประเทศเกาหลี หรือญี่ปุ่น รัฐจะสนับสนุนงบประมาณแก่กลุ่มคนพิการที่ทำงานด้านไอแอล และรัฐก็จัดบริการที่พอเหมาะกับความพิการให้คนพิการตามแต่ละคน คิดว่ารัฐไทยควรสนับสนุนงบปริมาณให้กลุ่มคนที่จะทำงานด้านนี้ หรือรัฐควรต้องมีกฏหมายเฉพาะเจาะจงเกี่ยวแนวคิด ให้เป็น พ.ร.บ.ที่ท้องถิ่นสามารถจัดการเองได้ เพื่อเป็นการขยายให้กว้างขึ้น 

คิดอย่างไรที่บางคนบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมของคนมีน้ำใจ คนพิการก็ให้ครอบครัวหรือพี่น้องดูแล  

ถ้าพูดถึงในสังคมไทย ใช่ครับคนไทยมีน้ำใจ แต่ก็ไม่เห็นด้วย ผมเป็นคนพิการรุนแรงและอยู่กับครอบครัว เขาดูแลเราได้ แต่บางทีเขาทำงานหนักเหนื่อยกับมา บางทีเราท้องเสีย ก็ต้องรอให้เขาทำให้ ต้องรอให้เขาทำอย่างอื่นให้เสร็จก่อนถึงมาทำให้เราได้ รู้สึกว่าความอิสระของตัวเองก็จะหายไป ไม่ใช่ว่าอยู่กับครอบครัวไม่ดีนะ แต่มีส่วนหนึ่งของคนพิการที่ต้องการอิสระแบบที่ไม่ต้องพึ่งพิงครอบครัว 

ในสังคมไทยที่มองเรื่องความพิการเป็นเรื่องบุญบาป แนวคิดนี้มีการทำงานกับเรื่องนี้อย่างไร 

แน่นอนว่าไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ภายในวันสองวัน แต่เรามองถึงคนรุ่นใหม่ คิดว่าถ้ามีกระบวนการที่สื่อสารกับสังคม หรือคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจเรื่องแนวคิดนี้ หรือว่าด้วยเรื่องของมุมมองความพิการ ที่ไม่ได้มองเรื่องความพิการเป็นการสงเคราะห์ ให้มองเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าคนพิการเป็นมนุษย์คนหนึ่งความมีสิทธิได้อิสรภาพ ก็ต้องใช้เวลา แต่งานของเราต้องมีกระบวนการที่คนให้คนอื่นๆในสังคมที่ยังไม่รู้ ได้เข้าใจมุมมองต่อเรื่องนี้ แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าครอบครัวต้องเปลี่ยน หรือคนอื่นๆ ต้องเปลี่ยน ทั้งหมดมีเงื่อนไขของเวลา ในการสื่อสาร 

ถ้าเพื่อนคนพิการและครอบครัวอยากรู้จักแนวคิดนี้จะเริ่มต้นยังไง

ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก่อนว่ามีศูนย์การดำรงชีวิตอิสระที่ไหนอยู่ใกล้ๆ ติดต่อไปพูดคุยกันก่อน หรือติดต่อมาที่เพจเฟสบุ๊ก ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล หรือโทร หมายเลข 098-5742176