Skip to main content

หลายคนน่าจะมีโอกาสรู้จัก CODA หรือ Child of Deaf Adults ผ่านภาพยนตร์ในชื่อเรื่องเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อหนังคว้ารางวัลในงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 ประจำปี 2022 ไปถึง 3 รางวัลด้วยกันก็คือ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) รางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Adapted Screenplay) และหนึ่งในนักแสดงคนหูหนวกอย่าง Troy Kotsur ยังสามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Support Male Actor) นั่นเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของภาพยนตร์

โคด้าเป็นเรื่องราวของเด็กสาวมัธยมที่ชื่อรูบี้ รอสซี่ (แสดงโดยเอมิลี่ โจนส์) เธอเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีเพียงเธอเท่านั้นที่เป็นคนหูดี พ่อแม่และพี่ชายของเธอเป็นคนพิการทางการได้ยิน จึงทำให้เธอต้องคอยเป็นหูให้แก่ครอบครัวไปโดยปริยาย แต่ถึงแม้เธอจะต้องทำหน้าที่ในการดูแลครอบครัวของเธอ แต่เธอก็ยังฝันจะร้องเพลง เมื่อเธอได้ทุนเรียนต่อด้านการร้องเพลงจากสถาบันเบิร์กลีย์ แต่ฝันก็ต้องมีอุปสรรคเมื่อครอบครัวมีปัญหาด้านการเงิน เธอจึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเดินตามความฝันหรืออยู่ดูแลครอบครัวที่กำลังมีปัญหาทางด้านการเงิน โดยในเรื่องนั้นเล่าถึงหน้าที่ที่เธอต้องรับผิดชอบและความฝันที่เธอต้องเลือกได้อย่างสวยงามและลึกซึ้ง

หนังทำให้เรารู้จักคนทั้งสองกลุ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นคนหูหนวก และลูกของคนหูหนวกซึ่งเป็นคนหูดี ปัญหาเรื่องการสื่อสารดูจะส่งผลไปจนถึงเรื่องความเข้าใจภายในครอบครัว รูบี้ คิดว่าตนกลายเป็นผู้ที่ครอบครัวพึ่งพิงในฐานะคนหูดี ที่ต้องคอยเป็นปากเป็นเสียง หรือจะมุมมองของพี่ชายที่มองว่าตนอยู่ได้และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนหูดี

แน่นอนพอดูหนังจบเราเกิดคำถามขึ้นในใจว่าและในสถานการณ์บ้านเราล่ะ มีโคด้าไหม และชีวิตลูกของคนหูหนวกเป็นอย่างไร ภายใต้บริบทไทยและสหรัฐสถานการณ์ย่อมต่างกัน และมีคำถามหลากหลายที่เราสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของลูกคนหูหนวก เรียนภาษามืออย่างไร เติบโตแบบไหน ปัญหาต่อเรื่องความเข้าใจ เราคุยกับแพร พัชราภรณ์ เหล่าทองมีสกุล ลูกสาวของครอบครัวคนหูหนวก ปัจจุบันงานของเธอคือล่ามภาษามือ เธอสะท้อนถึงปัญหาที่เจอ หลายปัญหาเป็นสิ่งที่คนหูหนวกต้องเจอ และอีกหลายปัญหาก็เป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องเจอ

แพร : พ่อแม่เราหลังจากที่ทั้งสองคนแต่งงานกัน พวกเขาก็จะเผชิญปัญหากันมาตลอดในฐานะคู่รักที่เป็นคนหูหนวกทั้งคู่ อย่างเช่นตอนที่จะมีลูก  ในใจตอนนั้นอยากจะมีลูกหลายๆคน แต่ญาติฝั่งนึง เขาไม่อยากให้แม่กับพ่อมีลูกเยอะ เพราะว่าทั้งสองคนเป็นคนพิการ พอมีเราเสร็จ เขาก็ให้หมอทำหมันเลยโดยที่ไม่ได้ถามความเห็นแม่สักคำ ทั้งที่พ่อเราก็บอกว่าเลี้ยงได้เขาก็ไม่ยอม ทั้งที่เรื่องนี้มันควรเป็นสิทธิ์ของพ่อกับแม่เรา แต่เขาก็ไม่ยอมให้มีเราได้แค่คนเดียว ทีนี้พ่อแม่เราอยากจะมีอีกก็ไปแก้อะไรไม่ได้แล้วเพราะทำหมันไปแล้ว

สิ่งที่พ่อแม่เริ่มสอนก็คือภาษามือ ซึ่งจะควบคู่ไปกับน้าที่จะสอนพูด บ้านเราอยู่หลายคน มีพ่อแม่น้ายาย พ่อแม่ไปทำงานก็อยู่กับน้า อย่างภาษามือพ่อแม่ก็จะสอนจากคำศัพท์ง่ายๆ อย่างแก้วน้ำ กินน้ำ หิวน้ำ เขาก็จะทำมือให้เราดู แล้วให้เราทำตาม ทำให้เข้าใจว่าน้ำภาษามือทำยังไง  หรือเวลาหิวก็จะต้องทำภาษามือแบบไหนให้เขารู้ว่าเราหิว เหมือนกับพ่อแม่คนอื่นที่สอนให้พูดตอนเด็กๆ แต่พ่อแม่เราสอนเป็นภาษามือ เขาก็จะสอนไปเรื่อยๆ จากเป็นคำก็เริ่มเป็นประโยค จากประโยคก็กลายเป็นบทสนทนาได้ สำหรับเราภาษามือจะเรียกว่าใช้เป็นภาษาที่ 1 ก็ได้เพราะเราใช้ตลอด

เข้าใจคำว่าหูหนวกตอนไหน 

ตอนเด็กๆ เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนหูหนวกใครเป็นคนหูดี เรารู้แค่ว่าพ่อแม่เราพูดไม่ได้ ก็มีคำถามอยู่ในใจ คำตอบของคนรอบตัวก็หลากหลายเช่น จะไปสงสัยทำไมยังไงเขาก็ดูแลเราได้อยู่แล้ว อยากได้อะไรก็ได้ หรือไม่ก็เพราะว่าเป็นเวรเป็นกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็ไม่ตรงกับสิ่งที่เราอยากจะรู้ ในช่วงที่เราเป็นเด็กมันก็มีความรู้สึกคิดไปเยอะเหมือนกัน ทำไมพ่อแม่เราถึงพูดไม่ได้ ถ้าพ่อแม่พูดได้มันจะดีกว่านี้ไหม ตอนเด็กๆ อายไม่อยากให้พ่อแม่ไปโรงเรียน เพราะกลัวจะโดนเพื่อนล้อ แต่ก็โชคดีว่าเพื่อนก็ไม่เคยล้อ เราคิดว่ามันมาจากความรู้สึกแปลกแยกกับคนอื่น ที่เขาสามารถนั่งคุยกันได้ทั่วไป แต่เราต้องมานั่งทำภาษามือ เราไม่ได้รังเกียจภาษามือแต่รู้สึกเขินอายมากกว่าในวัยเด็ก 

พออยู่ไปสักพักความเขินอายของเรามันลดน้อยลงไปเยอะเพราะเราทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาปกติ พยายามไปหาเราที่โรงเรียนไปยืนคุยกับเราที่โรงเรียน พาไปกินข้าว พาไปเที่ยว พอเจอเพื่อน พ่อแม่เราก็สอนเพื่อนเราใช้ภาษามือ กลายเป็นว่าเพื่อนๆ ก็อยากเจอพ่อแม่เหมือนกัน อยากจะเรียนภาษามือไปด้วย ภาพในหนังอย่างการโดนล้อหรือบูลลี่เราเลยไม่เคยเจอ อาจจะเป็นโชคดีที่มีเพื่อนที่เข้าใจ

แล้วมีปัญหาเรื่องความเข้าใจกันบ้างไหม 

ก็เยอะนะ คุยกันยากคุยกันแล้วไม่เข้าใจ เพราะเราก็มีมุมมองของเรา พ่อแม่ก็มีมุมมองของตัวเอง เราทะเลาะกับเขาบ่อยด้วยหลายสาเหตุ อย่างบางทีเขาก็อยากให้เราเล่าเรื่องอะไรสักอย่างโดยที่ไม่ถามหัวข้อ คือมาถึงก็จะให้พูดเลย มาถึงก็ถามว่ามีอะไรจะพูดไหม เราก็บอกว่าไม่มี เขาก็จะชอบพูดว่าใช่สิ เรามันคนหูหนวกเป็นคนกระจอก คุณอยากจะคุยแต่กับคนหูดีเท่านั้นแหละ เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่เกี่ยว บางทีถามสารทุกข์สุขดิบ หรือบางครั้งจะเล่าเรื่องตัวเองว่าไปเจออะไรมาบ้าง ก็เป็นตั้งแต่เด็กจนโต บางทีโทรไลน์ มาหาแล้วก็พูดว่ามีอะไรจะพูดไหม เราก็งง บางทีก็รู้สึกไม่ค่อยอยากคุย เขาก็จะเปรียบเทียบลูกเพื่อนเขามีอะไรก็เล่าให้พ่อแม่ฟังตลอด แต่เราไม่ค่อย

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตั้งแต่ตอนเด็กๆ ก็คือต้องคุยเรื่องของผู้ใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากคุย เพราะต้องคอยช่วยสื่อสารระหว่างญาติกับพ่อแม่ ซึ่งบางครั้งเราก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราไม่อยากรู้หรือไม่เข้าใจเลย ตอนนั้นพ่อแม่เขาก็โกรธนะ เขาคงรู้สึกว่าทำไมไม่ช่วยเขาพูดถ้าเขาพูดได้คงพูดไปแล้ว เขาอยากคุยกับคนนี้ก็อยากให้เราพูดให้หน่อยแต่เราก็รู้สึกว่าเราเป็นเด็กเราไม่อยากพูด ตอนนี้ถ้ามองกลับไป เราก็เข้าใจเขาในตอนนั้นมากขึ้นนะ เขาอยากให้เราช่วยพูดแต่บางเรื่องที่ให้พูดก็เป็นเรื่องใหญ่เกินตัวเราไปมาก อย่างสมมุติว่าเขาจะให้เราไปตำหนิหรือว่าใคร เราจะพูดได้ยังไงเพราะเราเป็นเด็ก จะไปเถียงแทนพ่อแม่เราก็ไม่ทันเขาหรอก แต่ถ้าเขาใช้บริการล่ามเขาจะสามารถพูดอะไรก็ได้ เพราะผู้ฟังจะมองว่าเป็นตัวเขาพูด ไม่ได้มองว่าเป็นเราที่เป็นเด็กพูด เพราะคนสมัยก่อนเขาไม่ค่อยเข้าใจหรอก เขาจะคิดว่าเราพูดเอง

ครั้งหนึ่งคนในครอบครัวพ่อบอกให้พ่อลาออกจากงานมาอยู่บ้านเพื่อให้ดูแลย่า ตอนนั้นเราก็บอกไปตามที่ญาติอยากให้สื่อสาร แต่ถ้าเป็นตอนนี้เราคงให้ข้อมูลเสริมพ่อไปว่ามันมีอะไรบ้าง และสามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง เพราะตอนนั้นเราเป็นเด็กเวลาใครบอกอะไรมาเราก็บอกพ่อต่อไป ให้พ่อเป็นฝ่ายฟังฝ่ายเดียว ตอนนั้นเราก็ลืมไปแล้วว่าพ่อเราก็โตแล้วเหมือนกัน พ่อเราก็ควรจะมีสิทธิ์พูดเหมือนกัน คิดว่าตอนนั้นถ้าเป็นล่ามภาษามืออาชีพแปลให้พ่อ พ่อก็น่าจะพูดอะไรได้อีกเยอะ อยากจะพูดอะไรก็พูดได้เลย แต่ยุคนั้นการเข้าถึงล่ามมันก็ยังยากอยู่ ก็เลยมีแค่เราที่สามารถพูดได้ เราคิดว่าพ่อแม่เราก็เสียผลประโยชน์ไปเยอะเหมือนกันจากการที่เป็นคนหูหนวกแล้วสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ 

เรื่องการสื่อสารไม่เข้าใจก็มีหลายเรื่องที่ก็ต้องยอมรับว่าเราก็ไม่ได้คุยกับพ่อแม่ เราเพิ่งจะเริ่มมาคุยปัญหาของเราก็ตอนที่เราโตมาประมาณนึงแล้ว ตอนเด็กๆ ถ้าไม่คุยกับเพื่อนก็จะคุยกับตัวเอง ปัญหาเรื่องแฟน เรื่องเพื่อน จะไม่ค่อยคุยกับใคร เพราะเรารู้สึกว่าเราชอบโดนเปรียบเทียบ ซึ่งทั้งคนหูหนวก หรือหูดีก็ชอบเปรียบเทียบ เลยเป็นเหตุผลที่ เราไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่ 

พอมีพ่อแม่เป็นคนหูหนวกแล้วรู้สึกว่าการทำหน้าที่ล่ามเป็นหน้าที่ของตัวเองหรือเปล่า 

ตอนเป็นเด็กเราก็ยังคิดไม่ได้ขนาดนั้น ตอนนั้นคิดว่าทำไมไม่คุยกันเองวะ แต่เราลืมไปว่าเขาคุยไม่ได้ ทำไมในชีวิตไม่ว่าเรื่องอะไรก็ต้องเป็นเราตลอดที่ต้องคอยทำหน้าที่นี้ อารมณ์ประมาณว่าอะไรก็เรา บางครั้งถ้าเราเหนื่อยไม่อยากทำเราก็หนี อย่างสิ่งที่พ่อแม่ชอบให้เราทำสมัยเด็กก็คือการแปลข่าว เราก็ชอบหนีไม่เอาแล้วไปแล้ว ลำพังเป็นเด็กก็ไม่อยากดูข่าวอยู่แล้ว  เราอยากดูละครอยากดูการ์ตูน ขอให้มานั่งแปลข่าวเราไม่เอา หรือบางทีอยากดูละครเขาอยากรู้ว่าพูดอะไรเราก็ไม่ได้อยากแปลให้เพราะเราอยากจะนั่งดูละครของเราเฉยๆ แต่เราก็คิดไม่ได้ว่าเขาก็อยากรู้เหมือนกันว่าตัวละครมันพูดอะไรกัน ถ้าตอนนี้ย้อนกลับไปเราคิดว่าคงจะเป็นสิ่งที่เราจะทำ เพราะเรื่องข่าวสารเป็นสิ่งที่คนหูหนวกเข้าไม่ถึงจริงๆ อย่างเวลาเราดูข่าวเราไม่เข้าใจช่องนี้เราก็เปลี่ยนไปหาดูรายละเอียดจากที่อื่นได้ จากเว็บไซต์อื่นจากคนรอบข้าง แต่คนหูหนวกทำแบบนั้นไม่ได้ 

การเป็นคนหูหนวกในสังคมไทยมันเสียสิทธิ์มากแค่ไหน

เยอะอยู่ ถ้าอยู่ในครอบครัวที่ดีก็ช่วยได้มากแต่ถ้าอยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ก็เป็นปัญหาสำหรับคนหูหนวก ครั้งหนึ่งคนที่บ้านพ่อให้พ่อลาออกจากงานเพื่อมาดูแลอาม่าที่บ้าน คำถามคือจากคนมีเงินเดือนอยู่จะให้ลาออกจากงานไปอยู่ที่บ้านเขาจะอยู่ได้ยังไง จะเอาเงินที่ไหนกิน เขาบอกว่าพ่อต้องลาออกเพราะว่าพ่อทำงานเอกชนส่วนคนอื่นทำงานราชการ ให้พ่อเราไปดูแลอาม่าแล้วใครดูแลพ่อเรา เพราะที่บ้านค่าใช้จ่ายก็ยังเหมือนเดิม ถ้าเป็นเราตอนนั้นก็คงจะถามว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบพ่อเรา ตอนนั้นบอกว่าเขาสั่งมาให้ไปพ่อก็ต้องไป ถ้าพ่อไม่ไปใครจะดูแลอาม่า ถ้าเป็นเราตอนนี้ก็คงจะถามว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่พ่อเราต้องใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่ตอนนั้นเราทำได้แค่ ทำตามเขาไปเถอะพ่อ เพราะพี่ๆของพ่อสั่งมา เขาสั่งให้พ่อไปก็ต้องไป  ถ้าพ่อไม่ไป แล้วใครจะดูแลอาม่า ส่วนการสื่อสารในเรื่องของการทำธุระกรรมสำหรับคนหูหนวกค่อนข้างยุ่งยากมาก จะต้องมีคนที่ไว้ใจได้ ญาติที่ไว้ใจได้ เวลาจะต้องทำเรื่องเอกสารนิติกรรมสัญญาต่างๆ เช่นซื้อบ้านซื้อรถ แต่ของบ้านเราจะมีน้าคอยช่วยดู คือจะต้องมีคนที่ไว้ใจได้ช่วยดู  

เราทำงานเป็นล่ามภาษามือก็จะได้เห็นปัญหาของคนหูหนวกประมาณนึง  เวลามีลูกหูหนวกในบ้านก็จะไม่ค่อยได้รับอะไรเหมือนที่คนอื่นได้ มีเหมือนกันที่แบ่งมรดกได้กันทุกคนแต่ลูกคนที่หูหนวกไม่ได้ เพราะเขากลัวว่าจะใช้เงินไม่เป็น หรือใช้เงินหมด ซึ่งมันไม่เกี่ยว เราเคยจัดโครงการเรื่องแบ่งสินทรัพย์มรดกให้กับคนหูหนวก เขาก็บอกว่าเพิ่งรู้เหมือนกันว่ามันเป็นแบบนี้ เขาก็เพิ่งรู้ว่าทุกคนควรมีสิทธิ์เท่ากันหมด บางคนก็เพิ่งรู้ตัวว่าเขาเองก็ไม่ได้ ไม่ถูกแบ่งให้เหมือนกัน หรือพี่น้องเอาไปหมดแล้ว 

เราคิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของคนหูหนวกคงเป็นเรื่องของการสื่อสาร ขนาดเราเป็นคนที่อยู่ในบ้านเดียวกับพ่อแม่ แล้วก็ใช้ภาษามือเป็น ก็ไม่ได้เข้าใจทุกอย่างที่แม่จะสื่อสาร บางทีมันก็มีรอยต่อของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นที่เกิดได้แม้กระทั่งไม่ใช่คนหูหนวกหรือคนพิการ  

เคยได้มีโอกาสคุยกับลูกคนหูหนวกคนอื่นบ้างไหมเขามีปัญหาอะไรบ้าง

ก็เคยมีแชร์กันบ้าง บางคนเขาก็มีกำแพงเรื่องการสื่อสารเหมือนกัน แต่เราคิดว่าก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่าคนหูดีหรือคนหูหนวกก็จะต้องเผชิญเหมือนกัน คือกำแพงเรื่องการสื่อสารกับพ่อแม่ มันไม่ใช่สิ่งที่คนหูหนวกจะเจออย่างเดียว บางคนสนิทกับพ่อแต่ไม่สนิทกับแม่ บางคนก็ตรงข้าม ทุกครอบครัวไม่ได้คุยกันได้หมด 

อะไรจะแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารไม่เข้าใจเหล่านี้ได้

เราคิดว่าน่าจะเริ่มแก้ปัญหาที่ครอบครัวก่อน ถ้าครอบครัวเปิดใจที่จะคุย เรามีลูก มีพี่หรือมีน้องที่เป็นคนพิการนะ แล้วพวกเราอาจจะต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องปรับตัวหรือพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่ทุกคนรับได้ ถ้ามีลูกเป็นคนหูหนวกแล้วพ่อแม่พยายามสื่อสารหรือทำความเข้าใจความรู้สึกของลูก ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด บางเรื่องต่อให้เป็นล่ามภาษามือก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถผู้แทนได้ เรื่องในครอบครัวถ้าเป็นคนในครอบครัวมันก็ปฏิเสธไม่ได้ อย่างกรณีของเราถ้าคนในบ้านคนอื่นสามารถใช้ภาษามือได้ เรื่องสำคัญๆ ก็คงถึงกันได้มากกว่านี้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เช่น  เรื่องมรดก เรื่องบ้าน เรื่องที่ดิน 

คิดว่าถ้าในครอบครัวที่มีคนหูหนวก มีใครสักคนใช้ภาษามือได้ เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็สามารถสื่อสารกันได้ เวลาต้องคิดทำอะไร หรือต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างน้อยก็จะได้มีความเห็นของคนหูหนวกบ้าง  หรือถ้าคนทั้งครอบครัวสามารถใช้ภาษามือได้ก็ยิ่งดี ความรู้สึกเป็นคนแปลกแยกของคนหูหนวกก็จะลดลง 

ไม่ว่าจะมีปัญหามากแค่ไหน หรือถึงแม้จะมีความต่างด้านภาษา ด้านวัฒนธรรม แต่เขาก็รักเราในแบบของเขา ในแบบของพ่อแม่ที่จะสรรหาสิ่งดีๆ มาให้กับลูกได้ เราก็แค่ต้องเข้าใจเขา เข้าใจว่าเขาเป็นแบบนี้ สิ่งที่คนหูหนวกต้องการ ก็แค่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งระดับครอบครัวและสังคม ถ้าคนในครอบครัวสื่อสารกับเขาได้ในทุกเรื่อง เขารับรู้ทุกสิ่งอย่าง ทุกความเคลื่อนไหว ทุกความเป็นไปของคนในครอบครัว เขาก็คงไม่รู้สึกแปลกแยกอะไร และก็คงทำให้คนหูหนวกมีความสุขกับครอบครัวและสังคมมากขึ้น